ถ้าได้ยินชื่อของผม… ‘อีลอน มัสก์’ หลายคนน่าจะรู้จักในฐานะซีอีโอของ Tesla Motors และ SpaceX รวมทั้งความฝันอยากจะทะยานจากผืนโลกไปสร้างอาณาจักรใหม่บนดาวอังคาร จนถูกเรียกว่า ‘โทนี่ สตาร์ค’ ในชีวิตจริงอยู่บ่อยๆ แต่แน่นอนครับว่าความฝันของผมไม่เคยหยุดนิ่ง
เพราะผมเพิ่งจะซื้อแอพฯ ทวิตเตอร์มูลค่า 4.4 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ (ผมเลยขอซื้อเลข 44 มาเป็นเบอร์ผู้สมัคร) แล้วก็ตั้งเป้าว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในแอพฯ นี้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเสรีภาพทางการพูด (free speech) และโบกมือลาของเหล่าแอคเคาต์บอต สแปม หรือแม้แต่แอคเคานต์หลุมที่พิสูจน์ตัวตนไม่ได้
ผมเชื่อว่าหลายคนก็อาจจะยังกังวลว่าหลังจากนี้ ทิศทางการบริหารทวิตเตอร์จะเป็นยังไง ผมเลยอยากจะแนะนำตัวให้ทุกคนรู้จักตั้งแต่วันแรกที่ผมสนใจเทคโนโลยี จนถึงวันที่ผมกลายเป็นมหาเศรษฐีที่ซื้อโซเชียลมีเดียทั้งบริษัท
บริษัทไหนอยากให้ผมซื้อไปบริหาร อย่าลืมทักมาที่ทวิตเตอร์ผม
Zip2 (1995)
ย้อนไปในจักรวาลของการศึกษา ผมคือเด็กชายที่ถูกรังแกอยู่บ่อยครั้ง บางทีรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล สำหรับผมโลกเทคโนโลยีเลยกลายเป็นเหมือนหลุมหลบภัยในวัยเด็กและผมก็ยังมุ่งมั่นบนเส้นทางนี้จนจบปริญญาด้านฟิสิกส์และเศรษฐศาสตร์มา
ตอนแรกผมเองก็คิดจะเรียนต่อที่สแตนฟอร์ด แต่หลังจากเข้าไปเรียนได้เพียงสองวัน ก็พบว่านั่นไม่ใช่ทางของตัวเอง ผมเลยคุยกับน้องชายว่าเราออกมาเปิดบริษัทด้วยกันดีกว่า พวกเราตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวกับคอนเทนต์และจัดหาข้อมูลออนไลน์ให้กับสื่อต่างๆ โดยใช้ชื่อว่า ‘Zip2’ แต่หลังจากนั้นไม่นาน บริษัท Compaq ก็เข้ามาได้ซื้อกิจการของ Zip2 ไปด้วยมูลค่า 341 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ผมได้ส่วนแบ่งจากดีลครั้งนี้ 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
X.com (1999) และ PayPal (1998)
หลังจากขายบริษัทแรกไป ผมเลยนำเงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาร่วมก่อตั้งบริษัทธนาคารออนไลน์ X.com แล้วเปิดตัวในปี ค.ศ.1999 ก่อนจะถูกควบรวมกิจการกับ Confinity สตาร์ทอัพด้านการเงินของ ปีเตอร์ ธีล (Peter Thiel) ในปี ค.ศ.2000 แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น PayPal บริษัทด้านบริการชำระเงินที่หลายคนคุ้นชื่อ โดยช่วงแรกๆ ผมเองก็เป็นซีอีโอของที่นี่ แต่ด้วยปัญหาบางอย่าง ผมเลยต้องลงจากเก้าอี้ให้ธีลขึ้นมาบริหารแทน
แม้จะต้องโบกมือลาตำแหน่งซีอีโอ แต่ก็นับว่าผมยังโชคดีที่ช่วงปี ค.ศ.2002 eBay ได้เข้าซื้อกิจการของ PayPal ซึ่งในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผมได้ส่วนแบ่งจากดีลนี้ได้ถึง 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
SpaceX (2002)
นอกจากเทคโนโลยีด้านการเงินแล้ว ความฝันของผมยังไปไกลกว่าอะไรที่อยู่บนโลก ผมตั้งใจไว้ว่าอยากทำให้เที่ยวบินไปอวกาศราคาถูกลงสัก 10 เท่า และถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากจะไปสร้างดินแดนของตัวเองในดาวอังคาร นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งบริษัทที่หลายคนคุ้นเคยอย่าง Space Exploration Technologies หรือ SpaceX โดยในปี ค.ศ.2008 SpaceX ได้เซ็นสัญญาทำโปรเจกต์ร่วมกับ NASA มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้บริษัทของผมเริ่มมีนักลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
Tesla Motors (2003)
