ในบรรดาซีรีส์ภาพยนตร์ที่อยู่ยงคงกระพัน ใครๆ ก็รู้จักตั้งแต่รุ่นปู่ยันหลาน สตาร์ วอรส์ มหากาพย์อวกาศจากมันสมองของ จอร์จ ลูคัส น่าจะเป็นซีรีส์ดังค้างฟ้าที่คนรู้จักเป็นอันดับต้นๆ ดังนั้นจึงไม่น่าสงสัยเลยว่าเหตุใดเราจึงเห็นของเล่น หนังสือ หนังสือการ์ตูน และสินค้าต่างๆ จากจักรวาล สตาร์ วอรส์ มากมายมหาศาล แน่นอนว่ารวมถึงเกมด้วย
ปี ค.ศ.2019 เนื้อเรื่องของจักรวาลกระแสหลัก สตาร์ วอรส์ ปิดฉากลงด้วย Star Wars: The Rise of Skywalker ภาคสุดท้ายของไตรภาคสุดท้าย ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ต่างจากคนดูจำนวนมากที่รู้สึกว่าเป็นการปิดฉากที่น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง ผู้กำกับดูอยากเอาใจแฟนานุแฟนมากเกินไปจนยัดเยียด ฉากแอ๊กชั่นหลายฉากไม่สนุก บทสนทนาน่าเบื่อ และปมเงื่อนใหญ่ที่ผูกมาหลายปีกลับมาคลายเอาดื้อๆ อย่างไม่สมเหตุสมผลในช่วงหลังของภาพยนตร์
โชคดีที่ในปีเดียวกัน คอเกมได้เล่น Star Wars Jedi: Fallen Order ซึ่งในความเห็นของผู้เขียน นี่คือเกม สตาร์ วอรส์ ที่สนุกที่สุดในรอบหลายปี ถึงแม้ระบบเกมบางจุดจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง เกมนี้นอกจากจะพิสูจน์ว่าแฟรนไชส์ สตาร์ วอรส์ ยังคง ‘ขายได้’ ในโลกของเกมแล้ว ยังช่วยต่อจิ๊กซอว์ในจักรวาล สตาร์ วอร์ส ให้รุ่มรวยด้วยปูมหลังและเรื่องราวมากขึ้น และเหนือสิ่งอื่นใด ยังตอกย้ำอีกครั้งถึงเหตุผลที่ สตาร์ วอร์ส จะยังคงได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลายสืบไปในอนาคต
Star Wars Jedi: Fallen Order เปิดฉากไม่นานหลังจากที่เรื่องราวในภาพยนตร์ Episode III: Revenge of the Sith ปิดฉากลง เหล่าอัศวินเจไดถูกจักรวรรดิกาแลกติกกวาดล้างไล่ล่า กระจัดกระจายไปทั่วกาแลกซี อดีตพาดาวัน (Padawan ลูกศิษย์ของเจไดที่กำลังฝึกการใช้พลัง) นาม คาล เคสติส หลบซ่อนตัวอยู่บนดาวเคราะห์เกือบร้างห่างไกลแห่งหนึ่ง ประกอบอาชีพเป็นคนหาเศษขยะจากซากยานเก่า จนกระทั่งเพื่อนประสบอุบัติเหตุ เขาจึงใช้พลัง (Force) ดึงเพื่อนขึ้นมาจากความตาย ความลับจึงถูกเปิดออกมาว่าเขาเป็นผู้ใช้พลัง ส่งผลให้คาลต้องหนีตายจากเงื้อมมือจักรวรรดิทันที แซร์ จุนดา (Cere Junda) ผู้หญิงที่มีเบื้องหลังลึกลับกับเหล่าเจได ยื่นมือมาช่วยคาลในเวลาคับขันพร้อมกับ กรีซ ดรีทุส (Greez Dritus) กัปตันยาน ‘สติงเกอร์ แมนทิส’ หลังจากที่แซร์พาคาลไปยังดาว บูกาโน เพื่อเสาะหากรุโบราณตามลายแทงของ อีโน คอร์โดวา เจไดมาสเตอร์ผู้ล่วงลับ ภารกิจหลักของคาลก็ปรากฏชัด เขาจะต้องออกท่องกาแลกซี ตามหาโฮโลครอน (holocron) ซึ่งจารึกชื่อของเหล่าเด็กๆ ผู้เข้าถึงพลังเอาไว้ เพื่อจะได้กอบกู้นิกายเจไดขึ้นมาอีกครั้ง
ระหว่างทางท่องกาแลกซี คาลหรือตัวเราจะได้พัฒนาทักษะการควงดาบไลท์เซเบอร์ พร้อมกับใช้พลังหลายรูปแบบอย่างเช่น ดึงศัตรูเข้ามาใกล้ ผลักศัตรูออก กระโดดไกลกว่าเดิม ฯลฯ ในฉากแอ๊กชั่นมุมมองบุคคลที่สามแบบ Tomb Raider ฝ่าด่านกองทัพสตอร์ม ทรูปเปอร์ และหุ่นยนต์หรือดรอยด์ของจักรวรรดิมากมายหลายสิบประเภท ไม่นับสัตว์ประหลาดกระหายเลือดนานาชนิดที่เป็นเอกลักษณ์ของดาวแต่ละดวง นักล่าค่าหัว และเหล่าซิธผู้ใช้พลัง (Inquisitors) ทหารเอกของจักรวรรดิที่เปรียบเสมือน‘บอส’ ในเกม
ฉากแอ๊กชั่นเหล่านี้สนุกมาก และสนุกมากขึ้นไปอีกเมื่อเราสามารถปรับเปลี่ยนดาบไลท์เซเบอร์ให้เป็นดาบคู่ได้ ดาบเดี่ยวและดาบคู่มีท่าพิเศษไม่เหมือนกัน และการควงดาบคู่กับใช้พลังอย่างเหมาะสมก็จำเป็นต่อชัยชนะ โดยเฉพาะถ้าเลือกระดับความยากที่ยากกว่าปกติ ระบบการเกิดใหม่ในเกมนี้คล้ายกับ Dark Souls – ถ้าหากเราถูกฆ่าตาย เราจะเกิดใหม่ (respawn) ทันทีในจุดเซฟ (‘จุดนั่งสมาธิ’) จุดสุดท้าย แต่ค่าประสบการณ์ทั้งหมดที่เราสะสมมาจะหาย ต้องออกตามหาศัตรูที่ฆ่าเรา (มีไฮไลท์ให้เห็นชัด) และไปฟาดฟันมันก่อนเพื่อให้ได้ค่าประสบการณ์คืนมา ศัตรูทุกตัวในเกมยกเว้นบอสจะเกิดใหม่พร้อมกับเรา
เราสะสมค่าประสบการณ์ในเกมนี้เพื่ออัพเลเวล อัพเลเวลแล้วจะได้ค่าทักษะเพิ่ม จ่ายค่าทักษะไปเพิ่มความสามารถในการต่อสู้ แต่การใช้พลังและความสามารถหลายอย่าง เช่น การผลักศัตรู การกระโดดไกล การใช้ดาบสะท้อนแสงเลเซอร์จากปืนกลับไปโดนคนยิง หรือการกระโดดวิ่งไต่กำแพง (สองอย่างหลังนี้สนุกมาก) ต้องปลดล็อกผ่านเนื้อเรื่องเท่านั้น ทำให้เรามีแรงจูงใจที่จะกลับไปเยือนดาวต่างๆ ในเกมนี้มากกว่าหนึ่งครั้งหลังจากที่ได้ความสามารถใหม่ เพื่อตามหาความลับและสำรวจพื้นที่ใหม่ๆ ที่เคยเข้าไม่ได้เพราะยังไร้ความสามารถ
การสำรวจใน Fallen Order สนุกไม่แพ้ฉากการต่อสู้ เนื้อเรื่องของเกมเดินเป็นเส้นตรงก็จริง แต่เรามีเวลาเหลือเฟือที่จะทำภารกิจหลัก หุ่นยนต์คู่ใจของเราในเกมนี้ (ขาดไม่ได้ในจักรวาล สตาร์ วอรส์) ชื่อ BD-1 เป็นผู้ช่วยมากความสามารถ ซึ่งความสามารถของมันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราได้เจออุปกรณ์เสริมบนดาวต่างๆ เจ้า BD-1 จะช่วยปลดล็อกประตู รักษาบาดแผล เปิดหีบสมบัติ แฮ็กศัตรูที่เป็นหุ่นยนต์เพื่อเปลี่ยนข้างให้มันมาช่วยเราแทน และที่สำคัญก็คือ มีแผนที่โฮโลกราฟิกสามมิติที่บอกอย่างชัดเจนว่าเราอยู่ตรงจุดไหนบนดาว ทาสีให้เห็นว่าพื้นที่ตรงไหนที่ยังไม่ได้สำรวจ ประตูบานไหนยังไม่ได้เปิด และบอกเปอร์เซ็นต์ล่าสุดของข้าวของและความลับบนดาวดวงนั้นๆ ที่หาเจอ ข้าวของหลายอย่างในเกมนี้ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจหลัก แต่ทำให้เรามีตัวเลือกมากขึ้นในการเลือกชุดของคาล สีของ BD-1 สีของยาน และที่เจ๋งที่สุดก็คือ รูปร่างหน้าตาและสีของดาบไลท์เซเบอร์คู่กาย
