พอพูดถึงการ์ตูน เราจะอ่านหรือดูเอาความสนุกก็ย่อมได้ แต่บางทีเมื่อมองให้ลึกลงไปที่เนื้อหาหรือเบื้องลึกเบื้องหลังของเหตุการณ์และการกระทำของตัวละคร การ์ตูนนี่แหละที่จะกลายเป็นเครื่องมือลับคมความคิด เพราะผู้เขียนแต่ละเรื่องมักสอดแทรกประเด็นหลายอย่างเอาไว้ให้คิดอยู่เสมอ และมันจะสนุกขึ้น เมื่อมีคนร่วมคิด ร่วมพูดคุย ร่วมถกเถียงไปด้วยกัน
ส่วนใหญ่เราจะพบกับประเด็นที่ขัดแย้งกันระหว่างตัวละครขั้วตรงข้าม วันนี้เราก็เลยอยากชวนไปดูกันว่า ถ้าเหล่าตัวละครในอนิเมะจะต้องมายื่นประชันแนวคิดหรือทัศนคติกันบนเวที ตัวละครเหล่านั้นน่าจะพูดเกี่ยวกับประเด็นอะไรบ้าง แล้วพวกเขามีมุมมองต่อหัวข้อนั้นๆ ยังไงบ้าง?
หัวข้อ: การจัดการอาชญากร จาก Death Note
ยางามิ ไลท์ VS แอล ลอว์ไลท์
คู่แรกกับคำถามที่ว่า “เราจะทำอย่างไรกับอาชญากร?”
คำถามที่เกิดขึ้นตั้งแต่ใครคนหนึ่งทำความผิดต่อใครอีกคน และเป็นคำถามที่มีคำตอบหลากหลาย ลงโทษแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน จำคุก จำคุกแล้วทำอะไร? ขังลืม? หรือบำบัดพฤติกรรมเพื่อนำกลับเข้าสังคม? หรือประหารชีวิต? คำถามที่เมื่อตอบแสดงออกถึงมุมมองต่อความยุติธรรมและคุณค่าชีวิตมนุษย์ของผู้ตอบ แม้จะมีเรื่องราวเหนือธรรมชาติรวมถึงเส้นเรื่องที่เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน Death Note ก็เป็นการ์ตูนที่คุยถึงคำตอบนั้นผ่านมุมมองและทางเลือกของตัวละครหลักทั้งสองอย่าง ‘ยางามิ ไลท์’ และ ‘แอล ลอว์ไลท์’
“โลกนี้มันเสื่อมทราม คนทรามๆ ตายไปซะได้ก็ดีแล้ว”
เมื่อ ‘ยางามิ ไลท์’ ได้รับสมุดเดธโน้ต เครื่องมือกำหนดความเป็นและตายของมนุษย์ไว้ที่ปลายปากกาของคนคนเดียว และไลท์เลือกใช้มันในการกำจัดอาชญากรทั่วโลกด้วยการสังหาร นำไปสู่ฉายาคิระ โดยความชอบธรรมที่ไลท์นำมาเป็นเครื่องสนับสนุนแนวคิดของเขามาจากความมั่นใจในสติปัญญาระดับอัจฉริยะของเขา พร้อมกับความสมบูรณ์รอบด้านของเขานำไปสู่ปมพระเจ้าหรือ God Complex
“ไม่ว่าจะเพราะสาเหตุอะไร การฆาตกรรมเป็นเรื่องผิดทั้งนั้น”
ในขณะที่คนเย็นชา ฉลาด อีโก้สูง และเลือดเย็นไม่ห่างจากไลท์มากนักอย่าง ‘แอล ลอว์ไลท์’ นักสืบหนุ่มลึกลับเป็นหนึ่งในหัวหอกการสืบหาฆาตกรต่อเนื่องและศาลเตี้ยคิระ กลับมีจุดประสงค์ที่เข้ามาเพียงเพื่อต้องการทดสอบสติปัญญาระหว่างตัวเขากับอัจฉริยะผู้อญุ่เบื้องหลังคดีนี้ โดยที่แม้ว่าเหตุการณ์จะพาเขาไปเจอกับเรื่องต่างๆ มากมาย แต่เขาก็ยังยึดมั่นในกระบวนการความยุติธรรม และไม่เห็นด้วยกับการฆาตกรรมไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม
