เราจะทำยังไงได้บ้างนะ เมื่อทางออกของความไม่ลงรอยกันในครอบครัวดูแตกต่างออกไปจากความสัมพันธ์รูปแบบอื่น
แม้จะยากเย็น ถ้าเราเจอความรักหรือเพื่อนที่มีพฤติกรรมท็อกซิก การเลิกคบ การเดินออกมา การตักเตือน ฯลฯ ดูเป็นตัวเลือกที่ชัดเจนและได้ผล แต่เมื่อเป็นสมาชิกในครอบครัวที่ทำให้เรารู้สึกแบบเดียวกัน ทางออกที่ใช้ได้กับเรื่องอื่นได้ดูเป็นไปไม่ได้เลยเพราะความเป็นครอบครัวในตัวของมันเอง สุดท้ายทางแก้ไขเดียวที่หลายคนเลือกคือการทนๆ ไปและจัดการความรู้สึกตัวเอง
อะไรกันที่ทำให้ความสัมพันธ์เป็นพิษในครอบครัวเกิดขึ้น และอะไรทำให้มันต่างออกไปจากรูปแบบอื่นๆ? และมันพอจะมีหนทางในการรับมือกับมันได้บ้างหรือเปล่า
Generation Gap เป็นเหตุ?
ความแตกต่างของคนแต่ละรุ่นน่าจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว Baby Boomer มักให้ความสำคัญกับการสร้างครอบครัวและการคงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม คน Gen X มักมองไปยังการสร้างความมั่นคงทางการเงิน แต่สำหรับ Gen Y แล้วโดยมากมักแสวงหาหนทางในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และ Gen Z คือรุ่นที่มักถูกมองว่าเป็นรุ่นที่เกิดและเติบโตขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้มีพื้นที่ในการค้นหาความต้องการของตัวเองมากกว่าและตื่นรู้เรื่องความเป็นปัจเจกของตัวเองรวดเร็วกว่ารุ่นไหนๆ
และถ้าเราลองจับคู่ว่าโดยมากแล้ว Baby Boomer มักมีลูกเป็นคน Gen Y และคน Gen X มักมีลูกเป็นคน Gen Z ก็ไม่ยากอะไรที่จะคาดเดาว่าการนำคนต่างรุ่นเหล่านี้อยู่ร่วมกันอาจก่อให้เกิดความไม่ลงรอยต่อกันในระดับแนวคิดพื้นฐานไปจนการใช้ชีวิต
ตัวอย่างที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่กลายเป็นความท็อกซิกนี้ได้คือมุมมองต่อวัยและความเคารพ ในขณะที่ Baby Boomer อาจเชื่อในความเคารพต่อคนอายุมากกว่าไม่ว่าจะในกรณีใด อาจจะเพราะประสบการณ์ที่พวกเขาผ่านมา แต่ Gen Y และ Z อาจมองว่าคนทุกวัยควรอยู่ในระดับเดียวกัน และต้องการให้ผู้ใหญ่อยู่ในตำแหน่งที่จับต้องได้มากกว่าคนที่อยู่เหนือกว่า หรือคน Gen X อาจมองว่าลูกต้องสืบทอดและสานต่อกิจการที่พวกเขาทำมาตลอดชีวิต แต่คนรุ่นหลังจากนั้นอาจต้องการทำงานตามความฝันและความถนัดของตัวเองมากกว่า
แต่ Generation Gap เป็นอย่างเดียวที่ทำให้เกิดความท็อกซิกในครอบครัวหรือเปล่า? ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วทำไมการดีลกับผู้ใหญ่หรือเด็กในและนอกครอบครัวถึงให้ความรู้สึกแตกต่างกัน?
