แค่เปิดคูหาวันแรกๆ ก็วุ่นวายแล้ว ไม่ต้องเลือกไปเลยดีไหม (แหน่ะ) คงไม่มีใครคิดแปลกๆ เช่นนี้กับการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปีของไทยหรอกมั้ง..นะ
การเลือกตั้งทั่วไปของไทยครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เริ่มต้นขึ้นแล้ว! หลายคนอ่านถึงบรรทัดนี้อาจจะแปลกใจว่า เลือกไปแล้วหรอก ทำไมไม่รู้เลย? ถ้าคุณอยู่ในประเทศไทย ก็ไม่แปลกที่จะไม่รู้ เพราะที่เริ่มเลือกแล้วคือการเลือกตั้ง ‘นอกราชอาณาจักร’ ต่างหาก
ปูพื้นก่อนว่า การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของไทย เขาทำได้หลายแบบ
1.ลงคะแนนในคูหา ซึ่งจัดไว้ที่สถานทูตหรือสถานกงสุล
2.ลงคะแนนในคูหา ที่หน่วยเคลื่อนที่
3.ลงคะแนนผ่านไปรษณีย์
ทีนี้ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.เป็นต้นมา สถานทูตและสถานกงสุลไทยในหลายๆ ประเทศ ก็เปิดให้คนไทยที่ไปอาศัยอยู่ ณ ประเทศนั้นๆ เริ่มออกไปใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งกันได้แล้ว (ดัง 3 วิธีข้างต้น) แต่ที่เพิ่งกลายเป็นข่าวใหญ่ ก็คือการเปิดคูหาเลือกตั้งที่สถานทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย ที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิเป็นจำนวนมาก หลายคนรอนานหลายชั่วโมงจนเป็นลมล้มพักไป จนต้องขยายเวลาปิดคูหาไปอีก 1 วัน เพราะทางสถานทูตสามารถรองรับการลงคะแนนได้เพียงชั่วโมงละ 180 คนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าความวุ่นวายจะมีแค่ขั้นตอนลงคะแนนเท่านั้น ยังมีความวุ่นวายและสับสนอื่นๆ เกิดขึ้นตลอดขั้นตอนการเลือกตั้งล่วงหน้า ในหลายประเทศ
[ ดูวิธีการและช่วงเวลาที่เปิดให้คนไทยในต่างประเทศได้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ที่นี่ แต่ผู้ที่จะมีสิทธิต้องลงทะเบียนมาก่อนเท่านั้น ]
ข้อมูลจาก กกต. ระบุว่า การเลือกตั้งในปี 2562 มีคนไทยลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรถึง 119,184 คน ใน 67 ประเทศ
ซึ่งน้อยกว่าปี 2554 ที่มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ 149,133 คน อยู่นิดหน่อย แต่มากกว่าปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ 80,161 คน และปี 2548 ซึ่งอยู่ที่ 104,136 คน
โดยประเทศที่มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิมากที่สุดในการเลือกตั้งนี้ 5 ลำดับแรก ประกอบด้วย
- ออสเตรเลีย (16,183 คน)
- สหรัฐอเมริกา (15,010 คน)
- จีน (10,996 คน)
- อังกฤษ (7,926 คน)
- ญี่ปุ่น (7,758 คน)
The MATTER มีโอกาสได้พูดคุยกับคนไทยที่ไปเรียนต่อ ไปทำงาน และไปสร้างครอบครัวในประเทศต่างๆ ถึงบรรยากาศการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบหลายปีนี้ พบว่า มีความสับสนหลายๆ อย่าง ทั้งขั้นตอนการใช้สิทธิ ข้อสงสัยเรื่องการลงคะแนน ความงงกับกติกาเลือกตั้งใหม่ ..ไปจนถึงความไม่มั่นใจว่าเลือกแล้ว คะแนนจะส่งถึงบ้านเกิดของตัวเองหรือไม่
นักเรียนนอกรายหนึ่งในประเทศเรียนต่อยอดฮิต บอกว่า เจ้าหน้าที่ของสถานทูตประเทศที่เธออยู่ไม่สามารถให้คำตอบใดๆ เกี่ยวกับวิธีการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปลงจากอดีตได้ (ใช้ส่งไปรษณีย์อย่างเดียว จากสมัยก่อนเปิดคูหาด้วย) เวลาโทรไปถามก็จะรีบวางสายเร็วที่สุด บางคนเจอปัญหาเรื่องการใส่ที่อยู่ผิด ทำให้บัตรเลือกตั้งไม่ได้มาถึงคนที่ลงทะเบียนไว้แล้ว ที่สุดแล้วจึงใช้วิธีหาข้อมูลเอาเองทางอินเทอร์เน็ต
