ลองหลับตาแล้วจินตนาการดูนะ สมมติว่าให้นึกภาพระบบการศึกษาไทยเป็นอะไรสักอย่าง อะไรสักอย่างนั้นคืออะไร? หรือถ้ามองเป็นใครสักคน คนคนนั้นจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง อายุเท่าไหร่ แต่งตัวแบบไหน เซ็กซี่หรือเปล่า? ภาพในใจของเราแต่ละคนคงแตกต่างกันไป (หรืออาจจะเหมือน) แต่มีคนกลุ่มหนึ่งมองว่า ‘การศึกษาไทยเป็นเป็ด’ คุณเห็นด้วยไหมล่ะ?
เราได้ยินได้อ่านความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาไทยมากมายที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วสังคม ทั้งจากผู้เรียน ผู้สอน ผู้ปกครอง โรงเรียน ภาครัฐ ภาคเอกชน หรือหรือแม้แต่ตัวเราเอง ซึ่งทุกคนได้รับผลข้างเคียงจากผลผลิตและระบบการศึกษา แต่ดูเหมือนว่าเสียงเหล่านี้ยังไม่อาจรวมกันเป็นชิ้นเป็นอันมากพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผล เสียงพร่ำบ่นจึงยังอึงอลกันเรื่อยมา
แล้ววันหนึ่งก็มีองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ตบเข่าฉาด ลุกขึ้นมาป่าวประกาศว่าอยากสร้างพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ที่อินในประเด็นการศึกษาไทย มาแบ่งปันไอเดียและระดมความคิดกัน อีเวนท์ทางการศึกษารูปแบบใหม่ในชื่อว่า EdSPACE จึงเกิดขึ้น และเมื่อวานนี้ (20 พฤษภาคม 2560) EdSPACE ep.3 ตอน ED เป็ด! ก็มีคนที่อินเรื่องการศึกษามากมาย ทั้งคนในวงการศึกษาและประชาชนทั่วไป (ที่รู้สึกว่าไม่ไหวแล้วนะ!) มาช่วยกันระดมสมอง ลองคิดค้นหาวิธีการและโมเดลทางธุรกิจเพื่อสังคมต่างๆ ที่อยากให้เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาไทย
ถามว่าไอเดียเหล่านี้ คิดแล้วไปไหน? EdWINGS องค์กรที่ริเริ่มจัดงาน ก็จะรับหน้าที่นำไปประสานงานต่อยอดให้เกิดขึ้นได้จริงต่อไป ทั้งนี้ทั้งนั้น นอกจากไอเดียที่โยนกันในวงผู้เข้าร่วมแล้ว The MATTER ได้รวบรวมเอาประเด็นที่น่าสนใจจากบนเวที ED เป็ด! มาแบ่งปันกัน
EdSPACE พื้นที่แห่งการศึกษาไทย
การศึกษาต้องการพื้นที่ด้วยเหรอ? นอกเหนือไปจากพื้นที่ของการศึกษาในระบบอย่างโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย การศึกษายังต้องการพื้นที่สาธารณะที่เปิดกว้างให้คนที่สนใจในประเด็นการศึกษา แต่ไม่รู้จะไปเสนอไอเดียที่ไหน หรือแม้แต่คนที่มีปัญหา แล้วไม่รู้จะไปคุยกับใคร ได้มาพบปะอภิปรายกัน EdWINGS จึงมุ่งมั่นที่จะปลุกปั้น EdSPACE (Education Space) ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนจากนอกห้องเรียน
นอกจากไอเดียและรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมใหม่ๆ ที่หวังช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่การศึกษาไทยแล้ว ประเด็นสำคัญคือ เด็กและครูจะต้องได้รับประโยชน์โดยตรงจาก Education Space ที่เกิดขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนที่เลิกเรียนกลางคัน (dropout) หันไปเสพยา ท้องก่อนวัย หรือโดดเรียนไปหาอบายมุขต่างๆ มีจำนวนลดลง ช่วยซ่อมชีวิตเด็กที่หลงทางและทำให้สังคมให้โอกาสเด็กเหล่านี้ ทำให้ครูมีเครื่องไม้เครื่องมือในการจัดการเรียนการสอน ทำให้เด็กอยากเรียนรู้ ทำให้บ้านคือความรัก โรงเรียนคือความหวัง และชุมชนคือแหล่งการเรียนรู้ ทำให้เงินทุกบาทที่ลงไปในการศึกษาไทย เกิดประโยชน์กับเด็ก ครู และโรงเรียนจริงๆ
พาเป็ดเดินหน้า ด้วยนวัตกรรมทางการศึกษา
นอกจากประเด็นเรื่องการเปิดพื้นที่ทางการศึกษาไทยแล้ว เวที ED เป็ด! ยังได้หยิบยกเอาตัวอย่างนวัตกรรมทางการศึกษาที่น่าสนใจจากทั่วโลกมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้เป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนระบบการศึกษาในแต่ละประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า
1. Next Education (nexteducation.in) : แพลตฟอร์มด้านการศึกษาของประเทศอินเดีย ที่ช่วยลดปัญหาทางการศึกษาอันเกิดจากความเหลื่อมล้ำในประเทศ โดยรวบรวมเนื้อหาสำหรับการสอน วิธีการสอน และรูปแบบวิธีการประเมิน เพื่อเป็นไอเดียให้กับคุณครูทั่วประเทศหยิบจับไปใช้ในห้องเรียนได้ ส่วนนักเรียนเองก็มีห้องเรียนและห้องแลบออนไลน์ สำหรับเรียนรู้วิชาทั่วไปและวิชาเฉพาะ
2. KiNVOLVED (kinvolved.com) : งานวิจัยในสหรัฐฯ พบว่าการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน มีผลอย่างมากต่อโอกาสในการสำเร็จการศึกษา แอพพลิเคชั่นนี้จึงคิดค้นขึ้นมาเพื่อให้โรงเรียนและผู้ปกครองได้ร่วมมือกันผลักดันให้เด็กๆ เข้าเรียน โดยมีการตรวจสอบและเก็บสถิติการเข้าชั้นเรียน รวมถึงสร้างช่องทางให้โรงเรียนสามารถติดต่อผู้ปกครองแบบเรียลไทม์ (คือโดดเรียนปุ๊บ พ่อแม่รู้ปั๊บนั่นเอง)
3. EDUCATORS FOR EXCELLENCE (e4e.org) : ด้วยความเชื่อที่ว่าครูคือผู้นำของการเปลี่ยนแปลง นอกจากการสอนหนังสือในชั้นเรียนแล้ว ครูควรจะมีส่วนร่วมในการวางนโยบายด้วย EDUCATORS FOR EXCELLENCE จึงเปิดแพลตฟอร์มบนเว็บไซต์ ให้ครูมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นว่าปัญหาที่เจอในห้องเรียนมีอะไรบ้าง แล้วทีมงานก็จะทำการวิจัยเกี่ยวกับปัญหานั้นๆ ศึกษาวิธีแก้ปัญหาที่เคยทำมา และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จากนั้นก็จะมีการจัดหมวดหมู่ปัญหาเหล่านี้ แล้วส่งตรงให้ภาครัฐ เพื่อปรับเปลี่ยนในเชิงนโยบายต่อไป
4. Leading Educators (leadingeducators.org) : เป็นแพลตฟอร์มสำหรับใครที่สนใจจะเป็นนักการศึกษา เข้าไปเป็นครู หรือผู้ให้คำปรึกษา Leading Educators จะช่วยฝึกฝนให้คนเหล่านี้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาของคุณครู ช่วยครูพัฒนาด้านการศึกษา ช่วยออกแบบวิธีการเรียนการสอน หรือหากคุณครูเองสนใจ ก็สามารถเข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาตัวเองได้
5. Better Lesson (betterlesson.com) : เป็นเครื่องมือช่วยครูด้วยการจับคู่ครูกับโค้ช (มีเมนเทอร์ส่วนตัวนั่นเอง) เพื่อช่วยกันออกแบบและพัฒนาวิธีการสอน รวมถึงรวบรวมปัญหาและสิ่งที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน เพื่อไปทำงานวิจัย จำแนกเป็นหมวดหมู่ แล้วแนะนำเครื่องมือที่ควรเอาไปใช้แก้ปัญหา ช่วยให้ครูประหยัดเวลาในการค้นคว้าและลองผิดลองถูก สามารถหยิบจับเครื่องมือไปประยุกต์ใช้ได้เลย
