“ความเป็นมนุษย์คืออะไร” “เราจะเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้นได้อย่างไร” คือคำถามหลัก และคำถามสำคัญสำหรับการศึกษาวิจัยในวงการมานุษยวิทยา ยิ่งในยุคสมัยที่มนุษย์เรามีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมและเทคโนโลยี
แม้จะดูเป็นคำถามเชิงนามธรรมที่ฟังดูแล้วตอบได้ค่อนข้างยาก แต่สำหรับนักมานุษยวิทยาแล้ว นี่คือประเด็นสำคัญที่เราจำเป็นต้องมาพิจารณากันอย่างลึกซึ้ง เพื่อทำความเข้าใจพวกเรา—มนุษย์ กันได้อย่างชัดเจนมากกว่าเดิม
The MATTER พูดคุยกับ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เพื่อหาคำตอบในประเด็นนี้กัน ในวาระที่ศูนย์ฯ กำลังจะจัดงานใหญ่อย่างการประชุมวิชาการมานุษยวิทยา 65 ในหัวข้อ “วิธีวิทยาทะลุกรอบ : Emerging Methodologies” ในวันที่ 25 – 27 กรกฎาคม พ.ศ.2565 นี้
งานประชุมปีนี้ประเด็นที่ค่อนข้างน่าสนใจ คือเรื่องวิธีวิทยาทะลุกรอบ อาจารย์คิดว่าอะไรคือความสำคัญของการทะลุกรอบทางวิธีวิทยา
คือ ในความรู้แขนงต่างๆ มันจะมีกระบวนการที่ใช้สำหรับแสวงหาความรู้ มันเป็นทั้งระเบียบกฎเกณฑ์และวิธีการที่ใช้สร้างความรู้ แต่ระเบียบกฎเกณฑ์และวิธีการแต่ละอย่างก็จะมีข้อจำกัดของมัน เมื่อเราเห็นข้อจำกัดของมัน บางทีเราก็ต้องทะลุกรอบ คือ หาวิธีวิทยาใหม่ๆ มาช่วยแก้โจทย์ใหม่ๆ ไม่ใช่ใช้แต่วิธีวิทยาเดิมๆ มีนิทานเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับคนคนหนึ่งที่ทำกุญแจหล่นหาย เขาก็ไปก้มหน้าก้มตามองหาอยู่ใต้โคมไฟริมถนน คนผ่านไปมาเห็นเข้าก็ถามว่าทำอะไรอยู่ แกบอกว่าทำกุญแจหล่น พอถามว่าหล่นอยู่ตรงไหน เขาก็ตอบว่ามันหล่นอยู่ในป่าโน่น คนที่ผ่านมาก็ถามกลับตอบว่าทำไมมาหาตรงนี้ เขาตอบว่า ในป่ามันมืด มองอะไรไม่เห็น ตรงนี้มันมีไฟสว่าง พอจะมองอะไรเห็นบ้าง
คือเราจะมองหาอะไร มันจะต้องมีวิธี แต่ตัววิธีการบางอย่างที่เราใช้ มันอาจจะมีปัญหาแต่เราไม่รู้ตัว วิธีวิทยาในทางมานุษยวิทยาก็เช่นกัน ถ้าเราไม่หมั่นตรวจสอบหรือทบทวน ก็อาจใช้ไปโดยไม่รู้ข้อจำกัด และถ้าเราเห็นว่ามีข้อจำกัด เราก็ต้องทะลุกรอบออกไปบ้าง
แล้วตอนนี้ อะไรที่บอกว่าวิธีวิทยาที่ใช้อยู่กำลังเจอกับข้อจำกัด มีสัญญาณอะไรที่บอกว่าเราจำเป็นต้องทะลุกรอบ
ผมคิดว่า ตอนนี้มานุษยวิทยาถูกท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 เรื่องนะ คือทั้ง 2 เรื่องนี้มันเป็นรากฐานของความรู้ทางมานุษยวิทยา และพอมันมีการเปลี่ยนแปลง มันก็เลยทำให้ต้องกลับมาตั้งคำถามกับวิธีวิทยาที่เราใช้ รวมทั้งมาท้าทายกับความรู้ที่เราเคยมีมาด้วย
อันที่หนึ่งคือการหันกลับมามองว่าอะไรคือความจริง ความรู้ของมนุษย์ในทุกจารีตล้วนแต่วางอยู่บนรากฐานของการนิยามว่าอะไรคือความจริง อย่างเช่น วิทยาศาสตร์สมัยก่อนก็ถือว่าสสารและพลังงานคือความจริง วิธีวิทยาทางวิทยาศาสตร์ก็คือ การสังเกต ชั่ง ตวง วัด และการทดลอง เพราะสสารและพลังงานมันจะมีอยู่มันต้องวัดได้ ในทางสังคมศาสตร์ ที่ผ่านมาเราถือว่าความจริงทางสังคมกับความจริงทางวิทยาศาสตร์มันเป็นคนละอย่างกัน เราศึกษาระบบความสัมพันธ์ทางสังคม ภาษา สัญลักษณ์ พิธีกรรม หรือวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งเราถือว่าเป็น “ภาพตัวแทน” ที่วัฒนธรรมต่างๆ สร้างขึ้น มันไม่ใช่ความจริง เราถือว่ามุมมองเหล่านั้นมันเป็น “ความเชื่อท้องถิ่น” หรือ “ระบบความเชื่อ” ส่วนความเข้าใจโลกแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เราเรียกว่า “ความรู้” เพราะมันวางอยู่บนรากฐานที่เราเรียกว่า “ความจริง”
