‘อยากให้ลูกเรียนสูงๆ เรียนเก่งๆ จบมาจะได้มีงานมีการดีๆ ทำ’
คำพูดที่ใครหลายคนอาจได้ยินมาจากพ่อแม่อยู่เสมอ ในช่วงที่ต้องเรียนหนังสือ ด้วยความคาดหวังให้ลูกหลานของตัวเอง มีอนาคตและคุณภาพชีวิตที่ดี
แต่เมื่อเกิดวิกฤต COVID-19 หน้าตาของห้องเรียนที่เป็นมาตลอด ก็ต้องเปลี่ยนไป ทำให้รูปแบบและระบบการเรียนการสอนต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย จนนำมาสู่แนวทางการเรียนออนไลน์ หรือเรียนทางไกล ที่ให้เด็กๆ นั่งเรียนอยู่ที่บ้าน ผ่านทางหน้าจอทีวี คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนแทน
ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าทุกบ้านจะพร้อมสำหรับแนวทางการเรียนทางไกล เพราะบางครอบครัว พ่อแม่ก็ไม่มีเวลาดูแลลูกตลอดเวลา หรือบางคนก็ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์และเทคโนโลยีให้ลูกได้เข้าถึงการเรียนทางไกลด้วยซ้ำ
เราจึงอยากพาทุกคนไปสำรวจการเรียนทางไกลในมุมมองของเหล่าผู้ปกครอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญต่อการศึกษาของเด็กๆ เพื่อให้เห็นถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากรูปแบบห้องเรียนที่เปลี่ยนไป
จัดเตรียมอุปกรณ์ ดูแลเด็กให้ทำตามกิจกรรม แนวทางการเรียนทางไกลในช่วง COVID-19
จากกระดานเรียนหน้าห้อง กลายเป็นจอทีวี/คอมพิวเตอร์ นี่คือภาพการเรียนของเด็กๆ ที่เปลี่ยนไป ตามแนวทางการเรียนทางไกลที่รัฐบาลวางไว้
ย้อนกลับไปไม่กี่สัปดาห์ ก่อนที่การเรียนออนไลน์จะเริ่มต้นขึ้น มีการเปิดตัว ‘โครงการจัดการศึกษาทางไกลผ่านโทรทัศน์ระบบดิจิทัลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)’ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานคณะกรรมการการกระจายเสียง การโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
“เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และทำให้การแพร่ระบาดกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าการเรียนรู้ที่โรงเรียนยังคงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด แต่ถ้าหากไม่สามารถทำได้ สื่อการเรียนการสอนทางไกลผ่านฟรีทีวีทั้ง 17 ช่อง จะเป็นสื่อหลักในการจัดการเรียนการสอนควบคู่ไปกับการใช้สื่อออนไลน์ ทั้งในส่วนของแพลตฟอร์มที่กระทรวงศึกษาธิการพัฒนาขึ้น และการจัดการเรียนการสอนแบบห้องเรียนจำลอง”
ขณะเดียวกัน ก็มีแถลงการณ์จาก กสทช.ว่า ทาง กสทช.มีมติให้กระทรวงศึกษาธิการใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อทดลองโครงการทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลเพื่อการศึกษาเป็นการชั่วคราว ให้ออกอากาศแบบความคมชัดปกติ (SD) ผ่านช่องสัญญาณ จำนวน 17 ช่อง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน
โดยโครงการดังกล่าว ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ทั้งนักเรียน ครูผู้สอน โรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา ส่วนกลาง รวมไปถึง ผู้ที่มีส่วนสำคัญต่อการศึกษาของเด็กๆ อย่าง ผู้ปกครอง
การเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ปกครองนั้น แตกต่างกันไปตามแต่ละระดับชั้นเรียนของนักเรียน อย่างในระดับชั้นอนุบาล ผู้ปกครองต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ และสถานที่ที่ใช้เรียนที่บ้านให้พร้อม ศึกษาตารางสอนและแผนการเรียนของเด็กๆ ล่วงหน้า จัดให้นักเรียนเข้าเรียนตามเวลา สื่อสารกับคุณครู และคอยช่วยให้เด็กทำกิจกรรมตามที่สอนใน DLTV ได้