หัวข้อ: วิธีการปกครองคน จาก Demon Slayer
คิบุทสึจิ มุซัน VS อุบุยาชิกิ คากายะ
ประเด็นที่ 2 จากเรื่อง Demon Slayer ระหว่างผู้นำสูงสุดของเหล่าอสูร และผู้นำสูงสุดของหน่วยพิฆาตอสูร คู่ตรงข้ามที่มีวิธีการปกครองคนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ‘คิบุทสึจิ มุซัน’ อสูรที่แข็งแกร่งที่สุดเชื่อว่าการปกครองด้วยความกดดันนั้นจะทำให้ลูกน้องทุกคนช่วยกันพาเขาไปถึงเป้าหมายได้ ส่วน ‘อุบุยาชิกิ คากายะ’ มีวิธีการปกครองที่เป็นธรรมกับทุกคน เคารพทุกคนในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทุกคนก็จะมีความมุ่งมั่นในการสานต่อจุดหมายของเขา
“ไร้ค่าจริง เริ่มจะไม่เข้าใจเหตุผลที่ต้องมีพวกเจ้าแล้ว”
‘คิบุทสึจิ มุซัน’ อสูรที่มีพลังมากที่สุด ซึ่งเป็นผู้นำของเหล่าอสูร พลังเขาแข็งแกร่งกว่าใคร และในบางครั้งเขาก็ลงสนามรบด้วยตัวเอง แต่เขามีแนวคิดในการปกครองแบบแบ่งชนชั้นกันเล็กน้อย คือปกครองด้วยความบุญคุณและความกลัว
มุซันสามารถมอบเลือดตัวเองให้กับมนุษย์ เพื่อทำให้พวกเขาเป็นอสูรได้ มุซันเลือกที่จะปกครองเหล่าอสูรใต้อาณัติด้วย ‘บุญคุณ’ จากการมอบเลือดให้ เพราะในบางครั้งเขาสามารถมอบเลือดซ้ำให้กับอสูรเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้อสูรตนนั้นได้
มุซันเอาบุญคุณเหล่านั้นมาข่มขู่ให้เหล่าอสูรทำทุกอย่างเพื่อเขา ใช้บุญคุณให้เกิดเป็นความกลัว ทั้งกลัวที่จะถูกตำหนิ กลัวที่จะถูกยึดตำแหน่ง และกลัวที่จะถูกฆ่า จนอสูรปลายแถวแทบไม่กล้าเอ่ยชื่อของเขา ส่วนอสูรแนวหน้าก็ต่างพากันเอาอกเอาใจเขา เพื่อให้ตัวเองได้เป็นคนโปรดและมีชีวิตรอดให้ได้นานที่สุด
“ข้านั้นช่างโชคดีที่ได้รับความเคารพรักจากกลุ่มพิฆาตอสูร”
ส่วน ‘อุบุยาชิกิ คากายะ’ ผู้นำรุ่นที่ 97 ของหน่วยพิฆาตอสูร ถึงแม้ว่าตัวเขาจะไม่ได้ลงสู่สนามรบเองอย่างแม่ทัพทั่วไป ด้วยเงื่อนไขของสุขภาพที่ทำให้เขาไม่สามารถจับดาบต่อสู้ได้เอง แต่เขาก็สามารถปกครองหน่วยพิฆาตอสูรไว้ได้อย่างอยู่มือด้วยการปกครองด้วยความเคารพในความเป็นมนุษย์
คากายะมอบสวัสดิการที่ดีให้กับหน่วยพิฆาตอสูร ทั้งค่าตอบแทนที่เหมาะสมตามลำดับ สวัสดิการคฤหาสน์ดอกฟูจิสำหรับหน่วยพิฆาตอสูรที่ต้องออกเดินทางไกล การรักษาพยาบาลที่คฤหาสน์ผีเสื้อ รวมถึงยังมีที่พักสำหรับหน่วยพิฆาตอสูรอีกด้วย