นอกจากนี้ คาลยังสามารถใช้พลังช่วยเติมเต็มเนื้อเรื่องและปูมหลังในเกมให้สมบูรณ์ (ไม่นับ Easter Eggs และการอ้างอิงตัวละครและเรื่องราวมากมายใน สตาร์ วอรส์ ภาคหลัก เอาใจแฟนๆ ได้ดีมาก) ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ก็ล้วนแต่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องราวของ เซฟโฟ (Zeffo) อารยธรรมมนุษย์ต่างดาวลึกลับที่ล่วงลับไปนานแล้ว เราจะปะติดปะต่อเรื่องของเผ่านี้และตัวละครหลักอื่นๆ ในเกม อย่างเจไดมาสเตอร์ คอร์โดวา จากการใช้พลัง ‘อ่าน’ ความหลังของข้าวของต่างๆ ในเกม
ระบบเกมใน Fallen Order สรุปง่ายๆ ได้ว่าเป็นส่วนผสมระหว่าง Dark Souls กับ Tomb Raider การเกิดใหม่และระดับความยากสองระดับที่ยากที่สุดใกล้เคียงกับ Dark Souls ส่วนการสำรวจโลกและแก้ปริศนา (puzzles) กายภาพต่างๆ เช่น หาวิธีเปิดประตูด้วยการใช้พลังผลักและดึงลูกบอลโลหะยักษ์ ก็คล้ายกับในซีรีส์ Tomb Raider ฉบับทำใหม่ และเป็นการคั่นเวลาระหว่างฉากการต่อสู้ที่ดีมากและไม่เคยน่าเบื่อ ดาวแต่ละดวงมีเอกลักษณ์และอุปสรรคเป็นของตัวเอง ดาวที่แฟนๆ สตาร์ วอรส์ จะประทับใจที่สุดคือ อิลัม (Illum) ดาวศักดิ์สิทธิ์ของเหล่าเจได ที่ตั้งของวิหารเจไดและถ้ำแห่งผลึกคริสตัลที่เอามาทำเป็นหัวใจของดาบไลท์เซเบอร์
จุดอ่อนของ Fallen Order มีบ้างแต่ไม่ถึงขนาดที่จะลดทอนความสนุก เริ่มจากบั๊กน่ารำคาญอาทิ ศัตรูเกิดใหม่มาอยู่จุดเดียวกับเรา กราฟิกอยู่ผิดที่ ฯลฯ ซึ่งบั๊กเหล่านี้ก็ได้รับการแก้ไขภายในเดือนแรกหลังจากที่เกมออกวางจำหน่าย จุดอ่อนที่ผู้เขียนไม่ชอบที่สุดก็คือ ระดับความยากที่ยังบาลานซ์ไม่ค่อยดี ขั้นง่ายสุดก็ง่ายเกินไป แต่พอยากขึ้นมาอีกระดับก็ยากไปหน่อย ขั้นยากสุดแทบเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ การบังคับให้เราต้องวิ่งไปวิ่งมาบนดาวเอง ไม่มีปุ่มให้กดเพื่อวาร์ปกลับไปที่ยานง่ายๆ ก็อาจทำให้ผู้เล่นหลายคนอารมณ์เสียเพราะหาทางออกไม่เจอ ค่าที่ดาวแต่ละดวงค่อนข้างใหญ่และมีรายละเอียดซับซ้อนหลายชั้น แต่ข้อดีคือการบังคับให้เราวิ่งไปวิ่งมาก็ทำให้เราได้ดื่มด่ำกับรายละเอียดและใส่ใจกับการสำรวจตรอกซอกซอยมากขึ้น หลายครั้งผู้เขียนเจอชิ้นส่วนดาบไลท์เซเบอร์เจ๋งๆ หรือชุดของคาลโดยบังเอิญระหว่างที่หลงทางนี่เอง
นอกจากมันจะเป็นเกมที่สนุกแล้ว ความที่ Star Wars Jedi: Fallen Order ถูกออกแบบมาอย่างตรงตามปรัชญาและสอดรับกับเรื่องราวของ สตาร์ วอรส์ ก็ทำให้มันช่วยตอกย้ำถึงเหตุผลที่ซีรีส์นี้ได้รับความนิยมมหาศาลไม่เสื่อมคลาย นั่นคือ การช่วยตอบคำถามที่ว่า อะไรที่บันดาลใจให้หนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยยังยืนหยัดลุกขึ้นสู้กับจักรวรรดิกาแลกติกเรืองอำนาจ ถึงแม้ว่าจะรู้อยู่แก่ใจว่า ความน่าจะเป็นของชัยชนะนั้นริบหรี่จนแทบเป็นไปไม่ได้?
งานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่าสมองของคนเราให้ความสำคัญและประเมินเรื่อง ‘ความเป็นธรรม’ ตลอดเวลา เรารู้สึกรังเกียจเวลาที่เห็นความไม่เป็นธรรมซึ่งหน้า (ยกเว้นว่าจะหลอกตัวเองอยู่ว่านี่คือความเป็นธรรม หรือถูกอคติบังตา) เวลาที่เราดู สตาร์ วอรส์ แล้วอยากเชียร์ฝ่ายกบฏ ลุ้นให้ชนะถึงแม้จะรู้ว่ายากมาก ถึงที่สุดแล้วอาจมาจากสัญชาตญาณของเราเอง สัญชาตญาณที่ให้คุณค่ากับความยุติธรรมและความเป็นธรรม โดยเฉพาะสำหรับผู้ด้อยโอกาส
เพราะในโลกจริง บางครั้งหรือบ่อยครั้งที่เราตกเป็นเหยื่อของความไม่เป็นธรรม เพียงเพราะใครบางคนมีอำนาจเหนือกว่าเราและลุแก่อำนาจ
แล้วอะไรที่ทำให้คนธรรมดาๆ ลุกขึ้นมาสู้กับมหาอำนาจจอมเผด็จการ?
สตาร์ วอร์ส ทุกภาคนำเสนอตัวละครที่เปลี่ยนแปลงโลกทัศน์และศีลธรรมอย่างถึงแก่น จากจุดเริ่มต้นที่คิดแต่ประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก ไปเป็นจุดที่เริ่มมองเห็นว่าจะต้องเลือก จะปิดหูปิดตาไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความเดือดร้อนของคนอื่นไม่ได้อีกต่อไป เรารู้จัก ฮาน โซโล ใน สตาร์ วอรส์ ไตรภาคแรก ในฐานะกัปตันนักค้าของเถื่อนจอมเก๋า สนใจแต่จะหาเงินเท่านั้น เขาประกาศอย่างตรงไปตรงมาว่าเขาเพียงแต่สนใจความอยู่รอดของตัวเอง โซโลยอมขับยานส่งเจไดมาสเตอร์ โอบีวัน กับพรรคพวกไปยังดาวอัลเดอราน ยอมร่วมทีมไปช่วยชีวิตเจ้าหญิงบนเดธสตาร์ เพียงเพราะเขาได้เงินค่าจ้างงามๆ ไม่ใช่เพราะคิดว่าเป็นหน้าที่หรือเกลียดจักรวรรดิแต่อย่างใด ทว่าสุดท้ายเราก็ได้เห็นว่าเมื่อโซโลเริ่มมีความสัมพันธ์กับ ลุค และ เลอา สองพี่น้องผู้เปี่ยมพลังและความเสียสละ โซโลก็สามารถก้าวออกมาจากชีวิตเห็นแก่ตัว เริ่มตัดสินใจเพื่อคนอื่นมากขึ้น
ใน Episode VII: The Force Awakens ภาคแรกของไตรภาคสุดท้าย ตอนแรก ฟินน์ สตอร์มทรูปเปอร์ที่เปลี่ยนค่ายย้ายข้าง ช่วย โพ ดาเมรอน นักบินฝ่ายกบฏที่ถูกจับ เพียงเพราะเขาขับยานไม่เป็น ต้องหานักบินมาขับยานเพื่อหลบหนี ต่อเมื่อ เรย์ ผู้ใช้พลังและเพื่อนใหม่ของฟินน์ ถูกชิงตัวเท่านั้น ฟินน์ก็เลิกให้น้ำหนักกับความปลอดภัยของตัวเองสูงสุด ยอมเสี่ยงตายเพื่อช่วยชีวิตเพื่อน
ใน Fallen Order พัฒนาการของตัวละครถึงแม้จะไม่โดดเด่นเท่ากับในภาพยนตร์ แต่ก็มีแง่มุมที่น่าสนใจเช่นกัน กรีซ มนุษย์ต่างดาวกัปตันยานแมนทิส ทีแรกไม่ไว้ใจคาล คิดถึงสวัสดิภาพของตัวเอง ไม่อยากเอาตัวเองและยานเข้ามาเสี่ยงกับอำนาจมหาศาลของจักรวรรดิ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขาก็ค่อยๆ เกิดความเอ็นดูคาลเหมือนลูกชาย สนับสนุนภารกิจเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายของพาดาวันในที่สุด ส่วนคาลหรือตัวเราก็ต้องก้าวข้ามความไม่มั่นใจในตัวเอง เลิกอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เพราะ “นั่นไม่ใช่วิธีใช้ชีวิต(ที่ควรทำ)”
