คำว่า ‘ช่องว่างทางธุรกิจ’ คือคำที่บรรดานักธุรกิจรุ่นใหญ่กล่าวถึงกันมาอย่างนมนาน ด้วยสายตาที่กว้างไกลและฉับไวทำให้นักธุรกิจมองเห็นโอกาสจากดีมานด์หรือความต้องการที่สูง แต่ซัพพลายหรือการตอบสนองที่ต่ำ
นั่นล่ะคือช่องว่างทางธุรกิจ เปรียบได้กับพื้นที่ว่างๆ สักแห่ง ตั้งอยู่ทำเลอันยอดเยี่ยม มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีสาธารณูปโภคเพียบพร้อม แต่ยังไม่มีใครจับจองเป็นเจ้าของ เช่นเดียวกับกระแสของสตาร์ทอัพที่กำลังเฉิดฉายในโลกธุรกิจอยู่ในขณะนี้ เกินกว่าครึ่งของสตาร์ทอัพหน้าใหม่ล้วนแล้วแต่เห็นช่องว่างทางธุรกิจนี้ ก่อนจะแทรกตัวเข้าไปจับจองพื้นที่นั้นๆ เป็นคนแรก แล้วก้าวสู่ความสำเร็จในที่สุด
ยกตัวอย่าง Peloton สตาร์ทอัพที่มองเห็นช่องว่างของผู้ที่รักการออกกำลังกาย แต่ไม่มีเวลาแม้แต่จะออกจากบ้าน จึงออกแบบจักรยานออกกำลังกายที่มาพร้อมกับ Smart Screen ที่สามารถเชื่อมต่อ Live Streaming สดๆ กับเทรนเนอร์ได้ โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปถึงยิม ซึ่งตอนนี้มูลค่าบริษัทสูงถึง 1.25 พันล้านเหรียญแล้ว ถือเป็นยูนิคอร์นตัวใหม่ที่กำลังมาแรงในนิวยอร์ก หรืออีกหนึ่งตัวอย่างเจ้าธุรกิจที่ครองตลาดอยู่แล้วอย่าง Amazon บริษัท e-commerce ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาที่เคยสร้างชื่อจากการขายหนังสืออีบุ๊กบนแพลตฟอร์มดิจิทัล แต่กลับมองเห็นพื้นที่ว่างทางการตลาดของร้านขายหนังสือที่กำลังทยอยปิดตัวลง ด้วยการเปิด Amazon Books ร้านขายหนังสือเล่มที่เปิดไปแล้วกว่า 8 สาขาในอเมริกาและมีแพลนว่าจะเปิดอีกกว่า 400 สาขา โดยดึงจุดแข็งของการขายหนังสือแบบออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน มีการจัดเชลฟ์หนังสือโดยอิงกับรีวิวและเรตติ้งจากออนไลน์ เรียกได้กว่าเป็นการหวนคืนสู่สามัญจนประสบความสำเร็จ
เขยิบเข้ามาใกล้ตัวอีกนิด กับเรื่องราวของสองไอคอนนักธุรกิจรุ่นใหม่ชาวไทยที่มองเห็นช่องว่างทางธุรกิจ เปลี่ยนพื้นที่ใกล้ตัวให้กลายเป็นพื้นที่ของโอกาสทางธุรกิจ เติมเต็มช่องว่างให้กลายเป็นความสำเร็จด้วยนวัตกรรมและแนวคิดที่ตอบโจทย์ชีวิตยุคใหม่ จนพื้นที่นั้นกลายเป็น Platform of Success ลองไปสำรวจกันว่าพื้นที่แห่งความสำเร็จนั้น เริ่มต้นจากตรงไหน
U drink I drive พื้นที่ความสำเร็จจาก insight ใกล้ตัว
จากสถิติ บ้านเรามีผู้เสียชีวิตจากการโดนคนเมาขับรถชนมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ขณะที่นักเที่ยวสายปาร์ตี้เชื่อว่าการเมาแล้วขับรถกลับบ้านเองได้เป็นเรื่องเท่ สร้างความสูญเสียเพิ่มขึ้นอีกไม่รู้เท่าไร คงจะดีไม่น้อยหากจะมีใครสักคนจะช่วยพาคุณและรถของคุณกลับไปถึงบ้านได้อย่างปลอดภัย โดยที่ไม่ต้องขับเอง คุณปรางค์ – อภินรา ศรีกาญจนา ทายาทสาวสวยของ บริษัท เอเชียประกันภัย ที่มองเห็นพื้นที่ว่างความต้องการของนักเที่ยว จึงเกิดไอเดียธุรกิจสตาร์ทอัพ U drink I drive บริการพนักงานขับรถส่วนตัวที่จะพาคุณและรถส่วนตัวของคุณกลับบ้าน โดยมุ่งเน้นความปลอดภัยของผู้ใช้บริการเป็นหลัก
“เราอาจเปลี่ยนพฤติกรรมหรือไลฟ์สไตล์ของคนเมืองไม่ได้ แต่เราสามารถเพิ่มทางเลือกด้วยบริการที่ทำให้ชีวิตพวกเขาดีกว่าหรือปลอดภัยกว่าได้”
ปรางค์เลือกหยิบจุดสำคัญของธุรกิจประกันภัยที่เป็นการดูแลลูกค้าหลังจากที่เกิดอุบัติเหตุ แต่เธอเลือกต่อยอดพลิกมุมกลับด้วยการเลือกดูแลลูกค้าก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ สร้างทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้าด้วยบริการพนักงานขับรถระดับพิเศษ โดยมีทั้งพนักงานขับรถหญิงเพื่อความอุ่นใจของกลุ่มลูกค้าผู้หญิง รวมถึงจุดเล็กๆ น้อยๆ ที่สำคัญอย่างมารยาทในการขับรถ การเปิดประตูรถ บริการน้ำดื่มและผ้าเย็น เพื่อให้ลูกค้าสัมผัสได้ถึงความเอาใจใส่ของการบริการจนเกิดความประทับใจมากที่สุด
“เพราะเราอยู่ใจกลางเมือง อยู่บนพื้นที่ที่ได้เห็นพฤติกรรมที่หลากหลายของคนเมืองมาก่อน นั่นคือโอกาสที่เราจะหยิบมาต่อยอดเป็นบริการใหม่ๆ”
ส่วนหนึ่งของไอเดียที่ต่อยอดมาได้ขนาดนี้ ก็มาจาก insight ของตัวเธอเองที่อาศัยอยู่ในเมืองมาตลอด ทำให้เข้าใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายคนเมืองอย่างแท้จริง จึงมองเห็นช่องว่างในการต่อยอดเป็นธุรกิจได้ ล่าสุดก็ได้ขยายไลน์ธุรกิจไปสู่
U Sit I Drive บริการ Drivers on Demand เต็มรูปแบบ ขยายกลุ่มลูกค้าจากนักเที่ยวไปสู่ลูกค้าทั่วไป ทั้งการขับรถพาไปโรงพยาบาล ไปร้านอาหารที่หาที่จอดยาก แม้กระทั่งนำรถไปล้างให้ พื้นที่แห่งความสำเร็จของปรางค์จึงเกิดจากการนำปัญหาบวก insight รอบตัวมาพัฒนาจนประสบความสำเร็จ
CEO Agrifood พื้นที่ความสำเร็จสร้างสิ่งใหม่จากสิ่งที่มี
ใครจะไปเชื่อว่า ‘รำข้าว’ ที่เกษตรกรใช้เป็นอาหารหมูจะมีศักยภาพก้าวสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ระดับโลกได้ ซึ่งเป็นโอกาสที่ไม่เคยมีใครมองเห็นในไทยมาก่อน แต่ คุณทิม – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงดีกรี Harvard และ MIT กลับมองเห็นพื้นที่แห่งความสำเร็จตรงนั้นก่อนใคร จากประสบการณ์ที่เคยได้ไปใช้ชีวิตทั้งเรียนและฝึกงานอยู่ในต่างประเทศตั้งแต่เด็กจนโต ทำให้ได้เห็นชาวต่างชาติที่ให้คุณค่ากับวัตถุดิบในท้องถิ่นสูงมาก ขณะเดียวกันในบ้านเราเองมีวัถตุดิบท้องถิ่นจำนวนมาก แต่กลับไม่ค่อยมีใครเห็นคุณค่า ทำให้คุณทิมมองเห็นพื้นที่ของโอกาสในการสร้างมูลค่าของธุรกิจประเภทนี้ เขาจึงนำมุมมองตรงนั้นหันกลับมาใช้ในตลาดบ้านเกิดด้วยการต่อยอดธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว และได้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด (CEO Agrifood Co., Ltd.) ที่มีเป้าหมายจะให้ ข้าว ซึ่งเป็นสินค้า Heritage ของไทยแพร่หลายไปทั่วโลก
“ผมมีความเชื่อมั่นในคุณค่าของข้าวไทย และอยากให้มันเป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่ก็เห็นความสำคัญด้วย”
จากการที่ได้ศึกษาอย่างลงลึก ทำให้คุณทิมได้รู้ว่าวัตถุดิบในประเทศไทยพร้อมกว่าต่างประเทศมาก และในเมืองไทยขณะนั้นยังไม่มีใครรู้จักน้ำมันรำข้าว นวัตกรรมการสกัดน้ำมันรำข้าวก็มีน้อยราย คู่แข่งจึงมีน้อยรายไปด้วย บวกกับปัจจัยมูลค่าของตลาดอาหารเพื่อสุขภาพทั่วโลกที่สูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์ของการดูแลสุขภาพที่กำลังได้รับความนิยม คุณทิมจึงได้พัฒนาและสร้างความแตกต่างให้กับน้ำมันรำข้าว จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่มีมูลค่าสูงขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว
“ผมเชื่อว่าแม้ว่าเรารู้แค่สิ่งเล็กๆ แต่ถ้าเรารู้จริง สิ่งนั้นมันก็จะพาเราก้าวข้ามขีดจำกัดออกไปได้”
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์น้ำมันรำข้าวจาก CEO Agrifood ได้กลายเป็นแบรนด์ชั้นนำในตลาดน้ำมันรำข้าวใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ และเป็นอันดับ 5 ของโลก ปลายทางเหล่านี้เกิดขึ้นจากต้นทางที่คุณทิมมองเห็นพื้นที่แห่งความสำเร็จและต่อยอดจากสิ่งที่ได้รับมาให้ดียิ่งขึ้นไปอีกขั้น สิ่งที่เขาอยากทำต่อไปคือไม่อยากให้ความสำเร็จหยุดอยู่แค่เท่านี้ แต่ยังสามารถต่อยอดไปได้อีกแบบไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยความเชื่อที่ว่า สิ่งดั้งเดิมมีมูลค่ามหาศาลที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
จากเรื่องราวของสองไอคอนนักธุรกิจทำให้เห็นว่า ช่องว่างทางธุรกิจหรือพื้นที่แห่งความสำเร็จไม่ได้ตั้งอยู่ไกลตัว เพียงแค่รู้จักมองหาคุณค่าของสิ่งดั้งเดิมที่อยู่ใกล้ตัวมาพัฒนาและต่อยอดแบบไร้ขอบเขต เช่นเดียวกับ Life ๑ Wireless คอนโดมิเนียมตกแต่งด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวสไตล์ Modern Thai Colonial ที่ตอบโจทย์ชีวิตคนเมือง หนึ่งเดียวบนถนนวิทยุที่ตั้งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่อายุกว่าร้อยปีที่ยังคงถูกอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกที่ทรงคุณค่าและมีความเป็น Heritage อย่างแท้จริง ซึ่งถือได้ว่าเป็นทำเลศูนย์กลางของการทำธุรกิจและไลฟ์สไตล์ สะท้อนการใช้ชีวิตบน Platform of Success ที่จะต่อยอดไปสู่ความสำเร็จได้อย่างลงตัว
ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษได้ที่ https://goo.gl/ETsSUF