อากาศสะอาดขึ้น คาร์บอนไดออกไซด์ลดลง สัตว์ป่าออกมายึดพื้นที่คืน
เมื่อ COVID-19 ทำให้ทั้งโลกหยุดชะงัก ผู้คนต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน พร้อมกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นมากมาย แต่ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง คุณภาพอากาศสะอาดขึ้น และฝูงสัตว์ออกมายึดพื้นที่คืนจากมนุษย์
นั่นทำให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็มองว่า การมาของ COVID-19 ก็เหมือนกับฮีโร่ที่มาช่วยกู้โลก จากทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำให้เน่าเฟะ แต่อีกด้านก็ตั้งคำถามกลับว่า มันจะเป็นผลดีต่อโลกได้อย่างไร ในเมื่อเพื่อนมนุษย์จำนวนมากต้องอดอยาก ไร้รายได้ และได้รับผลกระทบหนักจากเรื่องนี้
ยิ่งไปกว่านั้น สภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ดูจะดีขึ้นมานี้ ถือว่าเป็น ‘เรื่องดี’ ขึ้นจริงๆ ไหม? เราขอชวนทุกคนร่วมกันหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน
คาร์บอนไดออกไซด์หายไปแล้ว
‘ปิดเมืองอู่ฮั่น ห้ามการเดินทางเข้าออก’
จากจุดเริ่มต้นที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสปริศนา สู่การศูนย์กลางการระบาดในช่วงแรก จีนเป็นประเทศที่ต้องรับมือกับ COVID-19 ก่อนชาติอื่นๆ ในโลก และต้องออกมาประกาศล็อกดาวน์เมือง ห้ามการเดินทาง ให้ผู้คนกักตัวอยู่แต่ในบ้านเท่านั้นซึ่งช่วงของการปิดเมืองก็มาตรงกับช่วงหยุดยาวจากเทศกาลตรุษจีนพอดี ซึ่งปกติแล้ว ร้านค้า ไซต์งานก่อสร้าง และอุตสาหกรรมต่างๆ ก็จะปิดทำการในช่วงนี้ด้วย
ผลกระทบจาก COVID-19 ต่อสิ่งแวดล้อมที่เด่นชัดขึ้นมาเป็นอย่างแรกในจีน คือ ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลง 25% ในช่วง 4 สัปดาห์แรก หลังจากเทศกาลตรุษจีน เนื่องจากการบริโภคถ่านหินและกิจกรรมทางอุตสาหกรรม เช่น การกลั่นน้ำมัน การทำซีเมนต์ ที่ปกติจะลดน้อยลงในช่วงหยุดยาว ก่อนจะค่อยเพิ่มขึ้นมาอีกครั้งเมื่อหมดช่วงวันหยุด ในปีนี้ ไม่ได้ฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง แม้จะเลยวันหยุดประจำปีไปแล้วก็ตาม
การประกาศล็อกดาวน์นี้ ทำให้เหล่าคนงานไม่สามารถกลับไปทำงานต่อได้ และความต้องการพลังงาน รวมถึงความต้องการวัสดุ อย่างเหล็กและซีเมนต์ ยังคงอยู่ในระดับต่ำ
“มันค่อนข้างชัดเจนมาก สาเหตุหลักๆ มาจากการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจของสังคมที่เกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่” หลี่ โชว (Li Shuo) ที่ปรึกษานโยบายอาวุโสแห่งกรีนพีซเอเชียตะวันออกกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีรายงานจาก Centre for Research on Energy and Clean Air ที่ระบุว่า ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงอย่างน้อย 100 ล้านเมตริกตัน หรือคิดเป็นเกือบ 6% ของปริมาณการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
และหลังจากที่เชื้อไวรัสแพร่กระจายไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ก็ทำให้หลายพื้นที่ต้องปิดทำการ เพื่อป้องกันการระบาด พร้อมกันนั้น ก็ทำให้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกลดลงไปด้วย โดยเหล่านักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกในปีนี้ ลดต่ำลงมาที่สุดในรอบ 70 ปี หรือก็คือ นับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเอง
ยิ่งกว่านั้น มีรายงานว่า หลังจาก COVID-19 ระบาด ค่ามลพิษทางอากาศก็ขยับมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น โดย European Environment Agency (EEA) เผยแพร่ผลการวิเคราะห์สภาพอากาศของยุโรป หลังจากกิจกรรมหลายอย่างที่เคยก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศลดลง เพราะการระบาดของ COVID-19 ซึ่งพบว่า มลพิษทางอากาศเหล่านี้ลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ของในบางพื้นที่จริง โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตเมืองที่การจราจรลดลง
รายงานของ EEA ระบุว่า ค่าไนโตรเจนไดออกไซด์ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการจราจรในหลายพื้นที่ของอิตาลีลดลง เช่น ในมิลาน เมืองหลวงของแคว้นลอมบาร์ดี้ ซึ่งเป็นจุดที่ COVID-19 แพร่ะระบาดอย่างหนัก ก็มีค่าก๊าซไนโตรเจนได้ออกไซด์ที่สะสมในชั้นบรรยากาศในช่วงเดือนมีนาคมนี้ ลดลงถึง 24% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่ผ่านมา
แต่การลดลงของคาร์บอนไดออกไซดนี้ ไม่ได้เกิดเพราะความกังวลต่อสภาพภูมิอากาศโลก หากแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องแลกมาด้วยปากท้องและความอดอยากของผู้คนนับล้าน
“เมื่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซาลง เราคงจะได้เห็นการก่อมลพิษชดเชยระลอกใหม่ เพราะโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องเร่งกำลังผลิตสูงสุด เพื่อชดเชยความสูญเสียในช่วงที่ต้องปิดโรงงาน” หลี่ กล่าวถึงความกังวลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น หลังจากวิกฤตโรคระบาดนี้จบลง
อีกทั้ง มีคำเตือนจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้วยว่า การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงนี้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ และมีผลต่อความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ ที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลกเราเพียงน้อยนิด
“การลดลง (ของมลพิษ) นี้ ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ดังนั้น ทันทีที่มาตรการกักตัวสิ้นสุดลง ฉันคิดว่าปริมาณการปล่อยมลพิษจะกลับไปอยู่ในจุดที่ใกล้เคียงกับที่มันเคยเป็น” คอริน เลอ เกเอ (Corinne Le Quéré) นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ จากมหาวิทยาลัย University of East Anglia กล่าว
ฝูงสัตว์เริงร่าในช่วงวิกฤตนี้จริงไหม?
‘แพะภูเขาออกมาวิ่ง ลิงออกมาหาอาหาร สัตว์ป่ากลับมาเริ่งร่าอีกครั้ง’
ท่ามการการกักตัวอยู่ในบ้านของมนุษย์ สารพัดสัตว์ก็ออกมาให้เห็นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ตั้งแต่เป็ดในอังกฤษที่หิวโหยจากการขาดอาหาร ฝูงกวางในอินเดียตอนบน หมูป่ากลางกรุงบาร์เซโลน่าของสเปน แพะภูเขาที่วิ่งไปมาบนท้องถนนในเวลส์ เป็นต้น ภาพเหล่านี้อาจดูน่ารัก น่าเอ็นดู แต่เบื้องหลังของการคืนถิ่นนี้ ก็มาจาก COVID-19 เช่นกัน
เบกกี้ โธมัส (Becky Thomas) ศาสตราจารย์อาวุโสด้านนิเวศวิทยาจาก Royal Holloway กล่าวว่า จะมีสัตว์บางประเภทที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เหล่านี้ได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีสัตว์อีกหลายตัวที่ไม่ได้สามารถปรับเปลี่ยนได้เช่นกัน อย่างในสหราชอาณาจักร เหล่าเฮดจ์ฮอกมีความสุขกับการที่ถนนโล่ง ส่วนเป็ดซึ่งมักจะได้รับอาหารจากมนุษย์ก็ต้องเผชิญกับภาวะหิวโหย และอดอยาก
ขณะเดียวกัน เหล่าสัตว์ในสวนสัตว์เอง ต่างก็เผชิญกับการขาดหายไปของนักท่องเที่ยว ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป โดยข้อมูลจาก World Economic Forum ระบุว่า สัตว์ในสวนสัตว์ของหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะสัตว์ที่มีความเฉลียวฉลาด และเป็นสัตว์สังคม เช่น กอริลลา นาก และเมียร์แคต ต่างต้องการความสนใจจากมนุษย์
การคงอยู่ของสวนสัตว์ เป็นข้อถกเถียงกันหลากหลายแง่มุม บ้างก็มองว่า ไม่ควรให้มีสวนสัตว์อยู่บนโลกแล้ว เพราะเป็นการกักขังสัตว์ แต่อีกด้านหนึ่ง สวนสัตว์ก็เป็นสถานที่อนุรักษ์ และดูแลเหล่าสปีชีส์ที่เปราะบางและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เช่นกัน และการระบาดของ COVID-19 ก็ส่งผลต่อสัตว์หลายสายพันธุ์ในสวนสัตว์เช่นกัน โดย นาธาน ฮอว์ค (Nathan Hawke) จาก Orana wildlife park ในนิวซีแลนด์ กล่าวว่า เหล่าสัตว์ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์จำนวนมากในสวนสัตว์ ยังคงปรากฏตัวตรง ‘จุดนัดพบ’ ที่พวกมันจะได้เจอกับผู้คนในทุกๆ วัน แม้ว่าจะไม่มีใครมาดูพวกมันแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ การปิดชั่วคราวของสวนสัตว์ ยังทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาการเงินครั้งใหญ่ เพราะนอกจากจะต้องประคับประคองสวนสัตว์ จ่ายค่าจ้างให้พนักงานแล้ว ยังต้องพาชีวิตของสัตว์น้อยใหญ่ในนั้นให้รอดจากวิกฤตครั้งนี้ด้วย
“ไม่เหมือนกับโรงงาน หรือธุรกิจอื่นๆ ที่พอปิดแล้ว พนักงานก็เดินกลับบ้านได้เลย เราต้องการทีมที่จะมาทำงานอย่างต่อเนื่อง และทำให้มั่นใจได้ว่า พวกเขาจะดูแลเหล่าสัตว์ทั้งหลายให้เป็นอย่างดี” แกรี่ แบตเตอร์ (Gary Batters) ผู้อำนวยการสวนสัตว์ Banham ในสหราชอาณาจักรกล่าว
อย่างไรก็ดี เรื่องของสัตว์ที่ออกมาในพื้นที่ต่างๆ หรือสัตว์ในสวนสัตว์ที่ปฏิบัติตามพฤติกรรมเดิมๆ ก็ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ เพราะบางคนก็มองว่า ที่ผ่านมา มนุษย์ฝืนธรรมชาติของสัตว์ไปมาก การมาของ COVID-19 ช่วยให้สัตว์กลับมาเป็นปกติได้ แต่อีกมุมหนึ่งก็มองว่า เมื่อคนกับสัตว์ต้องอยู่ร่วมกันและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันเหมือนที่ผ่านมา การมาของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของสัตว์ จึงไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไหร่นัก
COVID-19 ดีต่อโลกจริงไหม?
คาร์บอนก็ลดลงจริง สัตว์ป่าก็ไร้การรบกวน แปลว่า COVID-19 เป็นไวรัสที่มาช่วยกอบกู้โลกนี้เหรอ?