6. The 1 World Network of Schools (1worldschools.org) : เป็นความพยายามในการแก้ปัญหาการศึกษาในภาพใหญ่ ด้วยแนวคิดพื้นฐานที่ว่าแต่ละพื้นที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน ในขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มคนที่ประสบปัญหาและกลุ่มคนที่อยากจะแก้ปัญหา ก็เลยเปิดพื้นที่ให้สองฝ่ายนี้ได้เข้าหากัน เป็นการพาองค์กรอิสระให้ไปทำงานกับโรงเรียน โดยดำเนินโครงการแล้วที่ชิลี อินเดีย อินโดนีเซีย อิสราเอล เม็กซิโก และแอฟริกาใต้
7. Revolution Foods (revolutionfoods.com) : เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการเรียน นั่นก็คืออาหารกลางวันไม่อร่อย (น่าจะเป็นปัญหาของเด็กส่วนใหญ่เลยล่ะ!) และไม่ถูกตามหลักโภชนาการ โดยการจัดตารางอาหารกลางวันให้โรงเรียนต่างๆ ตามข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งสอดแทรกความรู้ด้านโภชนาการให้กับเด็กและครูไปในตัว
8. Character Lab (characterlab.org) : พร้อมๆ กับการสร้างความฉลาดทางสติปัญญา Character Lab ก็อยากจะสร้างคาแรกเตอร์ที่แข็งแรงให้กับเด็กด้วย โดยการพัฒนาทักษะในการใช้ชีวิต (Life Skills) 3 ด้าน คือ ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น (Heart) ความอดทนและการจักควบคุมตัวเอง (Mind) และความสงสัยใคร่รู้ (Will) เพื่อให้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้ดี โดยองค์กรได้ทำงานวิจัยและเสนอกับสถาบันการศึกษาว่า เครื่องมืออะไรบ้างสามารถพัฒนาทั้งสามทักษะนี้ได้
9. Birmingham Covington School (bcsonline.info) : เป็น Student-Centered School ที่คิดค้นหลักสูตรจากสิ่งที่เด็กสนใจ เริ่มต้นที่ความสงสัยของเด็ก แล้วนำมาสร้างหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ทำให้ในหนึ่งชั้นเรียนจะมีการรวมเอาศาสตร์และศิลป์ รวมถึงทักษะชีวิตหลายแขนงไว้ด้วยกัน รวมถึงมี Teacher Lab ให้ครูมานั่งล้อมวงแลกเปลี่ยนกัน พร้อมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาช่วยขบคิดพัฒนาและแก้ปัญหา ทำให้เกิดการแบ่งปันองค์ความรู้กันตลอดเวลา
เราต้องไม่ทอดทิ้งการศึกษา เราต้องไม่ทอดทิ้งกัน : ประเด็นเสวนาจากผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล
ในช่วงท้ายของงาน ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล นักวิชาการด้านการศึกษา จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาร่วมพูดคุยถึงทิศทางและความท้าทายของวงการการศึกษาไทย เมื่อถามถึงความเห็นต่อคำพูดที่ว่า ‘การศึกษาไทยเป็นเป็ด’ ผศ. อรรถพล ได้ชี้ให้เห็นว่าการศึกษาที่ดูเหมือนว่าเป็นเป็ดนั้น เกิดจากความพยายามควานหาบทเรียนจากต่างประเทศมาใช้แบบไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความรู้
“ปัญหาสำคัญคือความต่อเนื่อง เราเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษามาหลายคน แต่ละคนอยู่ในวาระสั้นๆ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายบ่อยๆ แล้วทุกคนก็เข้ามาด้วยระบบทางการเมือง เลยมองหาความสำเร็จที่รวดเร็ว ทำให้ไปเด็ดยอดการศึกษาที่ดีจากประเทศอื่นมาใช้ในระยะสั้นๆ ไม่ได้ต่อเนื่อง ไม่ได้ใช้บนฐานความรู้ เอามาใช้ผิดวิธี ก็เลยเกิดผลข้างเคียงกับการศึกษา เต็มไปด้วยการรุงรังของการเรียนรู้ โดยไม่ได้วินิจฉัยปัญหาจริงๆ ของการศึกษาไทย”