ในทางวิทยาศาสตร์ ความจริงของวิทยาศาสตร์ก็กำลังถูกท้าทาย ความจริงแบบนิวตันก็ดูจะไม่เหมือนกับความจริงแบบควันตั้มหรือแบบทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ เหมือนกับว่าความจริงมันไม่ได้มีอยู่แค่แบบเดียว ในทางสังคมศาสตร์ก็เช่นกัน มีการตั้งคำถามว่า ถ้าความจริงของมนุษย์มีได้แตกต่างหลากหลายออกไป เราจะกดข่มหรือเบียดขับความคิดที่แตกต่างจากเราให้เหลือแค่ “ความเชื่อ” หรือมันก็เป็นความจริงในอีกสถานะที่เราไม่คุ้นเคย แล้วเราจะแสวงหาความรู้ในโลกที่ความจริงเป็นพหูพจน์ หรือมีความจริงมากกว่าหนึ่งเดียวกันอย่างไร
อันนี้เลยกลายเป็น “การหันมาหาภววิทยา” หรือ Ontological turn ที่ทำให้เราต้องทบทวนและทะลุกรอบวิธีวิทยาเดิมที่เคยถือว่าความจริงเป็นเอกพจน์ออกไป
อันที่สองคือการตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์ จริงๆ แล้วสองข้อนี้มันเชื่อมกันอยู่ เพราะความจริงที่เราเคยนิยามกันมา มักจะเป็นความจริงจากมุมมองของมนุษย์เสมอ คือ เรามักจะมองว่า มนุษย์มีสถานะพิเศษเหนือกว่าสรรพชีวิตอื่นๆ เราเป็นสิ่งสูงสุดในกระบวนการวิวัฒนาการ เรามีสมองที่วิจิตรพิสดาร มีภาษาและวัฒนธรรม เราเป็นผู้กระทำการหนึ่งเดียว ส่วนสิ่งอื่นๆ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ล้วนมีสถานะเนือยนิ่ง ไม่มีความรู้สึกนึกคิด มีความเป็นวัตถุที่รองรับการกระทำของมนุษย์เท่านั้น
วิธีการมองแบบนี้ทำให้เราเรียงลำดับมนุษย์อยู่บนยอดของพีระมิด ส่วนสิ่งอื่นๆ อยู่ข้างล่างลงมา วิธีคิดที่เอามนุษย์เป็นจุดยอดสุดและเป็นศูนย์กลางนี้ มันได้สร้างปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านระบบนิเวศอย่างมหาศาล จนเราเข้ามาสู่ยุคที่เรียกว่าแอนโทรโปซีน (Anthropocene) หรือมนุษยสมัย คือยุคที่การกระทำของมนุษย์มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
วิธีคิดที่มองมนุษย์ว่ามีวิวัฒนาการเหนือกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ยังทำให้เรามองมนุษย์แยกขาดจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ยิ่งในทางสังคมศาสตร์ เช่น มานุษยวิทยาหรือมนุษยศาสตร์ต่างๆ เราก็จะสนใจศึกษาแต่เฉพาะมนุษย์ ในขณะที่สายวิทยาศาสตร์ก็ศึกษาแต่สิ่งมีชีวิต พืช สัตว์และวัตถุสิ่งของ โดยลืมไปว่า มนุษย์ดำรงอยู่ท่ามกลางสรรพชีวิตและวัตถุสิ่งของ การกลับมาทบทวนเรื่องความเป็นมนุษย์ที่ไม่แยกขาดจากหลากหลายสายพันธุ์และวัตถุสิ่งของต่างๆ อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดที่เรียกว่า “มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์” หรือ Posthuman anthropology ซึ่งทำให้เราต้องแสวงหาวิธีวิทยาใหม่ๆ ที่จะก้าวพ้นนิยามความเป็นมนุษย์แบบเดิมด้วย
แล้วการทะลุกรอบมันจะทำให้มานุษยวิทยาเป็นอย่างไร ในทางปฏิบัติ มันมีปัญหาอะไรที่เราต้องพิจารณาหรือต้องทบทวน
