เบนจา อะปัญ นักศึกษาผู้มีความสนใจในวิศวกรรมและดาราศาสตร์โดนจับ พริษฐ์ ชิวารักษ์ คนรุ่นใหม่ที่ถูกคุมขังเป็นผู้สนใจประวัติศาสตร์ กลุ่มนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มช. ที่ถูกปิดกั้นการแสดงผลงาน และอีกหลายคนที่ความฝันจะทำให้ประเทศนี้เสมอภาคมากขึ้นถูกพรากไป ความฝันของพวกเขาไม่สามารถบรรลุได้ในสังคมที่เหลื่อมล้ำมหาศาลเช่นนี้
ในวันที่ผู้ตั้งคำถามถูกคุมขังทางกาย ผู้ที่ไม่ถูกคุมขังทางกายก็ถูกควบคุมทางอุดมการณ์ ถูกวางเงื่อนไขให้สยบจำยอม ความเหลื่อมล้ำที่แผ่ขยายในช่วงวิกฤติโรคระบาดยิ่งวางเงื่อนไขให้ประชาชนสยบยอมต่อทุกอำนาจ จนน่าตั้งคำถามว่าประเทศไทยจะเหลืออะไรต่อไป ในสังคมที่เศรษฐกิจถดถอย และทำลายคนรุ่นใหม่ผู้มีความฝัน
ในอีกซีกโลกหนึ่ง แม้ปัญหาโรคระบาดจะกระทบกับเศรษฐกิจประเทศ ฟินแลนด์ประเทศที่ขึ้นชื่อในการดูแลความฝันของประชาชนได้เพิ่มเติมสวัสดิการของเยาวชนคนรุ่นใหม่ จากเดิมที่มากอยู่แล้วให้เพิ่มเติมเข้าไปอีก ด้วยหลักการง่ายๆ ว่า ไม่มีคำว่ามากเกินไปสำหรับประชาชน
บทความนี้จึงชวนเปรียบเทียบสองประเทศที่คุมขังความฝันคนรุ่นใหม่ และประเทศที่รักษาดูแลความฝันของเยาวชน
ตั้งแต่กลางปี ค.ศ.2020 ผู้กำหนดนโยบาย ภาควิชาการ นักการเมือง รวมถึงภาคประชาชนในฟินแลนด์ต่างยอมรับร่วมกันว่า รัฐสวัสดิการตามตัวแบบนอร์ดิก (หรือระบบสวัสดิการถ้วนหน้า) เป็นระบบที่สามารถประคองชีวิตและเศรษฐกิจของผู้คนได้ดีกว่า คือ ระบบสวัสดิการแบบกลไกตลาดและให้ปัจเจกชนรับผิดชอบตัวเอง ดังนั้นแผนการของรัฐบาลฟินแลนด์คือการขยายสวัสดิการมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายไปในกลุ่มก่อนหรือหลังวัยทำงาน เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้จำกัดไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็ก นักศึกษา กลุ่มคนว่างงาน หรือกลุ่มคนสูงอายุ เพราะกลุ่มนี้คือกลุ่มที่มีความเปราะบางสูงเมื่อเกิดโรคระบาดหรือเศรษฐกิจถดถอย
จนกระทั่งปลายปี ค.ศ.2021 ฟินแลนด์ก็ยังไม่หยุดขยายสวัสดิการสำหรับคนกลุ่มนี้ และพยายามหาทางลดความเหลื่อมล้ำจากกลุ่มทุนต่างๆ ผ่านระบบภาษี ยิ่งคนจำนวนมากได้รับสวัสดิการอย่างไม่มีเงื่อนไข ย่อมทำให้ทางเลือกในการสร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งเป็นระบบที่ดีกว่าการพยายามควานหาคนที่จนที่สุดเพื่อจัดสวัสดิการ หรือคนที่เก่งที่สุดเพื่อสนับสนุน เพราะเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพต่ำและไม่มีประโยชน์อะไรในการลดความเหลื่อมล้ำในภาพใหญ่เลย หากระบบสวัสดิการไม่ได้เป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนรู้ว่าพวกเขาจะได้รับเมื่อไหร่