นอกจากสวัสดิการที่ดีแล้ว คากายะยังเป็นคนที่สุภาพและอ่อนน้อม เคารพและรับฟังความคิดเห็นของผู้น้อย ด้วยความที่ทุกคนเป็นคนเท่ากัน แม้ว่าเขาจะถือตำแหน่งสูงสุดก็ตาม เขาจำชื่อผู้คนในหน่วยพิฆาตอสูรได้ทั้งหมด และยังไปเยี่ยมหลุมศพของหน่วยพิฆาตอสูรที่เสียชีวิตไปแล้วทุกเช้าอีกด้วยความเห็นคุณค่าของทุกชีวิตที่เสียไปในการต่อสู้
หัวข้อ: แนวคิดทางการเมือง จาก Fullmetall Alchemist
ผู้บัญชาการคิงก์ แบรดลีย์ VS ผู้พันรอย มัสแตง
สำหรับการ์ตูนที่อยู่ในประเภทโชเน็นหรือการ์ตูนสำหรับเด็กผู้ชาย Fullmetal Alchemist อัดแน่นประเด็นทางสังคมหนักๆ เข้าไปในเรื่องอย่างแนบเนียนตั้งแต่ตอนที่หนึ่งถึงตอนสุดท้าย ไม่ว่าจะการตั้งคำถามกับความเชื่อทางศาสนา จริยธรรมในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ การทุจริตภายในองค์กรการทหาร ฯลฯ รวมไปถึงการใส่แนวคิดทางการเมืองการปกครองเข้าไปยังตัวละครในเรื่องอย่างชัดเจนอีกด้วย
หนึ่งในธีมที่เรื่องนำเสนอมากที่สุดที่คือการตั้งคำถามต่อแนวคิดความเป็นจักรวรรดินิยมของประเทศอเมทิส ประเทศที่เป็นพื้นหลังในการดำเนินเรื่อง หากมองผ่านๆ เราจะเห็นเครื่องแบบทางการทหารสุดเท่และวิชาการแปรธาตุล้ำๆ แต่ใน Fullmetal Alchemist นั้นทุกอย่างไม่ได้เป็นขาวหรือดำล้วนๆ แม้แต่ฝ่ายที่ถูกวางเอาไว้ในตอนต้นให้เป็นตัวดีก็มีประวัติศาสตร์ที่ดำมืดแปดเปื้อนจากการปกครองจักรวรรดินิยมของประเทศอยู่เหมือนกัน
เหตุการณ์นั้นคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอิชวาล ผู้คนผิวสีเข้มที่อาศัยอยู่ตอนใต้ของอเมทิสที่มีความเชื่อทางศาสนาแตกต่างจากคนอเมทิสตอนกลาง โดยชนวนเหตุเกิดจากทหารอเมทิสพลั้งมือยิงเด็กชาวอิชวาลเสียชีวิต ซึ่งนำไปสู่จลาจลและสงครามกลางเมือง สุดท้ายผู้มีอำนาจถือโอกาสใช้นักแปรธาตุจำนวนหนึ่งในการกำจัดชาวอิชวาลโดยถ้วนหน้า โดยผู้สั่งการในเวลานั้นคือ ‘ผู้บัญชาการคิง แบรดลี’ และหนึ่งในนักแปรธาตุที่ถูกส่งไปคือ ‘ผู้พันรอย มัสแตง’ คู่ debate ที่ 3 ของประเด็นนี้
“ลิดรอนอำนาจทางทหารซะ แล้วเลี้ยงมันไว้ดูเล่น”
แม้ว่าทั้งสองจะมีส่วนในเหตุการณ์โชกเลือดนี้ทั้งคู่ ผลกระทบของมันต่อแนวคิดทางการเมืองทั้งสองคนต่างกันโดยสิ้นเชิง ผู้บัญชาการแบรดลีย์ยึดถือแนวคิดจักรวรรดินิยมและแนวคิดการเอาชีวิตรอดของผู้แข็งแกร่งที่สุดอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับใช้อำนาจทางการทหารกดข่มผู้คนที่เขามองว่าอ่อนแอเอาไว้โดยไม่สนว่าใครจะเสียชีวิตบ้าง แม้แต่ทหารของตัวเอง
“ถึงจะเป็นอุดมคติหรือสิ่งเพ้อฝัน แต่ตอนที่สำเร็จมันจะเป็นแค่สิ่งที่เป็นไปได้”
ส่วนรอย มัสแตงนั้นจะมองไปในทางตรงกันข้าม เมื่อเขาได้รับประสบการณ์ตรงจากสงคราม แทนที่จะต่อสู้เพื่อการครอบครองและอำนาจ ผู้พันมัสแตงกลายเป็นทหารผู้ยึดมั่นอุดมคติอย่างแรงกล้าที่พร้อมจะต่อสู้เพื่อปกป้องคนผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาและผู้บริสุทธิ์ ในระดับที่อุทิศตัวเองในการปีนป่ายสายการบังคับบัญชาเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศที่เขารักสู่ระบอบการปกครองที่ดีกว่าเดิม
หัวข้อ: อาหารที่ดีต้องเป็นแบบไหน จาก Food Wars!: Shokugeki no Soma
นาคิริ อาซามิ VS ยูกิฮิระ โซมะ
หัวข้อที่ 4 จากเรื่อง Food Wars!: Shokugeki no Soma ที่เกิดขึ้นในสถาบันโทสึกิ สถาบันสอนทำอาหาร ‘นาคิริ อาซามิ’ ชายหนุ่มศิษย์เก่าโรงเรียนโทสึกิ ที่เชื่อว่าอาหารรสเลิศจะต้องทำตามหลักการและแบบแผนที่กำหนดไว้เท่านั้น ในขณะที่ ‘ยูกิฮิระ โซมะ’ นักเรียนของสถาบันโทสึกิ เชื่อว่าการทำอาหารนั้นสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่ เพื่อค้นพบรสชาติใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครได้ลอง
“เมนูนี้ห่างไกลจากความเป็นอาหารรสเลิศของจริงนัก”
‘นาคิริ อาซามิ’ ผู้ยึดมั่นในแบบแผนของการทำอาหาร มาเพื่อเปลี่ยนแปลงสถาบันโทสึกิ เพราะเขาเชื่อว่าไม่มีใครเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า ‘อร่อย’ เขาเชื่อว่ามีเส้นแบ่งระหว่าง ‘การทำอาหาร’ และ ‘การทำให้กิน’ ซึ่งการทำอาหารให้อร่อยในแนวคิดของเขานั้นคือการทำตามแบบแผนเท่านั้น ห้ามเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ในอุดมคติของเขานั้นเป็นศิลปะชั้นสูงที่สามารถเข้าใจได้โดยคนที่มีระดับและสติปัญญาล้ำเลิศเท่านั้น คนที่คิดว่าอาหารชั้นสูงคือแค่การใช้วัตถุดิบที่ดีนั้นเป็นการเข้าใจผิด แต่อาหารชั้นสูงที่แท้จริงแล้วคืออาหารที่ทำตามแบบแผนอย่างถูกต้องต่างหาก