เพราะมิติและความต้องการในความสัมพันธ์จากครอบครัวนั้นแตกต่างออกไปจากความสัมพันธ์แบบอื่นๆ ในความต้องการของหลายๆ คน บ้านควรเป็นเซฟโซนจากโลกภายนอกที่เหนื่อยหน่าย ในขณะที่หลายๆ คนมองว่าความสัมพันธ์ครอบครัวเกี่ยวข้องกับความใกล้ชิด หรือบางคนมองว่าคือที่ที่พวกเขาสามารถหาที่พึ่งพิงได้เมื่อแก่เฒ่า เมื่อมุมมองและความคาดหวังเหล่านั้นชนกันก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและความรู้สึกไม่พึงประสงค์
มิติเหล่านี้ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปเมื่อเราพูดถึงบางวัฒนธรรมที่มีลำดับชั้นในสายเลือด คนที่เกิดจากลูกชายคนโตมีลำดับชั้นสูงที่สุดในบ้าน สามารถสร้างความขัดแย้งภายในระหว่างคนในรุ่นเดียวกันได้อีกต่างหาก ฉะนั้นไม่ใช่เพียงช่องว่างระหว่างวัยเป็นเหตุเท่านั้น
สัมพันธ์ครอบครัวไม่ดีส่งผลยังไงกับลูกหลาน
เช่นเดียวกันกับทุกเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์เป็นพิษในครอบครัวทิ้งสารตกค้างไว้ในตัวของเราได้
นาตาลี แฟรงก์ (Natalie Frank) นักเขียนและนักวิชาการด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันเขียนเกี่ยวกับผลของการอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษว่ามันสามารถส่งผลลบต่อลูกไปจนการใช้ชีวิตผู้ใหญ่และความสัมพันธ์ในอนาคตอีกด้วย ทั้งความรู้สึกไม่เติมเต็มในตัวเอง สละความเป็นตัวเองเพื่อเป็นในสิ่งที่คนอื่นต้องการ ไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่ยืดหยุ่น และคิดว่าการถูกปฏิบัติไม่ดีจากคนอื่นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งสามารถทำให้เราตกอยู่ในความสัมพันธ์เป็นพิษอื่นๆ ในอนาคตโดยไม่รู้ตัวได้
ในงานวิจัยเกี่ยวกับการส่งต่อพฤติกรรมการประพฤติเป็นภัยต่อเด็กในพื้นที่ชนบทโดยโทมัส สกอร์ฟิลด์ (Thomas Schofield) พบว่าพฤติกรรมเหล่านี้สามารถสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้ โดยมีการประมาณไว้ในงานวิจัยในเรื่องใกล้ๆ กันโดยผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กว่าราวๆ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างพบว่า พ่อแม่ที่ผ่านประสบการณ์ในครอบครัวที่มีการกดขี่ลูกนั้นมีโอกาสจะทำแบบเดียวกันกับลูกของตัวเอง ฉะนั้นแม้การหาข้อสรุปของการทำงานจิตใจและความคิดของมนุษย์นั้นสามารถทำได้ยาก ก็ไม่ใช่ว่ามันไม่มีความเชื่อโยงเลยเสียทีเดียว
สื่อสารหรือออกห่าง มีทางไหนเป็นหนทางที่ถูกต้องหรือเปล่า?
ทางออกของปัญหาภายในครอบครัวที่เริ่มมาจากความแตกต่างและช่องว่างระหว่างวัยอาจต้องเริ่มจากการสื่อสาร โดยในการสื่อสารนั้นต้องอาศัยการเปิดใจฟังจากทั้งสองฝั่ง ไม่ใช่เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างความเข้าใจว่าทำไมแต่ละคนถึงเป็นแบบที่เป็น ความเข้าใจนี้สำคัญเพราะมันสามารถทำให้เรารู้ได้ถึงแหล่งที่มาของพฤติกรรมเหล่านั้น ทั้งของตัวเองและฝั่งตรงข้าม เพื่อให้การปรับตัวเข้าหากันง่ายขึ้น หรืออย่างน้อยก็ไม่นำไปสู่การขัดแย้งต่อกันและกัน
อีกข้อสำคัญคือหากพ่อแม่เคยตกอยู่ในประสบการณ์การอย่ในครอบครัวที่กดขี่นี้ พวกเขาต้องใช้ประสบการณ์ดังกล่าวในการแก้ไขปัญหาและจบวงจรการส่งต่อประสบการณ์ดังกล่าวจากรุ่นสู่รุ่นไปยังลูกหลานของตัวเอง และสุดท้ายคือการหาระยะห่างที่พอดีสำหรับมิติครอบครัวของตัวเอง
บางครั้งการยอมรับและเข้าใจในความแตกต่างของแต่ละคนอาจไม่นำไปสู่ความใกล้ชิด แต่อาจเป็นการสร้างความห่างในระดับที่มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการคำนวณว่า แบบใดจะสร้างความสบายใจให้กับทุกฝ่ายมากที่สุด อาจจะเป็นการตั้งขอบเขตว่าเราทำอะไรต่อกันและกันได้ หรืออาจจะไปสู่การเดินออกห่างจากกันในระดับที่ทุกฝ่ายรับได้
อ้างอิงข้อมูลจาก