ผมเคยไปทำวิจัยเรื่องภัยแล้งที่บ้านหนองหญ้าขาว จังหวัดขอนแก่น ในการศึกษาแบบมานุษยวิทยา วิธีการทำวิจัยของเราคือการเข้าไปคุยกับผู้คน ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่กลับไปพัฒนาหมู่บ้าน แกบอกผมว่า ปัญหาใหญ่นอกจากการไม่มีน้ำแล้ว คุณภาพดินของที่นี่มันแย่มาก คือมันไม่เก็บน้ำเลย พอเขาพูดเรื่องดินขึ้นมา ผมก็คิดขึ้นมาทันทีว่านี่มันไม่เกี่ยวกับนักมานุษยวิทยา มันเป็นเรื่องของนักธรณีวิทยาหรือพวกการเกษตรมากกว่า พอคิดขึ้นมาแบบนั้น เราก็รู้สึกตกใจเหมือนกันว่า ทำไมเราถึงคิดแบบนี้ คือเรากันเอาเรื่องของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ออกไปจากสายตาเราได้แบบอัตโนมัติขนาดนี้ เพราะจริงๆ แล้วเราไม่สามารถเข้าใจคนที่นี้ได้โดยตัดเอาเรื่องของดิน ป่า หรือแม้แต่วัวที่ผู้ใหญ่บ้านหนุ่มนำเข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงและพันธุ์หญ้าต่างๆ ที่ต้องปลูกขึ้นเพื่อเลี้ยงวัว คือเราตัดเอาสัตว์ สิ่งของ หรือสิ่งอื่นๆ ออกไป เพราะเราจะสนใจแต่คน ทั้งที่ทุกอย่างมันเกี่ยวโยงกันอยู่แล้ว
ก่อนหน้านั้น ผมเคยศึกษาชุมชนขาวกวยที่เป็นคนเลี้ยงช้าง ผมอยู่กับเขาถึงปีเศษ เราเข้าไปสัมภาษณ์และสังเกตเรื่องราวของชุมชน ชาวบ้านเขาก็บอกเราว่า อาจารย์แปลกกว่าคนอื่นนะ คนที่มาที่ชุมชนที่นี่จะสนใจช้าง ถามแต่เรื่องช้าง เช่น ช้างกินอะไร นอนยังไง แต่อาจารย์สนใจถามแต่เรื่องคน เราก็รู้สึกดีนะ เพราะเรามาเพื่อศึกษาคน
แต่พอมาย้อนนึกถึงเรื่องนี้อีกที มันก็สะท้อนให้เห็นว่าการที่เราสนใจแต่มนุษย์ มันก็เป็นอคติอย่างหนึ่ง คือเราแยกสัตว์ออกไปเลย เราไม่ได้ไปสังเกตสัตว์ คลุกคลีกับสัตว์ จริงๆ แล้วเราไม่ได้สร้างความไว้วางใจระหว่างเรากับสัตว์ คือ ช้าง เราไม่เข้าใจเลยว่าความไว้วางใจระหว่างคนและช้าง มันหล่อหลอมประสบการณ์และความเป็นคนของชาวกวยขึ้นมายังไง เราเองกลัวช้างด้วยซ้ำไป เพราะเคยได้ยินว่ามันทำร้ายนักท่องเที่ยว การทำงานภาคสนาม เราต้องสร้างความไว้วางใจให้กับชาวบ้านเพื่อเข้าถึงเรื่องราวของเขา ให้เขาเล่าเรื่องของเขาให้เราฟังได้ แต่เราไม่สามารถสร้างความไว้วางใจกับช้าง ที่เป็นสัตว์ที่สำคัญที่สุดในโลกของชาวกวยได้ เราจะเข้าใจชีวิตชาวกวยได้ยังไง ถ้าเราไม่สามารถเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวกวยกับช้างที่มีพื้นฐานอยู่บนความไว้วางใจระหว่างคนและสัตว์ได้
ถ้ามีโอกาสกลับไปทำวิจัยภาคสนามใหม่ ผมคงจะต้องใช้วิธีวิทยาที่ละเอียดถี่ถ้วน หรือเรียกว่าทะลุกรอบมากกว่านี้ เพื่อทะลุออกไปเข้าใจโลกที่มีมากกว่ามนุษย์ให้ได้ดีกว่านี้
มันคือวิธีวิทยาที่จะเข้าใจความเป็นมนุษย์ โดยมองผ่านปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีกับสิ่งอื่นๆ คือ ไม่ได้มองว่าเราเป็นผู้กระทำการแต่เพียงฝ่ายเดียว
ใช่ครับ อย่างในหนังสือที่ชื่อว่า When Species Meet ผู้เขียนตั้งคำถามว่า เรากลายเป็นอะไรในกระบวนการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงเช่นสุนัข คือ “ความเป็นคน” กับ “ความเป็นหมา” มันพัวพันกันในประวัติศาสตร์ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับหมา ในวิวัฒนาการของมนุษย์ เราไม่ได้แยกออกจากความสัมพันธ์กับสัตว์เลย ทั้งในทางชีวภาพและทางสังคม เอาเข้าจริงๆ สุนัขอาจมีส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เรามักเข้าใจว่าสุนัขกลายเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ สุนัขต้องพึ่งพามนุษย์ มากินอาหารจากมนุษย์ เรียนรู้ที่จะอยู่กับมนุษย์ ทำให้สุนัขป่ากลายเป็นสุนัขเลี้ยง แต่ก็มีนักมานุษยวิทยาเสนอว่า มันอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นรึเปล่า มนุษย์อาจจะเรียนรู้จากสุนัขด้วย เช่นเรียนจากวัฒนธรรมการอยู่กันเป็นฝูงและการออกล่าสัตว์ด้วยกันเป็นฝูง อันนี้อาจเป็นตัวอย่างของการรวมกลุ่มกันออกล่าสัตว์ของมนุษย์ในยุคหิน
