ทำไมครูไทยถึงอยากลาออก?
คำถามที่กลายมาเป็นประเด็นร้อนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังครูท่านหนึ่งแชร์เอกสารขอลาออกที่ระบุถึงปัญหาของระบบการประเมินของบุคลากรครูซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานสอน ทั้งยังรวมกับปัญหาการเรียนออนไลน์ยืดเยื้อ ทำให้เธอทนไม่ไหว และต้องลาออกจากอาชีพในฝัน
ประเด็นนี้ถูกหยิบยกไปพูดถึงในหลายวงสนทนา อย่างกลุ่ม clubhouse ของครูขอสอนที่มีผู้ร่วมฟังเป็นจำนวนมาก และ #ทำไมครูไทยอยากลาออก ในทวิตเตอร์ที่พุ่งติดอันดับ 1 ของประเทศไทยอยู่ระยะหนึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบราชการของอาชีพครู
แล้วปัญหาเหล่านี้มีอะไรบ้าง The MATTER สรุปสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลให้ครูไทยจำนวนไม่น้อยหมดไฟ และต้องก้าวถอยออกจากอาชีพนี้
ภาระงานที่มากเกินไป
หลายคนฝันอยากเป็นครูมาแต่ไหนแต่ไร เพราะอยากสอนหนังสือให้กับนักเรียน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยคือครูไม่ได้ทำหน้าที่แค่สอนหนังสือ แต่ยังต้องจัดการภาระงานอื่นๆ เช่น งานเอกสาร ทำแบบประเมิน เข้าเวร ทำธุรการ จัดกิจกรรม หรือบางทีอาจไม่ได้สอนแค่วิชาเดียวเท่านั้น สารพัดงานที่ไม่ใช่งานสอน จนครูไม่มีเวลาเตรียมการสอน และไม่มีโอกาสได้พัฒนาการเรียนการสอนให้กับนักเรียน
ตัวอย่างเช่น กรณีที่มีการแชร์ภาพเอกสารของครูคนนึงที่เพิ่งบรรจุข้าราชการได้เพียง 1 ปี แต่ต้องทำหน้าที่รักษาการ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน และยังต้องเซ็นคำสั่งแต่งตั้งให้ตัวเองด้วย กลายเป็นว่า ต้องปฏิบัติหน้าที่ในคราวเดียวกัน 4 ตำแหน่ง ได้แก่ หัวหน้ากลุ่มบริหารงานบุคคล, หัวหน้ากลุ่มบริหารงานวิชาการ, หัวหน้ากลุ่มบริหารงานงบประมาณ และหัวหน้ากลุ่มบริหารงานทั่วไป ซึ่งนี่ถือเป็นตัวอย่างของปัญหาภาระงานที่เกิดขึ้นกับครูในประเทศไทย
ค่าตอบแทนที่น้อยเกินไป
เงินเดือนที่ครูได้ไม่สอดรับกับหน้าที่ เมื่อครูต้องทำสารพัดอย่าง โดยเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ อ้างอิงจากฐานเงินเดือนของครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามพ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลกรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 พบข้อมูลดังนี้
- ครูผู้ช่วย ขั้นต่ำ 15,050 บาท, ขั้นสูง 24,750 บาท
- ครู คศ.1 ขั้นต่ำ 15,440 บาท, ขั้นสูง 34,310 บาท
- ครู คศ.2 ขั้นต่ำ 16,190 บาท, ขั้นสูง 41,620 บาท
- ครู คศ.3 ขั้นต่ำ 19,860 บาท, ขั้นสูง 58,390 บาท
- ครู คศ.4 ขั้นต่ำ 24,400 บาท, ขั้นสูง 69,040 บาท
- ครู คศ.5 ขั้นต่ำ 29,980 บาท, ขั้นสูง 76,800 บาท
แต่ละเทอมจะมีการประเมินครูเพื่อขยับเงินเดือน โดยคิดในรูปแบบของเปอร์เซ็นต์ แบ่งเกณฑ์การประเมินเป็น 2 องค์ประกอบ ได้แก่ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน ซึ่งประเมินตามการพัฒนาของนักเรียน และการปฏิบัติตนในการรักษาวินัย คุณธรรม จรรยาบรรณ วิชาชีพ หรือหากใครต้องการให้เงินเดือนขยับสูงขึ้นเร็วกว่าระบบปกติ ก็ต้องทำวิทยฐานะเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือน
แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีข่าวรับสมัครครูอัตราจ้างของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ลำพูน ซึ่งได้ค่าตอบแทน 6,500 บาท/เดือน ทำให้กระแสคำถามถึงเงินเดือนครูที่น้อยเกินไปขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งปัญหานี้เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ครูหลายคนลาออกไป
ขาดความเข้าใจในสิทธิและสวัสดิภาพในการทำงาน
