เราไม่ได้เรียนเพื่อสอบเข้า รับปริญญา แล้วสมัครงานเท่านั้น แต่เราเรียนเพื่อนำสิ่งที่ได้ไปใช้ชีวิต…
ประโยคนี้ผุดขึ้นมาระหว่างบทสนทนากับ ‘แป๊ด-สุวิมล จิวาลักษณ์’ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี ที่กำลังเล่าถึงโครงการ ‘Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด’
แม้การมอบทุนและจัดกิจกรรมด้านการศึกษานั้นดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เบื้องหลังแนวคิด Learn to Earn ไปจนถึงผลลัพธ์ที่ออกมา กลับสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ได้อย่างน่าสนใจ ทั้งยังชวนให้เรากลับมาทบทวนถึงจุดมุ่งหมายหมายของการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง
มองการศึกษาในมุมใหม่
มูลนิธิเอสซีจีก่อตั้งมาเกือบ 60 ปี โดยมีภารกิจหลักคือการรับผิดชอบต่อสังคมผ่านโครงการหลายด้าน โดยมีจุดร่วมเดียวกันคือ ‘การพัฒนาทรัพยากรบุคคล’
“เอสซีจีมีอุดมการณ์อยู่สี่อย่าง คือตั้งมั่นในความเป็นธรรม มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ ถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม และเชื่อมั่นในคุณค่าของคน เราก็ยึดเรื่อง ‘เชื่อมั่นในคุณค่าของความเป็นคน’ ออกมา ดึงมาเป็นแกนหลักในการทำงานมูลนิธิเอสซีจี”
สุวิมลเล่าว่าสิ่งที่มูลนิธิเอสซีจีเน้นหนักที่สุดคือด้านการศึกษาเพราะเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลได้อย่างยั่งยืนมากที่สุด
“เรื่องของการศึกษา มูลนิธิเอสซีจีมองว่ามันใหญ่มาก แล้วกระทรวงศึกษากระทรวงเดียวคงไม่สามารถเข้ามาทำตรงนี้ได้ เรามองว่าจริงๆ เป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคม ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในมุมที่ตัวเองถนัดหรือมีจุดแข็งตรงนั้น มูลนิธิเอสซีจีอาจจะมีจุดแข็งเรื่องการให้ทุนการศึกษา ซึ่งเราทำมาตลอด เราก็มีปรับเปลี่ยนวิธีว่าให้แบบถูกที่ถูกทาง ตรงกับความต้องการและปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม”
“จริงๆ ต้องบอกว่า 5-6 ปีที่เราเก็บข้อมูลมา เราพบว่าหลายคนตกงาน ไม่สามารถทำงานในสาขาที่ตัวเองจบมาได้ เช่น บางคนอาจจะไปเรียนด้านบริหาร แต่ไม่มีตำแหน่ง เขาก็ต้องไปหาวิชาชีพมาเรียนเพิ่ม บางคนจบปริญญาตรี แต่ไปรับเงินเดือนในระดับอนุปริญญาซึ่งน้อยกว่าวุฒิการศึกษาหรือเกรดที่ควรจะได้ เราก็กลับมานั่งคิดว่าจริงๆ แล้ว การจะสนับสนุนการศึกษาไม่ใช่แค่เขาได้เรียน แต่เขาควรจะเลือกเรียนให้ถูกกับสิ่งที่ตลาดต้องการ”
“เมื่อก่อนเราอาจจะสนับสนุนการศึกษาในระบบ ตั้งแต่ป.1 จนถึงปริญญาตรี ซึ่งจริงๆ คำว่า Education ทางภาครัฐสนับสนุนอยู่แล้วว่าเด็กไทยต้องผ่านมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบนี้ ต่อมัธยมแบบนี้ ปริญญาตรีแบบนี้ เราเลยอยากส่งเสริมแบบใหม่ คือไม่ได้ใช้คำว่า Education แล้ว เราใช้คำว่า Learning เลยดีกว่า เพราะเรียนรู้มันทำได้ตลอดชีวิต เลยเป็นที่มาของคำว่า Learn to Earn คือเรียนรู้เพื่ออยู่รอด”
