แรงเงา เป็นนวนิยายพิมพ์ครั้งแรกในปี 2528 ของนักเขียนชื่อดัง นันทนา วีระชน ผู้มีผลงานเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์หลายเรื่อง และหลายเรื่องก็ถูกรีเมค เช่น “ปีกมาร” เป็นภาพยนตร์ปี 2530 และกลายเป็นละครช่อง 5 ปี 2537, 2556 และละครช่อง 3 ปี 2545 “เมียแต่ง” สร้างเป็นหนังปี 2529 และละครทีวีในปี 2532 โดยช่อง 5 ปี และโดยช่อง 3 ในปี 2541และ 2554
ส่วน “แรงเงา” นั้นไซร้ ก็ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อ “แรงหึง” (2529) จินตหรา สุขพัฒน์ เล่นเป็น “มุนินทร์-มุตตา” ตบตีกับ “นพนภา” ที่รับบทโดยญาณี จงวิสุทธิ์ ต่อมาช่อง 3 ได้นำมาทำเป็นละคร “แรงหึง” ในปี 2531 กว่าจะมาเป็นชื่อ “แรงเงา” ตามชื่อบทประพันธ์ก็ในปี 2544 ที่ แอน ทองประสม รับบท “มุนินทร์-มุตตา” แล้วก็รีรัน 2-3 ครั้ง ก่อนจะรีเมคอีกทีในปี 2555
แรงเงากลับมาอีกครั้งในปี 2562 ไม่ใช่รีเมคแต่เป็นภาคต่อในชื่อ “แรงเงา 2 แรงเงา แรงแค้น” แม้ว่าอะไรๆ จะคลี่คลายแล้วก็ตามในเวอร์ชั่น 2555 หวังกินบุญเก่าจากชื่อ “แรงเงา” ที่เคยเรตติ้งดีถล่มทลายจนกล้าสถาปนาตนเองเป็นปรากฏการณ์ ‘แรงเงาฟีเวอร์’ และ ‘วันแรงเงาแห่งชาติ’
การกลับมาในครั้งนี้ของแรงเงาแรงแค้น กลายเป็นแฟนตาซียิ่งกว่าคอมมิค ไม่เพียงให้ตัวละครตัวเดียวกลายเป็นศูนย์รวมและห่วงโซ่ความเกลียดชังของตัวละครอื่นทั้งหมด มีผีโผล่มาแบบตุ้งแช่ๆ สร้างสีสัน ตามขนบละครไทย แถมผีอีมุตตามันผูกคอตายไม่ใช่หรอ ไปมุดอะไรมาแล้วเอาเลือดเอาคราบเขม่าดินดำจากไหนมาเปรอะตัว บทละครโดย Anonymous ก็ชวนให้นึกถึงบทละคร “มนต์นาคราช” (2556) “ดินน้ำลมไฟ” (2559) “อุทัยเทวี” (2560) ที่นันทนา วีระชนเขียนมากกว่า เพราะมีความเวอร์วังจักรๆ วงศ์ๆ มาก และแน่นอนก็พยายามสร้าง quote เอาชาดกยัดปากตัวละครตามสไตล์ช่องสาม
เหมือนนั่งดู “ฟ้ามีตา” มากกว่า
แถมนักแสดงก็ต้องเล่นเบอร์ใหญ่ ยัดคาแรคเตอร์แบบซิทคอม ตัวเลวก็เลวทุกซีน ตัวปากหมาบทจะทุ่มเถียง จะด่าทอตอกหน้ากัน ยัดคำด่าพ่นใส่กันชนิดที่ว่าจะไม่มีวันพรุ่ง ไม่มีความเป็นเหตุเป็นผลใดๆ หวังเรียกเรตติ้งผู้ชมสายเฟียร์ซสายฟาด บทจะ bully ก็ทำสะซีนออฟฟิศกลายเป็นสนามเด็กเล่นมากกว่าพื้นที่คนวัยทำงานสร้างเนื้อสร้างตัว