อาซามิต้องการเปลี่ยนระบบของโทสึกิให้เข้ากับ ‘ความอร่อย’ ในอุดมคติของเขามากขึ้นด้วยการยกเลิกไม่ให้นักเรียนคิดสร้างสรรค์เมนูด้วยตัวเอง เพราะเขาเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์คือจุดด่างพร้อยของการทำอาหาร เขาจัดให้มีองค์กรกลางที่ป็นผู้เลือกเมนูอาหารและสอนวิธีทำให้กับนักเรียนทั้งหมด
“ถ้าจะชนะ ก็ต้องเป็นเมนูที่รวมความถนัดของเธอไว้เท่านั้น”
ในขณะที่ ‘ยูกิฮิระ โซมะ’ เชื่อว่าการทำอาหารนั้นไม่มีผิดหรือถูก และการใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในอาหารนั้นจะทำให้ได้รสชาติใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน หรือจะยิ่งไปกว่านั้นด้วยการนำเมนูที่เคยคิดสร้างสรรค์เอาไว้มาผนวกรวมกันให้กลายเป็นเมนูและรสชาติแบบใหม่กว่าเดิมก็ทำได้
ความคิดสร้างสรรค์ การพลิกแพลงเทคนิค กลายเป็น ‘ลายเซ็น’ หรือความถนัดของเขาที่ไม่ว่าใครก็จำได้ ถึงแม้ระหว่างทางอาจดูน่าเป็นห่วงไปบ้าง แต่สุดท้ายเขาก็สามารถสร้างอาหารที่มีรสชาติแสนพิเศษออกมาให้ทุกคนได้ชิม (และมีรีแอ็กชั่นสุดแปลก) ได้ในทุกครั้ง
หัวข้อ: ใครกันแน่ที่เป็นมาสคอตของโลกโปเกม่อน จาก Pokemon
ปิกาจู VS อีวุย
และสุดท้ายคู่ debate จากหนึ่งในอนิเมะและเกมยอดฮิตยุค 2000s ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเด็ก 10 ขวบที่เดินทางไปกับโปเกม่อน (สิ่งมีชีวิตแสนพิเศษ) เพื่อพัฒนาความสามารถของตัวเองและคู่หู ด้วยการจับโปเกม่อนป่า ต่อสู้กับเหล่าคู่แข่งรายทาง องค์กรร้ายที่หวังจะใช้พลังของโปเกม่อนในทางที่ผิด และจบลงด้วยการก้าวสู่การเป็นแชมป์ภูมิภาค (หรือเป็นโปเกม่อนมาสเตอร์)
ซึ่งในบรรดาโปเกม่อนกว่า 800 สายพันธุ์ คู่ debate ในครั้งนี้ก็จะเป็นใครไปไม่ได้เลย นอกจากโปเกม่อนที่มักถูกพูดถึงเกี่ยวกับน่ารักและความเป็นที่นิยมจนถึงขั้นมีเกมภาคของตัวเองอย่าง ‘ปิกาจู’ หนูเหลืองตัวจี๊ด มาสคอตของโลกโปเกม่อนในปัจจุบัน คู่หูของซาโตชิตัวเอกในอนิเมะโปเกม่อน และคู่แข่งที่รอวันจะก้าวเข้ามาเป็นมาสคอตกับเขาบ้างอย่าง ‘อีวุย’ โปเกม่อนสุดน่ารักขวัญใจใครหลายคน ที่มีร่างพัฒนาการแตกต่างกันถึง 8 ร่าง 8 ธาตุ แถมยังมีวิธีวิวัฒนาการแต่กต่างกันไปตามแต่ละร่างอีกด้วย
“ปิกา! ปิกะ ปิกะ ปิก ปิก้า”
ปิกะ ปิกะ ปิก ปิกา ปิก ปิกะ ปิก ปิก ปิกา ปิก ปิกา ปิก ปิกะ ปิก ปิก ปิกา ปิกะ ปิก ปิก ปิกา!
“วุย วุย วุย วุย วุ้ย!”
วุย วุย วุย วุย วุย วุย วุย วุย วุ้ย วุย วุย วุย วุย วุ้ย วุย วุย วุย วุย วุย วุย วุ้ย วุย วุย วุ้ย!