แม้แต่ในสังคมสมัยใหม่ หรือในเมือง สัตว์ก็เป็นส่วนสำคัญในการเรียนรู้ทางสังคมของมนุษย์ ของเล่นของเด็กๆ จำนวนมากเป็นรูปสัตว์ เรื่องเล่า นิทาน การ์ตูน หรือเกมต่างๆ ก็ล้วนแต่มีสัตว์เป็นส่วนหนึ่งในเนื้อหา หรือแม้แต่ในร่างกายของเรา เราก็มีสิ่งมีชีวิตมากมายอาศัยอยู่กับเรา เรามีเชื้อจุลชีพจำนวนมากอาศัยอยู่กับเราในร่างกายของมนุษย์ ที่เรียกว่า microbiome อันนี้การศึกษาพบว่าจุลชีพใน microbiome ของมนุษย์มีส่วนประกอบที่มาจากจุลชีพของสุนัขที่มนุษย์เลี้ยงผสมอยู่ด้วย คือ มนุษย์และสัตว์มีส่วนร่วมกระทำซึ่งกันและกัน ทำให้เรากลายเป็นมนุษย์เพราะการร่วมใช้ชีวิต (becoming with) กับสัตว์และสิ่งอื่นๆ
ถ้าเราจะมองให้ทะลุกรอบออกไป เราอาจจะเห็นว่า การกระทำการของมนุษย์จะไม่เกิดผลอะไรเลย ถ้าไม่มีผู้ร่วมกระทำการที่เป็นวัตถุหรือสัตว์อื่น ยิ่งในโลกที่เทคโนโลยีมันก้าวหน้ามากขึ้น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือกล้องวงจรปิด วัตถุสิ่งของและเทคโนโลยีเหล่านี้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อชีวิตของเรา คือ มันกลายเป็นผู้กระทำการที่กำหนดพฤติกรรมของเรา หรือจะพูดอีกอย่าง มนุษย์กับเครื่องจักรกลืนกลายไปด้วยกัน จนเราเองก็ไม่ได้มีร่างกายที่ธรรมชาติให้มาเท่านั้น เพราะเส้นแบ่งระหว่างร่างกายของเรากับเครื่องจักรและเทคโนโลยีมันบางจนเรียกได้ว่ามนุษย์ทุกคนล้วนแต่เป็นไซบอร์ก (Cyborg) ไปแล้ว ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น วิธีวิทยาที่จะมองพ้นไปจากการมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางจะเป็นอย่างไร การศึกษามานุษยวิทยาแบบหลากสายพันธุ์นิพนธ์ (multispecies ethnography) ถูกสร้างขึ้นเพื่อเข้าใจโลกที่มีมากกว่ามนุษย์ มันต้องการวิธีวิทยาที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น ต้องนำมุมมองของสิ่งอื่นมาใช้ด้วย รวมถึงมองสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ในลักษณะที่มีสถานะทางภววิทยาที่เท่าเทียมกันมากขึ้น
ในสังคมเราทุกวันนี้ ทำให้เราเข้าใจ “ความเป็นมนุษย์” ยากกว่าเดิมไหม หรือนี่เป็นเหตุผลที่มานุษยวิทยาต้องทะลุกรอบมากขึ้น
ความเป็นมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่ มันเป็นผลผลิตของวิธีคิดแบบหนึ่งเหมือนกันนะ ความเป็นมนุษย์แบบที่เรายึดถือ เช่น มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล มนุษย์มีภาษา มีวัฒนธรรมซึ่งสัตว์อื่นไม่มี หรือเป็นสิ่งสร้างของพระเจ้า ที่พระเจ้าได้มอบฐานะการเป็นเจ้าของทรัพยากร ทั้งพืช สัตว์และวัตถุทั้งหลาย วิธีคิดเรื่องความเป็นมนุษย์แบบตะวันตกนี้มันจะชัดมาก เมื่อเราไปเทียบกับโลกทัศน์ของชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ เช่น ชาวอินเดียนพื้นเมือง ในยุคที่ตะวันตกบุกรุกเข้าไปในทวีปอเมริกาเหนือ การล่าสัตว์เพื่อนำไปค้าขาย การยึดครองเป็นเจ้าของที่ดิน หรือการปฏิบัติต่อคนพื้นเมือง โดยเฉพาะการจับคนพื้นเมืองไปค้าเป็นทาส ซึ่งมันแปลกมากในสายตาของคนพื้นเมือง เพราะสำหรับโลกทัศน์ของพวกเขา ธรรมชาติอันกว้างใหญ่ไพศาลมันไม่เพียงแต่มีความศักดิ์สิทธิ์ แต่มันหล่อเลี้ยงมนุษย์และสรรพสิ่ง เราจะไปทำอย่างนั้นกับธรรมชาติที่เราเป็นส่วนหนึ่งได้อย่างไร เราจะไปเคลมความเป็นเจ้าของได้ แล้วยิ่งไปกว่านั้น การจับคนไปเป็นทาส พรากเขาจากสรรพสิ่งที่เขาเป็นส่วนหนึ่งได้อย่างไร