เช่นเดียว ชายคนหนึ่งที่ไปสร้างครอบครัวในต่างแดน ณ ประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย ที่บอกว่า สถานทูตให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งช้ามาก แค่เอา infographic มาโพสต์ๆ ไว้บนหน้าเว็บไซต์ แล้วคนมีอายุที่ใช้เน็ตไม่คล่องจะทำอย่างไร เวลามีคนไปถามอะไร ก็ไม่ค่อยได้คำตอบ กลายเป็นว่าคนที่เข้ามาในเพจช่วยให้คำตอบกันเอง
ขณะที่หญิงสาวที่ไปตั้งรกรากอยู่ในอีกซีกโลก ก็สะท้อนว่า ประเทศที่เธออยู่ทางสถานทูตหรือสถานกงสุลให้ข้อมูลค่อนข้างดี นอกจากนี้ คนไทยในชุมชนที่นี่มีอะไรก็ช่วยกัน เช่น ไปถาม-ตอบเกี่ยวกับการเลือกตั้งในเว็บบอร์ดที่มีคนไทย ณ ประเทศนั้นใช้ หรือบางคนยอมทำหน้าที่รวบรวมไปรษณีย์ลงคะแนนแล้วเอาไปส่งให้ ปัญหาที่เธอเจอมีแค่เน็ตล่ม ทำให้ลงทะเบียนไม่ได้ในตอนแรก ก่อนที่จะลงได้ในเวลาต่อมา
สำหรับความตื่นตัวของคนไทยในหลายๆ ประเทศ มีสลับกันไปทั้งคึกคักและเงียบเหงา แต่ส่วนใหญ่จะบอกตรงกันว่า ไปคึกคักบนโลกออนไลน์ซะมากกว่า
เท่าที่สอบถามหลายคนงงกับวิธีการเลือกตั้ง รวมถึงกติกาการเลือกตั้ง ซึ่งเปลี่ยนมาใช้บัตรใบเดียวกาเลือก ส.ส. 2 ประเภท (เขตและบัญชีรายชื่อ) วิธีการคิดคะแนนแบบจัดสรรปันป่วนผสม หรือ MMA ไปจนถึงกลยุทธ์ในการลงคะแนนว่าถ้าอยากให้พรรคนั้นๆ ได้เป็นรัฐบาล ควรจะเลือกลงคะแนนอย่างไร
ซึ่งวิธีหาคำตอบของหลายๆ คนก็ค่อนข้างหลากหลาย เช่น ค้นเอาในอินเทอร์เน็ตตามที่สื่อต่างๆ ลงข้อมูลอธิบายไว้ ถามเพื่อนที่เมืองไทยถ้ามีโอกาส หรือพูดคุยกันเองในชุมชนคนไทยที่นั่น
อีกคำถามที่แทบทุกคนถามตรงกัน คือจะมั่นใจได้อย่างไรว่า บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วจะถูกส่งกลับมา ‘นับ’ ที่เมืองไทยจริงๆ ?
กล่าวโดยสรุป จากการพูดคุยกับคนไทยใน 4-5 ประเทศ ทั่วโลก พบว่าการเลือกตั้งในต่างประเทศของไทยจะมีลักษณะดังนี้
– เจ้าหน้าที่ของสถานทูตหรือสถานกงสุลมีส่วนสำคัญมากในการให้ข้อมูลและในการจัดการเลือกตั้ง บางประเทศมีความตื่นตัว และทำงานได้ดี แต่บางประเทศก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์
– บรรยากาศจะคึกคักหรือไม่ ขึ้นอยู่กับชุมชนคนไทย ณ ที่นั่นๆ แต่หลายแห่งก็ไม่ค่อยคึกคักเท่าไร
– หลายๆ คนสับสนวิธีการเลือกตั้ง เพราะไม่ได้เลือกตั้งมา 8 ปีแล้ว บางคนก็เพิ่งเคยได้เลือกตั้งเป็นครั้งแรก ทั้งวิธีเลือกตั้งและกติกาที่เปลี่ยนไป
– คนไทยในต่างประเทศมีวิธีหาข้อมูลหลากหลาย เช่น คุยกันเอง ถามจากสถานทูต หาบนเน็ต
– การเลือกตั้งแบบลงคะแนนในคูหาหลายๆ ประเทศเรียบร้อยดี (ต่างจากกรณีมาเลเซีย) ที่มีปัญหามากกว่าคือการเลือกตั้งแบบลงคะแนนผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งหลายๆ คนมีคำถาม แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้คำตอบได้
– บางคนเกิดความกังวลว่า บัตรเลือกตั้งที่ได้กาแล้วนั้นจะถูกส่งมานับจริงหรือไม่
ฯลฯ
เหล่านี้คือบรรยากาศการเลือกตั้งของคนไทยในต่างประเทศ ซึ่งตั้งใจใช้สิทธิเลือกผู้แทนและผู้นำของตัวเอง ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 มี.ค. ก่อนที่การออกมาใช้สิทธิจะถูกส่งไม้ต่อมายังเมืองไทย ในการเลือกตั้งล่วงหน้า (17 มี.ค.) และการเลือกตั้งทั่วประเทศ (24 มี.ค.)