ขณะที่ ผู้ปกครองที่ต้องดูแลเด็กๆ ในชั้น ป.1-ม.6 ก็มีบทบาทที่คล้ายคลึงกัน โดยกำหนดให้ผู้ปกครองต้องเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ จัดให้นักเรียนเข้าเรียนตามตารางเรียน ศึกษาตารางสอน/แผนการเรียนล่วงหน้า และต้องคอยสื่อสารกับคุณครู ช่วยเหลือนักเรียนให้ทำกิจกรรมและทบทวนบทเรียนของแต่ละวัน
แต่เมื่อเริ่มใช้งานจริง กลับเกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย เริ่มตั้งแต่ขั้นเตรียมความพร้อมของผู้ปกครอง ที่พ่อแม่บางคนต้องหาซื้ออุปกรณ์ใหม่ให้กับลูก ไปจนถึงปัญหาเรื่องการจูนหาช่องสัญญาณไม่เจอ และระบบการเรียนที่ล่มแล้วล่มอีก
การดูแลเด็กให้เรียนตามตารางและช่วยสอนการบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย
“ลูกคนโตยังพอรับผิดชอบตัวเองได้ เราไม่ต้องดูแลอะไรมาก แต่คนเล็กต้องสละเวลาจากงานมานั่งเฝ้า เพื่ออธิบายให้เขาฟัง เพราะเขายังเด็ก ถ้าไม่อธิบายให้ฟังแบบตัวต่อตัว เขาไม่เข้าใจหรอก”
คำกล่าวจากหญิงวัย 43 ปี ที่ต้องช่วยดูแลลูกๆ ที่เรียนอยู่ชั้น ป.2 และ ม.5 ให้เข้าเรียนตามแนวทางที่รัฐบาลวางเอาไว้
เธอเล่าด้วยว่า ช่วงแรกที่เด็กๆ ไม่สามารถเข้าระบบการเรียนได้ แล้วไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ทำให้ลูกของเธอต้องย้ายไปใช้อุกรณ์อื่นแทน แล้วเธอก็เข้าใจว่า จะต้องไปซื้อจานดาวเทียมอันใหม่ เพื่อให้ลูกได้เข้าเรียนตามแนวทางของรัฐบาล
“วันแรกที่เริ่มเรียนออนไลน์ เหมือนสัญญาณมันไม่เชื่อมกับจานตะแกรง แต่ไปเจอคนในเฟซบุ๊กแนะนำว่า ต้องอัพเดตจานดาวเทียม ก็เลยลองทำตาม ถึงเข้าดูได้”
แม้การเรียนทางไกลจะเป็นแนวทางที่รัฐบาลวางเอาไว้ แต่โรงเรียนหลายแห่งก็ไม่ได้นำมาบังคับให้เด็กๆ เข้าเรียนตลอดเวลา เหมือนอย่างลูกสาวคนเล็กของคุณแม่คนนี้ ซึ่งเธอมองว่าเป็นเรื่องดีเพราะผู้ปกครองและเด็กจะได้ไม่เครียดจนเกินไป และเด็กๆ ก็ไม่ต้องนั่งติดหน้าจอทั้งวันด้วย
“แต่ของพี่คนโตบังคับเรียน .. ถึงบังคับไปก็ไม่ได้อะไร ได้แต่เรียนผ่านตาเฉยๆ เวลาไม่เข้าใจเขาก็ถามใครไม่ได้ แล้วเราไม่ได้เรียน ม.ปลาย เราเรียนพาณิชย์ หลายวิชาเรียนมาไม่เหมือนกัน อย่างพวกคณิต วิทย์ ภาษาอังกฤษ เราช่วยสอนเขาไม่ได้เลย”
นอกจากจะเรื่องช่วยสอนให้ลูกไม่ได้แล้ว ผู้ปกครองหลายคนก็ต้องทำงาน แล้วให้ลูกๆ อยู่บ้านตามลำพัง อย่างกรณีของพนักงานบริษัท วัย 38 ปี คนนึง ที่เล่าว่า เธอต้องโทรไปถามลูกที่เรียนอยู่ชั้น ป.4 ว่า เปิดเรียนออนไลน์หรือยัง เพื่อช่วยย้ำเตือนลูกให้เข้าเรียน แต่ก็คิดว่าลูกของเธอคงเปิดทีวีทิ้งไว้ แต่ไม่ได้นั่งเรียนตลอดเวลา
ขณะเดียวกัน บ้านอีกหลังหนึ่งซึ่งมีคุณพ่อวัย 53 ปี คอยช่วยดูแลลูกสาวที่กำลังเรียนอยู่ชั้น ป.6 ให้เข้าเรียนผ่านระบบการศึกษาทางไกลที่กระทรวงศึกษาธิการวางแนวทางเอาไว้ ในช่วงวิกฤต COVID-19 บอกกับเราว่า
“ตอนแรกไม่รู้ว่าต้องเรียนช่องไหน ก็เลยโทรไปถามครูที่โรงเรียน แต่ครูก็ไม่รู้เหมือนกันว่าช่องไหนกันแน่ เพราะข้อมูลที่ครูได้มาก็ไม่ชัดเจนเหมือนกัน”