เหมือนกับว่าตีความว่าละคร ‘เข้มข้น’ คืออัดตัวละครแน่นๆ อีรุงตุงนัง บทสนทนาหนักๆ acting เว่อๆ มหึมา ขนาด “คุณแม่สร้อย” แม่ของ “วีกิจ” ที่วันๆ เอาแต่สอนศีลธรรมกับปอกผลไม้ในภาคแรก ก็กลายเป็นมนุษย์ป้าหัวโบราณ จู้จี้เจ้ากี้เจ้าการชีวิตคนอื่นในภาค 2 แล้วพอจะคั่นด้วยฉากตลกก็ตลกแบบไร้สติสตางค์กระเจิดกระเจิง
แม้ว่า “แรงเงาแรงแค้น” (2562) จะไม่ทิ้ง ‘ความเป็นแรงเงา’ ที่ตัวละครทุกคนก็ชอบสาระแนแส่เสือก และในหัวก็หมกมุ่นแต่เรื่องเพศ เรื่องผัวๆ เมียๆ ใครได้ใคร ใครเอาใคร แล้วไปคว้าศีลธรรมจริยธรรมทางเพศต่างๆ ที่ลอยคว้างในสังคมจับมาด่าทอกัน มาเป็นดัชนีชี้วัดคนดีคนเลว และใช้เป็นเครื่องมือลงโทษทางสังคม เช่นเคยอย่างที่แรงเงาเวอร์ชั่นเก่าๆ ได้ทำ “แรงเงา 1” ได้เล่าถึงผลของครอบครัวที่ พ่อเจ้าชู้หลายเมีย แม่ขี้หึงขี้โมโห ไม่ไว้หน้าผัว ส่งผลร้ายมายังสมาชิกตัวน้อยๆ ในบ้าน ทั้งลูกคนเล็กมีความเจ็บป่วยทางจิตก้าวร้าว ลูกสาวใจแตกไม่รักนวลสงวนตัว และลูกชาย ‘เบี่ยงเบนทางเพศ’ ในฐานะเวรกรรมหรือบทลงโทษที่มองไม่เห็น เช่นเดียวกับ “นักรบ” กับ “ฉกรรจ์” คู่หูเพื่อนสาวคู่ซี้ขี้เมาท์ขี้สอดประจำกระทรวงที่ได้กันเอง แต่ถูกนางเอกอัดคลิปแฉประจานกลางกระทรวง จนกลายเป็นที่ขยะแขยงถึงกับมีคนคลื่นไส้จะอ้วกเมื่อเห็นคลิปทั่งคู่ร่วมรักกัน
ในภาค 2 แม้เรื่องราวจะทำให้คู่รัก “ลูกต่อ” กับ “พี่ก้อง” เป็นความรักที่งดงามไม่ว่าเพศวิถีใด แต่ก็ยังยื่นบทลงโทษสำหรับตัวอิจฉาอย่าง “เนตรนภิศ” น้องสาวนพนภาให้ต้องระทมทุกข์เพราะมีผัวเป็นเกย์ต่อไป ขณะเดียวกันแรงเงาที่แล้ว พระเอกในฐานะของคนดีข่มขืนนางเอกดันกลายเป็นความรักไป ภาคนี้โยนบาปให้ตัวละครประกอบชนชั้นล่างขี้เมาในฐานะของคนเลวไร้ศีลธรรมข่มขืนหญิงสาวแทน
และสำหรับแรงเงาเวอร์ชั่นยุคดิจิทัล การถูกแอบถ่ายคลิปเรื่องส่วนตัวแล้วออกมาประจานในโลกออนไลน์กลายเป็นเครื่องมือลงโทษทางสังคม แทนที่คนถ่ายคลิปชีวิตส่วนตัวของคนอื่นแล้วออกมาเผยแพร่จะถูกลงโทษ
ตลอดระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ 2556-2561 ระหว่างที่ไม่มีแรงเงา มุมมองเรื่องเพศของคนดูก็เปลี่ยนไปมาก ขณะที่ “แรงเงา 2” ยังคงที่ที่จุดเดิมเหมือนเมื่อเวอร์ชั่น 2555
การหายไปหลายปีของแรงเงา แม้ว่าจะไปซุ่มเขียนบทใหม่ เขียนเรื่องราวใหม่ๆ แต่ราวกับว่าไปอยู่ในสุญญากาศ ปล่อยให้ตัวละครมีวิวัฒนาการไม่ทันคนดู แม้ว่าบริบทในละครจะอ้างว่าเวลาผ่านมาเพียง 4 ปี ในโลกของตัวละคร ที่เท่ากับว่าอยู่ในปี 2559 แต่สำนึกคิดของตัวละครก็แทบจะทำให้แรงเงา 2 เป็นละครพีเรียด ผ่านบทสนทนาตัวละครวัยทำงานยังไม่ออกเรือนที่ว่า “ได้เสียกันก่อนแต่งจะอยู่ไม่ยืด”
แรงเงาแรงแค้น แวดล้อมไปด้วยค่านิยมทางเพศแบบจารีตประเภท ที่ควรโคจรกับที่อโคจร เพศวิถีรักเพศเดียวกันยังคงถูกงัดมาด่าคนอื่น คนไม่ดีมีเพศสัมพันธ์แบบ ‘วิตถาร’ และ ‘ผิดธรรมชาติ’ ซึ่งรวมถึงเพศสัมพันธ์ที่มีอุปกรณ์เสริมความหฤหรรษ์ เซ็กซ์คือกับดักและการล่อลวงของนางนกต่อที่ “รัชนก” ผู้หญิงต้องรักเกียรติและศักดิ์ศรีไม่นอนค้างอ้างแรมกับแฟนแม้ว่าอีก 1 เดือนจะแต่งงานกันก็ตาม เพศสัมพันธ์นอกการแต่งงานทำให้ผู้หญิงเสียหาย และหากท้องก่อนแต่งเป็นเรื่องน่าอับอายถูกถูกนินทากาเล มีแต่ผู้หญิงไม่ดีหิ้วผู้ชายขึ้นห้อง ส่วนผู้ชายที่ขึ้นห้องผู้หญิงบ่อยๆ ก็เหมือนผู้ชายขายตัว สำนึกเปิดซิงผู้หญิงยังคงเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัวต้องรับผิดชอบรายจ่ายในบ้าน ต้องหาเลี้ยงครอบครัวได้มากกว่าฝ่ายหญิง ที่แม้แต่เมื่อแรงเงาภาค 1 ที่ฉายใน ปี 2555 ประเด็นเหล่านี้ก็ไม่ถูกถกเถียงหรือให้ความสลักสำคัญใดๆ แล้วในโลกนอกจอทีวี
ยิ่งพ่นเรื่องเพศ ยิ่งผลักให้ละครอยู่คนละมิติ คนละโลกกับผู้ชม
เหมือนกับเวอร์ชั่น 2555 ที่ “มุนินทร์” ไปด่า “นพนภา” ว่า “คุณนายโบท๊อกซ์” จนคนดูงงไปเลยว่าด่าทำไม แล้วจะโกรธทำไม ทั้งๆ ที่โบท๊อกซ์เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อมไปแล้วมากกว่าจะหยิบมาเป็นคำด่า
กลายเป็นความไม่อิน และไม่อยากทนดู ไม่ลุ้นแล้วว่ามุนินทร์จะต้องเจออะไรอีกบ้าง ไม่เอาใจช่วยว่าจะฟันฝ่าอุปสรรค เอาชนะรัชนกสองหัวและเดอะแก๊งได้ไหม วีกิจจะปันใจหรือเหนื่อยหน่ายหรือไม่ก็ไม่แคร์แล้ว