ทุกๆ ครั้งที่วันลอยกระทงเวียนวนกลับมา คำถามคำถามหนึ่งก็จะตามมาว่า ประเพณีนี้กำลังสร้างขยะมากเกินไปหรือเปล่า? เราควรยกเลิกได้หรือยัง?
บางคนมองว่าวันลอยกระทงนั้นมีกันมาอย่างช้าาาาานานนนน และเราก็ควรสืบสานประเพณีนี้ เพราะจากที่หลายคนอาจเคยเรียนมามักจะจดจำว่า ประเพณีลอยกระทงนั้นมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพราะอ้างอิงตามวรรณกรรม ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่พูดถึงนางนพมาศ และมีฉากหลังเป็นยุคสมัยสุโขทัย ซึ่งต่อมาก็มีข้อถกเถียงมากมาย หนึ่งในนั้นคือ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่สันนิษฐานว่าวรรณกรรมนี้แต่งในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือในบทความ นางนพมาศเกิดในสมัยสุโขทัย แล้วทำไมถึงรู้จักประเทศอเมริกา? ก็ให้ความเห็นไว้ว่าในยุคสุโขทัยนั้น ไม่น่าจะรู้จักอเมริกันชนได้ จึงนางนพมาศและงานลอยกระทงจึงอาจไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย
รวมไปถึง ก่อนหน้านั้นไม่มีคำว่า ‘ลอยกระทง’ ปรากฏในหลักฐานใดๆ มาก่อน แต่หากพูดถึงประเพณีที่คล้ายกันนี้ ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเรียกว่า ‘เผาเทียน เล่นไฟ’ หรือ ในสมัยอยุธยาก็มีแต่ชื่อ ชักโคม ลอยโคม และแขวนโคม ที่ปรากฏในจดหมายเหตุลาลูแบร์
ซึ่งประเพณีนี้ก็ไม่ได้มีเฉพาะในไทย แต่ยังพบเห็นได้ในหลายๆ วัฒนธรรม ไม่ว่าจะเขมรโบราณ จีน อินเดีย โดยมีรูปแบบพิธีกรรมที่ต่างไป แต่ใจความสำคัญที่คล้ายๆ กันคือการขอขมาพระแม่คงคา หรือเคารพบูชาแม่น้ำ
แต่ถ้าไม่นับประวัติศาสตร์ของลอยกระทงกับเหตุผลของการบอกว่าเป็นวัฒนธรรมอันดีงามควรค่าแก่การสืบสาน วันลอยกระทงก็นับเป็นวันที่หลายๆ คนอาจใช้เป็นหมุดหมายในการนัดเจอเพื่อน ไปเที่ยว กินข้าวกับครอบครัว ออกเดตกับแฟน ซึ่งในวันธรรมดาเราอาจไม่ได้ทำอะไรแบบนี้กันมากนัก สำหรับบางคน วันลอยกระทงจึงอาจจะยังมีความหมายกับใครบางคนอยู่
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ยืนยันกับเราว่า ประเพณีลอยกระทงยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน พร้อมกับเสริมว่า “วัฒนธรรมที่ดีต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย ถ้าวัฒนธรรมลอยกระทงแบบเดิมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็ควรปรับ ให้มีการลอยกระทงได้ แต่การลอยกระทงนั้น ต้องคำนึงว่าจะรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างไรด้วย”
แก่นของประเพณีที่มาจากความเข้าใจธรรมชาติ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่หลายคนให้ความสนใจ และทุกครั้งที่วันลอยกระทงหวนกลับมา ก็จะเกิดคำถามกับ ‘ขยะ’ ที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงเวลานี้
แม้ส่วนใหญ่จะเลือกซื้อกระทงที่ผลิตจากใบตองหรือวัสดุธรรมชาติ แต่นั่นยังไม่รวมถึง เม็ดพลาสติกแทนดอกรัก หมุดที่ทำจากโลหะ หรือธูปเทียนที่กลายเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยากและอาจเป็นมลพิษต่อแม่น้ำ แม้กระทั่งตัวกระทงเองที่แม้จะมาจากธรรมชาติจริงๆ แต่ในปริมาณที่มากเกินไปก็ส่งผลต่อคุณภาพ เพราะทำให้แสงส่องลงไปไม่ถึงและทำให้น้ำเน่าเสียได้
ทุกๆ ปี จะมีการสำรวจปริมาณกระทงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเมื่อมองย้อนหลังไป ในปี พ.ศ. 2560 มีจำนวนกระทงกว่า 811,945 ใบ ปี พ.ศ. 2561 มีจำนวนกระทง 841,327 ใบ และปีที่แล้ว หรือพ.ศ. 2562 มีจำนวนกระทง 502,024 ใบ
จากสถิติจำนวนกระทงย้อนหลังนี้ก็พอทำให้เห็นว่าปริมาณกระทงลดลงเรื่อยๆ ซึ่งอาจมาจากทั้งปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และกระแสของความสนใจสิ่งแวดล้อมด้วย แต่ถึงอย่างนั้นปริมาณกระทงที่มากขนาดนี้ก็ยังบ่งบอกได้ว่าผู้คนยังให้ความสนใจต่อประเพณีนี้อยู่ดี
แล้วถ้ายังยกเลิกไม่ได้ แล้วเราจะไปต่อกันทางไหน?
