ผ่านมาแล้วเกือบครบปี กับการนั่งเรียนผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยม ขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง แตกต่างกันไปตามความถนัดหรือกำลังทรัพย์ของแต่ละคน ขณะเดียวกัน เหล่าอาจารย์ผู้ให้ความรู้ ก็ต้องปรับรื้อรูปแบบการสอนกันใหม่ จากที่เคยเจอหน้านิสิต นักศึกษาอยู่ในห้องเรียน ก็ต้องเปลี่ยนมาสอนผ่านช่องทางออนไลน์ กลายเป็นประเด็นร้อนกันไปแทบทุกพื้นที่
แม้ช่วงแรกๆ จะขลุกขลักกันไปบ้าง เพราะทั้งผู้เรียนและผู้สอนต่างก็เป็นมือใหม่ในประเด็นนี้เหมือนกัน แต่ตอนนี้ COVID-19 ก็ระบาดมาครบ 1 ปีแล้ว การเรียนการสอนออนไลน์ที่มาพร้อมๆ กับการมาของ COVID-19 ก็เช่นกัน โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัยที่เผชิญกับการเรียนแบบนี้กันมา 3 เทอมแล้ว
ดังนั้น คำถามที่ตามมาก็คือ การสอนแบบออนไลน์เป็นยังไงบ้าง แล้วปัญหาต่างๆ ที่เคยเผชิญกัน ได้รับการแก้ไขไปแล้วหรือยังนะ?
The MATTER ไปพูดคุยกับ ศาสวัต บุญศรี อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันหาคำตอบ และทางออกของการเรียนการสอนแบบออนไลน์กัน
ต้องกลับมาสอนออนไลน์อีกครั้ง เป็นยังไงบ้าง?
“ผ่านมาหนึ่งปี เราก็ยังไม่ชิน เราคิดว่าทุกคนยังไม่ชิน แล้วก็ยังไม่เกิดองค์ความรู้ที่มันคิดว่าแบบไหนมันเวิร์ก เพราะเราคิดว่าในแต่ละวิชา มันมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป”
ศาสวัต บุญศรี อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากรเล่า ทั้งยังบอกว่า ตัวเขาสอนในวิชาเอกภาพยนตร์ ก็พบกับอุปสรรคมากมาย ทั้งเรื่องการสอนออกกองถ่าย การเปิดภาพยนตร์ให้นักศึกษารับชม ซึ่งแต่เดิมเลยเปิดในห้องให้นักศึกษานั่งดูไปพร้อมๆ กันได้ แต่ตอนนี้ก็ต้องเปลี่ยนเป็นการส่งลิงก์ให้นักศึกษาแยกกันไปดูอีกที
“ผมใช้วิธีส่งไฟล์ให้ดู หรือดูใน Netflix สมมติเรียน 4 โมงเย็น ก็ให้หนังสั้นไปดูเรื่องหนึ่ง ให้ลิงก์ไปเลย ดูของใครของมัน จากนั้น 5 โมงเย็น ก็กลับมาเจอกัน มันก็จะเป็นลักษณะนี้ ซึ่งศาสตร์อื่นๆ ก็เจอปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป อย่างเช่นวิชาที่เป็นปฏิบัติ อันนี้เราก็พูดตรงๆ ว่าเรายังนึกไม่ออกเหมือนกันว่าต้องทำยังไง”
อ.ศาสวัต กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้ เกิดจากระบบโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละครอบครัวที่แตกต่างกันออกไป แต่ละบ้านมีความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ไม่เท่ากัน มีอุปกรณ์ไม่เหมือนกัน ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบกับการศึกษา
เขายังยกตัวอย่างถึงคลิปไวรัลครูสอนว่ายน้ำ ที่ต้องสาธิตให้นักเรียนดูบนเตียง ซึ่งสะท้อนให้ครูต้องย้อนกลับมาคิดว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ บางวิชาอาจจะไม่จำเป็นต้องสอนกันแล้วหรือเปล่า? ขณะเดียวกัน หลายรูปแบบการสอนที่เคยได้ผลในการเรียนแบบเจอหน้ากัน แต่เมื่อต้องย้ายไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์ ก็อาจจะไม่ส่งผลดีนัก ซึ่งนี่เป็นจุดที่อาจารย์ทั้งหลายต้องตระหนัก และกลับมาทบทวนแนวทางการสอนกันใหม่อีกครั้ง
อ.ศาสวัตเล่าด้วยว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนเขาเข้าไปฟังงานทอล์คในออนไลน์ มีเวลาทั้งหมดชั่วโมงครึ่ง แต่เราฟังไปได้แค่ 30 นาที ก็ไม่ไหวแล้ว ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่เราก็สนใจ แล้วกับการสอนบรรยายนักศึกษายาวๆ ติดต่อกันเป็นชั่วโมง พวกเขาสติหลุดกันแน่นอน
“ขนาดเราอยู่บ้านที่เราอยู่คนเดียว ไม่มีใครมายุ่งกับเรา แล้วเด็กจำนวนมากที่ต้องอยู่บ้าน พ่อแม่เรียกใช้ไปทำนู่นทำนี่ มันมีน้องคนนึงบอกว่า อาจารย์ วันนี้หนูไม่ได้ตั้งใจเรียนเลย แม่เรียกให้ไปล้างจาน เนี่ย พอผ่านมาปีนึง อะไรแบบนี้ก็ยังเกิดขึ้นอยู่”
ขณะเดียวกัน อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็กล่าวว่า ฝั่งผู้สอนเอง ก็ยังสอนไม่ได้ 100% เหมือนกัน เพราะบรรยากาศการเรียนรู้แบบที่เกิดขึ้นได้ในห้องเรียนมันหายไป อาจารย์เองก็ถูกผลักภาระมาโดยตรง ฉะนั้น ทุกคนต้องเอาตัวรอดด้วยตัวเอง ดิ้นรนกันเองหมด
ขณะเดียวกัน อ.อรรถพลก็มองว่า ตอนนี้ผ่านมา 11 เดือนแล้วที่ทุกคนต้องเรียนต้องสอนผ่านทางออนไลน์ ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เอาใจใส่ในคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน
“เทอมแรกทุกคนเข้าใจแหละว่ามันฉุกเฉินมากๆ เดือนมีนาคม พึ่งจะมิดเทอมกัน แล้วประคับประคองกันไปให้มันจบเทอม แต่ตอนนี้ก็ผ่านมานานแล้ว หลายมหาวิทยาลัยก็ยังคงยืนยันจะให้ออนไลน์ มันเหมือนบรรยากาศที่รัฐสร้างให้เรากลัวว่ามันจะมีการระบาด ถ้าจะ on-site ก็ต้องขอเป็นรายๆ ไป”
อ.อรรถพลเล่าต่อว่า เทอมนี้ยิ่งหนักกว่า เมื่อการปิดเรียนไม่ได้เป็นเรื่องเกินความคาดหมาย หลังจากที่เห็นกระแสการแพร่ระบาดที่เชียงรายและสมุทรสาครมาแล้ว แต่ตอนนี้เปิดเทอมมาก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
“ในการบริหารมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนรู้เลยว่าต้องมีวิธีการยังไง แล้วใครช่วยผู้เรียนล่ะ นี่เป็นการผลักภาระไปที่เด็กกับอาจารย์ที่สอนโดยตรง คือนิสิตนักศึกษาก็ต้องพยายามดิ้นรนเอาตัวเองให้รอดตลอด 3 เทอมมาแล้ว ซึ่งน่าเห็นใจมากๆ เท่ากับว่าเขาเจอ 3 เทอมที่คุณภาพการเรียนรู้มันไม่ได้ 100% แน่ๆ คือบรรยากาศทางสังคมด้วยส่วนหนึ่ง accessibility ของการเข้าถึงห้องเรียนด้วยส่วนหนึ่ง ก็ส่งผลต่อคุณภาพของการเรียนการสอน”
ปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้
ในด้านของวิธีการสอน อ.ศาสวัตมองว่า ช่องทางออนไลน์นี้ เหมาะกับการสอนแบบแบ่งกลุ่มดิสคัสกัน โดยอาจารย์ก็ต้องช่วยเสริมบรรยากาศการเรียนการสอนให้ดูน่าสนุกตามไปด้วย เน้นเป็นการพูดคุยมากกว่าการบรรยายอยู่เพียงฝ่ายเดียว หรืออาจจะให้นักเรียนพิมพ์แชทตอบกลับมาก็ได้เช่นกัน
ถึงอย่างนั้น การสอนแบบกลุ่มก็ใช่ว่าจะเหมาะกับเด็กทุกคน เพราะ อ.ศาสวัตเองก็เคยเจอนักศึกษาที่มาบอกว่า เขาไม่กล้าพูดเปิดไมค์ออกไป เพราะยังไม่สนิทกัน ทั้งยังมีเรื่องของความพร้อมในอุปกรณ์การเรียน ที่แตกต่างกันไปในแต่ละคนอีกด้วย
นอกจากนี้ ในการเรียนการสอนที่เป็นวิชาปฏิบัติ ถึงตอนนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ เพราะหลายอย่างไม่สามารถสอนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ตอนนี้จึงต้องเปลี่ยนเป็นเชิง tutorial แทน เพื่อชดเชยกับการลงภาคสนาม
“ทุกวันนี้ผมก็ยังทดลองอยู่ว่า มันเวิร์กไหม ทำเป็นวิดีโอ สอนประมาณชั่วโมงครึ่งเวิร์กไหม เหมือนมัน ยังไม่เกิด knowledge management ที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ว่า สอนแบบนี้เวิร์กไม่เวิร์ก ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับนักศึกษาด้วย”
แต่ อ.ศาสวัตก็ย้ำว่า คำตอบของเขามาจากประสบการณ์สอนส่วนตัว ซึ่งวิธีการสอนที่กล่าวมานี้ อาจนำไปใช้กับบางคณะวิชาไม่ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายในออกแบบการสอนในช่องทางออนไลน์ของเหล่าอาจารย์เป็นอย่างมาก
ขณะที่ อ.อรรถพล กล่าวว่า การช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัย ควรจะปรับเปลี่ยนไปตามคณะ และผู้ที่ตัดสินใจในประเด็นเหล่านี้ ก็ต้องยอมให้มหาวิทยาลัยมี authority ในการจัดการปัญหาที่มันตอบโจทย์ได้มากขึ้น ขณะที่มหาวิทยาลัยเอง ก็ต้องคิดถึงคุณภาพของนิสิต นักศึกษา และบุคลากรในมหาวิทยาลัยให้มากขึ้นไปด้วย
“มหาวิทยาลัยจะคิดแบบรวมศูนย์ แล้วก็สั่งลงไปๆ แล้วมองไม่เห็นมิติที่เป็นรายละเอียดในสังคมไม่ได้ ครั้งแรกๆ เดือนแรกๆ คนยังไม่ว่า แต่นี่มัน 11 เดือนแล้ว มันต้องทำอะไรมากกว่านี้ แล้วมหาวิทยาลัยมักบอกว่าตัวเองมีแผนจัดการความเสี่ยง นี่ก็คือแผนจัดการความเสี่ยงชัดๆ เป็นความเสี่ยงทางสังคมที่กระทบต่อคุณภาพการเรียนรู้และคุณภาพชีวิต ซึ่งมันคือหัวใจของการเป็นมหาวิทยาลัย”
อ.อรรถพลยังกล่าวอีกว่า ตอนนี้ มีหลายมหาวิทยาลัยพยายามจะทำเป็นคอร์สอบรม แต่ก็ยังไม่สามารถซัพพอร์ทอาจารย์ได้ครบถ้วน แต่คนที่น่าสงสารที่สุดเลย คือนักศึกษาเพราะต้องเผชิญทั้งเรื่องคุณภาพการเรียนรู้ คุณภาพชีวิต ทุนการศึกษา
“คุณต้องนึกว่าเด็กมหาวิทยาลัยมันมีหลาย spectrum มาก ตั้งแต่เด็กที่มีความพร้อม จนเด็กที่ไม่พร้อมเลย และพร้อมจะลาออกตลอดเวลา เพราะแบกภาระไม่ไหวแล้ว ซึ่งเทอม 1 มันเป็นการประคับประคอง ช่วงปลายๆ เทอมมันก็พอจะเอาตัวรอดกันมา พอมาเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ที่เริ่มทยอยเปิด บางมหาวิทยาลัยที่ให้เรียนออนไลน์ เด็กก็ลำบาก เพราะต้องอยู่หอด้วย เรียนออนไลน์ด้วย ทำงานพิเศษด้วย แล้วพอเทอม 3 คือเต็มๆ เลย ดึงดันว่าจะออนไลน์กันหมด เด็กเขาทำตัวไม่ถูก คือยังไง จะออนไลน์ไหม เขาจะกลับไปอยู่บ้านดีไหมจะได้ไม่ต้องเสียค่าเช่าหอ ในเมื่ออาจารย์ไม่สอน on-site อยู่แล้ว แต่อยู่บ้านก็ต้องมีอินเทอร์เน็ตที่พร้อมจะใช้ในการเรียนได้”
“พอผ่านมาสองอาทิตย์ เริ่มมีการพูดเรื่องการจะกลับมาเปิดใหม่ มาบอกกันตอนนี้ เด็กก็ต้องวิ่งหาหอกันใหม่ภายในกุมภาพันธ์นี้หรือเปล่า คือสุดท้ายผู้ใหญ่ระดับผู้กำหนดนโยบายไม่ชัดเจน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19) และรัฐบาล ไม่คุยกันให้จบ แล้วก็ปล่อยให้เราต้องดิ้นรนตามนโยบายที่ออกมาแทบจะเป็นรายวัน รายสัปดาห์”
หากยังต้องเรียนออนไลน์ต่อไป จะต้องเตรียมพร้อมอย่างไร?
คำถามสำคัญที่หลายคนสงสัย หากว่า COVID-19 ยังไม่จบลงในเร็ววันนี้ แต่คงอยู่กับเราไปอีก การเรียนการสอนจะเป็นอย่างไรต่อไป?
อ.อรรถพลมองว่า เหล่านิสิต นักศึกษา ยังพอเอาตัวรอดได้ แต่พวกเขาจะต้องเผชิญกับความเครียด และมีความสุขน้อยลง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องฝืนธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งจะต้องพูดคุย ถกเถียงกัน ใช้พื้นที่ร่วมกัน ยิ่งกับเด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบางทั้งหลายก็ยิ่งลำบากหนักขึ้นไปอีก
ประเด็นนี้ อ.ศาสวัตเสริมว่า นักศึกษาแต่ละคนมีเงื่อนไขชีวิตที่แตกต่างกัน ผู้ใหญ่บางคนบอกว่าเรียนออนไลน์มันง่าย แต่จริงๆ ไม่ใช่ การไปมหาวิทยาลัยหรือไปโรงเรียน มันเป็นพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงทุกอย่างได้เท่ากัน
“เราคิดว่ามันไม่ต้องปิดทั้งสถานศึกษาก็ได้ เหมือนอย่างห้างสรรพสินค้าที่พบผู้ติดเชื้อ ก็ปิดห้างฯ อยู่แค่ 2-3 วัน หรือปิดร้านที่พบผู้ติดเชื้อเพื่อทำความสะอาด กับโรงเรียนเราว่ามันก็ยังให้เด็กไปเรียนหนังสือ ไปใช้พื้นที่ได้ แค่ต้องมีมาตรการดูแลให้พร้อม”
ส่วนในมุมของการปรับวิธีการสอนนั้น อ.ศาสวัตมองว่า ตอนนี้เหล่าอาจารย์ก็ยังหาทางออกที่สมบูรณ์แบบที่สุดไม่ได้ ต้องปรับเปลี่ยนเรียนรู้ไปตามสถานการณ์และผู้เรียน แต่สิ่งหนึ่งที่ได้ข้อพิสูจน์จากการสอนออนไลน์ที่ผ่านมาก็คือ ห้องเรียนออนไลน์ ไม่เหมาะกับการสอนแบบ lecture-based หรือการสอนที่เน้นแต่บรรยายอีกแล้ว
