ในยุคหนึ่งร้านหนังสือเป็นหนึ่งในพื้นที่พักใจของเรา ร้านหนังสือมักจะมีบรรยากาศเฉพาะ เป็นเหมือนประตูที่เปิดไปสู่พื้นที่อื่นๆ เป็นพื้นที่ของความฝัน ของจินตนาการ และความสนุกสนาน
นอกจากร้านหนังสือทั่วไปแล้ว ในประวัติศาสตร์และกระแสปัจจุบัน ร้านหนังสือยังมีการเปิดร้านที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะที่เรียกว่า ร้านหนังสือเฟมินิสต์และร้านหนังสือเควียร์ หรือร้านหนังสือ LGBTQ+ ร้านหนังสือของผู้หญิงและร้านหนังสือของเพศหลากหลาย นอกจากจะเน้นรวบรวมและบริการหนังสือ เช่น หนังสือวรรณกรรมสตรีไปจนถึงหนังสือแนวคิดทฤษฎีเพื่อการต่อสู้ต่างๆ แล้ว ร้านหนังสือยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่ชุมชน เป็นพื้นที่กระตุ้นความคิดเพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงด้วย
ในโอกาสที่เราสิ้นสุด Pride Month และสำหรับ The MATTER แล้วการเมืองเรื่องเพศและการต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมยังเป็นสิ่งที่กระทำได้อยู่เสมอ เราจึงอยากพาไปเข้าใจพื้นที่ร้านหนังสือ อย่างร้านหนังสืออิสระเองซึ่งเป็นกิจการที่ต่อสู้กับกิจการขนาดใหญ่ เราจะขอพาไปรู้จักกับกระแสร้านหนังสือที่สัมพันธ์กับกระแสสตรีนิยมระลอกที่ 2 ถึงบทบาทของร้านออสการ์ไวด์ (The Oscar Wilde Bookshop) ที่มีต่อชุมชนกรีนวิชช์และกรณีสโตนวอลล์
ทำไมผู้หญิงถึงต้องมีร้านหนังสือว่าด้วยผู้หญิง
กระแสร้านหนังสือเฉพาะเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา การเกิดเครือข่ายร้านหนังสือทั้งเฟมินิสต์และร้านหนังสือเควียร์เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน คือราวทศวรรษ 1970 และเฟื่องฟูที่สุดในช่วงทศวรรษ 1980 แต่เดิมกิจการร้านหนังสือมักดำเนินและดูแลโดยเจ้าของหรือผู้บริหารเพศชายผิวขาว ดังนั้น ในร้านหนังสือจึงไม่ค่อยมีหนังสือและสินค้าอื่นๆ ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้หญิง
ร้านหนังสือเฟมินิสต์จะเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่แค่ขายหนังสือว่าด้วยเพศและเพศสถานะ (gender and sexuality) หนังสือเกี่ยวกับผู้หญิง หรือประเด็นที่ผู้หญิงสนใจ แต่ร้านเหล่านี้มักเป็นพื้นที่รวมตัวแรกๆ ของผู้หญิง มีบทบาทในการสร้างเครือข่าย กระทั่งจัดงานสนทนา รวมตัว พูดคุยในประเด็นสำคัญๆ ถือกันว่าร้านหนังสือมีบทบาทอย่างสำคัญ และเป็นพื้นที่สำคัญของกระแสเฟมินิสต์ระลอกที่ 2 (second-wave feminist movement)
ตัวกิจการเองก็มีความน่าสนใจ คือร้านเหล่านี้มักเป็นร้านที่มีเจ้าของเป็นผู้หญิง (อาจเป็นเลสเบี้ยน) หลายแห่งบริการร่วมกัน มีกลุ่มเจ้าของเน้นการบริหารที่ไม่มีลำดับชั้น หัวใจของร้านหนังสือเฟมินิสต์และเลสเบี้ยนในยุคแรกๆ คือช่วงต้นของทศวรรษของ 1970 เป็นกิจการที่เน้นไปยังการสร้างชุมชน ร้านส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับชุมชนของย่านนั้นๆ