คาล แซร์ กรีซ เหล่ากบฏ และประชาชนผู้รักอิสรภาพใน Fallen Order รู้ดีว่าการต่อสู้กับจักรวรรดิสุดท้ายอาจไม่นำไปสู่ชัยชนะ แต่การลุกขึ้นสู้ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ดีกว่าการยอมจำนนตั้งแต่แรก ดีกว่าการอยู่เฉยๆ ระหว่างที่คนอื่นถูกกดขี่ และดีกว่าการหลบซ่อนจากอำนาจ นักจิตวิทยาค้นพบมานานแล้วว่าคนเราล้วนอยากมี “ชีวิตที่มีความหมาย” และ “ความกล้าหาญ” แท้จริงก็คือความเข้มแข็งทางอารมณ์ เจตจำนงที่จะพยายามบรรลุเป้าประสงค์ให้ได้ ถึงแม้จะเผชิญกับอุปสรรคมากมายทั้งภายในและภายนอก
“ความหวัง” ไม่ใช่อารมณ์เชิงบวกที่มีประโยชน์เท่านั้น
หากยังสร้างแรงจูงใจให้เราตั้งเป้าหมายที่สูงส่ง
เป้าหมายซึ่งบรรลุได้ยากเย็น แต่ระหว่างทางเราจะได้เติบโต พัฒนาทักษะ และรู้สึกดีกับตัวเอง ในทางกลับกัน คนที่ขาดความหวังมักจะตั้งเป้าหมายง่ายๆ ที่บรรลุได้อย่างง่ายดาย แต่ไม่ให้โอกาสที่จะเติบโตหรือพัฒนา เวลาที่คนขาดความหวังล้มเหลว พวกเขาก็จะรู้สึกสิ้นหวังท้อแท้และไม่อยากทำอะไรต่อ ไม่เชื่อมั่นว่าตัวเองมีศักยภาพที่จะสร้างอนาคตที่ต้องการ
Star Wars Jedi: Fallen Order บอกเราเหมือนกับ สตาร์ วอรส์ ภาคที่ดีที่สุดหลายภาคบอกเราว่า การต่อต้านระบอบอำนาจนิยมนั้นถึงแม้จะยากเย็น การลุกขึ้นสู้ก็คุ้มค่าเสมอที่จะทำ และการวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อต้านรัฐบาลที่ลุแก่อำนาจคือการแสดงออกว่า เรายังมีความหวัง และความหวังนั้นก็จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นต่อๆ กันไป
และ มิตรภาพ อันเกิดจากการสร้างสายสัมพันธ์กับคนอื่น ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเลิกคิดถึงแต่ตัวเอง และเป็นจุดเริ่มต้นของความหวัง ถ้าหากเพื่อนคือผู้ที่จุดประกายความหวังให้กับเรา
ผู้ที่อยู่ด้วยความหวัง ไม่ใช่อยู่ด้วยความกลัว จะมองเห็นด้วยว่า ‘ความเป็นกลาง’ ระหว่างความอยุติธรรมกับความยุติธรรม ระหว่างฝ่ายที่ไล่ล่าปิดปากคนเห็นต่าง กับฝ่ายที่ดิ้นรนเพียงเพื่อจะแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมานั้น ย่อมไม่ใช่ความเป็นกลางที่แท้จริง และคนที่อ้างว่า ‘เป็นกลาง’ ในสถานการณ์เช่นนี้ ก็ไม่อาจสร้างความหวังที่ยั่งยืนให้กับสังคมได้เลย