พี่เป็นเมนเทอร์ ไม่ใช่มอนสเตอร์
ส่งท้ายสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ (สุดสัปดาห์นี้งานหนังสือจะหมดแล้วนะ) และส่งท้ายบ๊ายบายการทำหน้าที่ของพี่ช่า ผู้ที่ได้ประกาศว่าพี่มาเป็นเมนเทอร์นะจ๊ะ ไม่ได้มาทำเรื่องร้ายๆ เป็นมอนสเตอร์แต่อย่างใด
จะว่าไปแล้ว การเป็นมอนสเตอร์ อสุรกาย ปีศาจทั้งหลายมันเป็นสิ่งที่เกิดจาก ‘จินตนาการ’ ของเราเป็นหลัก (อันนี้อนุมานไว้ก่อนว่าสิ่งเหนือธรรมชาติไม่มีจริงเนอะ) ดังนั้นพวกอสุรกายในความคิดของเราส่วนใหญ่มันก็มักจะเกิดจากหนังสือ งานเขียน หรือนิทาน มอนสเตอร์หลายๆ ตัวแจ้งเกิดมาจากความโด่งดังของวรรณกรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และส่งอิทธิพลกลายมาเป็นสิ่งมีชีวิตในจินตนาการบางอย่าง เป็นตัวตนที่เราหวาดกลัวหรือคิดถึงมันร่วมกัน
The MATTER จึงขอเสนอเหล่ามอนสเตอร์ระดับไอคอน ที่กลายมาเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อของความรู้สึกและความกลัวของเรา เหล่าตัวละครที่เคยโลดแล่นอยู่ในหน้าหนังสือ แต่พวกมันกลับมีพลังถึงขนาดทำให้เราระแวงแถวๆ หางตาตอนอาบน้ำ หรือไม่ค่อยกล้าส่องกระจกตอนกลางคืน
1. Headless Horseman (The Legend of Sleepy Hollow, 1820)
แม้แต่บ้านเรายังมีตำนาน ‘ผีหัวขาด’ ในโลกตะวันตกก็มีเรื่องเล่าทำนองผีหัวขาดมาตั้งแต่ยุคกลาง ผีหัวขาดฝรั่งจะไม่ได้เดินเท้า แต่เฮียแกจะขี่ม้ามาเลย ตามตำนานพื้นถิ่นจะมีสิ่งที่เรียกว่า dark man เป็นปีศาจหัวขาดที่ถือหัวตัวเองไว้ในมือ (ของสำคัญเนอะ) ว่ากันว่าถ้าผีขี่ม้าตัวนี้ไปหยุดลงที่ไหน ความซวยและความตายจะบังเกิด ณ ที่แห่งนั้น (โคนันนี่หว่า) ต่อมา Washington Irving เขียนเรื่องสั้นชื่อ The Legend of Sleepy Hollow ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสั้นอเมริกันยุคแรกๆ (ยุคบุกเบิกที่ไปตั้งอาณานิคมกัน) ที่เป็นต้นฉบับงานเขียนแนวเหนือธรรมชาติและสยองขวัญ ในงานของ Irving เป็นการใช้แบบเรื่องจากยุโรปดั้งเดิมมาผสมเข้ากับบริบทการตั้งอาณานิยมในโลกใหม่ (ฉากเป็นเมืองที่พวกดัชท์ไปสร้างอาณานิคมที่ Tarry Town –ในนิวยอร์กปัจจุบัน) ในเรื่องผีหัวขาดเชื่อกันว่าเป็นนายทหารที่ส่วนหัวถูกปืนใหญ่บึ้มในสงคราม
2. Monster (Frankenstein, 1823)
อสุรกายร่างปุปะ ปีศาจที่เกิดจากการฟื้นคืนชีพศพ Frankenstein เป็นนวนิยายสยองขวัญโดย Mary Shelley นักเขียนชาวอังกฤษ ในเรื่องเจ้าผีปุปะจริงๆ เป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าสงสารถูกสร้างโดย Victor Frankenstein นักวิทยาศาสตร์หนุ่มที่เศร้าโศกจากการสูญเสียแม่และได้ทำการทดลองเพื่อฟื้นคืนหรือสร้างชีวิตขึ้นมา ผลคือได้อสุรกายที่เกิดจากการคืนชีพให้กับศพ งานเขียนชิ้นนี้จึงมีอีกชื่อว่า The Modern Prometheus อันเป็นการอ้างถึงการสร้างมนุษย์ขึ้นมาในยุคสมัยใหม่
ถ้ามองไปในช่วงปี 1823 เป็นช่วงที่มนุษย์เริ่มมีความรู้ชุดใหม่ๆ โดยเฉพาะความรู้ทางวิทยาศาสตร์และวิทยาการต่างๆ ที่เริ่มรุดหน้าไป งานเขียนของเชลลีกำลังพูดถึงเส้นแบ่งหรือธรรมชาติบางอย่าง เช่นความตาย เป็นคำเตือนต่อมนุษย์ที่ล่วงไปรับบทพระเจ้าในการสร้างชีวิตขึ้นมาใหม่ ผลที่ได้ก็ไม่น่าอภิรมย์นัก ตีมเรื่องการก้าวข้ามหรือการแตะต้องพรมแดนบางอย่างที่มนุษย์ไม่ควรก้าวไป เช่นการชุบชีวิตคนจากความตายภายหลังก็ถือว่าเป็นตีมที่ถูกพูดถึง เป็นโลกที่น่ากลัวที่มนุษย์หลายคนกล้าข้ามไปเพื่อคนที่ตนรัก
3. Mr. Edward Hyde (Strange Case of Dr Jekyll and Mr Hyde, 1886)
‘มีปีศาจในตัวเรา’ ต้นแบบการพูดถึงตัวตนอีกคนที่ต่างกันสุดขั้วภายในตัวเอง Dr. Jekyll and Mr. Hyde เป็นนวนิยายขนาดสั้นของนักเขียนชาวสก๊อต Robert Louis Stevenson เรื่องราวที่ว่าด้วยชายหนุ่มที่ปกติก็เป็นคนน่ารัก แต่แท้จริงแล้วพี่แกกลับมีตัวตนอีกคนอยู่ในร่างเดียวกัน Jekyll&Hyde แสดงให้เห็นถึงปัญหาและความซับซ้อนในจิตใจมนุษย์ที่มีความน่าสะพรึงในตัวเอง ประเด็นทางจิตวิทยาดังกล่าวได้ส่งอิทธิพลและกลายเป็นไอคอนที่เรื่องราวสยองขวัญทั้งหลายหยิบยกมาพูด แม้แต่เรื่องเดอะฮัลค์ก็เป็นประเด็นเรื่องการมีตัวตนที่ดิบเถื่อนแอบแฝงอยู่ในตัวตนของเรา
จะว่าแล้วไปอสุรกายอะไรจะน่ากลัวเท่ากับปีศาจที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวเรา ปีศาจที่บางทีเราก็เผลอควบคุมมันไม่อยู่และทำให้ตัวเรากลายเป็นสัตว์ร้ายซะเอง
4. Vampire Count Dracula (Dracula, 1897)
ความเชื่อแวมไพร์เป็นความเชื่อที่มีมาแต่เดิมในยุโรป แต่ภาพลักษณ์แวมไพร์แบบที่เราจินตนาการประมาณว่าเป็นคนที่ดูสูงศักดิ์และหลอกล่อคนอื่นไปดูดเลือดและขยายพันธุ์ เป็นเสมือนสิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิจากอดีตที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ตาดำๆ ก็ต้องยกว่าเป็นผลมาจากผลงานของบรามห์ สโตเกอร์ (Bram Stoker) ผู้สร้างเคาท์แดรคูล่าในงานเขียนชื่อ Dracula ในปี 1897
ตามท้องเรื่องแดรคูล่าเป็นแวมไพร์ที่อยากจะย้ายจากดินแดนห่างไกลอย่างทรานซิลเวเนีย ไปสู่เมืองใหญ่แดนศิวิไลซ์ในลอนดอน (ชิคๆ เนอะ) ตามบริบททางประวัติศาสตร์ช่วงนั้น ‘เริ่มเกิดพื้นที่เมือง (urban)’ ขึ้นมา การอยากไปอยู่เมืองที่คับคั่งของท่านเคาท์เลยเหมือนกับการไปสู่ไลน์บุฟเฟ่ต์หมูกระทะระดับพรีเมียม ในมุมมองทางวัฒนธรรมแล้วการเกิดขึ้นของเมืองคือการที่มีคนแปลกหน้ามารวมตัวกันเยอะๆ โดยไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงต่อกัน พ่อแดรคูล่าในฐานะภัยสังคมจึงมีความน่าวิตกที่เฮียแกสามารถซุกซ่อนตัวเองไว้ภายใต้ฉากหน้าที่ศิวิไลซ์สวยงาม ความน่ากังวลนี้จึงสะท้อนถึงความวิตกกังวลของคนในสังคมสมัยใหม่ อันเป็นสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยใครก็ไม่รู้
5. Pennywise (It, 1986)
‘ตัวตลก’ ที่มันควรจะเป็นมิตร สุดท้ายกลายมาเป็นผีสางที่แสนหลอกหลอน เรื่อง It ผลงานของเจ้าพ่อเรื่องสยองขวัญร่วมสมัย Stephen King เป็นนวนิยายที่สร้างภาพตัวตลกแสนสยองขึ้นมา ในเรื่องเจ้า ‘มัน’ ที่ว่าที่มักปรากฏตัวในร่างตัวตลกเรียกตัวเองว่า Pennywise the Dancing Clown โดยตัวมันเองก็คือปีศาจชั่วร้ายที่สามารถเปลี่ยนร่างเพื่อหลอกล่อเหยื่อ ความหลอกหลอนของเจ้าตัวตลกร้ายนี่ได้กลายมาเป็นแกนเรื่องและเทคนิคสำคัญของสตีเฟ่น คิงในการใช้ความทรงจำ บาดแผลวัยเด็ก และเบื้องหลังน่าสยองในชุมชน ที่สามารถเจาะลงไปยังความกลัวลึกๆ ของเราๆ ท่านๆ ได้ทันที
6. Cthulhu (The Call of Cthulhu, 1928)
เจ้า Cthulhu-คธูรู ถือเป็นสัตว์ประหลาดที่ค่อนข้างแพร่หลายพอสมควร คธูรูเป็นสิ่งมีชีวิตผสมที่เกิดจากท้องทะเล เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีหัวหน้าตาเหมือนปลาหมึก มีลำตัวเป็นมนุษย์ แถมยังมีปีกเหมือนมังกรไปอี๊ก ที่มาของเจ้าคธูรู (ออกเสียงแล้วสนุกดีเนอะ) มาจากจินตนาการของเฮีย H. P. Lovecraft เจ้าพ่องานเขียนแนวสยองขวัญพิลึกกึกกือชาวอเมริกัน ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในเรื่องสั้นชื่อ The Call of Cthulhu หรือเสียงเพรียกแห่งคธูรูที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1928 จินตนาการเรื่องคธูรูเป็นทำนองเรื่องจักรวาล พูดถึงตัวคธูรูในฐานะลัทธิ ในฐานะสิ่งมีชีวิตโบราณที่ทรงพลัง
7. Nazgul (Lord of the Rings, 1937)
มาสู่อสูรร้ายจากเรื่องราวชื่อที่เรารู้จักกันดีอย่าง Lord of the Rings ผลงานระดับมหากาพย์ของ J.R.R. Tolkien ตามท้องเรื่องเซารอน ตัวร้ายระดับบอสผู้ชักใยและบงการคนอื่นด้วยพลังอำนาจ เซารอนมอบแหวนแห่งอำนาจให้กับมนุษย์ทั้ง 9 คน ผู้ได้รับแหวนทรงอำนาจขึ้นก็จริง แต่ท้ายที่สุดแล้วได้กลายสภาพเป็นอสูรร้ายที่ตกอยู่ใต้บงการของแหวนเทพของเซารอน (ที่จะเอาไปเผาทำลายนั่นแหละ) นาซกูลโดยรูปลักษณ์แล้วคือผู้สวมแหวนแห่งอำนาจจนกายเนื้อนั้นหายไปจากการมองเห็นเหลือแต่ผ้าคลุมสีดำที่ทำให้รู้ว่าพวกมันปรากฏตัวอยู่ที่ไหน โดยรวมแล้วนาซกูลเป็นตัวแทนของความอหังการของมนุษย์ที่หลงใหลและตกอยู่ใต้ความหอมหวานของอำนาจจนถูกชักใยบงการและสูญเสียตัวตนไปในท้ายที่สุด
8. Dementors (Harry Potter, 1997)
ส่งท้ายถ้าไม่กล่าวถึงพ่อมดน้อยคงไม่ได้ Dementors หรือผู้คุมวิญญาณเป็นผีร้ายที่มีพลังอำนาจชัดเจนในตัวเอง จะว่าไปก็คล้ายๆ เทคนิคการสร้างความกลัวของสตีเฟ่น คิง คือไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่าความหลอกหลอนของอดีตของเราเอง ผู้คุมวิญญาณเป็นผู้คุมคุกพ่อมดอัซคาบัน เป็นสิ่งมีชีวิตที่แบบ เอ้อ มึงเกิดมาเพื่อปลุกพลังลบ ดูดพลังบวกรอบตัวอย่างความสุข ความหวัง และชีวิตชีวาให้หายไปในทันที ความหลอนของผู้คุมวิญญาณคือการจุ๊บ ที่หมายถึงการดูดวิญญาณความสุข ความสดชื่นออกไปจากเป้าหมายจนกระทั่งกลายเป็นร่างไร้วิญญาณ เป็นผักนอนเอ๋อน้ำลายฟูมปากไปวันๆ ไม่แน่ใจว่าถ้าผู้คุมวิญญาณมาเจอกับไลฟ์โค้ช เหล่าผู้นำทางทัศคติคิดบวก จะพ่ายแพ้หรือไม่ ประการใด