สำหรับคนรุ่นใหม่ฟินแลนด์ นอกจากระบบเงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้าที่ได้เดือนละประมาณ 4,000 บาทสำหรับผู้ปกครองแล้ว เมื่อเข้าสู่วัยมัธยมปลายที่พ้นจากการศึกษาภาคบังคับ จะได้รับเงินเดือนสูงสุด 10,000 บาท/เดือน สำหรับการอยู่คนเดียว (และอาจสูงถึง 14,000 บาท/เดือน หากแต่งงานแล้วมีลูก) เมื่อพวกเขาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่ค่าเทอมทุกอย่างฟรี พวกเขาจะได้รับเงินเดือนเดือนละ 20,000 บาท
ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.2021 รัฐบาลฟินแลนด์ประกาศสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ที่ศึกษาในระดับมัธยมปลาย รวมถึง ปวช. หลักสูตรอาชีพต่างๆ เพิ่มเติมเป็นค่าตั๋วเดือนรถประจำทาง ประมาณ 2,800 บาท/เดือน รวมถึงชดเชยผู้ที่ต้องเดินทางจากพื้นที่ที่ห่างจากขนส่งสาธารณะเกินกว่า 5 กิโลเมตรขึ้นไป
เงื่อนไขสวัสดิการที่เพิ่มเติมขึ้นมานี้ก็เพื่อกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบการศึกษาในระดับสูงมากขึ้น ลดความกังวลจากค่าใช้จ่ายพื้นฐานส่วนเพิ่ม
เป็นที่น่าสังเกตว่าเงินสวัสดิการเหล่านี้อาจเป็นปริมาณที่ไม่เยอะมากตามมาตรฐานค่าครองชีพของประเทศฟินแลนด์ แต่ก็นับเป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่สำคัญสำหรับทุกคนเพื่อให้ ‘ความกังวล’ เล็กน้อยถูกขจัดออก ไม่ให้คนคิดว่าต่อไป “ฉันต้องจ่ายอะไรเมื่อตัดสินใจเรียนต่อ” เป็น “ฉันจะได้อะไรบ้าง รัฐบาลช่วยอะไรฉันบ้างเมื่อฉันตัดสินใจเรียนต่อ”
ขณะที่ประเทศไทยเราจะพบว่า ในวิกฤติ COVID-19 การเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย และนักศึกษาจำนวนมากต้องชะลอแผนการศึกษาต่อในการศึกษาระดับสูง จากการศึกษาพบว่านักเรียนนักศึกษาไทยที่ตัดสินใจหยุดเรียนด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจร้อยละ 80 จะไม่ได้กลับมาเรียนต่อ และพวกเขาต้องแบกรับค่าเสียโอกาสทางรายได้และคุณภาพชีวิต—เป็นแผลเป็นไปตลอดทั้งชีวิต
ถึงวัยเริ่มความฝัน
เมื่อผมเดินบนท้องถนนในฟินแลนด์สิ่งที่ประสบพบเจอคือร้านค้าต่างๆ ที่มากหน้าหลายตาซึ่งไม่ได้อยู่ในห้างสรรพสินค้า ร้านขายหนังสือ ร้านขายของเล่น ร้านเครื่องเขียน โรงภาพยนตร์ ร้านค้าที่ขายสินค้าที่ดูเหมือนคนไม่ต้องการและดูเหมือนว่าธุรกิจออนไลน์ต่างๆ สามารถเข้ามาแทนที่ได้ แต่เพราะอะไรธุรกิจเหล่านี้จึงยังอยู่ได้ ไม่ได้เจ๊งล้มละลาย หรือล้มหายตายจากไป
ประชากรฟินแลนด์น้อยกว่าไทย (กำลังซื้อน้อยกว่าเยอะในเชิงปริมาณ) และโดยอุปนิสัยคนฟินแลนด์ก็เป็นชนชาติที่ค่อนข้างติดบ้าน แต่ธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง หรือ stand alone ที่ไม่ใช่แฟรนชายส์ ไม่อยู่ในห้าง ก็ยังคงอยู่ได้ไม่มีปัญหาอะไร แถมค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานฟินแลนด์ก็ไม่ใช่น้อยๆ จ้างเต็มเวลาก็คนละเกือบแสนบาทต่อเดือน
แล้วร้านเครื่องเขียน โรงหนัง ร้านของเล่น ร้านการ์ตูนจะเหลือกำไรกันเท่าไร ?
เมื่อสอบถามเพื่อนอาจารย์ชาวฟินแลนด์ก็เข้าใจว่า ระบบสวัสดิการของฟินแลนด์นั้นรวมไปถึงการจ้างงานต่างๆ ซึ่งหัวใจสำคัญ คือ การที่รัฐบาลจ่ายเงินค่าจ้างสำหรับการจ้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มงานครั้งแรก การจ้างงานในธุรกิจขนาดเล็ก หรือกลุ่มธุรกิจตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งเป็นสวัสดิการพื้นฐาน ลักษณะเช่นนี้ทำให้คนรุ่นใหม่ออกจากระบบอุปถัมภ์ในเครือข่ายเดิมๆ ที่พวกเขาคุ้นเคยไปสู่กลุ่มธุรกิจใหม่ และกลุ่มธุรกิจใหม่ก็ได้รับไอเดียจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ลักษณะเช่นนี้ช่วยทำให้ความฝันของคนรุ่นใหม่เมื่อตอนเริ่มต้นชีวิตสามารถไปต่อได้ ไม่ว่าจะในรูปแบบของผู้ประกอบการหรือผู้ใช้แรงงาน
สำหรับประเทศไทยมีรายงานว่าบัณฑิตจบใหม่กว่าร้อยละ 50 มีโอกาสตกงาน หรือทำงานในสายงานที่ตนเองไม่ได้ชอบไม่ได้สนใจ และรับเงินต่ำกว่าความสามารถ ขณะที่โครงการของกระทรวงอุดมศึกษาไทยก็กลายเป็นการส่งเสริมการจ้างงานระยะสั้นที่เปราะบางและผูกกับระบบอุปถัมภ์ซ้ำอีกต่อหนึ่ง
ประท้วงและตั้งคำถามได้
ไม่ใช่แค่ประเทศที่มีความเสมอภาค ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากๆ ฟินแลนด์ยังเป็นประเทศที่มีเสรีภาพทางการเมืองมากเช่นกัน การประท้วงบนท้องถนน การนัดหยุดงานนับเป็นเรื่องปกติ เมื่อการเจรจาของสหภาพแรงงานไม่บรรลุข้อตกลง การประท้วงหยุดงานก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในรอบปี รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวอย่างมากกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประท้วงของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป ขยายเป็นวงกว้างในช่วงปี ค.ศ.2021 โดยเรียกร้องต่อนโยบายของรัฐบาลที่ดูจะไม่จริงจัง ปากว่าตาขยิบ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ที่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ล่าสุดในช่วงเดือนตุลาคมการประท้วงของกลุ่มเยาวชนฟินแลนด์ที่นั่งขวางทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาล และล็อกตัวเองกับประตู เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมก่อนปล่อยตัวทั้งหมด และไม่ตั้งข้อกล่าวหาใดๆ กับเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี การประท้วงที่คนรุ่นใหม่เรียกว่า “การต่อสู้แห่งฤดูใบไม้ร่วง” ยังคงดำเนินต่อไป และอนาคตความฝันของพวกเขาก็ยังคงได้รับรองต่อไป นับว่าแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับคนรุ่นใหม่ในไทยที่นอกจากสิทธิพื้นฐานที่น้อยนิดเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เมื่อส่งเสียงก็กลายเป็นว่าชีวิตและความฝันของพวกเขาก็ถูกกดทับให้มืดมน
แม้สองประเทศนี้จะปฏิบัติต่อความฝันของคนรุ่นใหม่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เราเห็นร่วมกันคือ ความฝันต่อสังคมที่เสมอภาคล้วนเป็นสิ่งสากลและเรามีร่วมกัน ฟินแลนด์ไม่ได้มาถึงจุดนี้เพราะโชคช่วย หรือความเมตตาจากใคร แต่ก็ล้วนมาจากการต่อสู้ของผู้มีความฝันในอดีตและปัจจุบันเช่นกัน เพราะการส่งเสียงจึงทำให้เรื่องราวของคนธรรมดากลายเป็นสิ่งสำคัญได้
แม้ประเทศไทยยังห่างไกลต่อความเสมอภาค แต่เมื่อคนรุ่นใหม่ยืนยันทวงคืนชีวิต ทวงคืนสิทธิพื้นฐาน ไม่ว่าอย่างไร ความเสมอภาค รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ย่อมมาถึงแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart