กลับมาเจอเพื่อนเก่าทั้งที แต่เพื่อนเลือกที่จะเล่าปัญหาชีวิตให้ฟังอย่างเดียว ความสุขที่เคยมีร่วมกันหายไปไหนหมดนะ นี่เรายังเป็นเพื่อนกันอยู่มั้ย หรือนัดออกมาเพื่อรับบทนักบำบัดกันแน่
เมื่อคนเราเติบโตขึ้น เราก็ได้พบความจริงแสนขมว่ามิตรภาพมันไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่ออยู่คนละสังคม พูดคนละภาษา เราไม่ได้เข้าใจกันเหมือนวันก่อนแล้ว
ซึ่งไม่แปลกที่เราจะทำใครหล่นหายไประหว่างทาง มันเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตแหละ เพื่อนที่เคยกินข้าวด้วยกันทุกวัน ใช้เวลาร่วมกันตลอด พอถึงจุดหนึ่งของชีวิต เขาก็อาจจะย้ายที่อยู่ ทำงานที่ใหม่ แต่งงาน มีครอบครัว ทำให้มิตรภาพระหว่างเรามันเลือนรางจางหายไป รู้ตัวอีกทีก็ไม่กล้าทักไปคุยเล่น ได้แต่มองอยู่ห่างๆ แล้ว
หรือเพื่อนบางคนที่ห่างหายกันไปนาน เมื่อกลับมาเจอกันอีกครั้ง กลับรู้สึกว่าต่อไม่ติด นี่อาจเป็นสัญญาณว่าเราน่าจะทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างกันดูอีกครั้ง เพราะการนัดเจอกับเพื่อนเพื่อไปกินข้าว หรือดื่มกาแฟด้วยกัน ไม่ควรทำให้เรารู้สึกเหนื่อยใจจนอยากกลับบ้านนอนเสียตั้งแต่ตอนนั้น
เรายังเป็นเพื่อนกันอยู่หรือเปล่านะ?
Julianne Holt-Lunstad ศาสตราจารย์ภาควิชาจิตวิทยาและประสาทวิทยาของมหาวิทยาลัยบริกแฮม ได้พูดถึงความสัมพันธ์ที่เรียกว่า ‘ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนที่สับสน’ ซึ่งเป็นส่วนผสมมาจากความสัมพันธ์ที่ทั้งดีและไม่ดีกับตัวเรา แต่คาดเดาไม่ได้ว่าวันนี้จะเป็นอย่างไร
ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายคือ เพื่อนคนนั้นที่เราไม่รู้ว่าจะเอาใจเขาอย่างไร วันนี้ดีกับเราเหลือเกิน แต่วันพรุ่งนี้แย่กับเราอีกแล้ว และทุกครั้งที่เขาทำตัวแย่กับเรา ก็จะฝากรอยแผลไว้คอยเตือนใจเราเสมอว่ามันเจ็บเพียงใด เขาอาจหายตัวไปสักพักหนึ่ง แต่พอเขากลับมาดีกับเรา ก็ดีใจเสียจนเราลืมความเจ็บปวดนั้นไป ชีวิตนี่ช่างคาดเดาอะไรไม่ได้เลย
Holt-Lunstad ชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนที่สับสนนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเครียดที่เพิ่มขึ้น ปฏิกิริยาของหัวใจและหลอดเลือด และอาจมากพอที่จะเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ หรือความดันโลหิตได้ นอกจากนี้เธอยังพบว่า การเจอกับเพื่อนที่ทำให้สับสนนั้น ส่งผลต่อความดันโลหิตนั้นเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าการเจอกับที่คนที่เราไม่ชอบเสียอีก
แต่ทำไมผู้คนถึงปล่อยให้เพื่อนเหล่านี้มาเล่นกับจิตใจเรา Holt-Lunstad ก็คาดเดาเอาไว้ว่า น่าจะเกี่ยวกับปัจจัยภายนอกมากกว่า อย่างการที่เราต้องเจอกันทุกวัน อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน หรือเรามีเพื่อนร่วมกัน
Gina Handly Schmitt นักจิตบำบัดได้ให้คำแนะนำไว้ว่า ถ้าความสัมพันธ์มันส่งผลต่อความรู้สึกเราในทางลบอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการรู้สึกว่าไม่ได้รับการเคารพ รู้สึกว่าถูกลดคุณค่า หรือเป็นความรู้สึกใดก็ตามที่กัดกินใจของเรา ความสัมพันธ์ที่ว่าก็ควรถูกทบทวนดูใหม่ ว่าจะไปต่อหรือไม่
ความสัมพันธ์แบบไหน ที่อยากให้ลองคิดทบทวนอีกที
หัวใจสำคัญของการเป็นเพื่อนกัน คือ อย่างน้อยเราต้องมีอะไรสักหนึ่งอย่างที่เชื่อมโยงกัน ถ้าเราไม่ได้รู้สึกเชื่อมโยงกับเขาอีกต่อไปแล้ว ความสัมพันธ์จะสุกงอมที่สุดในเวลาที่เราสนใจในสิ่งเดียวกัน มีเป้าหมายที่ใกล้กัน ถ้าเป็นเราฝ่ายเดียวที่อยากจะเข้าหาเขา แต่เขาไม่ได้สนใจหรือไม่ได้ต้องการที่จะพูดคุยกับเราในสิ่งที่เราอยากจะบอกเขาเลย ความสัมพันธ์นี้ก็อาจเป็นความสัมพันธ์ที่เฉื่อยชาและเลือนรางไปในที่สุด
ความสัมพันธ์ไม่ว่าจะในรูปแบบใดเป็นเรื่องของการผลัดกันให้และรับ ถึงจะสมดุล ถ้าเราเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ การที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ทำมากเกินไปในความสัมพันธ์ ก็อาจนำมาซึ่งความเหนื่อยล้า
ซึ่ง Suzanne Degges-White ผู้เขียนหนังสือ Toxic Friendships: Knowing the Rules and Dealing with Friends Who Break Them แนะนำว่า ถ้ามันกำลังเป็นความสัมพันธ์ด้านเดียว อย่างการที่เรารู้เรื่องราวชีวิตของเพื่อนหมดเลย แต่เพื่อนจำชื่อลูกของเราไม่ได้ด้วยซ้ำ ก็เป็นสัญญาณว่าเพื่อนคนนี้กำลังตักตวงจากเราอยู่ ความสัมพันธ์ไม่ได้สมดุลกันอีกต่อไป
อีกหนึ่งสัญญาณคือ คำปฏิเสธนั้นเจ็บปวด แม้การเติบโตขึ้น ทำให้เราต้องเจอกับการถูกปฏิเสธมากขึ้น แต่ถ้าเป็นการปฏิเสธจากคนที่สำคัญกับเรา แน่นอนว่ามันเจ็บปวดกว่าการถูกปฏิเสธจากคนอื่น ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราไม่ได้อยู่ในกลุ่มแรกที่เพื่อนให้ความสำคัญ เพื่อนเลือกที่จะเทนัดเราอยู่ตลอด ก็น่าคิดทบทวนดูใหม่
และสุดท้าย อาจดูเหมือนเป็นเหตุผลที่รุนแรงไป แต่ถ้าเพื่อนเป็นคนที่ไม่เคยเคารพเราเลย ใจร้ายกับเรา หรือพยายามแข่งกับเราอยู่เสมอเมื่อมีโอกาส การเดินออกจากความสัมพันธ์นี้ ก่อนที่มันจะเป็นพิษจนกระทบกับเรื่องราวอื่นๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องผิดเลย
ถ้าไม่ได้อยากเป็นเพื่อนกันต่อไปแล้ว ก็ไม่ต้องฝืนใจ
Robin Dunbar ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาวิวัฒนาการของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า เราสามารถรักษามิตรภาพกับผู้คนไว้ได้ประมาณ 150 คนเท่านั้น และยิ่งไปกว่านั้น คือ เราไม่ได้มอบเวลาและความใกล้ชิดให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกันด้วย การวิจัยของเขาพบว่าประมาณ 60% ของความพยายามของเรานั้นถูกมอบให้กับคนเพียง 15 คน และอีก 40% ถูกมอบให้กับ 5 คนที่สำคัญที่สุด และเราจะมีการคิดทบทวนเกี่ยบกับมิตรภาพเหล่านั้นอยู่ในบางเวลา ว่าเราจะดันใครออกไปจากกลุ่มคนสำคัญ หรือดึงใครเข้ามาใหม่
เมื่อคิดทบทวนดีแล้วว่าเราอยากจะจบความสัมพันธ์นี้ลง Allison Forti ผู้ช่วยศาสตร์จารย์ภาควิชาการให้คำปรึกษา มหาวิทยาลัยเวค ฟอเรส ก็ได้ให้คำแนะนำไว้ว่าการตัดความสัมพันธ์แบบให้คงเหลือเยื่อใย และไม่รู้สึกเจ็บปวดเกินไปสำหรับคนทั้งคู่นั้นอาจเริ่มได้จากการนัดเจอกันตัวต่อตัว พูดคุยถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาระหว่างกัน แต่ให้เน้นโฟกัสที่ตัวเราเอง พยายามใช้คำสรรพนามเรียกตัวเองเพื่อไม่ให้เป็นการสร้างความรู้สึกกล่าวโทษหรือสร้างความเข้าใจผิดกัน
ถ้ายังรู้สึกว่ามันใจร้ายเกินไปที่จะโทรบอกเพื่อนให้ออกมานั่งเปิดใจคุยกันเพื่อลาจาก Forti ก็ยังให้คำแนะนำไว้อีกว่า มิตรภาพนั้นเกิดจากการที่คนเราลงทุนกับความสัมพันธ์ร่วมกันในจังหวะที่เท่ากัน แต่เมื่อวันหนึ่งที่เราไม่แน่ใจ อีกฝ่ายจะสัมผัสได้เองว่าจังหวะของเรานั้นแตกต่างออกไป และการเปิดใจคุยกันก็จะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ
เมื่อเราเติบโตไปคนละทาง จังหวะการก้าวเดินต่างกันไปแล้ว ก็ไม่ผิดที่จะเดินไปตามทางของตัวเอง แต่สักวันหนึ่งเราอาจจะบังเอิญได้กลับมาพบกันใหม่ก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan