“อยากเป็นนักเขียน และไม่อยากเป็นนักเขียน ไปจนถึงไม่รู้ว่าจะอยากเขียนมั้ย หรืออยากเป็นอะไรสักอย่างหรือไม่” คือข้อความที่ วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์สองสมัย บอกเล่าไว้ผ่านเฟซบุ๊กถึงเรื่องเวิร์คชอปนักเขียนที่เธอกำลังมุ่งมั่นทำอยู่
ภาพผู้คนนั่งล้อมวงกัน บอกเล่าเรื่องราวอันพุพัง ชีวิตที่ไม่สมหวัง ความฝันที่อยากเขียน และไม่มั่นใจว่าจะเขียนได้ไหมให้กับคนแปลกหน้าฟัง ได้เกิดขึ้นในเวิร์กชอปที่วีรพรทำขึ้นมาในหลายๆ ครั้ง และเป็นโอกาสเดียวกับที่เธอได้ฟังความรู้สึกจากคนรุ่นใหม่ที่มาจากหลากหลายอาชีพ
บทสัมภาษณ์นี้เริ่มต้นด้วยการคุยกับวีรพรถึงเวิร์กชอปที่เธอทำขึ้น และชวนกันคิดไปถึงทั้งภาพใหญ่ๆ ของสังคมไทย และปัจจัยที่ลึกลงไปว่า อะไรทำให้คนรุ่นใหม่ต้องเจอกับความเจ็บปวดเพราะหาตัวเองไม่เจอ และการหลงทางในเขาวงกตที่ยากจะหาทางออกได้
เห็นว่าเวิร์กชอปเรื่องการเขียนของคุณมีคนรุ่นใหม่ๆ หลายคนเข้าร่วมด้วย
ส่วนใหญ่ก็เป็นคนรุ่นใหม่นะ แต่จริงๆ แล้วเนื่องจากว่าเราไม่ได้ public เท่าไหร่ มันเลยเป็นเวิร์กชอปที่คนจะพบจากคนที่เป็นแฟนคลับทำนอง ซึ่งส่วนใหญ่แฟนคลับของเราก็เป็นคนที่อายุน้อย
ตอนที่คุยกับคนรุ่นใหม่หลายๆ คน คุณเห็นจุดร่วมอะไรของพวกเขาบ้าง
ส่วนหนึ่งคนที่มาเพราะเขาไม่รู้ว่าเขาอยากเป็นอะไร ไม่แน่ใจว่าอยากทำอะไร อยากเป็นนักเขียนมั้ย อีกส่วนหนึ่งก็มาเพราะว่ามีความรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยด้อยค่า ซึ่งเราพบเยอะมากจนรู้ประหลาดใจกับเรื่องนี้
เราไม่ได้คาดหวังว่าคนอายุน้อยๆ ของประเทศนี้จะรู้สึกแบบนั้น พวกเขาอยู่กับความรู้สึกว่าทำอะไรๆ ก็ไม่ดี ทำอะไรๆ ก็ไม่เก่ง ทำอะไรๆ ก็ไม่ได้ ซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อย ที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของพ่อแม่ เราก็ไม่แน่ใจว่าพ่อแม่เขาต้องการแบบนี้มั้ย แต่เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้ดีเท่าที่พ่อแม่อยากให้เป็น ความคาดหวังของครอบครัวนะ จำนวนนึงก็คือแน่นอน อยากเป็นนักเขียน ตั้งใจมาเลย อย่างนั้นก็มี
ดูเหมือนความรู้สึกว่าทำอะไรก็ไม่ดีไปหมด จะเป็นอารมณ์ร่วมของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันนี้
เราเลยออกแบบให้ตัวเวิร์กชอปมันตอบตรงนี้ด้วยนะ คืออย่างน้อยๆ ให้รู้ว่าชอบมั้ยที่จะเขียน ถ้าไม่ชอบก็ทำแบบอื่น งานสรรค์แบบอื่น ไปเป็นช่างภาพ กราฟิกดีไซเนอร์ ทำละคร ทำหนังอะไรก็แล้วแต่ ทำสร้างสรรค์ชนิดอื่นนอกเหนือจากเขียน