แนวคิด Learn to Earn จึงเป็นการสนับสนุนทั้งทุนระยะยาวรูปแบบเดิม และทุนระยะสั้นหรือกิจกรรมเสริมสร้างทักษะให้ผู้เรียนสามารถนำไปสร้างรายได้ให้กับตัวเองโดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่หลายครอบครัวเจอปัญหาขาดรายได้
“อย่างแรกคือเด็กในระบบก่อน สิ่งที่เห็นชัดคือความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเทคโนโลยี เรียนจากมือถือ เรียนจากแท็บเล็ต แต่บางคนไม่มีอะไรเลยสักอย่าง พอรัฐบาลประกาศว่าให้เรียนที่บ้าน ความแตกต่างมีเยอะมากเลยนะอันนี้คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ครูก็ต้องพัฒนาตัวเองไปด้วย พอเรียนที่บ้าน บางคนเปิดจอไว้เฉยๆ แล้วไปไหนไม่รู้ ครูก็ต้องหาวิธีทำให้เด็กสนใจ อันนี้ในแง่ของตัวในระบบซึ่งเห็นได้ชัดว่าโควิด-19 ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาเยอะ”
“เราก็ไปร่วมมือกับเขาว่า ส่งมา ถ้าเป็นช่วงที่หัวเลี้ยวหัวตอของชีวิต ถ้าเราช่วยได้ เราก็ไปช่วย พูดง่ายๆ คือเด็กไม่ได้เรียนเยอะในช่วงโควิด-19 เพราะพ่อแม่ไม่มีงาน คือเงินที่จะใช้ในบ้านยังไม่มีเลย เพราะคนตกงานเยอะมาก”
“ส่วนปัญหานอกระบบการศึกษา อย่างที่เรายกตัวอย่างเรื่องทุนระยะสั้นว่า เรียนหนึ่งปีได้งานทำเลย หรือมีน้อยกว่านั้นอีกนะ วันเดียว สองวันก็มี อย่างเรียนทอดปลาท่องโก๋ ใช้เวลาวันเดียวก็ทอดเป็นแล้ว หมูปิ้งอย่างนี้ คือพวกนี้เราอย่าไปยึดติดว่าต้องไปสมัครเรียน ต้องให้ใบประกาศ ให้ทุนเขา เราให้ทุนเด็กเรา 5,000 บาท น้องไปรับของมาขายออนไลน์ ปรากฏว่าช่วงที่เขาอยู่บ้าน บางทีไม่ใช่ส่งตัวเองอย่างเดียว บางทีเขาช่วยเหลือพ่อแม่ได้ด้วย”
“ดังนั้นสถานการณ์โควิด-19 เลยทำให้เห็นทั้งสองด้านคือระบบการศึกษา กระทบแน่นอนในวงของคนที่เจอความเหลื่อมล้ำทางรายได้ การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี การเรียนได้ไม่เต็มที่ เรียนปกติก็แย่อยู่แล้ว เรียนอย่างนั้นก็ยิ่งต้องเร่งตัวเองเยอะขึ้น ถ้านอกระบบก็อย่างที่บอกว่าทำยังไงให้มีรายได้เข้ามาเร็วที่สุดแบบสุจริต”
“เราไม่สามารถกำหนดได้ว่า คุณต้องเรียนสาขานี้ๆ แต่ว่าเวลาที่ทำเรื่องนี้ เราทำคนเดียวไม่ได้ เพราะเราให้ทุน เราไม่ได้สอนเขาโดยตรง เราอาจจะต้องไปร่วมมือกับทางวิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือสถาบันนั้นๆ ว่าถ้าเราสนใจจะให้ทุน อาจารย์มีเด็กที่เขาอยากเรียนแต่ไม่มีโอกาสก็มาคุยกัน ส่งรายชื่อเข้ามา มีกระบวนการคัดเลือก แล้วเราก็ส่งจนเรียนจบ”
ทักษะชีวิตที่โรงเรียนอาจไม่ได้สอน
นอกจากทักษะที่ใช้ประกอบอาชีพแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สุวิมลมองว่าสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ คือทักษะชีวิต