ประเด็นที่ถูกถกเถียงกันหลากหลายแง่มุม บ้างก็มองว่า สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลกดีขึ้น เพราะการระบาดทำให้มนุษย์ต้องกักตัวอยู่บ้าน แต่อีกด้านก็มีกระแสต่อต้านว่า นี่ไม่ใช่เรื่องที่ดีสำหรับสิ่งแวดล้อมเสียหน่อย
“ในขณะที่ เรากำลังเปลี่ยนจากการรับมือ ‘ภาวะสงคราม’ ไปเป็น ‘การสร้างที่ดีกว่าเดิมขึ้นมาอีกครั้ง’ (Build Back Better) เราต้องทำความเข้าใจสัญญาณทั้งหลายที่เกี่ยวข้องสิ่งแวดล้อม และรู้ว่ามันจะส่งผลต่ออนาคต และคุณภาพชีวิตของเราอย่างไร เพราะ COVID-19 ไม่ใช่ ‘เรื่องดี’ สำหรับสิ่งแวดล้อม” อิงเจอร์ แอนเดอร์เซน (Inger Andersen) ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กล่าว
แอนเดอร์เซน กล่าวเสริมว่า ผลกระทบที่เห็นได้ชัดและเป็นผลด้านบวกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น คุณภาพอากาศที่ดีขึ้น หรือการลดลงของก๊าซเรือนกระจก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะผลเหล่านี้มาพร้อมการชะลอตัวอันน่าเศร้าของเศรฐกิจ และความทุกข์ยากของมนุษย์
นอกจากนี้ การระบาดใหญ่ยังทำให้ปริมาณขยะทางการแพทย์ และขยะอันตรายเพิ่มขึ้นอย่างหนัก ซึ่งแอนเดอร์เซนกล่าวว่า นี่ไม่ใช่โมเดลในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับนักสิ่งแวดล้อมคนไหน ทั้งยังย้ำว่าปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะต้องลดลงประมาณ 10% ทั่วโลก และต้องลดลงต่อเนื่องนานกว่า 1 ปี ถึงจะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ชัดเจน
เช่นเดียวกับ เกล็น ปีเตอร์ (Glen Peters) ผู้อำนวยการของ Center for International Climate and Environment Research ในกรุงออสโลว์ ประเทศนอร์เวย์ ที่มองว่า ผลจากการเปลี่ยนแปลงนี้จะคงอยู่ได้ไม่กี่ปี ด้วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักเช่นนี้
ซีเวอร์ หวัง (Seaver Wang) นักวิเคราะห์ภูมิอากาศและพลังงานจากสถาบันวิจัยในแคลิฟอร์เนีย กล่าวไว้ว่า
“การประเมินของเราชี้ให้เห็นว่า ด้านดีๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของการระบาดใหญ่ ช่างบางเบามากๆ จนแทบจะไม่แตกต่างจากเดิมเลยด้วยซ้ำ”
ขณะที่ แอนเดอร์เซน มองว่า สัญญาณดีๆ ในช่วงที่มีวิกฤตครั้งนี้ คือการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตและพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ที่เริ่มดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะมีแต่การเปลี่ยนแปลงระบบในระยะยาวเท่านั้นที่จะช่วยเปลี่ยนระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้
ดังนั้น หลังจากวิกฤตครั้งนี้ แอนเดอร์เซนมองว่า ในช่วงที่ต้องวางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานนั้น จะถือว่าเป็นโอกาสอย่างแท้จริงที่จะรับมือกับปัญหานี้ ด้วยการลงทุนในพลังงานทดแทน อาคารอัจฉริยะ การขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการขนส่งสาธารณะ
“ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งในแผนฟื้นฟูหลังจากสิ้นสุดวิกฤต COVID-19 นั้นจะต้องมาพร้อมกับกรอบการวางแผนที่มุ่งมั่น ประเมินผลได้ เพราะการรักษาธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ หลากหลาย และงอกงามนั้น เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ทำให้ชีวิตของเราดำเนินต่อไปได้”
อ้างอิงจาก