หลิง นันทิชา โอเจริญชัย หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และผู้นำขบวนชุมนุม Climate Strike ได้บอกกับเราถึงความเห็นเกี่ยวกับการรักษาวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กับสิ่งแวดล้อมว่า
“วัฒนธรรมสมัยโบราณกับสิ่งแวดล้อมมันเคียงคู่กันมาตลอด เขาเลยมีประเพณีที่ต้องการปกป้องธรรมชาติตรงนี้ ถ้ามองย้อนกลับไปประเพณีลอยกระทงมันมีไว้เพื่อขอบคุณแม่น้ำ แต่เหมือนเราลืมตรงนี้ไป ประเพณีมันไม่ได้แย่ แต่แค่เราลืมความหมายของมัน“
“สมัยก่อนเหมือนเราอยู่กับธรรมชาติ ใช้ชีวิตกับธรรมชาติ เราเลยอยากขอบคุณเขา แต่ความรักตรงนี้มันหายไป หลิงไม่ได้คิดว่าต้องยกเลิกไปเลย แต่แค่ต้องมาปรับความเข้าใจกันใหม่ว่าประเพณีนี้มีขึ้นมาเพื่ออะไร ไม่ใใช่เอามาแต่รูปแบบประเพณี แต่ลืมความหมายที่ซ่อนอยู่ในประเพณีนี้ เข้าใจแล้วก็จะได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกัน”
เศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่ต้องตามโลกให้ทัน
ในทางหนึ่ง ประเพณีลอยกระทงก็กลายเป็นจุดขายให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีการโปรโมตเป็นประจำทุกปีถึงงานประเพณีลอยกระทง ที่เชิญชวนให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอย ซื้อของ ท่องเที่ยว หรือเดินทางไปต่างจังหวัด ซึ่งจุดหมายฮอตฮิตเช่น สุโขทัย หรือเชียงใหม่
แม้ในปีนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เปิดเผยผลสำรวจการใช้จ่ายในช่วงวันลอยกระทง 2563 ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.7 วางแผนไปลอยกระทง แต่ลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีร้อยละ 36.3 ไม่คิดไปลอยกระทง และเงินสะพัดในช่วงวันลอยกระทงปีนี้ขยายตัวติดลบร้อยละ 1.5 โดยมีมูลค่าเงินสะพัดเพียง 9,429 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2555
แต่ถึงอย่างนั้น ‘ลอยกระทง’ ก็ยังคงมีความหมายต่อการโปรโมตการท่องเที่ยวอยู่ดี แล้วเราจะทำยังไงให้การเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมในประเพณีที่ถูกตั้งคำถาม
รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ คอลัมนิสต์สายเศรษฐศาสตร์ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “แน่นอนว่าการมองประเพณีลอยกระทงเป็น ‘อีเวนต์’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องผิดอะไร โจทย์สำคัญหากเราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเชิญชวนให้มาท่องเที่ยวงานลอยกระทงคือทำอย่างไรให้อีเวนต์นี้ยังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ คือเราต้องตามเทรนด์ให้ทัน”
“เช่น นักท่องเที่ยวเริ่มใส่ใจผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น แต่ภาพที่พวกเขาเห็นหลังงานลอยกระทงคือขยะเกลื่อนแม่น้ำหรือเกิดไฟไหม้จากการปล่อยโคมลอย เขาก็อาจเปลี่ยนใจว่าไม่มาดีกว่าเพราะไม่อยากสนับสนุนการท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับประเทศปลายทาง”
สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้คือการหาตรงกลางของการอยากรักษาประเพณีไว้ โดยที่ต้องเข้าใจและตระหนักปัญหาสิ่งแวดล้อม จะเป็นไปได้มั้ยที่เราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเทศกาลนี้ให้ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด อย่างที่ความหมายดั้งเดิมของประเพณีนั้นมีขึ้นเพื่อขอบคุณธรรมชาติที่ให้ชีวิตกับเรา
อ้างอิงข้อมูลจาก