“โควิด-19 ทำให้คนไกลกัน ไม่มี human touch เรียนก็เรียนออนไลน์ เพื่อนก็ไม่ได้เจอ ความเข้าอกเข้าใจ ความเห็นใจกันก็น้อยลง ดังนั้นการจะอยู่รอดได้ในศตวรรษที่ 21 เลยไม่ใช่แค่คุณเก่งอย่างเดียว คุณต้องดีด้วย ‘ดี’ ในความหมายที่เอสซีจีเน้นคือ เขาอยู่กับเพื่อน กับครอบครัวอย่างเป็นสุข รู้จักฟัง รู้จักยอมรับ มีวิธีสื่อสารที่ชัดเจน ที่สำคัญที่สุดคือต้องมีการทำงานเป็นทีม เพราะสุดท้ายแล้ว แม้เราจะอยู่กับตัวเองเยอะๆ แต่ถ้าเรามาทำงานกับคนอื่นแล้ว เข้าวงไหนวงนั้นแตกก็คงไม่ได้ เดี๋ยวนี้โลกเปลี่ยนเยอะ สงคราม โรคระบาด เงินเฟ้อ น้ำมันขึ้นราคา พลังงานเป็นแบบนี้ ดังนั้นเราต้องก้าวให้ทันสถานการณ์ เทคโนโลยีก็เปลี่ยนตลอดเวลาเลย แต่กับเด็กไม่มีปัญหาหรอก เพราะกับน้องๆ เจน Z เจน Alpha ก็เก่งมากๆ แล้ว แต่ทำยังไงให้ใช้ให้เป็น”
ดังนั้นนอกจากการให้ทุนการศึกษา มูลนิธิเอสซีจีเลยจัดกิจกรรมที่ช่วยปลูกฝังทักษะชีวิตให้กับเด็กและเยาวชนผ่านโครงการต่างๆ หนึ่งในนั้นคือรายการ ‘Young survivors…รุ่นนี้ต้องรอด’ ที่ร่วมมือกับทาง GMM
“ถ้าเราจะสื่อสารกับเจน Z เราต้องหาพันธมิตรด้วย เลยไปจับมือกับทาง GMM ที่เป็นช่องยูทูบเพื่อทำรายการ ‘Young survivors…รุ่นนี้ต้องรอด’ ลักษณะรายการเป็นเหมือนกับการเอาคนที่เป็นทีมมาแข่งขันกันเป็นคลาสต่างๆ โจทย์ก็จะเปลี่ยนไป แต่ไม่ใช่การแข่งขันกันด้วยความสามารถอย่างเดียว เขาจะต้องเอาทักษะชีวิตมาแก้ปัญหา วางกลยุทธ์ให้เป็นว่าจะทำยังไงให้ชนะ มีมาสเตอร์มาให้คำแนะนำ ซึ่งมาสเตอร์ไม่ได้มีหน้าที่มาสอน แต่มีหน้าที่มาแชร์ประสบการณ์ มา blend generation เข้าไป ซึ่งมาสเตอร์ก็ไม่ใช่เจน Z นะ อย่างป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม หรือ ป๋อมแป๋ม-นิติ ชัยชิตาทร ซึ่งแต่ละคนเขามีประสบการณ์เยอะ ทั้งประสบการณ์ชีวิต การเรียน การทำงาน”
“ส่วนคนที่เข้ามาร่วมรายการก็อย่าง คริส-พีรวัส แสงโพธิรัตน์, เต-ตะวัน วิหครัตน์ อะไรอย่างนี้ พอเราไปดู ก็สนุกนะ เขาอยู่ด้วยกันได้จริงๆ มีหลายๆ คนเลย ซึ่งทำให้รายการมันน่าสนใจ แล้วถอดบทเรียนออกมาว่าเกมตรงนี้เป็นยังไง ได้อะไรบ้าง นอกจากนี้เรายังมีเฟซบุ๊กของ Learn to Earn ทำหน้าที่เป็น information hub ให้ความรู้ เช่น เวลาคุณจะไปสัมภาษณ์งาน คุณต้องเตรียมตัวยังไง เรียนภาษาอังกฤษยังไงให้ไม่น่าเบื่อ กล้าพูดกับคนอื่น ฟังยังไงให้เป็น ซึ่งมูลนิธิฯ ไม่ได้พูดเอง เราก็จะไปเอาคนที่เขามีคนติดตามอยู่ แล้วเขาก็มีมุมมองชีวิต อย่างเช่น เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ ลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์”
“Young Survivors เป็นเรื่องการทำยังไงให้รายการหรือเกมพวกนี้มันสะท้อนไปที่การใช้ชีวิตจริงๆ เพราะการเรียนรู้จากเกมมันง่ายกว่า เหมือนการได้ลองทำ ลองรู้ ลองใช้ชีวิต แล้วก็สนุกด้วย เราว่าตอนนี้มันหมดยุคที่เราจะให้คนอ่าน คนฟัง ไปเสิร์ชนู่นนี่นั่น มันต้องผ่านอะไรแบบนี้ พอเราทำไป ฟีดแบ็กมันดีมากเลย มีคนมาคอมเมนต์ว่า เออมันจริงเลยนะ เขาเรียนรู้ว่าต้องทำอย่างนี้หรือเห็นด้วยเลยอะไรอย่างนี้”
เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน
ตอนนี้ Learn to Earn เดินทางมาได้ประมาณครึ่งปี และแน่นอนว่าโครงการทั้งหมดคงไม่จบลงเพียงเท่านี้ เพราะสุวิมลตั้งใจอยากจะให้ Learn to Earn ดำเนินไปอย่างยั่งยืนที่สุดเท่าที่จะเป็นเป็นได้
“เวลาที่มูลนิธิเอสซีจีทำโครงการเกี่ยวกับการเรียนรู้เฉพาะการพัฒนาคน เราไม่สามารถบอกได้เลยว่าจะจบภายในปีนี้ๆ เราจะเรียกโครงการเราว่าเป็นโครงการต่อเนื่อง เพราะถ้าจะสร้างแนวคิดนี้ เราคิดว่าคงต้องสร้างตลอดไป เพราะเป็นแนวคิดที่ไม่น่าจะล้าสมัย คือ ‘เรียนรู้ให้อยู่รอด’ มันกินความหมายเยอะเลย อยู่รอดในเชิงเศรษฐกิจ ในเชิงสังคมคือครอบครัวเขาเอง แล้วก็อยู่รอดในเชิงสิ่งแวดล้อม เป็นมิติที่ทำให้เกิดความยั่งยืน คือต้องสร้างความสมดุลให้ได้ ทั้งตัวเอง ทั้งครอบครัว ทั้งสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว ก็คงทำต่อเนื่อง แต่ละยุคสมัยอาจจะมีสถานการณ์เข้ามาไม่เหมือนกัน ดังนั้น ‘ใจความหลัก’ ก็จะยังไม่เปลี่ยน แต่ ‘วิธีการ’ อาจจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยค่ะ”
“แต่เราไม่ได้บอกว่ามูลนิธิเอสซีจีทำอยู่คนเดียวนะ เพราะคนอื่นๆ ก็ทำ เราคิดว่าหลายองค์กรก็ทำเยอะแยะไปหมดเลย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม กระทรวงศึกษา ภาครัฐ ภาคประชาสังคมก็ช่วยกัน เพียงแต่ว่าตอนนี้ใครถนัดอะไรก็ทำอันนั้น แล้วก็ทำให้จริงจัง ต่อเนื่อง แล้วก็มองยาวๆ อย่าช่วยเหมือนไฟไหม้ฟาง วูบแล้วก็หายไป”
“อย่างช่วงโควิด-19 ถ้าเราให้ทุนไป 3 ปี พอจบโควิด-19 แล้วน้องก็เคว้งคว้าง แบบนี้ไม่ได้ ถ้าใครคิดจะทำเรื่องการศึกษา ถ้าศัพท์ของมูลนิธิเอสซีจีคือ ใจต้องนิ่ง แล้วต้องพยุงให้ไปต่อให้ได้ เพราะต่อให้เราตัดงบบริหารจัดการของเราได้หมด แต่สิ่งที่เราตัดไม่ได้เลยคืองบทุนการศึกษา เพราะถ้าเราตัดคืออนาคตของหลายๆ คนด้วย เราอาจจะมีหลายโครงการ แต่การศึกษาจะเป็นเรื่องสุดท้ายที่เราจะเลือกตัด”
“เพราะเกือบ 60 ปีที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คนสำคัญที่สุด แม้กระทั่งในองค์กรของเอสซีจีเอง เราฟังผู้บริหารมาหลายยุค หลายสมัยเหมือนกัน ทุกท่านก็จะบอกว่าทรัพยากรคนคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในองค์กร เพราะองค์กรไม่สามารถจะขับเคลื่อนได้เลยถ้าปราศจากคนที่เก่งหรือดี ต่อให้มีเครื่องไม้เครื่องมือ มีอุปกรณ์ มีเทคโนโลยีทันสมัย แต่ถ้าไม่มีคนเก่งและดีขับเคลื่อน มันไปต่อไม่ได้”
“มันก็เหมือนประเทศ โชคดีมากเรามีทรัพยากรต่างๆ แต่ถ้าเราไม่มีคนไทยที่เก่งและดี เราก็ต้องไปจ้างคนอื่นมาทำ เราเลยคิดว่าเรื่องคนสำคัญที่สุด แต่จะช่วยแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละองค์กรที่จะเข้าไปช่วย ซึ่งเราคงไม่ไปทางไหนนอกจากเรื่องคน เพียงแต่เปลี่ยนจากเรื่องการศึกษา (Education) มาเป็นการเรียนรู้ (Learn) การเติมเต็มศักยภาพให้เขาเติบโต”