โลโก้สีเหลืองชมพูและสัญลักษณ์สายฟ้าหมายถึงความกระฉับกระเฉง? เร้าใจ? เดือดพล่าน? หรือความไว? จะอะไรก็แล้วแต่ เรากำลังพูดถึง ‘Flash Coffee’ แบรนด์กาแฟที่เตรียมขยายสาขาในไทยโดยไม่มีทุนใหญ่แบ็กอัพ และมีความโดดเด่นน่าสนใจไม่ว่าจะเรื่องภาพลักษณ์แบรนด์ที่ทันสมัย เมล็ดกาแฟสเปเชียลตี (specialty coffe) กับราคาขายที่พนักงานเงินเดือนจับต้องได้ทุกวัน รวมไปถึงการเรียกตัวเองว่าเป็นร้านกาแฟสตาร์ทอัพ
Flash Coffee เป็นสตาร์ทอัพที่ปัจจุบันขยายสาขาราว 3 สาขาทั่วอาเซียน ในทุกๆ สัปดาห์
ถ้าจะพูดถึงจุดเริ่มต้นของ Flash Coffee เราคงต้องขึ้นเครื่องบินเพื่อข้ามประเทศกลับไปยังอินโดนีเซีย ประเทศที่สาขาแรกถือกำเนิด และขยายสาขาสู่ประเทศอาเซียนอื่นๆ ในระยะเวลาแค่ปีครึ่ง
Flash Coffee คือเชนร้านกาแฟที่สองหนุ่มชาวเยอรมันที่ชื่อว่า เดวิด บรูเนียร์ (David Brunier) ผู้อยู่เบื้องหลังการปั้นฟู้ดแพนด้า (foodpanda) และ เซบาสเตียน ฮานเนกเกอร์ (Sebastian Hannecker) ทั้งคู่ก่อตั้งธุรกิจขึ้นมาด้วยแนวคิดสตาร์ทอัพ ก่อนจะขยายสาขาด้วยการระดมทุน และตั้งเป้าหมายว่าจะเสิร์ฟกาแฟคุณภาพในราคาที่ประชาคมอาเซียนจับต้องได้ทุกวัน
ตอนนี้วัฒนธรรมการดื่มกาแฟของชาวอาเซียนพัฒนาไปถึงจุดที่ส่วนใหญ่ต้องการกาแฟชงสด และแน่นอนว่าคนทำงานหลายคน อาจจะกลายเป็นคนไม่ฟังก์ชั่นได้เลยหากเช้าของวันไม่ได้เริ่มด้วยกาแฟที่ดี และดีด!
ขณะที่ในอาเซียนตอนนี้หลายประเทศเป็นตลาดเกิดใหม่ ชนชั้นกลางเพิ่มจำนวนขึ้น โอกาสใหม่รายล้อมภูมิภาคแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีประชากรเยอะราว 200 ล้านคนอย่างอินโดนีเซียที่ถือว่ามีศักยภาพในเชิงจำนวนผู้บริโภค หรือฮับการเงินอย่างสิงคโปร์ก็ดีที่เต็มไปด้วยหัวกะทิจากทั่วโลก
ช่องว่างของตลาดกาแฟที่ดี ถูก และนำเทคโนโลยีมาช่วยขายในราคาที่แบรนด์ระดับโลกอื่นๆ เข้ามาเปิดสาขาในอาเซียนอยู่ก่อนแล้วทำไม่ได้—คือโอกาสที่ Flash Coffee เข้ามาฉกฉวยเอาไว้
“ผมกับเซบาสเตียนคลิกกันตั้งแต่แรกที่เราพบกันและแชร์ความรักในเรื่องของกาแฟร่วมกัน เรามีไอเดียที่อยากจะสร้าง Flash Coffee ในทิศทางเดียวกัน เซบาสเตียนต้องการจะใส่ไอเดียแบบผู้ประกอบการ (entrepreneurial mindset) ร่วมกับการใช้ทักษะการวิเคราะห์ในการทำธุรกิจ เราเป็นหุ้นส่วนและเป็นผู้ก่อตั้งร่วมกันอย่างแข็งแกร่ง” บรูเนียร์ให้สัมภาษณ์ไว้กับ Singapore Business Review