นอกจากการก่อตั้งบริษัทแล้ว ผมยังลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีที่น่าสนใจอย่าง Tesla Motors บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ ผมทุ่มทุนไปกว่า 6.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และก้าวสู่ตำแหน่งซีอีโอของ Tesla Motors มาจนถึงทุกวันนี้ แต่หุ้นของ Tesla Motors ก็เพิ่งจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อปี ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา ทำให้ Tesla Motors กลายเป็นบริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ส่วนผมเอง Forbes ก็จัดอันดับให้เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกในปี ค.ศ.2022
นอกจากการลงทุนใน Tesla Motors แล้ว ผมยังซื้อกิจการที่เน้นความยั่งยืนเหมือนกันอย่าง SolarCity บริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ของลูกพี่ลูกน้องผม แล้วปรับโครงสร้างธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์เป็น Tesla Energy อย่างที่ทุกคนเห็นในปัจจุบัน
The Boring Company (2016)
ในปี ค.ศ.2016 ผมตัดสินใจก่อตั้ง The Boring Company บริษัทที่สร้างเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินและรอบๆ เมือง เพื่อลดความแออัดบนท้องถนน โดยมีแพลนจะสร้างรถไฟความเร็วสูง ‘Hyperloop’ ที่สามารถเดินทางได้เร็วกว่า 600 ไมล์ (ประมาณ 900 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมง หรือถ้าเทียบกับประเทศไทย นั่นหมายความว่าผมสามารถใช้ Hyperloop เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ได้ไวกว่าเครื่องบินเสียอีก
ส่วนใครกำลังรอข่าวของ Hyperloop อยู่ ปีนี้ The Boring Company มีแพลนจะเริ่มทดสอบ Hyperloop อย่างเต็มรูปแบบช่วงปลายปี รอติดตามกันได้เลยครับ
OpenAI (2015)
นอกจากบทบาทผู้บริหารแล้ว ปลายปี ค.ศ.2015 ผมยังร่วมก่อตั้ง OpenAI องค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับมวลมนุษยชาติ แต่ผมประกาศถอนตัวไปในปี ค.ศ.2018 จากความเห็นที่ไม่ตรงกันเท่าไร แต่ผมก็ยังคงบริจาคให้กับองค์กรนี้เหมือนเดิมครับ
Neuralink (2016)
ช่วงประมาณปี ค.ศ.2016 ผมได้ร่วมก่อตั้ง Neuralink เพื่อสร้างเครื่องมือเชื่อมต่อระหว่างสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ โดยตั้งเป้าไว้ว่าสักวันหนึ่งการปลูกถ่ายอุปกรณ์ที่กำลังคิดค้นลงในสมองมนุษย์ได้ ก็อาจจะช่วยให้เราคิดได้ทันคอมพิวเตอร์ เยียวยาอาการบาดเจ็บทางสมอง และทำให้ผู้ป่วยอัมพาตกลับมาเดินได้ตามปกติ ซึ่งเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2021 Neuralink สามารถระดมทุนได้กว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากนักลงทุนหลายเจ้า รวมถึง Google Ventures
Twitter (2022)
นอกจากแวดวงธุรกิจแล้ว หลายคนยังพูดถึงผมในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ในทวิตเตอร์อีกต่างหาก เพราะหลายครั้งผมเองก็มักจะทวีตมุขตลกเสียดสีการเมืองไปจนถึงความคิดเกี่ยวกับการเดินทางในอวกาศ ซึ่งผมก็ชอบแอพฯ นี้มากจนเคยทวีตไปว่า “ผมรักทวิตเตอร์” เมื่อปี ค.ศ.2017 แล้วก็มีคนอื่นๆ ตอบกลับมาว่าผมควรจะซื้อแอพฯ นี้เลยนะ ผมเลยถามเขาไปว่า “ทวิตเตอร์ราคาเท่าไร” แต่คงไม่มีใครคิดว่าผมจะซื้อทวิตเตอร์จริงๆ ในอีกสี่ปีต่อมา
เพราะในเดือนเมษายน ค.ศ.2022 ผมเพิ่งยื่นข้อเสนอซื้อทวิตเตอร์ทั้งบริษัทมูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วก็ปิดดีลสำเร็จอย่างรวดเร็วเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ผมเห็นว่าทวิตเตอร์ควรจะมี free speech มากขึ้น แล้วก็ควรปรับปรุงฟีเจอร์ต่างๆ อย่างการตรวจจับและกำจัดแอคเคาต์บอต สแปมหรือเหล่าแอคเคาต์หลุมออกไป ให้เหลือเพียงแอคเคาต์ที่สามารถยืนยันตัวบุคคลได้จริง
และนี่คือประวัติการทำงานทั้งหมดของผม ถ้าอยากให้ อีลอน มัสก์ ขึ้นมาเป็นผู้บริหาร อย่าลืมกดเบอร์ 44 มาในทวิตเตอร์กันนะครับ
*อีลอน มัสก์ ตัวจริงไม่ได้กล่าว
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart