ในวินาทีที่เรารู้ว่า ‘อ้าว นี่เราไม่ใช่เพื่อนสนิทเธอเหรอ’ เหมือนโลกทั้งใบมันพังลงมา เราทั้งเสียใจ ผิดหวัง โกรธ และรับไม่ได้ ความรู้สึกทุกอย่างมันประดังประเดเข้ามา ในเมื่อเราทุ่มเททุกอย่างให้ขนาดนั้นเพราะคิดว่าเราสนิทกัน แต่เธอมองว่าเราไม่ได้สนิทกันขนาดนั้นเนี่ยนะ
‘ความคาดหวัง’ คือตัวร้ายของเรื่องนี้เลย เมื่อเรารู้สึกสนิทใจกับใครสักคน เราแชร์เรื่องราวของให้เพื่อนฟัง อยากใช้เวลาร่วมกับเพื่อน และหวังดีกับเพื่อนเสมอ ซึ่งเราไม่รู้ตัวหรอกว่า ในใจเราก็คาดหวังว่าเพื่อนจะรู้สึกแบบเดียวกันกับเรา ยิ่งเราให้เพื่อนมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งคาดหวังมากเท่านั้น และเมื่อผิดหวัง ความคาดหวังของเราจะหวนกลับมาแทงใจตัวเอง
คำพูดของเพื่อนที่ไม่ได้ตั้งใจพูดออกมา แต่ทำร้ายใจเราไปตลอดกาล
“ตอนนั้นเป็นวันเกิดเรา แล้วเพื่อนที่เราเคยคิดว่าสนิทกันเหมือนจะลืม เราก็เลยไปถามว่าลืมเหรอ สุดท้ายเขาตอบกลับมาว่า เราไม่ได้สนิทกันขนาดนั้น ตอนนั้นเราเคว้งมาก แล้วเราก็ไม่กล้าคิดอีกเลยว่าเราสนิทกับใคร” – เจเค, (25)
“เราจำโมเมนต์สมัยเรียนได้ ที่มันจะมีใบวิชาแนะแนวให้เขียนข้อมูลส่วนตัวลงไป เราเขียนชื่อเพื่อนเราอย่างไวเลย แต่มารู้ทีหลังว่าเพื่อนที่เราคิดว่าเป็นเพื่อนสนิท เขาเขียนชื่อคนอื่น บางทีมันก็เป็นเรื่องอะไรเล็กๆ แบบนี้แหละ แต่มันกระทบใจเรามากอยู่เหมือนกัน” – เอจัง, (33)
“เวลาเราทำอะไรให้เพื่อนโกรธ เราจะขอโทษและง้อก่อนทุกครั้ง เพราะเราคิดว่าเขาเป็นเพื่อนสนิทของเรา แต่ในวันที่เขาทำให้เราโกรธบ้าง เราต้องการแค่คำขอโทษ เหมือนที่เราเคยขอโทษเขาอะ แต่เขาเลือกที่จะหายไปเลย ไปใช้ชีวิตตามปกติเหมือนไม่มีเราก็ได้ เราก็เลย อ้าว เราไม่ใช่เพื่อนสนิทกันเหรอวะ เราสนิทกับเธออยู่ฝ่ายเดียวว่างั้น” – โซอี้, (27)
เรื่องราวของพวกเขา คือการที่พวกเขารู้สึก ‘ถูกปฎิเสธ’ จากเพื่อนที่คิดว่าสนิทด้วย ซึ่งมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร National Academy of Sciences ว่าการถูกปฏิเสธจากสังคมอาจทำให้รู้สึกชอกช้ำพอกันกับความเจ็บปวดทางกายเลยทีเดียว และการถูกปฏิเสธยังถูกพูดถึงโดย Guy Winch นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือ Emotional First Aid ว่าสมองส่วนที่ถูกกระตุ้นเมื่อเราถูกปฏิเสธ คือสมองส่วนเดียวกันกับที่ถูกกระตุ้นเมื่อเราเจ็บปวดทางกาย มีนักวิทยาศาสตร์ทดลองให้ผู้เข้าทดลองกินยาแก้ปวดก่อนจะจัดฉากให้พวกเขาเจ็บปวดจากการถูกปฎิเสธ ซึ่งการทดลองนี้พบว่าผู้เข้าทดลองที่ได้กินยารู้สึกเจ็บปวดทางอารมณ์น้อยกว่าผู้เข้าทดลองที่ไม่ได้กินยา