ถ้าเราดูไปที่แกนความคิดของกระแสสตรีนิยม หัวใจของการต่อสู้และการโอบรับซึ่งกันและกันของผู้หญิง คือการสร้างชุมชน ร้านหนังสือเหล่านี้จึงเป็นความพยายามในการทำให้ความคิดทฤษฎี ไปสู่การสร้างเครือข่ายในภาคปฏิบัติ และมีเป้าหมายการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมอยู่ในการสร้างชุมชนนั้นๆ
หมุดหมายของร้านหนังสือเฟมินิสต์ตามความคิดของคริสติน โฮแกนสัน (Kristin Hogan) ผู้เขียนและผู้วิจัยเรื่องกระแสร้านหนังสือเฟมินิสต์ ระบุว่าคือการเปิดร้านชื่อ A Woman’s Place ในโอ๊คแลนด์และ Amazon Bookstore (ไม่เกี่ยวอะไรกับเจ้าใหญ่ แต่อ้างอิงไปที่เผ่าสตรีในตำนานชาวอเมซอน)
ในงานศึกษาชี้ให้เห็นว่า ร้านหนังสือเฟมินิสต์เฟื่องฟูในช่วงทศวรรษ 1980 ถึงกลางทศวรรษ 1990 มีตัวเลขร้านหนังสือจำนวนมากถึง 130 ร้าน แต่ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 คือเริ่มเข้ายุคปี 2000 ยุคที่เราเริ่มเห็นทั้งการมาถึงของเครือร้านหนังสือขนาดใหญ่และกิจการร้านหนังสือออนไลน์ ในช่วงปี 2014 พบว่ารายงานตัวเลขร้านหนังสือเฟมินิสต์ในสหรัฐฯ เหลือเพียง 13 ร้านเท่านั้น
ร้านหนังสือเหล่านี้ยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่ปลายน้ำของกิจการหนังสือ กิจการที่หลายส่วนสัมพันธ์กับการขยายความคิด และหลายจังหวะเกี่ยวข้องกับความเป็นธุรกิจของระบบทุนนิยม เช่น หนังสือของผู้หญิงหรือหนังสือว่าด้วยเฟมินิสต์ ที่อาจไม่เคยให้ความสำคัญและขายได้กลับมีพื้นที่ตลาดของตัวเอง ในอีกด้านกลุ่มร้านหนังสือนี้ยังมีการต่อสู้กับระบบการขายหนังสือ เช่น การต่อรองกับสำนักพิมพ์ที่จะเก็บหนังสือคืนในกรณีที่ขายได้ไม่เร็วพอ
ร้านหนังสือในฐานะพื้นที่ปลอดภัยหลังการจลาจล
ในช่วงที่ร้านหนังสือเฟมิสต์ขยายตัว ลักษณะของร้านเหล่านี้แทรกตัวอยู่ในชุมชน โดยเฉพาะชุมชนเพศหลากหลาย เราอาจเห็นร้านหนังสืออยู่ข้างๆ เกย์หรือเลสเบี้ยนบาร์ ทั้งนี้กระแสสตรีนิยมหลายส่วนยังขยายตัวออกไปสู่เพศหลากหลายอื่นๆ ด้วย ในเวลาเดียวกันนี้จึงเกิดร้านหนังสือ LGBTQ+ และอยู่ร่วมในย่านบ้านใกล้เรือนเคียง
หนึ่งในร้านหนังสือเควียร์ระดับตำนานคือ The Oscar Wilde Bookshop ซึ่งตั้งชื่อตามออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) นักเขียนและเกย์ไอคอน โดยตัวร้านตั้งอยู่ในย่านกรีนวิชช์ พื้นที่ชุมชนและดินแดนของการต่อสู้ เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 1967
สิ่งที่น่าสนใจของการเปิดร้าน เจ้าของให้สัมภาษณ์ไว้ว่า การเปิดร้านเป็นการเปิดพื้นที่ อยากให้การเคลื่อนไหวในแมนฮัตตันมีพื้นที่อื่นนอกจากพื้นที่นั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศ แนวคิดของร้านหนังสือออสการ์ไวด์จึงเป็นการผสมผสานของร้านหนังสือ ศูนย์รับบริการด้านคำปรึกษา เป็นพื้นที่ระดมทุนและระดมพล
ถ้ามองจากปัจจุบันเราอาจนึกภาพไม่ออกถึงความสำคัญของการมีพื้นที่กายภาพ แต่การเป็นเพศหลากหลาย รวมถึงการเป็นผู้หญิงในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 มีความยากลำบาก นั่นคือการไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐ หรือกระทั่งจากครอบครัว พื้นที่เหล่านี้จึงเป็นพื้นที่ที่คนแปลกหน้าเข้าไปทั้งเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าผิดแผกไป แล้วนำไปสู่การช่วยเหลือ เยียวยา และสร้างพลังซึ่งกันและกัน
ร้านหนังสือออสการ์ไวด์ยังมีบทบาทสำคัญกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ คือการต่อสู้ที่สโตนวอลล์ อินน์ในปี 1969 ซึ่งอยู่ในย่านเดียวกัน ร้านหนังสือนี้เป็นพื้นที่ของนักกิจกรรมที่ใช้แลกเปลี่ยนความคิด ในคืนแรกของการลุกฮือ ร้านแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่เจ้าของร้านทำการติดต่อหนังสือพิมพ์หัวต่างๆ เพื่อให้เข้ามาทำข่าวความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐลงมือต่อกลุ่มเพศหลากหลาย
กรณีสโตนวอลล์ อินน์ ร้านหนังสือทั้งร้านหนังสือเฟมินิสต์และร้านเพศหลากหลาย ก็กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำคัญอีกรูปแบบ คือในสมัยก่อน พื้นที่ปลอดภัยของเพศหลากหลายมักเป็นพื้นที่ยามค่ำคืน เป็นบาร์ เป็นร้านกินดื่ม ซึ่งเรามักรู้จักในฐานะหัวใจของย่านเกย์ แต่หลังกรณีสโตนวอลล์ อินน์ ผับและบาร์เฉพาะทางถูกเพ่งเล็งและเข้าจัดการควบคุม ในห้วงเวลานั้นเอง ทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศศูนย์เสียพื้นที่ปลอดภัย และต้องการหาพื้นที่ปลอดภัยใหม่ๆ ร้านหนังสือเหล่านี้จึงเป็นพื้นที่รวมตัวและพักใจสำคัญในยุคหลังการปราบปราม รวมถึงร้านหนังสือยังเป็นอีกพื้นที่สำหรับเพศหลากหลายที่ไม่สะดวกใจในพื้นที่แสงสีด้วย
ปัจจุบันร้านหนังสือที่มีเป้าหมายเฉพาะ เช่น ร้านหนังสือเฟมินิสต์และ LGBTQ+ ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาก็นับเป็นอีกหนึ่งกิจการที่อยู่ในพื้นที่ชายขอบ ร้านหนังสือเฟมินิสต์อาจเป็นพื้นที่เฉพาะของผู้หญิงที่รู้สึกดิ้นรน และแปลกแยกออกจากพื้นที่ทางสังคม ต้องต่อสู้กับกระแสอุตสาหกรรมหนังสือ
ทว่าเราก็จะเห็นการกลับมาของร้านหนังสือในฐานะพื้นที่เฉพาะ และร้านหนังสือที่ตอบสนองกับกระแสการต่อสู้ทางสังคม เราจะเริ่มเห็นกลุ่มและเครือข่ายร้านหนังสือที่กลับมามีบทบาทการต่อสู้ เช่น กระแสการแบนหนังสือในโรงเรียนของสหรัฐอเมริกา หนังสือส่วนใหญ่ที่ถูกแบนมักมีธีมเกี่ยวกับเพศหลากหลาย เราเองก็จะเห็นการจัดเสวนาในร้านที่ระบุตัวตนว่าเป็นร้านหนังสือเฟมินิสต์ เช่น ร้าน Eleanor’s Norfolk หรือร้าน Fabulosa Books เป็นหนังสือ LGBTQ+ ที่ระดมทุนและทำกิจกรรมแจกหนังสือซึ่งถูกแบนไปยังรัฐที่มีการแบนหนังสือเหล่านั้น
สุดท้ายนี้ ร้านหนังสือถือเป็นอีกหนึ่งกิจการและพื้นที่ที่มีความหมายลึกซึ้ง ทั้งต่อคนทั่วไปและต่อผู้คนที่มีความหลากหลาย มีบทบาทต่อความคิด ความรู้สึก และความเปลี่ยนแปลงของสังคม ขณะเดียวกันก็เป็นกิจการที่ต้องต่อสู้กับอุตสาหกรรมและทุนนิยม เป็นการต่อสู้ที่รายเล็กมักจะแพ้เสมอ
อ้างอิงจาก