คือประเทศนี้มันไม่เคยสอนเด็กว่าชอบอะไร เราไม่เคยปล่อยให้เขาชอบด้วยซ้ำ เราบอกเขาว่าอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี ไม่เคยถามเขา ไม่เคยให้เขาเลือกเอง คุณถามพ่อแม่ร้อยทั้งร้อยอยากให้ลูกเป็นอะไร หมอ หมออย่างเดียว เพราะว่าหนึ่งรายได้มันดี มันมั่นคง อยู่ในตลาดเสมอ ตอบสนองในแง่ของเศรษฐกิจตลอดเวลา แต่ว่ามันไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่ามันเป็นชีวิตที่ดี
ในมุมของคุณแล้ว คิดว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงหลงทางกัน
เพราะสังคมเราไม่สนใจว่าเขาชอบอะไร การดูแลของผู้ใหญ่กลายเป็นการชี้นำว่าเธอควรจะเป็นนั่น ควรจะทำนี่ แม่บอกลูกว่าเธอควรจะเรียนภาษาจีนไม่ใช่ภาษาเกาหลีหรือญี่ปุ่น เธอต้องเรียนดนตรี เรียนวาดเขียนอะไรแบบนี้ นั่นคือการดูแล ในขณะที่การดูแลผู้คนให้เติบโต มันคือการช่วยเขาให้ค้นหา potential หรือความเป็นไปได้ที่จะเป็น คนเราถ้ามันเจอสิ่งที่ชอบ ได้ทำสิ่งที่ชอบ มันก็ประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึง ครึ่งนึงเลยนะ ที่เหลือก็เป็นเรื่องของทักษะ แล้วอีกจำนวนน้อยนิดก็เป็นเรื่องของดวง ของโชค หรือโอกาสที่ผ่านเข้ามา แต่จริงๆ ครึ่งนึงเลยก็คือ ชอบมันรึเปล่า
ซึ่งจะรู้ว่าชอบได้ ก็ต้องมีโอกาสได้ลอง
ใช่
แต่ปัญหาใหญ่คือพวกเขาไม่มีโอกาสนั้น
นั่นแหละค่ะ พ่อแม่ก็ไม่ได้ให้ลูกเรียนเขียน เรียนดนตรีตั้งแต่อายุน้อยๆ แต่ให้ไปเรียนกวดวิชา ห้ามอ่านหนังสือการ์ตูน เพราะการ์ตูนไม่ดี คือเราไม่มีมือเขียนการ์ตูนดีๆ เราไม่มีคนออกแบบเกมดีๆ ก็เพราะว่าเกมไม่ดี เราไม่มีหลายๆ อย่างที่เราควรจะมีเหมือนประเทศอื่นๆ ไม่มีเด็กที่เก่งแฟชั่นเพราะคุณให้เขาตัดผมทรงเดียวไปจนถึงอายุ 24
อันนี้เราพูดถึงพ่อแม่ชนชั้นกลางนะ เราไม่พูดถึงคนชั้นล่างลงไปซึ่งไม่มีทางเลือกมาก จะสืบทอดการทำเกษตรกรรมตามพ่อแม่ไป หรือว่าแค่มีรายได้ เราพูดถึงคนชั้นกลางในเมืองซึ่งพ่อแม่ก็จะเข้ามายุ่มย่ามในทุกเรื่อง บอกทุกอย่าง ต้องกินอะไร กินอันนี้ดีนะ แต่งตัวแบบนี้สวยนะ เลือกพรรคนี้นะ อย่าเลือกอันนั้น
ถามว่าทำแบบนี้ไปแล้วเมื่อไหร่ลูกจะโต ปัญหาของพี่คือการที่พ่อแม่ต่างหากที่ไม่ได้ใช้ชีวิต พอพ่อแม่ไม่ได้ใช้ชีวิต ลูกก็ไม่ได้ใช้ชีวิต พ่อแม่ก็ไม่ได้มีชีวิตอย่างที่ตัวเองอยากมี พ่อก็ไม่ได้แต่งงานกับแม่ที่ตัวเองชอบจริงๆ ผู้หญิงคนนี้ก็ดีนะ ครอบครัวเราเข้ากันได้ดีนะ ก็แต่ง เป็นแม่ของลูก มีลูกสักคนสองคน แล้วลูกก็เช่นกัน แต่งตัวให้ดูดีนะ เรียนในโรงเรียนเท่าที่สามารถสนับสนุนได้ เอนทรานส์ตามเวลา เรียนจบตามเวลา แล้วหลังจากน้ันก็บ้านแล้วก็รถ ต้องมี มีทำไม
หรือพ่อแม่เองก็คาดหวังลูกในแบบที่อุดคมคติเกินไปรึเปล่า
ใช่ แล้วก็มีไม่กี่แบบ ปัญหาคือไม่ใช่ว่าเป็นรูปแบบที่ดีเท่านั้น แต่มีภาพของลูกไม่กี่แบบ เราไม่มีความฝันที่พ่อแม่อยากมีลูกเป็นร็อกเกอร์นะ ไม่มีภาพนั้น เราไม่มีภาพลูกเป็นเกมเมอร์ ภาพลูกเป็นแชมป์สนุกเกอร์ ภาพลูกเป็นนักวาดการ์ตูน ดาราหนังโป๊ รายได้พันล้าน เรามีแต่ภาพที่เขายื่นให้เรา หมอ ตำรวจ ทหาร พยาบาล ทำงานธนาคาร การเงิน อย่างดีสุด นอกกระแสมาหน่อย ดีไซเนอร์ออกแบบเสื้อผ้า เก๋ๆ ชิคๆ
เมื่อเป็นแบบนี้ เวลาเราถามว่า “โตขึ้นลูกอยากเป็นอะไร” มันก็คือถามเพื่อความสบายใจเสียมากกว่า
ใช่ แล้วคุณก็ไม่เคยสนใจนิสัยใจคอของเขา เวลาที่คุณจะตัดสินใจเลือกให้เขา อย่างเช่น หมอ มันก็กึ่งๆ นักวิทยาศาสตร์อะเนอะ มันก็เรียนหนัก ถ้าลูกคุณขี้เกียจสันหลังยาว รักจะนอน คุณก็ไม่ดูนิสัยมัน คุณก็ปล่อยให้มันไปเรียนหมอ ต้องไปเคี่ยวเข็ญกันอีก ถ้าลูกสโลว์ๆ หน่อย มันก็ไม่ผิดไม่ใช่หรอ เราไม่ได้เกิดมาต้องทำงานหนิ อยากอยู่เฉยๆ มันก็จะมีอะไรอย่างหนึ่งที่เข้ากับนิสัยอยู่ดี หรือว่าคุณกำหนดไว้แล้วว่าอ่ะเป็นหมอ
ปัญหาก็คือถ้าเขาได้เรียนหรือเรียนได้ มันก็ไม่เป็นไร แต่ว่าถ้าเรามีเด็กร้อยคน เป็นหมอได้สองสามคน แล้วที่ถูกเคี่ยวเข็ญไว้แต่ไปไม่ได้ เขารู้สึกผิดกับตัวเอง เขารู้สึกอ่อนด้อยค่า เขารู้สึกไร้สาระ ไม่สามารถ แล้วตอนนี้เขาจะเลือกเรียนอะไรก็แล้ว ขอให้เข้าจุฬา ธรรมศาสตร์, มหิดล ตอนนี้ก็กรูกันเข้าคณะต่างๆ ที่เขาไม่ได้ชอบ เพราะเขาไม่ได้ถูกสอนมาว่าให้ชอบอะไร หรือว่าเขาชอบอะไร แต่เขาถูกสอนมาว่าเขาควรชอบอะไร
ทีนี้เราก็จะผลิตบุคลากรอีกแบบคือเรียนภาษาไทยทั้งที่ไม่ได้ชอบภาษาไทย เรียนภาษาอังกฤษทั้งที่ไม่ได้ชอบภาษาอังกฤษ เรียนบัญชีทั้งที่ไม่ได้เป็นคนละเอียดเลย เกลียดตัวเลขเป็นที่สุด เพื่อที่จะได้เข้ามหาวิทยาลัยแล้วก็ทำให้พ่อแม่สบายใจ ซึ่งในจำนวนนี้ก็อาจจะมีคนที่เติบโตและเข้มแข็งพอที่จะเลือกออกมาเปิดร้านสักร้านนึง คร่ำเคร่งกับการถ่ายรูป ไปเป็นช่างภาพ เล่นละครระหว่างอยู่มหา’ลัยแล้วออกมาทำละคร มีจำนวนหนึ่งที่เป็นแบบนั้น ก็ถือว่าโอเค แล้วก็มีจำนวนหนึ่งที่ซัดเซไปเรื่อยๆ กูไม่เคยเลือก แล้วก็ไม่เคยต้องเลือกเอง ไม่รู้ว่าต้องเลือกอะไร ก็ไปเรื่อยๆ แบบนั้น
คุณคิดอย่างไรกับคำถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร”
ชีวิตมันสั้นนะ เวลาเราอยู่กับลูก เราก็เคยถามว่าเขาอยากเป็นอะไร จริงๆ มันก็เป็นคำถามที่ไม่ได้ solid อะไรมากมาย ในชีวิตคนหนึ่งคนมันก็ควรเป็นทุกอย่างอะเนอะ เป็นลูกอยู่ชั่วขณะหนึ่ง เป็นนักเรียนชั่วขณะหนึ่ง ออกมาทำงานแบงก์ชั่วขณะหนึ่ง เป็นนักเล่นหุ้นสักชั่วขณะหนึ่ง เราเองก็ทำแบบนั้น เราเริ่มเขียนตั้งแต่อายุน้อยๆ แต่ไม่ชอบ เลยทำโฆษณา ทำขายของ ทำแม็กกาซีน เขียนบทความ เรื่องสั้น จนกระทั่งอายุ 48 เราก็ลองเป็นนักเขียนนิยาย มันก็เวิร์กนะ อย่างอื่นๆ มันก็เวิร์กของมัน
เราอยากจะลองทำนี้ก็ทำเลย มันไม่ได้หมายความว่าเราทำงานเพื่อเงินอย่างเดียว เราทำงานเพื่อหลายสิ่งหลายอย่างมาก การเรียนรู้ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งนี้ น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเราอยากเป็นอะไรด้วยซ้ำ
ถ้าลูกคุณถามว่าโตขึ้นจะเป็นอะไรดี คุณจะตอบคำถามนี้ยังไง
เขาถามเหมือนกันว่าโตขึ้นเขาเป็นอะไรดี ก็ตอบว่าไม่รู้ แม่ไม่รู้ แม่ใช้มาชีวิตเดียว ซึ่งก็เป็นชีวิตที่ขึ้นๆ ลงๆ ไม่ได้มีความสุขมากกว่าคนอื่น ประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น หรือมีอะไรดีมากกว่าคนอื่น ตอนนี้ต่อให้เป็นนักเขียนมีรางวัลแล้ว เราก็ต้องตอบเหมือนเดิมอ่ะ เราใช้มาชีวิตเดียว แล้วเราก็ไม่รู้ว่ามันดีพอสำหรับเขามั้ย
แต่เราจะบอกเขาเสมอว่า “ถ้าไม่ใช่หรือไม่ชอบ ก็เลิก แล้วเริ่มใหม่” ต่อให้คุณจบปริญญาเอกตอนนี้แล้วมันไม่ใช่ ไม่ชอบ เริ่มใหม่ได้ อันนี้ที่ประเทศไทยไม่เคยสอนเด็กว่าชีวิตมันไม่ผุพัง เราไม่เคยสอนเด็กว่าท้องในวัยเรียนมันจะจบแค่ตรงนั้น ขู่เด็กตลอดเวลา อย่ามีแฟนนะเดี๋ยวท้อง แทนที่จะให้ยาคุมกำเนิดก็ไม่ให้ ท้องแล้วเรียนไม่จบ หมดอนาคต อย่านะอย่าติดยานะ ติดยาก็ไปเลิกยา
ชีวิตพวกเรามันมีทางเลือกเป็นพันๆ เสียด้วยซ้ำ ชีวิตคือการเลือกไปเรื่อยๆ คือการ balance ไปเรื่อยๆ ชีวิตคือการล้มแล้วลุกแล้วเรียนรู้ ชีวิตมันสนุกแบบนั้น มีสีสันแบบนั้น แต่เราไม่ซัพพอร์ท เพราะพ่อแม่ก็กลัว ลูกก็กลัว เลี้ยงลูกมาแบบกลัวๆ เขามหา’ลัยไม่ได้แล้วชีวิตจะเป็นยังไงก็ไม่รู้ เพราะเขาบอกว่าถ้าไม่จบมหา’ลัยก็จะไม่มีงานทำ ขู่เด็กตลอดเวลา
คุณคิดว่าการขู่เด็กเป็นผลวัฒนธรรมอำนาจนิยมมั้ย ที่ใช้อำนาจในครอบครัวกำหนดให้เด็กๆ ทำตามคำสั่งตลอดเวลา
อันนั้นก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกเรื่องที่เกี่ยวข้องด้วยก็คือเราไม่มีรัฐสวัสดิการที่ดีพอ ถ้าเรามีรัฐสวัสดิการที่ดีพอหมายความว่าทันทีที่เด็กคนหนึ่งที่ออกจากระบบการศึกษา รัฐก็เริ่มจ่ายแล้วนะ เพราะงั้นเขาก็จะมีช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตในการ explore ก่อนที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นต่อไป แล้วก็ไม่มีการสูญเปล่า แต่เมื่อเขาเข้าขั้นต่อไปแล้วไม่ชอบ เขาก็กลับมาเริ่มต้นใหม่ แน่นอนอย่างอเมริกามันก็มีปัญหา student loan ซึ่งแพงมาก คล้ายๆ กยศ.บ้านเรา คนหลายๆ คนใช้เวลาทั้งชีวิตจ่ายคืนหนี้สินอันนี้ แต่อย่างน้อยก็มีโอกาส