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะให้กินยาแก้ปวดในทุกครั้งที่เจ็บปวดจากการโดนปฏิเสธนะ เราเพียงแต่จะอธิบายว่า มันไม่แปลกถ้าเรากำลังเจอเรื่องราวการ ‘ถูกปฏิเสธ’ คล้ายกับพวกเขาเหล่านี้ และรู้สึกเจ็บปวดจนอยากร้องไห้ออกมา
เมื่อรู้ว่าไม่ได้สนิทกัน มันก็ยากที่จะไปต่อ
เมื่อความผิดหวังถาโถมเข้ามา เราก็ไม่กล้าทำตัวเหมือนเดิมกับเพื่อนอีกต่อไป การเสียเพื่อนสนิทในวัยผู้ใหญ่เป็นเรื่องเจ็บปวดเกินกว่าจะรับไหว (แต่พบเจอได้เป็นปกติ) ในวัยที่เราไม่แน่ใจว่าจะหาเพื่อนใหม่จากที่ไหนแล้ว ยิ่งเป็นเพื่อนสนิทยิ่งยากเลย การที่เราได้รู้ว่าที่ผ่านมาเราเข้าใจผิดมาตลอดว่าเป็นเพื่อนสนิทกันนั้นเจ็บปวดพอกับการอกหักเลยทีเดียว
มีงานวิจัยที่พบว่าจำนวนเพื่อนของเราจะเพิ่มขึ้นจนถึงช่วงอายุ 25 และหลังจากนั้นก็จะลดลงอย่างรวดเร็วไปตลอดชีวิต ถึงแม้จะเป็นเรื่องเศร้า แต่มันก็เป็นความจริงที่เราต้องยอมรับ เพราะเมื่อเรามองย้อนกลับไป สมัยเรียนเรามีเพื่อนสนิทมากมาย แต่ปัจจุบันเราแทบไม่เหลือใครแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของชีวิตที่ยุ่งเหยิง การได้รู้ความจริงว่าสนิทอยู่ฝ่ายเดียว หรือมีใครคนใดคนหนึ่งเลือกเดินจากไปก็ตาม
มิตรภาพจบลงมากกว่าเกิดขึ้นใหม่ Gerald Mollenhorst นักสังคมวิทยาจาก Utrecht University ได้ทดลองสอบถามผู้ใหญ่จำนวน 604 คน ในเรื่องเพื่อนของพวกเขา และกลับมาสัมภาษณ์พวกเขาอีกครั้งหลังจากเวลาผ่านไป 7 ปี ซึ่งก็พบว่าผู้ร่วมทดลองส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเพื่อนกับคนเดิมที่เคยพูดถึงเมื่อ 7 ปีอีกต่อไป มีเพียง 30% ของผู้ร่วมทดลองเท่านั้นที่ยังเป็นเพื่อนกับเพื่อนคนเดิมอยู่
การรักษาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรเอาไว้ในวัยผู้ใหญ่นั้น เป็นเรื่องที่เรารู้กันดีว่ายากมาก ด้วยภาระหน้าที่การงาน ครอบครัว และอีกสารพันปัญหา เราคิดว่าเพื่อนของเราจะรออยู่ตรงนั้นได้เสมอ และไม่ว่าเราจะทำอะไร เพื่อนสามารถให้อภัยเราได้อยู่แล้ว เพื่อนจึงเป็นตัวเลือกแรกที่เราจะวางทิ้งไว้ก่อนเพื่อไปจัดการชีวิตของตัวเอง แต่เมื่อหันกลับมาอีกครั้ง เราก็พบว่าพวกเขาจากไปแล้ว และวันนั้นเราจะได้รู้ความรู้สึกของเพื่อนก็ต้องการการดูแลเหมือนกัน
รับมือแผลใจไม่ให้เจ็บปวดไปกว่านี้
มีคำพูดที่ว่า ‘ถ้าไม่คาดหวัง จะไม่ผิดหวัง’ แต่ในฐานะมนุษย์ที่มีอารมณ์ความรู้สึก เราไม่คาดหวังกับอะไรเลยก็คงไม่ได้ ซึ่งเราเข้าใจในความผิดหวังนั้น ในเมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว และทิ้งแผลใจเป็นหลุมลึกเอาไว้ เราต้องกลับมารักษาใจตัวเองจากความผิดหวังนั้นให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะไม่จมกับความเสียใจและก้าวต่อไปได้ ไม่ปิดตัวเองว่า ‘เราจะไม่รับใครเข้ามาอีกแล้ว’ เพราะยังมีคนที่เข้ากับเรารอให้เราได้ไปเจออีกมากมาย แค่ต้องรู้วิธีรับมือแผลใจจากเพื่อน (ที่เรา) สนิท (กับเขาอยู่ฝ่ายเดียว)
Danielle Bayard Jackson ไลฟ์โค้ชด้านมิตรภาพเคยขึ้นพูดบนเวที Ted เอาไว้ว่า เมื่อรู้ตัวว่าเสียเพื่อนไปแล้ว อย่างแรกเลยให้ใจดีกับตัวเอง อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นความผิดของเราหรือเปล่า โทษตัวเองว่าไม่น่าทำแบบนั้นเลย หรือจมอยู่กับการหาคำตอบว่าเราไม่ดีตรงไหน ถ้าคิดอะไรไม่ออกให้กินไอศกรีมก่อน อาจฟังดูเหมือนวิธีแก้ปัญหาของเด็ก แต่มันจะดีแน่นอน
ขั้นต่อมาให้มองเรื่องราวที่เกิดขึ้นครั้งสุดท้ายระหว่างเราให้กว้าง ลองทำความเข้าใจทั้งในมุมมองของเพื่อนและมุมมองของเรา ในบางกรณีเราอาจไม่มีโอกาสได้อธิบายด้วยซ้ำว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่เราจะมีคำอธิบายตัวเองที่อยากจะพูดกับเพื่อนโผล่ขึ้นมาในหัวแน่นอน Jackson ก็ให้คำแนะนำว่าอย่าท่องบทพูดที่รู้สึกว่า ‘ตอนนั้นน่าจะพูดไป’ นั้นวนเวียนไปมา แต่ถ้าคิดให้ถ้วนถี่แล้วเราเป็นฝ่ายผิดจริง และอยากจะขอโทษเพื่อน ก็กลับไปขอโทษ ไม่ว่าเพื่อนจะตอบเรากลับมาหรือไม่ก็ตาม
ถ้าคิดให้ดีแล้ว (จริงๆ) ว่าไม่ใช่ความผิดของเรา เป็นที่คำพูดหรือการกระทำของเพื่อนต่างหากที่ทำร้ายใจ แต่ไม่คิดจะขอโทษกัน ไม่เห็นค่ามิตรภาพของเรา ก็คงต้องเข้าใจและปล่อยให้เพื่อนไปตามทางของตัวเอง ที่จริงแล้วอาจเป็นแรงทุ่มเทของเราเองก็ได้ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราสนิทกับเขา ทั้งที่เขาไม่ได้มองว่าเขาสนิทกับเราเลย ลองยกแรงทุ่มเทของตัวเราออก ก็อาจจะพบว่าเขาก็แค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่เราไม่ควรให้มาทำร้ายกันอีก
เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจว่าเราไม่ใช่เพื่อนกันอีกต่อไปแล้ว ก็ขอให้เก็บแต่เรื่องราวดีๆ เอาไว้ และรู้สึกขอบคุณที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเพื่อนสนิทกัน (ถึงเราจะเป็นอยู่ฝ่ายเดียวก็เถอะ) อย่าปล่อยให้ความผิดหวังจากการโดนปฏิเสธให้ลุกลาม และกลายร่างไปเป็นความแค้น เพราะมันไม่มีทางส่งผลดีกับใคร ทั้งเพื่อนและตัวเราเอง
ถ้าเราเป็นเพื่อนคนสำคัญของเขาจริง เราจะรับรู้ได้จากทั้งคำพูดและการกระทำโดยไม่ต้องถามเลยว่า “นี่เราเป็นเพื่อนสนิทกันใช่มั้ย”
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Manita Boonyong
Proofreader: Runchana Siripraphasuk