เขาเล่าต่อว่า วันแรกที่ต้องเรียนทางไกล ลูกสาวของเขาเข้าระบบไม่ได้ กว่าจะเข้าไปเรียนได้ ก็สายไปแล้ว ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนตามที่ระบบการเรียนทางไกลสอนได้ทัน
การกำหนดให้ผู้ปกครองคอยดูแลเด็กๆ ให้สามารถนั่งเรียนตลอดเวลาได้นั้นก็ยากที่จะทำได้จริง และตอนนี้ลูกของเขาก็ไม่ได้เข้าไปเรียนทางไกลแล้ว เพื่อนๆ ของลูกเขาก็ไม่มีใครเข้าไปเรียนเช่นกัน เพราะเด็กๆ เรียนไม่รู้เรื่อง ไม่มีสมาธิ เนื่องจากต้องเรียนผ่านหน้าจอ
“น้องบอกเข้าไปเรียนแล้วก็ไม่เข้าใจ เพราะพอเข้าไปแล้ว ครูในทีวีก็เริ่มสอนไปแล้ว น้องเรียนไม่ทันตอนต้น ซึ่งในทางปฏิบัติจริง เด็กๆ ทั่วประเทศเขาก็ไม่เข้าเรียนพร้อมกันหรอก”
ขณะเดียวกัน คุณพ่อก็มองว่า ถ้าจะให้เรียนออนไลน์จริงๆ ก็ควรให้ครูประจำชั้นอัดคลิปแล้วส่งทางโซเชียลให้เด็กดีกว่า เพราะครูก็รู้จักเด็กของตัวเองดีว่านักเรียนโรงเรียนนี้เป็นเด็กแบบไหน ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าให้เด็กทุกคนเรียนทางไกล
นอกจากนี้ เขายังคิดว่า รัฐบาลควรจะให้โรงเรียนบางแห่งเปิดเทอมตามปกติ เพราะกระทรวงสาธารณสุขก็มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อว่าอยู่ในพื้นที่ไหนบ้าง หากพื้นที่นั้นเป็นจุดเสี่ยง ก็ให้เด็กเรียนออนไลน์กับครูในโรงเรียนไปก่อน แต่ถ้าพื้นที่ไหนไม่เสี่ยง ก็ควรให้เปิดเทอมพร้อมกับจัดการคัดกรองโรคให้มีประสิทธิภาพ
“ตอนนี้ให้เด็กอยู่บ้าน ถ้าเด็กมากๆ ก็ต้องมีคนอยู่ด้วย กลายเป็นว่าต้องมีคนคอยดูแลเด็ก แล้วถ้าบ้านไหนไม่มีคนคอยดูแลเด็กล่ะ ก็ต้องจ้างคนมาดูแลเด็ก เพราะพ่อแม่ต้องออกไปทำงาน ถ้าเปิดเทอมให้เด็กไปโรงเรียนได้ ภาระตรงนี้ก็จะลดลง ทุกคนใช้ชีวิตได้ตามปกติ ถึงเวลาพ่อแม่ก็ไปรับไปส่งเด็ก เลยคิดว่าเขาควรแบ่งเปิดเทอม ตามความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่”
อีกทั้ง เมื่อต้องเรียนออนไลน์ทำให้เด็กอาจจะเครียดกว่าปกติ เพราะต้องใช้เวลาอยู่หน้าจอเป็นเวลานาน ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพเด็กได้ ขณะเดียวกัน เหล่าผู้ปกครองที่ต้องคอยดูแลเด็ก ก็อาจจะเครียดหนักมากขึ้น เพราะต้องทำหน้าที่เป็นทั้งครูและพ่อแม่ในเวลาเดียวกัน ซึ่งความเครียดนี้ ก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัวมากขึ้นเช่นกัน
เมื่อการเรียนทางไกล ทำให้ผู้ปกครองต้องเสียเงินเพิ่ม
ภาพผู้ปกครองทั้งหลายตามหาโทรศัพท์มือถือราคาถูก เพื่อให้ลูกๆ ใช้เรียนออนไลน์ ปรากฎให้เราเห็นกันในโซเชียลมีเดียมากมาย ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วัน ก่อนที่จะเริ่มการเรียนทางไกล
เดิมที แค่รับมือกับปัญหาการเงินที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤต COVID-19 ก็เป็นสิ่งที่หนักหนาสำหรับใครหลายคนอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการประกาศแนวทางการเรียนออนไลน์สำหรับเด็กๆ ผู้ปกครองบางคนก็ยอมนำเงินที่มีอยู่บางส่วน ไปซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ให้ลูกได้เรียนออนไลน์เหมือนคนอื่นๆ
ตัวอย่างเช่น บ้านของคุณแม่วัย 38 ปี ที่ต้องโทรไปย้ำเตือนให้ลูกเข้าเรียนออนไลน์ ก็เป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่ต้องไปหาซื้ออุปกรณ์พ่วงต่อจานดาวเทียมกับทีวี เพื่อเอามาเชื่อมสัญญาณเรียนออนไลน์ให้กับลูก เพื่อจะให้ลูกได้เข้าเรียนเหมือนเพื่อนๆ ของเขา
โพลสำรวจความคิดเห็น ‘คุณคิดว่า #เปิดเทอม63 เด็กไทยทั่วประเทศพร้อมเรียนออนไลน์หรือไม่ เพราะอะไร’ ของ JS100 Radio บนเพจเฟซบุ๊ก จากผู้ร่วมโหวตกว่า 8,500 คน พบว่ามีเพียง 12% เท่านั้น ที่พร้อมสำหรับเรียนออนไลน์ และอีกมากกว่า 88% ที่ไม่พร้อมเรียน
ขณะที่ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2561 ซึ่งสำรวจครัวเรือนทั้งสิ้น 21.6 ล้านครัวเรือน พบว่า มีครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ 18.3% โดยในเขตเทศบาลมีคอมพิวเตอร์ 25.4% ส่วนนอกเขตการปกครองมีคอมพิวเตอร์ 12.1%
ส่วนครัวเรือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีสัดส่วนการมีคอมพิวเตอร์ในเขตเทศบาล 30.2% และสัดส่วนการมีคอมพิวเตอร์นอกเขตเทศบาล 14.6% ส่วนครัวเรือนที่ไม่มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีคอมพิวเตอร์ในเขตเทศบาล 23.5% และนอกเขตเทศบาล 10.5%
แม้จะเป็นข้อมูลเมื่อปี 2561 แต่ก็แสดงให้เห็นว่า การเข้าถึงเทคโนโลยีที่จะทำให้เด็กๆ เข้าเรียนออนไลน์ได้ ยังคงกระจายตัวอย่างไม่ทั่วถึง และนับเป็นความเหลื่อมล้ำที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน
อย่างกรณีที่สำนักข่าวเดลินิวส์ ที่รายงานเรื่องราวของหญิงวัย 49 ปี ซึ่งประกอบอาชีพรับจ้างกรีดยางในหมู่บ้านที่ จ.นราธิวาส มีรายได้วันละ 50-100 บาท ซึ่งที่บ้านของหญิงคนนี้ไม่มีทีวี มีเพียงโทรศัพท์เครื่องเดียวเท่านั้น แต่เด็กๆ ในบ้านมีด้วยกัน 5 คน เรียนอยู่ชั้น อนุบาล, ป.5, ป.6 , ม.5 และ ม.6 ซึ่งแปลว่า พวกเขาไม่สามารถเข้าเรียนทางไกลตามแนวทางที่รัฐบาลวางไว้ได้
ไม่เพียงแต่ค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์การเรียนเท่านั้น ยังมีค่าอินเทอร์เน็ตที่ต้องใช้ในการเข้าระบบการเรียนทางไกลอีกด้วย ซึ่งจากคำสัมภาษณ์ของครูท่านหนึ่งในบีบีซีไทย ซึ่งสอนอยู่ใน จ.ฉะเชิงเทรา ก็เล่าว่า แม้เด็กส่วนใหญ่จะมีมือถือที่ใช้อินเทอร์เน็ตได้ แต่ก็ใช้แบบระบบเติมเงิน ซึ่งคาดว่าเมื่อเรียนไปแล้ว 1 สัปดาห์ ภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองน่าจะเพิ่มมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับบางครอบครัวแล้ว ค่าใช้จ่ายสำหรับการเรียนในโรงเรียนแบบปกติก็หนักหนามากพออยู่แล้ว บางคนมองว่าโรงเรียนคือสถานที่ที่จะทำให้ลูกหลานของพวกเขา มีอาหารกลางวันกิน ดังนั้น เมื่อโรงเรียนปิด แล้วเริ่มระบบเรียนออนไลน์ ซึ่งต้องมีอุปกรณ์รองรับ แต่ครอบครัวเหล่านี้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาไม่ไหว พวกเขาจึงเลือกที่จะพาลูกหลานออกจากโรงเรียนแทน
“มีนักเรียนคนนึงที่พ่อเขาให้ออกจากโรงเรียน เพราะที่บ้านไม่พร้อมเรียนออนไลน์”
คำบอกเล่าจากคุณครูท่านหนึ่ง ที่สอนอยู่ในโรงเรียนใน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยเธออธิบายว่า ที่บ้านของเด็กคนนี้มีเพียงโทรศัพท์ (ไม่ใช่สมาร์ทโฟน) เครื่องเดียว ซึ่งต้องใช้ร่วมกันทั้งครอบครัว ทำให้เขาต้องออกจากโรงเรียน แม้ว่าจะยังอยากเรียนในโรงเรียนต่อ แต่ก็ไม่อยากรบกวนผู้ปกครอง
“ตอนนี้ เขาเลือกที่จะเปลี่ยนไปเรียน กศน.แทน เพราะค่าใช้จ่ายไม่สูงเหมือนเรียนภาคปกติ แล้วพ่อแม่ก็ไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายต่างๆ”