Flash Coffee เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.2020 มีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ และมีศูนย์กลางเทคโนโลยีอยู่ในจาร์กาตา อินโดนีเซีย โดยได้รับเงินทุนครั้งแรกจาก Rocket Internet ซึ่งเป็นธุรกิจร่วมลงทุน (venture capital : VC) จากเยอรมนี ที่เคยลงทุนกับบริษัทฟู้ดแพนดามาแล้ว และหลังจากนั้นก็ได้รับเงินลงทุนอย่างต่อเนื่องรวมเป็น 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปัจจุบัน Flash Coffee มีสาขากว่า 50 สาขา ในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย ตัวธุรกิจมีแนวคิดที่จะใช้พนักงานให้น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และใช้เทคโนโลยีในการสร้างแอพพลิเคชั่นสนับสนุนให้ลูกค้าสั่งกาแฟอย่างสะดวก รวมไปถึงการสั่งผ่านแอพฯ เดลิเวอรีเจ้าอื่น โดยทุกการสั่งจะได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ กลับไปทำให้อยากกลับมาสั่งซ้ำ ซึ่งก็เป็นการขยายฐานลูกค้าตามสไตล์สตาร์ทอัพในระยะเริ่มตั้งไข่กิจการปีแรกๆ
บรูเนียร์บอกว่า ร้านกาแฟส่วนใหญ่มันเป็นธุรกิจแบบดั้งเดิมที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีช่วย แต่พวกเขาจะใช้เทคโนโลยีสร้างธุรกิจที่ขยายไปทั่วเอเชียแปซิฟิก ชนิดที่ว่า ทุกๆ 500 เมตรจะต้องมีร้าน Flash Coffee เลยทีเดียว และจะไม่หยุดที่แค่นั้น
Flash Coffee กับประเทศไทย และความเชื่อว่ากาแฟดีต้องราคาแพง
แน่นอนว่าตอนนี้ Flash Coffee เข้ามาบุกตลาดไทยแล้ว หากไล่ดูบนเพจเฟซบุ๊กสาขาประเทศไทย จะพบว่า Flash Coffee อัดโปรกระหน่ำ หนึ่งแถมหนึ่ง สองแถมหนึ่ง เกาะกระแสวันลดราคาประเภทวัน 4.4 ไม่เว้นว่าง
เมนูใหม่ๆ มีการคิดค้นขึ้นมาตลอดโดยบาริสต้ามือรางวัล และยังใช้อินฟลูเอนเซอร์ทั้งรายใหญ่รายย่อยคู่กับภาพถ่ายแบบ Instagrammable สุดๆ ในการทำการตลาด แต่ราคาของเครื่องดื่มถือว่าย่อมเยากว่าเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น
Flash Coffee เข้ามาขยายสาขาในประเทศไทยตั้งแต่พฤษภาคมปีที่แล้ว ด้วยการประกาศกร้าวว่าเป็นกาแฟสเปเชียลตีที่ทุกคนจับต้องได้ มาถึงตอนนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าสุดท้ายแล้วสตาร์ทอัพร้านกาแฟที่เติบโตขยายสาขาด้วยเงินลงทุนจากนักลงทุนนั้นจะทำกำไรด้วยวิธีไหนและเมื่อไหร่? The MATTER ต่อสายถึง ‘แพน—พันธุ์ไพบูลย์ ลีนุตพงษ์’ กรรมการผู้จัดการ Flash Coffee ประเทศไทย เพื่อพูดคุย
คำตอบที่น่าสนใจจากพันธุ์ไพบูลย์ คือ ตั้งแต่เปิดธุรกิจมา Flash Coffee ยังไม่ขาดทุนเลย และสามารถทำกำไรได้ตั้งแต่สาขาแรกที่เปิดตัว และตอนนี้มี 38 สาขาในไทยแล้ว
“สตาร์ทอัพมีหลายรูปแบบ แต่ละโมเดลธุรกิจแตกต่างกัน บางธุรกิจอาจจะต้องขาดทุนช่วงแรกเพื่อสร้างฐานลูกค้า แต่สำหรับพวกเราโชคดีที่เดือนแรกที่เปิดก็ทำกำไรแล้ว”