ครูต้องทำงานล่วงเวลา เลิกดึก ถูกเกณฑ์ไปช่วยในวันหยุด จนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ครูไม่ได้มีหน้าที่เหล่านี้ ซึ่งนี่เป็นผลจากการขาดความตระหนักรู้ด้านสิทธิและสวัสดิภาพในการทำงาน ซึ่งครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า การขาดความเข้าใจเรื่องสิทธิและสวัสดิภาพในการทำงานนี้ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น การขาดการดูแลเรื่องสภาพจิตใจในการทำงานของครู การนับชั่วโมงการทำงานของครูที่นับเฉพาะชั่วโมงสอน แต่ไม่รวมชั่วโมงการเตรียมงาน ตรวจการบ้าน ประชุมกับครูแผนกอื่น ๆ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน
ยิ่งกว่านั้น สวัสดิการต่างๆ เช่น บ้านพักครู ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเพียงพอที่จะทำให้ครูอยู่ได้อย่างสบายใจ แถมยังมีครูอีกหลายคนที่ถูกกีดกันทางเพศ เช่น กรณีของครูที่เป็นผู้หญิงทรานส์ ต้องแต่งเครื่องแบบข้าราชการครูชาย ตรงข้ามกับเพศสภาพที่ได้ผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิงไปแล้ว
ครูถูกผลักให้ต้องรับผิดชอบปัญหาที่เกิดขึ้น
ผู้บริหารระดับสูงหรือผู้ที่มีอำนาจมากกว่า ไม่ต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้น แต่กลายเป็นว่า ปัญหาเหล่านั้นจะถูกผลักให้ตกลงมาที่ครูแทน และครูต้องแก้ปัญหาด้วยการรับผิดชอบหน้าที่ส่วนเกินของตนเอง
หรืออย่างในช่วง COVID-19 ครูต้องซื้ออุปกรณ์สำหรับสอนออนไลน์เอง ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ทั้งที่ภาครัฐควรจะช่วยเหลือในส่วนนี้ ซึ่งถือเป็นการผลักให้เป็นครูต้องเป็น ‘ผู้เสียสละ’
ครูจุ๊ย ระบุว่า ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่ามักไม่ต้องรับผิดรับชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำลงไป เพราะขาดระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ การตรวจสอบมักเกิดกับผู้น้อยเท่านั้น และผู้น้อยมักต้องรับผิดชอบเกินส่วนความรับผิดชอบของตัวเองโดยผู้ที่มีอำนาจมากกว่าใช้ช่องโหว่ของระเบียบในการเอาเปรียบผู้น้อย เช่น การเซ็นชื่อเป็นผู้รับมอบสิ่งของหรืออาคารของครูพัสดุ
อำนาจรวมศูนย์
การรวมศูนย์อำนาจเอาไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้อำนาจการตัดสินใจอยู่แต่ส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ทั้งที่ในประเทศมีโรงเรียนหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละบริบท เป็นผลให้โรงเรียนไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจและจัดการสิ่งต่างๆ อย่างเต็มที่ เช่น ไม่มีอำนาจในการเปิดสอบ เปิดคัดเลือก หรือบรรจุครูกันเอง
ปัญหาที่ทำให้ครูอยากลาออก ยังรวมไปถึงเรื่องของการมองโรงเรียนในฐานะการแข่งขัน ซึ่ง พล-อรรถพล ประภาสโนบล ผู้เคยรับข้าราชการครู กล่าวไว้ใน Clubhouse เรื่อง ‘ทำไมครูไทย (อยาก) ลาออก’ ว่า การมองโรงเรียนเป็นการแข่งขันเพื่อเน้นทำให้การศึกษามีคุณภาพมากขึ้น ส่งผลถึงการจัดสรรทรัพยากรจากส่วนกลางให้แต่ละโรงเรียนด้วย หากโรงเรียนไหนหาเด็กเข้ามาเยอะได้ ก็จะได้ทรัพยากรมากขึ้น แต่ถ้าโรงเรียนไหนมีเด็กน้อย ก็จะได้ทรัพยากรน้อย กลายเป็นว่าครูต้องแบกรับหนักกว่าปกติ เช่น ต้องทำหน้าที่อื่นๆ นอกเหนือจากภาระงานสอน ต้องดูแลเด็กต่อห้องเรียนมากขึ้น เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น การจัดสรรทรัพยากรก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อสนับสนุนนักเรียนอย่างแท้จริงด้วย
นอกจากนี้ ครูพลยังมองว่า ระบบราชการที่ล้าหลังและรวมศูนย์อำนาจ เป็นผลให้ครูจำนวนไม่น้อยอยากลาออก เพราะปัญหานี้ทำให้เกิดความยุ่งยากในการทำงาน และอำนาจไม่ได้ถูกยึดโยงกับประชาชน ทำให้ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้
ขาดการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพภายในองค์กร
หน่วยงานแต่ละหน่วยงานซึ่งทำงานส่วนเดียวกัน แต่กลับแยกกันทำงาน จนสั่งงานหลายรอบและซ้ำซ้อนเกินจำเป็น และเป็นการเพิ่มภาระให้ครูต้องทำงานมากและซับซ้อนขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการขาดทิศทางในการทำนโยบายด้วย โดย ครูจุ๊ย ระบุว่า การขาดทิศทางมาจากการทำงานที่ไม่มีการวางแผนล่วงหน้าโดยใช้ข้อมูลที่เก็บได้ เพราะไม่มีการเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ จึงต้องพึ่งพาความเห็นของกลุ่มบุคคลแทน แผนต่างๆ ที่ออกมา จึงเป็นไปตามความเห็นของกลุ่มบุคคลมากกว่ามาจากข้อมูลและงานวิจัย ผลกระทบจึงตกอยู่ที่ครูและนักเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทางออกคือ รวมกลุ่มเป็น ‘สหภาพครู’ เพื่อให้ครูมีอำนาจต่อรอง
ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล จากกลุ่มครูขอสอน ให้สัมภาษณ์กับ The MATTER โดยกล่าวถึงทางแก้ว่า อย่างแรกควรจะทำให้ครูสามารถกลับไปให้ความสำคัญกับงานวิชาการได้ โดยให้ครูมีเวลาทุ่มเทกับการเตรียมการสอนขึ้น
อย่างที่สอง คือ การกำหนดว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องไหน โดยครูทิวเล่าว่า ทุกวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่ควรจะรับผิดชอบ ไม่มีความรับผิดชอบ ลอยตัวเหนือปัญหาแล้วก็พยายามจะผลักภาระให้โรงเรียน ให้ครู ให้ผู้ปกครอง
และอย่างที่สาม คือ การหาทางให้โรงเรียนมีอำนาจในการจัดการศึกษาได้อย่างมีอิสระ ตามบริบทของตัวเอง รวมถึง มีทรัพยากรในการบริหารจัดการ เพราะถ้ามีอำนาจในการตัดสินใจเองแต่ไม่มีทรัพยากรก็ไม่สามารถทำอะไรได้
ครูทิวกล่าวว่า ถ้าพูดโดยรวมคือ ต้องแก้ไขด้วยการกระจายอำนาจทางการศึกษา ทรัพยากรจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ ผมว่าน่าจะแก้ปัญหาได้ ซึ่งจะโยงไปถึงเรื่องการบริหารจัดการต่างๆ รวมถึงเรื่องบุคลากรด้วย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนการสอน หรือฝ่ายการสอนเองที่ควรจะมีครบทุกวิชา”
“นอกจากนี้ ยังมีเรื่องระเบียบข้อบังคับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เวลาที่เกิดปัญหาเขาก็จะบอกว่า โอ้ยเป็นไปตามระเบียบ มันเป็นระเบียบอย่างนี้ มันติดระเบียบทำไม่ได้ กฎแก้สิ ผมว่า นี่น่าจะประมาณนี้ ในเชิงโครงสร้างกว้าง”
ครูทิวย้ำทิ้งท้ายว่า สุดท้ายแล้ว เมื่อเราวิ่งเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจ ก็การันตีไม่ได้ว่า มันจะวางกลไกหรือมีนโยบายอย่างไร เราจะมาคอยวิงวอน ขอพรให้มีรัฐมนตรีหรือมีผู้บริหารกระทรวงที่เห็นปัญหาจะมาแก้ไขก็ไม่ได้ ดังนั้น ตัวครูควรจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน เหมือนกับต่างประเทศที่มีสหภาพครูในการเป็นตัวแทน เป็นคานงัด สร้างอำนาจการต่อรองให้กับครูที่เป็นเหมือนเบี้ยล่าง ถูกกดขี่อยู่ในระบบ เพื่อจะได้สะท้อนมุมของคนที่ปฏิบัติงานจริง แล้วจะได้มีสิทธิมีเสียงลุกขึ้นมาต่อสู้กับกลไกอำนาจรัฐ ซึ่งปัจจุบันก็มีองค์กรครูอยู่ แต่สุดท้ายแล้วก็กลายเป็นกลไก เครื่องมือของผู้บริหาร
“ผมพูดได้เต็มปากเลยว่า องค์กรเหล่านี้ถูกจัดตั้งมาโดยเครือข่ายอุปถัมภ์ ซึ่งทำให้องค์กรเหล่านี้ไม่ยอมพูดถึงปัญหาบางอย่างที่ครูเจอ เพราะว่ามันจะไปกระทบผลประโยชน์หรืออำนาจที่เป็นอยู่ ดังนั้น จึงควรจะมีองค์กรที่ปกป้องสิทธิของครูได้จริงๆ เพื่อครูข้างล่างจริงๆ ไม่ใช่เป็นบันไดให้ใครบางคนมีชื่อมีตำแหน่งเพื่อเป็นหนทางสู่อำนาจเท่านั้น”