คุณครูเล่าต่อว่า โรงเรียนพยายามเสนอทางเลือกให้นักเรียน ด้วยการเอาหนังสือไปให้และย้ำว่าการเรียนออนไลน์เป็นเพียงการเสริมก่อนจะกลับเรียนตามปกติเท่านั้น
“หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น และทางกระทรวงฯ ยังคงต้องการให้เด็กเรียนออนไลน์ต่อ ผลกระทบที่ตามมาก็คือ จะมีเด็กที่หลุดออกจากการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพราะครอบครัวเขาไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะใช้จ่ายไปกับค่ามือถือหรืออินเทอร์เน็ต”
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเรียนออนไลน์นั้น ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า มีเด็กบางส่วนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์จริงๆ เช่น ตัวเชื่อมต่อทีวี หรือในกลุ่มเด็กโตอาจต้องการช่องทางเสริมในการเรียนออนไลน์
ณัฏฐพล กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นมีข้อมูลว่านักเรียนใน กทม.น่าจะมีความต้องการ Digital TV Box ประมาณ 300,000 เครื่อง เพื่อรองรับการเรียนการสอนทางทีวีดิจิตอล โดยทางกระทรวงศึกษาธิการ กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เตรียมเครื่องอุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อตอบสนองความขาดแคลนหรือความจำเป็นไว้ให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานยังย้ำเตือนกับผู้ปกครองด้วยว่า แนวทางที่ออกมานี้ ไม่ใช่การเรียนการสอนจริง เป็นเพียงการทดลองเรียนเท่านั้น และจะเริ่มคิดคำนวณคะแนนหลังจากเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคมไปแล้ว
ขณะที่ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ระบุว่า อยากให้ศึกษาธิการทบทวนมาตรการเรียนออนไลน์ หากต้องจัดการเรียนออนไลน์ขึ้นจริง จะต้องมีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เข้าถึงง่ายในทุกพื้นที่ และจัดให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม และชนชั้นทางสังคมต้องไม่เป็นปัญหาในการเรียนการสอน
“การกระทำของศึกษาธิการไม่ต่างอะไรกับการผลักความรับผิดชอบและภาระไปให้กับผู้ปกครอง ทั้งที่ในสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ประชาชนไม่สามารถทำมาหากินได้ แต่กลับต้องมาแบกภาระที่ศึกษาธิการโยนให้เพื่อให้บุตรหลานมีการศึกษาแบบถ้วนหน้า”
ทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นได้ว่าปัญหาเรื่องการเรียนทางไกลส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเหล่าผู้ปกครองที่คอยส่งเสียให้ลูกหลานได้เข้าถึงการศึกษา ด้วยความหวังว่า เด็กๆ จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ แต่แนวทางการเรียนทางไกลนี้ กลับสร้างความลำบากให้กับผู้ปกครองทั้งหลาย ตั้งแต่เรื่องดูแลลูก ไปจนถึงเพิ่มภาระทางการเงิน
นี่จึงเป็นโจทย์ที่ต้องกลับมาหาคำตอบกันว่า การเรียนการสอนในช่วงวิกฤต COVID-19 ควรมีหน้าตาแบบไหน เพื่อไม่ให้ราคาของการศึกษาไทยแพงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ จนทำให้กลายครอบครัวรับไม่ไหว และหลุดหายออกจากระบบนี้ไป
อ้างอิงจาก
สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, รายงานตัวชี้วัด ITU โครงการสำรวจ ICT ครัวเรือน 2561 (ไตรมาส4), หน้า 18.