คุณคิดอย่างไรกับชีวิตวัยรุ่นหลายๆ คนที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากเป็น หรืออยากทำอะไรในอนาคต
มีเรื่องเล่าให้ฟัง สมัยก่อนตอนเราอยู่เมืองนอก คือเราเช่าบ้านเป็นบ้านแบ่งเช่า มีฝรั่งชื่อไมเคิลอายุ 30 แล้วส่วนเราอายุ 19 ไมเคิลเรียนหมอปีหนึ่ง คืนหนึ่งเราได้ยินเสียงไมเคิลร้อง เราก็ออกไปดู เลือดโชกเลย เขาโดนคนบ้ากัดมา คือไมเคิลทำงานเป็นบุรุษพยาบาลบ้าตอนกลางคืน ส่วนตอนกลางวันเนี่ยเรียนหมอ
ตอนที่ทำแผลเราก็ถามเขา ไมเคิล ถามจริงๆ เถอะ อายุ 30 แล้ว ทำไมเพิ่งเริ่มเรียนหมอ กว่าจะจบก็ 40 นะ แก่ตาย ไมเคิลก็มองหน้าแล้วก็พูดด้วยความเมตตาว่า วีรพร ฟังนะ ฉันออกจากบ้านตอนอายุ 15 แล้วก็ทำงานไปเที่ยวไป ประเทศเธอฉันก็ไปมาแล้ว จนฉันอยากรู้ว่าฉันอยากเป็นอะไร ฉันถึงกลับมาเรียน เพื่อจะเป็นในสิ่งที่ฉันอยากเป็น ฉันเรียนจบตอนอายุ 40 ตายตอนอายุ 60 ฉันมี 20 ปีเป็นคนแบบที่ฉันอยากเป็น ไม่พอหรอ คำตอบคือพอเสียยิ่งกว่าพอ เมื่อเทียบกับคนอื่นที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชั่วชีวิตอยากเป็นอะไร
ข่าวคราวสุดท้ายที่เราได้ยินคือ ไมเคิลกลับไปเป็นหมอในหมู่บ้านชนบทเล็กๆ ในอินเดียที่เขาเคยอยู่ เป็นหมอในหมู่บ้าน ไม่ใช่เรื่องเงิน เป็นเรื่องที่คนคนหนึ่งมีชีวิตในแบบที่เขาอยากมี
เห็นไหม เด็กไทยอาจจะไม่มีโอกาสนั้นด้วยซ้ำ บางคนอาจจะไม่มีชีวิตที่อยากเป็น หรือรู้ว่าอยากเป็นด้วยซ้ำ อย่างพี่มานั่งเขียนหนังสือเล่มแรกตอนอายุ 47 แล้วก็เฮ้ย ฉันชอบว่ะ นอกจากหนึ่งฉันชอบแล้ว สองก็มีคนชอบด้วย ขายได้ด้วย ไม่พอ ได้รางวัลด้วย คือเราไม่ได้รู้เรื่องนี้เลยจนกระทั่งพี่อายุ 47 ถ้าคิดว่าอายุตั้ง 47 แล้วอย่าเลย อย่าไปลงทุนทำอะไรที่ไม่เคยทำเลย เราก็จะไม่ได้รู้สิ่งนี้ จะไม่ได้รู้ว่าตัวเองมีศักยภาพที่ทำสิ่งนี้ได้
คุณค่อนข้างเชื่อในความเป็นไปได้ของผู้คน
แถมเป็นไปได้มากกว่าหนึ่ง และก็แน่นอนความเป็นไปได้มีแต่เราเท่านั้นที่จะรู้ผ่านสิ่งที่เราทำ
ซึ่งนอกจากความเป็นไปได้ที่จะเป็นแล้ว ถ้าลองแล้วมันไม่ใช่ก็จะได้รู้ว่าไม่ใช่จริงๆ
เมืองนอกเขาก็เป็นแบบนั้น มันเป็นรัฐสวัสดิการ เมื่อไม่มีรัฐสวัสดิการ คุณก็ไม่มีทางลองถูกลองผิดด้วยซ้ำ ในครอบครัวชนชั้นกลางค่อนข้างไม่หรูหราธรรมดา ถ้าคุณเอนทรานส์ปีนี้แล้วติด คุณก้ต้องก้มหน้าก้มตาเรียนไป เพราะพ่อแม่ของคุณไม่มีเงินมากพอให้คุณได้ลองเอนทรานส์ใหม่ เริ่มต้นใหม่ มันไม่ได้ และเมื่อคุณเรียนจบ คุณก็ต้องรีบหางานทำเพราะมันไม่มีรัฐสวัสดิการ