การก้าวให้พ้นจากนิยามความเป็นมนุษย์ที่แยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติ มองว่ามนุษย์อยู่เหนือกว่าสรรพชีวิตอื่นๆ รวมทั้งการพัฒนาที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง กลายเป็นโจทย์สำคัญของการสร้างวิธีวิทยาใหม่ๆ ที่ทะลุกรอบเดิม
หมายความว่า ความเป็นมนุษย์ที่เคยเป็นรากฐานของความรู้ทางมานุษยวิทยาที่ผ่านมามันมีอคติบางอย่างที่เราต้องทบทวน ในการประชุมนี้จะมีประเด็นการทบทวนอคติอะไรบ้าง
มันเป็นความพยายามที่จะถอดรื้ออคติที่แฝงอยู่ในแนวคิดเรื่องความเป็นมนุษย์และวิธีการที่มานุษยวิทยาใช้ศึกษาปรากฏการณ์ต่างๆ ในการประชุมวิชาการ มานุษยวิทยา 65 ครั้งนี้ มีการทบทวนวิธีวิทยาผ่านผัสสะที่มนุษย์ใช้ทำความเข้าใจโลก มนุษย์รับรู้โลกผ่านผัสสะต่างๆ และแต่ละวัฒนธรรมก็อาจให้ความสำคัญกับบางผัสสะมากกว่าผัสสะอื่น เช่น ในสังคมสมัยใหม่ เราจะสัมพันธ์กับโลกผ่านสายตาและการมองเห็นเป็นอย่างมาก ในการประชุมนี้จะมีการทบทวนเรื่องมานุษยวิทยาทัศนา หรือ Visual anthropology เพื่อดูว่าวัฒนธรรมการใช้สายตาทำความเข้าใจโลกเนี่ย มันสร้างสังคมและการใช้ชีวิตของมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่อย่างไร ในขณะที่วัฒนธรรมอื่นๆ ก็อาจมีการให้ความสำคัญกับผัสสะอื่นๆ เช่น เสียง กลิ่น สัมผัส ในการทำความเข้าใจและมีชีวิตอยู่ในโลก
อย่างเช่น ชนพื้นเมืองบางกลุ่ม การรับรู้ผ่านเสียงสำคัญกว่าสายตา ในปาปัวนิวกินี นักมานุษยวิทยาจับนกชนิดหนึ่งไปถามคนพื้นเมืองว่ามันเป็นนกอะไร คนพื้นเมืองบอกว่าเขาจะไปรู้ได้อย่างไร ถ้าจะรู้ว่าเป็นนกอะไรก็ต้องฟังเสียงร้องของมัน ไม่ใช่มาดูที่ตัวนก มานุษยวิทยาจำเป็นต้องเข้าใจโลกผ่านผัสสะที่หลากหลาย การศึกษาโลกของเสียง หรือเสียงวิทยา อาจช่วยลดอคติที่เน้นการมองโลกผ่านสายตา หรือผัสสะอื่นๆ เช่น กลิ่น เอาเข้าจริงแล้ว กลิ่นมีความสำคัญต่อการรับรู้ของมนุษย์ไม่น้อย กลิ่นบางอย่าง เราแค่ดมนิดเดียวก็อาจเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือทำให้เราปวดหัวได้เลย ในวัฒนธรรมชาวเอสกิโม สัมผัสเป็นผัสสะที่สำคัญมาก การอยู่ในภูมิประเทศที่หนาวเหน็บและพื้นที่ในบ้านที่แคบเล็ก ทำให้ผู้คนมีความไวต่อการสัมผัส อย่างเช่น เวลามีเรื่องผิดใจกัน แม่จะไม่เรียกลูกมาดุด่า แต่จะกอดลูกไว้ในผ้าห่มผืนเดียวกัน
ทั้งหมดนี้หมายความว่า อคติที่เรามีต่อผัสสะ ทำให้เราเลือกรับรู้โลกผ่านผัสสะบางอย่างโดยที่เราอาจไม่รู้ตัวและมันมีส่วนทำให้เราให้คุณค่ากับของบางอย่างหรือว่าไปลดทอนความรู้บางประเภทให้กลายเป็นความรู้ชั้นรอง งานประชุมวิชาการครั้งนี้ เราจึงพูดถึงผัสสะในฐานะวิธีวิทยา เพื่อที่เราจะได้รู้เท่าทันอคติที่มีในวิธีวิทยาที่เราใช้
ประเด็นสำคัญๆ ในเรื่องวิธีวิทยาใหม่ๆ ที่จะพูดถึงในการประชุมครั้งนี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง
จริงๆ หลายๆ ประเด็นก็อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ไม่มีมาก่อน ก็เหมือนกับในวิชาการอื่นๆ ความรู้ก็ต้องมีการพัฒนาจากความรู้เดิม คือมีการปรับเปลี่ยนไป ในงานประชุมนี้จึงมีการตอกย้ำความสำคัญของวิธีวิทยาที่เป็นรากฐานของการศึกษาทางมานุษยวิทยาด้วย เช่น วิธีวิทยาที่เน้นงานภาคสนาม ชุมชนและคนใน เพราะหากเราไม่เข้าใจรากฐานเหล่านี้อย่างเพียงพอ ก็อาจไปหลงใหลวิธีวิทยาใหม่ๆ จนกลายเป็นแฟชั่นไป
ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับผมอาจเริ่มจากการปาฐกถา 3 เรื่องนะครับ เรื่องแรกคือหัวข้อ วิถีดนตรี วิธีวิทยาทะลุกรอบ อันนี้อาจารย์อานันท์ นาคคง ซึ่งอาจารย์เป็นทั้งนักดนตรีและนักมานุษยวิทยาจะมาพูดถึงดนตรีในฐานะวิธีวิทยา มานุษยวิทยาดนตรีหรือดนตรีชาติพันธุ์ (Ethnomusicology) คือดนตรีนี่มันมีมากกว่าเรื่องของความบันเทิง แต่ดนตรีสถาปนาความจริง จัดแบ่งและกำหนดความสัมพันธ์ของมนุษย์ และเป็นส่วนสำคัญของอารมณ์ความรู้สึก เพราะโลกไม่ได้มีแต่เรื่องเหตุผล ในแง่นี้ มานุษยวิทยามีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องภาษาและสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมต่างๆ และเราก็มักจะคิดว่ามนุษย์มีวิวัฒนาการที่เหนือกว่าสัตว์อื่นๆ ก็เพราะเรามีภาษา แต่ในหนังสือชื่อ The Musical Human เสนอว่าก่อนที่มนุษย์จะมีภาษา มนุษย์มีดนตรีมาก่อน ก่อนมีภาษา มนุษย์ส่งเสียงร้องโหยหวนเมื่อตกใจกลัว ตะโกนคำรามเมื่อโกรธ เสียงสูงต่ำ เบาดัง เร็วช้าแตกต่างกันถูกใช้เมื่อมนุษย์มีความสุข ความทุกข์หรือมีอารมณ์แตกต่างกัน ประกอบกับจังหวะที่เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์ เช่น จังหวะหายใจ การเต้นของหัวใจ จังหวะการเดิน การวิ่ง เสียงสูงต่ำที่ประกอบเข้ากับจังหวะก็คือที่มาของดนตรี การศึกษาเกี่ยวกับมานุษยวิทยาดนตรีในปัจจุบันมีวิวัฒนาการจากเดิมที่เน้นดนตรีชาติพันธุ์และพิธีกรรมมาเป็นการศึกษาโลกทางสังคมของดนตรีที่เชื่อมโยงกัน ในขณะที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ทำให้ความเป็นไปได้ทางดนตรีมีหลากหลายมากขึ้น และเราก็จำเป็นต้องมีวิธีวิทยาใหม่ๆ เพื่อใช้ศึกษาโลกของเสียงดนตรีที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
ปาฐกถาที่สอง เป็นเรื่องวิธีวิทยาที่เรียกว่า มานุษยวิทยาหลายสนาม (multi-sited ethnography) ซึ่งนำเสนอโดย ศาสตราจารย์ ยศ สันตสมบัติ ในโลกปัจจุบันที่สิ่งต่างๆ มันไม่ได้อยู่กับที่และไม่ได้อยู่ที่ใดที่เดียว แต่มันลื่นไหลเชื่อมโยงกันข้ามพรมแดนมากขึ้น เส้นแบ่งและอาณาเขตต่างๆ มันถูกทำให้เบลอ ที่สำคัญ ความจริงชุดเดียวกันอาจปรากฏอยู่หลายที่ได้พร้อมกัน พอเป็นเช่นนี้ วิธีวิทยาแบบเดิมของนักมานุษยวิทยาก็อาจไม่เพียงพอ คือแต่ก่อน นักมานุษยวิทยาจะเน้นการไปฝังตัวอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นระยะเวลานาน เพื่อที่จะเข้าใจโลกท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง แต่พอโลกมันเชื่อมโยงกันและท้องถิ่นไม่ได้ดำรงอยู่อย่างอิสระหรือเป็นเอกเทศอีกต่อไป เราจะมีวิธีวิทยาในการศึกษาโลกที่เชื่อมโยงและปรากฏการณ์ที่ไหลลื่นไปในหลายสนามอย่างไร
แต่ก่อน เราก็มีการศึกษาหลายสนามนะครับ แต่เรามักศึกษาในเชิงเปรียบเทียบมากกว่า คือ ศึกษาปรากฏการณ์เดียวกันในหลายๆ ชุมชน เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน แต่มานุษยวิทยาหลายสนามมันไม่ใช่วิธีวิทยาเพื่อการเปรียบเทียบ แต่มันเป็นวิธีวิทยาที่ยอมรับว่าการศึกษาในพื้นที่เดียวจะไม่เพียงพอที่จะทำความเข้าใจโลกที่ไหลเลื่อนเชื่อมโยงกันได้อีกต่อไป มันเป็นการศึกษาเพื่อเอาความจริงหลายๆ ชุดที่เราไปเจอจากหลายๆ พื้นที่มาประกอบกัน เพื่อเข้าใจโลกที่มันไม่ได้จำกัดอยู่ที่ทางพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เดียวอีกต่อไป