“ครู และอาจารย์จำเป็นต้องปรับรูปแบบการสอน และการสั่งงานใหม่ ถ้าสอนออนไลน์ แต่สั่งงานให้เด็กเท่าเดิม สอนบรรยายในชั่วโมงเรียนเต็มๆ เหมือนเดิม ในเชิงพื้นที่ เมื่อบ้านคือที่ทำงาน ก็จะไม่มีคำว่าพักเกิดขึ้นกับพวกเขาเลย”
ถึงอย่างนั้น แนวทางที่มหาวิทยาลัยต้องรีบปรับ คือการลงไปสำรวจและรับฟังปัญหาจากผู้เรียน เพื่อทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถทำได้จากแบบประเมินของนักศึกษา หรือทำวิจัยถึงไลฟ์สไตล์ของผู้เรียนว่าควรวางรูปแบบการสอนอย่างไร เพื่อจะได้ปรับให้ได้ดีที่สุด
ขณะที่ อ.อรรถพลมองว่า วิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้จะทำให้คนตั้งคำถามกับการมีอยู่ของมหาวิทยาลัยมากขึ้นกว่าเดิม หลายคนจะมองว่า เราจะจ่ายเงินเรียนทำไมถ้าเกิดต้องมาเจอออนไลน์ นิสิต นักศึกษาหลายคนก็บอกว่า หากต้องเรียนแบบนี้ สู้หยุดเรียนไปเลยจะดีเสียกว่า ถ้าสถานการณ์ดีขึ้น ค่อยกลับมาเรียนใหม่อีกครั้ง
แน่นอนว่า การพักการเรียนเพื่อรอเวลานั้น ไม่ใช่ทางเลือกที่ทุกคนจะทำได้ ยิ่งในครอบครัวที่ฐานะยากจน การรีบเรียนให้จบก็เป็นความหวังสำหรับครอบครัวเหล่านั้น
“แต่มหาวิทยาลัยไม่มองรายละเอียดเหล่านี้ เขามาผลักภาระมา ทุกคนต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกันเอง ผมขอพูดแบบนี้เลยว่า ผู้บริหารทุกคนควรจะตระหนักว่า เราให้คุณเข้ามาทำงานบริหารเพื่อให้มาดูแลพวกเรา ไม่ใช่มาหาประโยชน์จากเรา จากการเน้นนโยบายที่ไม่เคารพพวกเรา”
อ.อรรถพลยังย้ำว่า หัวใจสำคัญของมหาวิทยาลัยมันต้องมีเรื่องของการศึกษาที่ฟูมฟักความเป็นมนุษย์ของคน ไม่ใช่โรงงานผลิตแรงงานประจำสาขาวิชา ฉะนั้น จึงไม่ใช่การใช้แคตตาล็อกคลิปวิดีโอแล้วให้ทุกคนไปนั่งดู อยู่กับหน้าจอตลอดเวลา ยังไงเสีย การสื่อสารแบบเจอหน้าย่อมดีกว่าอยู่แล้ว ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องไม่เฉยชากับปัญหาที่นิสิต นักศึกษา และเหล่าอาจารย์กำลังเผชิญอยู่นี้ด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น อ.อรรถพลยังเสริมว่า มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ทำให้พลเมืองมีคุณภาพ และไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่มีความเกี่ยวโยงกับสังคมโดยรอบ ทั้งผู้ค้าขาย คนงาน รปภ. และภารโรง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่มหาวิทยาลัยจะต้องคำนึงถึงชุมชนที่รายล้อมเหล่านี้ด้วย
“ถ้าโควิดยังระบาดไปอีกปีสองปี ผมว่าคนจำนวนไม่น้อยจะ value มหาวิทยาลัยน้อยลง แล้วถ้ามหาวิทยาลัยไม่ปรับตัว วันหนึ่งที่มหาวิทยาลัยถูกลดทอนคุณค่าลง คุณก็จะมาโวยวายกับสังคมไม่ได้ เพราะคุณไม่ได้ยึดตัวผู้เรียนและสังคมเป็นตัวตั้งในการจัดการศึกษา”