แต่ ผศ. อรรถพล ก็มองว่าการจะช่วยเป็ดตัวนี้ให้เติบโตไปต่อได้ ไม่ใช่การโทษว่าเป็นความผิดของใคร แต่เป็นการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย “แม้ว่าจะมองว่าระบบรัฐมีผลกระทบในการทำงาน แต่อย่าทิ้งรัฐให้ทำงานอย่างล้มเหลว เราต้องทำงานกับกลไกรัฐอย่างเป็นเพื่อนกันให้ได้ เราคิดโครงการมามากมาย แต่อาจจะไม่ได้มองรัฐหรือองค์กรปกครองท้องถิ่นอยู่ตรงนั้น จริงๆ แล้วเราน่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้กลไกเหล่านี้มันแอคทีฟ ผ่านแนวคิดใหม่ๆ ของเรา”
การศีกษาไทยนี่เหมือนตะแกรงร่อน ร่อนคนทิ้งไปเยอะมาก ด้วยค่านิยม ระบบที่ไม่เหมาะสม และโอกาสที่ไม่ทั่วถึง
ทั้งยังบอกว่า ‘ครู’ คือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษา แต่เรากำลังปฏิบัติต่อครูด้วยวิธีที่ผิด “เราต้องมองครูอย่าง Actor ไม่ใช่ Passive Actor มองเขาเป็นผู้ที่มีส่วนในการทำงาน อย่ามองว่าเป็นผู้ที่รับความช่วยเหลือ เพราะสิ่งนั้นมันคือสิ่งที่รัฐทำ รัฐมองว่าครูเป็นผู้รอรับคำสั่ง แต่เราต้องแชร์ความเป็นเจ้าของกัน ไม่ต้องทำให้เป็นภาพใหญ่ทุกโรงเรียน ทำทีละส่วนไป ให้เห็นภาพว่ามันทำได้ เราต้องทำให้ครูทุกคนกลับมาเป็นเหมือนวันที่เขาเป็นคุณครูวันแรก ฟื้นฟูเขาจากความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นจากระบบ มองเขาเป็นเพื่อนร่วมทางในการสร้างสังคมใหม่ร่วมกัน
คนที่เลือกเป็นครูวันที่เงินเดือน 1200 บาทได้ ไม่ได้เกิดจากความโลภแน่นอน ต้องมีความอยากทำงานเป็นครู วันนี้ที่เขาอายุ 50 แล้วตกเป็นจำเลยว่าเป็นครูล้าสมัย เราน่าจะปลุกพลังเขากลับมา จะเป็นคุณูปการอย่างยิ่ง”
และการศึกษาก็ไม่ใช่เรื่องของครูหรือโรงเรียนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องทวงคืนอำนาจในการศึกษา ให้เรามีอำนาจต่อรอง เพราะเราทุกคนคือคนที่รอรับอนาคตของสังคมจากเด็กๆ ที่จะเติบโตขึ้นมา “ตอนนี้เวลาเราพูดเรื่องการศึกษา เราเอาแต่หยิบด้านลบขึ้นมาพูดกัน จริงๆ ในโรงเรียน ในพื้นที่การศึกษา ยังมีพลังบวกเยอะ เราควรทำงานกับพลังบวกเหล่านั้นแล้วทำให้มันเข้มแข็ง ทำยังไงที่แนวคิดใหม่ๆ จะแชร์ความเป็นเจ้าของกับโรงเรียนให้ได้ ทำยังไงให้โรงเรียนมีส่วนร่วม เสียงของคนรุ่นใหม่จะช่วยให้โรงเรียนมองเห็นปัญหา เพราะบางครั้งคนทำงานมันเจอปัญหาทุกวันจนไม่เห็นปัญหา เราละเลยบทบาทในฐานะคนที่เป็นเจ้าของการศึกษามานานแล้ว”
เมื่อถามถึงการทำงานของภาครัฐในด้านการศึกษา ผศ. อรรถพล ให้คำตอบที่ชวนให้เราทุกคนคิดว่า “คำถามหลักของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาและการเปลี่ยนแปลงสังคม คือตอนนี้ประชาชนเชื่อไหมว่าเราเป็นเจ้าของสังคม เชื่อไหมว่าการศึกษาเป็นของเรา เพราะตอนนี้ดูเหมือนว่ารัฐต้องการควบคุม ต้องการเป็นคนตัดสินใจ ไม่ได้แชร์การตัดสินใจกับพวกเรา แม้จะเป็นสังคมประชาธิปไตย เสียงของประชาชนก็ไม่ได้กระแทกกลไกภาครัฐได้เท่าที่ควรจะเป็น เพราะเราเล่นบทบาทผิด เราเล่นบทบาทผู้สนับสนุนและผู้จับตาดู เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น เราก็ทำได้เพียงวิพากษ์วิจารณ์ ที่ไม่ได้ส่งเสียงไปถึงผู้กำหนดนโยบายจริงๆ เมื่อมีเด็กบางคนตั้งคำถามกับระบบการศึกษา ซึ่งจริงๆ ก็คือตั้งคำถามกับอนาคตของตัวเอง ผู้ใหญ่ก็มองว่าไม่ใช่เรื่องที่ควรถาม เพราะรัฐเป็นคนตัดสินใจ นี่คือภาพสะท้อนทุกอย่าง”
แต่สำนึกในความเป็นพลเมืองไม่เคยถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตร
“เด็กอยู่ตรงไหนของระบบการศึกษา แล้วประชาชนอยู่ตรงไหนของสังคม ถ้าคุณอยากเชื่อว่าเด็กเป็นเจ้าของโรงเรียน คุณก็ต้องเชื่อก่อนว่าประชาชนเป็นเจ้าของสังคม พลังพลเมืองที่จะลุกขึ้นมาตั้งคำถาม และส่งเสียงให้มันดังมากขึ้น สำคัญอย่างยิ่ง ต่อไปถ้ากลไกการกระจายอำนาจมันเกิดขึ้นได้จริง ยิ่งต้องการเสียงเหล่านี้มากขึ้น การศึกษาไม่ใช่เรื่องของรัฐ ของสังคม ของโรงเรียนอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของสังคมที่ต้องมาพิจารณาร่วมกัน เพราะมันคือต้นทุนอนาคตร่วมกัน ถ้าเราแก่ตัวไป สังคมมันจะเป็นยังไง ถ้าสังคมต่อไปมันแย่ มันคือความผิดของเราที่ไม่ลงมือทำอะไรสักอย่างในวันนี้
การเปลี่ยนผ่านของสังคมก็เป็นเรื่องสำคัญ การเลือกตั้งเพื่อให้กลับไปสู่ประชาธิปไตยก็สำคัญมาก แล้วหลังจากนั้น เราต้องไม่ปล่อยให้สังคมตกหล่มเดิมอีกแล้ว คนรุ่นใหม่ก็ต้องมาช่วยกันคิดว่าเราจะเดินต่อไปยังไง อย่าเพิ่งหมดแรง สังคมต้องการพลังคนรุ่นใหม่มาช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกับผู้ใหญ่ อย่าเพิ่งรีบชี้นิ้วว่าใครผิดใครถูก เพราะสังคมมันต้องไปด้วยกัน ต้องพยายามจูงกันไปให้ได้”
เราไม่สามารถปล่อยให้เด็กแม้แต่คนเดียวแพ้ได้ในระบบการศึกษา
EdWINGS ยังถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อองค์กรอิสระหรือธุรกิจเพื่อสังคมที่จะมารับภาระในการดูแลเป็ดตัวนี้ ผศ. อรรถพลมองว่า “จริงๆ ก็ควรมีองค์กรที่ทำงานแบบระยะยาว ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงตามนโยบายของรัฐบาล แต่คนที่จะมาทำงานในองค์กรแบบนี้ ต้องเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือองค์กรเอกชน ความต่อเนื่องภายใต้อำนาจผูกขาดนั้นเป็นเรื่องน่ากลัว และต้องมีคำถามว่าเสียงของเราอยู่ในอำนาจนั้นหรือไม่”
สุดท้าย ผศ. อรรถพล ได้ฝากถึงพลังใหม่ที่อยากเข้ามาช่วยดูแลเป็ดการศึกษาไทยไว้ว่า “การปฏิรูปการศึกษาไทยใช้เวลามาแล้วเกือบ 20 ปี ซึ่งจริงๆ ถือว่าไม่นานเพราะมันเป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในระยะยาว แต่ของเรามันแกว่งไปแกว่งมา เรามีความฝันต่างกันเกินไป ไม่ค่อยมีใครจูนความฝันกัน
พื้นที่ EdSpace อาจจะเป็นผู้ริเริ่มไอเดียและเป็นข้อต่อให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อย่าปล่อยให้นโยบายที่ไม่สมเหตุสมผลเกิดขึ้นอีกเลย มันเหนื่อยเกินไปที่โรงเรียนต้องมาตั้งรับนโยบายรายวัน รายเดือน แบกรับความคาดหวังและตกเป็นจำเลยสังคม
ผมเชื่อเรื่องการศึกษาที่ไม่ทอดทิ้งกัน เราต้องร่วมมือกัน อย่าทำงานแทนรัฐ อย่าเป็นเป็ดตัวที่สองของการศึกษาไทย”