ส่วนปาฐกถาอีกหัวข้อคือ “ออกจากทวิภาค” หรือ Beyond the Binary ของรองศาสตรจารย์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ก็พยายามจะพาเราออกจากกับดักของวิธีวิทยาที่แบ่งโลกออกเป็นสองขั้ว เช่นเป็นมนุษย์กับไม่เป็นมนุษย์ เป็นหญิงเป็นชาย เป็นขาวกับดำ หรือคนดี-คนไม่ดี การแบ่งโลกออกเป็นสองขั้วดูจะกลายเป็นวิธีวิทยาของการเข้าใจโลกที่เราแทบไม่เคยตั้งคำถาม แต่ถ้าโลกไม่ได้มีแค่สองขั้ว อย่างเช่นในเรื่องเพศภาวะที่มีมากกว่าหญิงกับชาย เราจะอยู่ในโลกที่ไม่ได้มีแค่สองขั้ว หรือทวิภาคได้อย่างไร จะมีวิธีวิทยาแบบไหนที่จะเปิดเผยให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ที่ของการมีชีวิตอยู่ในโลกที่พ้นไปจากทวิภาวะที่เป็นอยู่
ฟังดูน่าสนใจนะครับ นอกจากปาฐกถาแล้ว ยังมีประเด็นอะไรอีกที่คิดว่าจะพาเราให้ทะลุกรอบไปได้อีก
ความจริงมีอีกหลายหัวข้อมาก เพราะงาน “มานุษยวิทยา 65” ครั้งนี้ถือเป็นการประชุมในโอกาส 30 ปีศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรด้วย เราจึงถือเป็นการเปิดบ้านต้อนรับนักมานุษยวิทยาและผู้สนใจ หัวข้อการนำเสนอมีตั้งแต่เรื่อง อคติไทยในสังคมไทย ซึ่งเราจะมีการเปิดตัวหนังสือชุด “ภูมิทัศน์อคติไทย” ในงานนี้ด้วย มีเรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงและจัดการความขัดแย้ง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่จะนำเสนอวิธีวิทยาที่จะติดตามความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ มีเรื่องวิธีวิทยาที่มากกว่ามนุษย์ (more-than-human methodologies) วิธีวิทยาข้ามศาสตร์ ข้ามพื้นที่และข้ามพรมแดน มีเรื่องวิธีวิทยาในสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งเป็นประสบการณ์การทำวิจัยในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด 19 มีเรื่องวิธีวิทยาของมานุษยวิทยาการเมือง มานุษยวิทยาศาสนา รวมทั้งการนำเสนอความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ทางวิธีวิทยาในแวดวงโบราณคดี พิพิธภัณฑ์ศึกษา และที่สำคัญมีเรื่องมานุษยวิทยากับเกม ที่เราตั้งชื่อว่า Anthropology of game and the gamification of anthropology คือมานุษยวิทยามีวิธีวิทยาในการศึกษาเกมอย่างไร และวิธีวิทยาของเกมจะถูกนำมาใช้ในการเรียนรู้ทางมานุษยวิทยาได้อย่างไร
ผมคิดว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นการเชิญชวนทุกคนที่สนใจมาช่วยกันทบทวนและกะเทาะกรอบเพื่อที่เราจะได้ช่วยกันแสวงหาวิธีวิทยาใหม่ๆ ที่จะพาเราให้ก้าวพ้นพันธนาการของวิธีคิดแบบเดิมและเพื่อที่มานุษยวิทยาจะสามารถนำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการมีชีวิตของมนุษย์
ทั้งนี้ทั้งนั้น หัวใจสำคัญของมานุษยวิทยาคือการตอบคำถามว่าเราจะเป็นมนุษย์กันอย่างไร ซึ่งความพยายามที่จะทะลุกรอบนี้ก็หมายความว่า เราปฏิเสธการเป็นมนุษย์แบบสำเร็จรูปโดยไม่ตั้งคำถาม คำถามที่ว่า How to be human หรือเราจะเป็นมนุษย์กันอย่างไรนั้นมันไม่ได้มีคำตอบที่ตายตัว แต่เป็นสิ่งที่เราต้องสร้างสรรค์ขึ้น มันเป็นกระบวนการสร้างความเป็นมนุษย์ที่เราจะกลายเป็นสิ่งใหม่ไปกับโลกที่มีมากกว่ามนุษย์ เราจำเป็นต้องมีวิธีวิทยาที่สามารถเปิดโลกของความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะพามนุษย์ไปสู่ความเข้าใจที่แตกต่างไปจากเดิม พาเราไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ พาเราก้าวพ้นจากปัญหาซ้ำซากที่ถูกผลิตซ้ำด้วยวิธีคิดและวิธีวิทยาแบบเดิมๆ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ก็จะพยายามที่จะทะลุกรอบเหล่านี้
นอกจากนี้ ในช่วงทิ้งท้ายของการประชุม จะเป็นการแสดงที่เรียกว่า deliberative theatre หรือ ละครถกแถลง อันนี้ผมคิดว่ามันเป็นวิธีวิทยาใหม่ๆ ในการทำความเข้าใจโลกผ่านละครที่ชวนผู้ชมให้มีส่วนร่วม ซึ่ง deliberative theatre นี่เป็นวิธีการหนึ่งของการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย เพราะมันไม่ได้นำเสนอคำตอบสำเร็จรูป แต่มันนำเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างกันเพื่อท้าทายการตัดสินถูกผิดแบบขาว-ดำ ซึ่งจะช่วยให้เห็นถึงอคติและปฏิบัติการของอำนาจเพื่อตั้งคำถามกับสิ่งที่หลายครั้งเรามองว่าเป็นเรื่องราวปกติของชีวิต
ละครถกแถลงจึงเป็นศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นการแสดงที่ทำให้เวทีละครกลายเป็นพื้นที่ของการถกแถลง จากหลากหลายมุมมองและความเป็นไปได้ที่มันไม่มีคำตอบตายตัวให้ เพื่อให้เราเรียนรู้ที่จะแสวงหาจุดร่วมกันที่พอจะเข้าใจกันได้อย่างไร หรือจะอยู่ร่วมกับมุมมองที่ไม่เหมือนกันอย่างไร ซึ่งกลุ่มละครมะขามป้อมได้สร้างสรรค์ละครเรื่องนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับปิดการประชุมครั้งนี้
หลังจากนี้ไป ยุทธศาสตร์การทำงานและทิศทางงานวิชาการของศูนย์ฯ จะเป็นอย่างไร
เราอยากจะเชื่อมโยงเข้ากับปรากฎการณ์ร่วมสมัยให้มากขึ้น ยกตัวอย่างเรื่องอคติในสังคมไทย ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่นำมาสู่การรังเกียจชิงชัง การเลือกปฏิบัติรวมถึงการใช้ความรุนแรงต่อกัน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ก็จะพูดถึงเรื่องเหล่านี้เหมือนกัน หรือปัญหาร่วมสมัยอื่นๆ ในสังคมไทย เช่นโรคระบาดใหม่ หรือสถานการณ์เสี่ยงอื่นๆ เช่น ภัยพิบัติ เราอยากให้นักมานุษยวิทยามีบทบาทในการช่วยกันมองปัญหาและทางออกให้กับประเด็นร่วมสมัยให้มากขึ้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ก็จำเป็นต้องมีการพัฒนาในเรื่องวิธีวิทยาด้วยเช่นเดียวกันนะ อย่างการศึกษาโรคระบาดในสถานการณ์โควิด 19 มันมีปัญหาเรื่องการทำงานภาคสนาม เราจะลงพื้นที่ได้ไหม ถ้าพื้นที่นั้นมันมีความเสี่ยง งานภาคสนามในสถานการณ์เสี่ยงมันเป็นจะทำกันอย่างไร หรือมันมีสนามใหม่ๆ เช่น การทำวิจัยภาคสนามในห้องแล็บหรือในโรงพยาบาลสนาม ซึ่งต้องศึกษาเรื่องการป้องกันการติดเชื้อ การเข้าไปขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคในการทำงานของบุคลากร และมันมี protocol การปฏิบัติตัวในสถานการณ์เสี่ยงที่นักวิจัยต้องเรียนรู้ด้วย
ในการประชุมครั้งนี้จะมีการนำเสนอแผนแม่บททางวิชาการของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เพื่อให้เครือข่ายและผู้เข้าร่วมได้เห็นถึงทิศทางการทำงานของเรา ว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร ประเด็นไหน และเราจะเป็นเวทีให้กับประเด็นทางวิชาการสำคัญๆ อะไรบ้างในเวลาต่อไป