ทันทีที่คุณเรียนจบคุณก็ต้องผ่อนภาระพ่อแม่ด้วยการทำงานอะไรก็ทำไป กว่าจะรู้สึกตัวอีกทีก็ห้าสิบ หมดไปหนึ่งชีวิต และแน่นอนระหว่างทางคุณก็จะเป็นพ่อแม่ในแบบที่พ่อแม่คุณเป็น เพราะคุณไม่รู้จักชีวิตไง คุณไม่ได้ลองแบบอื่นๆ คุณไม่ได้ลองไปเป็นช่างภาพถ่ายสารคดี คุณถ่ายพอร์ตเทรตตลอดเพราะเขาจ้างคุณถ่ายพอร์ตเทรต เป็นช่างภาพถ่ายภูขา ลามะ หรือปลาวาฬ คุณอาจจะเป็นช่างภาพถ่ายปลาวาฬที่เก่งที่สุดในโลกก็ได้ แต่คุณไม่รู้ เพราะคุณไม่มีโอกาสนั้น
คุยกันถึงตรงนี้ก็เริ่มเห็นภาพปัญหามากขึ้น ที่ทำให้ความรักหรือความมั่นใจในตัวเองของวัยรุ่นหลายๆ คนมันจึงหายไปและมีเหลืออยู่น้อยมาก
น้อยมาก แล้วก็จริงๆ คำถามว่าชอบอะไรยังเป็นรองคำพูดประจำบ้าน “ดูอย่างลูกบ้านนู้นสิ” มีเด็กคนไหนไม่เคยได้ยินบ้าง ไปเอาลูกบ้านนั้นมาทำลูกสิจะได้หมดเรื่องหมดราวไป
มันเริ่มจากการที่คุณดูคนอื่นเป็นตัวอย่าง ดูอย่างลูกบ้านนู้นซิ เขาสอบหมอได้ เขานั่นเขานี้ได้ เขาได้แชมป์โอลิมปิก ฟิสิกส์เคมีชีวะ อะไรอย่างเนี้ย แต่เขาไม่เคยดูว่าคนคนหนึ่งมี potential อะไรมั่ง ในฐานะมนุษย์หนึ่งคน ความเป็นคนดีมีน้ำใจ น่ารักอ่อนโยน ร้องไห้เก่ง ถุยน้ำลายไกล ถักนิตติ้งสวย มันไม่ถูกมองเห็นเลยอ่ะ พ่อแม่ซึ่งอยู่บ้านเดียวกับเราดันไปสนใจบ้านนั้น เรามองปลายทาง แต่ระหว่างทางเห็นมั้ยคุณก็ถูกทำให้เชื่อว่าไอ้ลูกบ้านนั้นดีกว่าเราเสมอ หมดบ้านนั้นก็มีบ้านนี้ หมดบ้านนี้ก็มีบ้านโน้น
ถ้าสมมติว่าคุณเป็นลูกแล้วคุณแต่งตัวประหลาดจากคนอื่นนิดเดียว พ่อแม่คุณก็ไม่สบายใจแล้วนะประเทศนี้ คุณถูกเทรนด์มาว่าจะต้องตัดผมทรงนี้จนถึงอายุ 24 ใส่เสื้อผ้าเหมือนกันหมดในรร. ทุกอย่างในช่วงการเติบโตของเด็กคนนึงเนี่ย ทุ่มเทเพื่อให้เด็กคนนึงเหมือนๆ กันกับเด็กคนอื่นๆ เหมือนได้ก็ดี ไม่เหมือนขึ้นมาก็เศร้า และแน่นอนว่าเราไม่มีคนที่ดีกว่านี้
คุณมองภาพที่ชีวิตคนรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะเจเนอเรชั่นวายไปถึงอัลฟ่าต้องอยู่ภายใต้โลกที่มันถูกควบคุมด้วยรุ่นเบบี้บูมเมอร์ยังไงบ้าง
โหดร้ายมาก จริงๆ เรามีปัญหากับบูมเมอร์เสมอ เขาอยู่ในช่วงหลังสงครามแต่ไม่เจอสงคราม เขาก็ได้ใช้เทคโนโลยีที่มันก้าวกระโดดในช่วงสังคม คือมีอาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง มีทะเลที่ใส มีการเดินทางโดยเครื่องบินที่สบายและปลอดภัย มีแอร์คอนดิชัน มีเครื่องทำความเย็น คือมีช่วงชีวิตที่สบายมากเมื่อเทียบกับชีวิตก่อนหน้านั้น เราไม่เข้าใจว่าเขาเหลือโลกพังๆ ใบนี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ยังไง เขาคิดอะไร คนในคณะรัฐบาลล้วนแล้วแต่เป็น บูมเมอร์ทั้งสิ้น แล้วคำถามคือ คุณเหลืออะไรให้คนรุ่นหลัง