อะไรคือเบื้องหลังวิธีคิดที่สามารถทำกำไรได้ทั้งที่ขายกาแฟสเปเชียลตีในราคาเริ่มต้น 40 บาท พันธุ์ไพบูลย์บอกว่าประกอบด้วยหลายส่วน
เรื่องแรก ราคาของอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่ราคาให้เช่าถูกลงในยุค COVID-19 และทาง Flash Coffee เปิดตัวในจังหวะนี้พอดี ทำให้แผนขยายสาขาเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการเลือกให้หน้าร้านเป็น grab & go ซื้อแบบกลับบ้านตั้งแต่แรก ทำให้ใช้ขนาดพื้นที่ส่วนใหญ่ของสาขากะทัดรัด ค่าเช่าไม่แพงนัก
เมล็ดกาแฟคือเรื่องที่สอง ทางแบรนด์ดีลกับเกษตรกรท้องถิ่นในแต่ละประเทศโดยตรง ทำให้ได้เมล็ดกาแฟอราบิกาชนิดพิเศษมาในราคาที่ไม่แพง และขายเป็นแก้วชงได้ถูก โดยผสมหรือเบลนด์ (blend) เป็นเป็นสูตรของตัวเอง
เรื่องที่สามคือการทำการตลาดโดยจัดโปรโมชั่นร่วมกับแพลตฟอร์มเดลิเวอรีหรืออี-คอมเมิร์ซ ทำให้ขายในราคาที่เข้าถึงได้ง่ายเข้าไปได้อีก
สุดท้าย เรื่องที่สี่คือใช้เทคโนโลยีลดต้นทุน ซึ่ง Flash Coffee มีแผนจะเปิดตัวเทคโนโลยีของตัวเองในเดือนมิถุนายนนี้อีกไม่นานเกินรอ และทางพันธุ์ไพบูลย์ก็บอกเองด้วยว่า ทางแบรนด์ไม่ได้อยากจะเป็นร้านกาแฟเท่านั้น แต่พวกเขาอยากจะได้ชื่อว่าเป็น tech company
“คอนเซปต์เด่นของ Flash Coffee ในตลาดไทยคือการเป็นแบรนด์ที่เสิร์ฟกาแฟคุณภาพสูงในราคาเข้าถึงได้ ซึ่งทางบรูเนียร์และฮานเนกเกอร์วิเคราะห์จากข้อมูลประชากรแล้วว่า ในแต่ละประเทศที่เข้าไปเปิดลูกค้ามีรายได้เท่าไหร่ และสามารถซื้อกาแฟต่อวันได้กี่แก้ว พอได้ข้อมูลเราเห็นช่องว่างในตลาดว่ามันสามารถเข้ามานำเสนอตัวเองได้ นอกจากนี้สำหรับประเทศไทยเรายังคิดเมนูที่นิยมในท้องถิ่นมาขาย อย่างเอสเพรสโซเย็นจะขายดีมาก” พันธุ์ไพบูลย์เล่าให้ฟัง
เส้นทางของ Flash Coffee ไล่เรียงมาถึงวันนี้แค่หนึ่งปี ก็ต้องบอกว่าธุรกิจเติบโตด้วยความรวดเร็วสมชื่อ แต่พันธุ์ไพบูลย์ยืนยันว่าเรื่องคุณภาพก็ยังเป็นเรื่องที่สตาร์ทอัพกาแฟอย่างพวกเขาคำนึงถึงเป็นอันดับแรก และเป็นเรื่องที่คงต้องให้ผู้บริโภคตัดสินต่อไปในระยะยาว
แต่ในระยะสั้น แผนการขยายสาขาของ Flash Coffee ภายในปีนี้คือขยายให้ได้ 300 สาขาทั่วเอเชียแปซิฟิก นั่นหมายถึง 10 สาขาในหนึ่งสัปดาห์ บอกตามตรงว่าดูเป็นการใหญ่ไม่น้อย
ในด้านภารกิจใหญ่ที่สุด นอกจากความฝันที่จะก้าวเป็น tech company แล้ว พวกเขาอยากให้ทุกคนเห็นสีเหลืองแล้วนึกถึง ‘Flash Coffee’ โดยไม่ต้องใช้เวลานึกตีความแม้เพียงเสี้ยววินาที
อ้างอิงข้อมูลจาก