พวกเขาอาจจะรู้สึกว่าไม่ได้มีภาระอะไรแบบนั้นรึเปล่า
แล้วทำไมถึงรู้สึกแบบนั้นล่ะ เห็นมั้ย เกิดอะไรขึ้นกับศีลธรรมของคุณ คุณก็ยังจะพยายามบังคับ ริดรอน ในเชิงการเมือง สังคม เศรษฐศาสตร์ ในบริษัทใหญ่ๆ ที่เจ้าของอายุ 60 คุณก็ตั้งกฎบ้าๆ บอๆ กระทรวงศึกษาอายุ 60 คุณก็ตั้งกฎบ้าๆ บอๆ มันเป็นคนจะครีเอทีฟได้ไง ผมบนหัวมันยังทำสีไม่ได้เลย เด็กเมืองนอกไถหัวไปข้าง ทำหัวสีเขียวไปข้าง นั่นต่างหากที่ทำให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ มันอาจจะไม่ได้ออกมาในแง่แฟชั่นก็ได้ ครีเอฟทีฟในแง่ธุรกิจ ในแง่วิทยาศาสตร์ คิดนอกกรอบ
เมื่อเราก็คาดหวังกับคนรุ่นบูมเมอร์ไม่ได้ แล้วเราจะทำยังไงกับโลกที่มันกำลังจะพังลง
ให้คนรุ่นอัลฟ่าจัดการแทน เราคิดว่าเจเนอเรชั่นนี้น่าสนใจมาก เราเคยคุยกับน้องปรัชญาที่อายุ 14 ทำเพจเรื่องโรคซึมเศร้า ทำอะไรมากมาย หรือน้องเกรต้า ทุนเบิร์ก เด็กอายุ 16 ก็สั่นสะเทือนโลกทั้งใบไปแล้ว แล้วเราก็ยังเจอเด็กฮ่องกงที่ออกไปชุมนุมอีก แล้วก็หวังว่าเขาจะทำสิ่งที่ฝันไว้ได้สำเร็จ เอาเข้าจริงแล้ว เราไม่ได้สนิทสนมกับคนเจเนอเรชั่นอัลฟ่ามากนัก ดูเหมือนว่าพี่จะสนิทกับวายกับแซทมากกว่า
เราค้นพบว่าทั้งวายและแซท มีส่วนคล้ายๆ กัน คือขาดความเชื่อมั่น หลงทางแล้วก็เดียวดาย ไม่ค่อยหลงใหลใฝ่ฝัน เราคิดว่าพลังทั้งหมดคือการหลงใหลใฝ่ฝัน ถ้าคุณเห็นเด็กคนที่ไร้พลังก็มั่นใจได้เลยว่าพ่อแม่มัน ห้ามไม่ให้มันฝัน เราจะรู้เลยว่าเขามาจากครอบครัวแบบไหน เขาเป็นผลิตผลของสังคมทั้งตรงและอ้อม
หลายครอบครัวชอบมีคำพูดว่า โตไปเป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดีก็พอ คุณคิดกับเรื่องนี้ยังไงบ้าง
พ่อแม่ที่มีลูกเป็นข้ามเพศไงที่ชอบพูดเรื่องนี้ “ข้ามเพศยังไงก็ได้ เป็นคนดีก็พอ” แล้วถ้าไม่เป็นคนดีด้วย เป็นเกย์ด้วย จะไม่มีคุณค่าในการเป็นคนหรอ เด็กดีของเราคือเด็กที่ใฝ่รู้ แต่เราอยู่ในสังคมที่ไม่ให้เด็กใฝ่รู้ เราหวังว่าเขาจะรู้วิธีที่ใช้อินเตอร์เน็ต เราหวังว่าเขาจะเจอหนังสือที่ชอบแล้วนำเขาไปสู่หนังสือเล่มอื่นๆ พี่หวังว่าเขาจะเจอประตูที่จะเปิดไปสู่ความเป็นไปได้อื่นๆ ที่พ่อแม่เขาหรือสังคมไม่ได้สอน อันนี้เด็กดีสำหรับเรา เป็นเด็กที่แสวงหาและแน่นอนว่าอาจจะเป็นเด็กที่หัวแข็งเสียหน่อย
แล้วการหัวแข็งมีข้อดีอะไรบ้าง
เคยได้ยินคำพูดว่า “ถ้าดื้อแม่ไม่รักนะ” มั้ย เห็นมั้ยเราสอนเด็กมาให้ปวกเปียกตั้งแต่สามขวบ เราบอกว่า อย่าๆๆๆ อย่าทำแบบนี้ อย่าดื้อเดี๋ยวไม่รัก เราต้องแลกความรักจากบุพการีอ่ะ มันค่อนข้างเป็นเด็กที่เศร้าๆ อยู่ ความจริงการดื้อมันคือการเข้าใจการรู้จักตัวเองแล้วอ่ะ พอทันทีที่คุณเริ่มดื้อคือคุณไม่ได้ไปทางคนอื่น ไม่มากก็น้อยคุณอยู่ในทางที่เกือบๆ จะเป็นของคุณ
แต่ถ้าคุณเริ่มจากการเป็นเด็กอ่อนโยน ว่านอนสอนง่าย นั่นหมายความว่าคุณอยู่ในทางของคนอื่นแล้วอย่างน้อยก็ทางของพ่อแม่ไปแล้วครึ่งนึง อาจจะเต็มตัวไปเลยก็ได้ โตขึ้นมาเป็นเด็กดีที่พ่อแม่รักแต่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องทำไง เดี๋ยวพ่อแม่ก็ตายแล้ว พ่อแม่ควรจะรู้กันบ้างว่า เดี๋ยวตัวเองก็ตายแล้ว แล้วลูกต้องอยู่แบบไม่รู้ ไม่รู้ว่าต้องอยู่ยังไง ทำยังไง แต่งงานกับใคร อยู่ในบ้านยังไง เด็กไทยเป็นแบบนั้น สังคมเราชี้นำ บอกทุกอย่าง ครูอาจารย์สั่งให้ไปซ้ายต้องไปซ้าย สั่งให้ไปขวาต้องไปขวา สั่งอยู่ตลอดเวลาจนสมองตาย จนไม่รู้ด้วยซ้ำอ่ะว่าชาวโลกเขาอยู่กันยังไง เด็กเมืองนอกมีเพศสัมพันธ์กันตั้งแต่อายุ 12 เขาก็เรียนปริญญาเอกออกฟอร์ดได้ อันนี้ยกตัวอย่างนะ
คุณอยากบอกอะไรกับวัยรุ่นที่กำลังเจ็บปวดและหลงทาง
คุณอยู่ในโลกที่จริงๆ แล้วมันเปิดกว้างมากนักสำหรับเด็กรุ่นใหม่ คุณอยู่ในโลกที่เปิดกว้างที่สุดตั้งแต่ประวัติศาสตร์โลกเคยมีมา เรามีอินเตอร์เน็ต โลกมันไม่มพรมแดน ใช้ให้มีประโยชน์ ใช้ให้เป็น เสิร์ชหาสิ่งต่างๆ อาชีพใหม่ๆ ถักนิตติ้งก็ดูจากยูทูป ในยูทูปมีทุกอย่างให้คุณ การทำคราฟต์เบียร์ ทำน้ำผลไม้ แปลงเพศจากหญิงเป็นชาย ชายเป็นหญิง อยากให้คุณได้มีโอกาสหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ชอบก็ลอง ไม่ชอบก็เปลี่ยน และเป็นนักอ่านที่เข้มแข็ง
แล้วคุณคิดอย่างไรกับบูมเมอร์ที่มีอำนาจทางการเมืองอยู่ในประเทศนี้
คงไม่ฝากอะไรไปถึงเขา แต่จะแช่งอย่างเดียว (หัวเราะ) เราไม่เข้าใจเหมือนกันนะ ตอนหนุ่มๆ สาวๆ พวกคุณก็เคยเป็นเจนที่แสนจะแวววาว คือมีเอกลักษณ์ เป็นเอกเทศ เมื่อคุณเป็นผู้ปกครองในวันนี้ก็ขอให้คุณเปิดกว้าง และนึกถึงตอนที่พวกคุณอายุน้อยๆ ปล่อยให้เจนถัดไปเติบโต เข้มแข็ง ซัพพอร์ทให้เจนต่อไปอยู่ได้ คือมันเป็นหน้าที่อยู่แล้ว
ในสิ่งที่ผ่านมา แทนที่จะไปบังคับเขา เพราะคุณกลัวว่าเขาจะไม่รอด เกื้อกูลให้เขารอด เขาจะรอดอยู่ในโลกของเขา ไม่ใช่โลกของคุณ โลกของคุณมันตายไปนานแล้ว โลกอนาล็อกของคุณน่ะ เพราะงั้นเด็กรุ่นใหม่คุณต้องซัพพอร์ทเขาอย่างเดียว ไม่ใช่ชี้นำ ไปบังคับผลักไส
คุณทำอะไรไม่ได้หรอก ความรู้ที่คุณมีมันทำอะไรไม่ได้ ถ้าเกิดเขาเชื่อคุณ ว่านอนสอนง่าย เขาจะสูญพันธุ์ในช่วงเวลาของเขา เขาไม่รอด