“จะเจ็บจำไปถึงปรโลก ฤๅรอยโศกรู้ร้างจางหาย”
– เสียเจ้า, อังคาร กัลยาณพงศ์
รอบเวลาเดินทางมาจนถึงช่วงปลายปี ความพิเศษอย่างหนึ่งของช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาของความรื่นเริง การเฉลิมฉลองให้กับความเหน็ดเหนื่อยมาตลอดทั้งปี การนับเลขถึง 12 หมายถึงการเตรียมก้าวขึ้นสู่สิ่งใหม่ ย้อนกลับไปสู่เลขหนึ่งอีกครั้ง
เรื่องราวและคำอวยพรพื้นฐานหนึ่งของการรับปีใหม่คือการทิ้งสิ่งไม่ดีเอาไว้ในปีนี้ และแน่นอนว่าในช่วงเวลาของความเบิกบานปลายปี หนึ่งในสิ่งที่เราได้ทำหรืออย่างน้อยได้ทบทวน คือกระบวนการของการให้อภัย (forgive) เป็นส่วนหนึ่งของการทิ้งความรู้สึกบางอย่างไว้ โดยเฉพาะความคุมแค้นต่อเรื่องราวร้ายๆ ที่มักจะมีอริ มีคู่กรณีเป็นผู้สร้างรอยหมายบางอย่างไว้ให้เรา
การให้อภัยดูจะเป็นสิ่งที่ถูกสอนให้กระทำตั้งแต่เด็กๆ การให้อภัยดูจะเป็นทั้งคุณลักษณะและการกระทำอันพึงประสงค์อย่างหนึ่ง แต่ทว่าการให้อภัยที่เราพูดกันอยู่เสมอนั้น นอกจากว่าบางครั้งจะทำแสนยากแล้ว อันที่จริงการให้อภัยก็ดูจะเป็นมโนทัศน์ (concept) ที่ค่อนข้างซับซ้อน หลายครั้งการให้อภัยนั้นต้องประกอบด้วยการตั้งอกตั้งใจและการคิดทบทวนอย่างจริงจัง บางครั้งเราเองก็อาจจะยังไม่อาจให้อภัยได้ แถมการให้อภัยนังไปสัมพันธ์กับสิ่งยากๆ เช่นการลบลืมรวมถึงความยุติธรรมด้วย
ในห้วงเวลาแห่งความสุขและการผลัดขึ้นสู่ศักราชใหม่ ประกอบกับเมื่อต้นเดือนธันวาคม มหาวิทยาลัย North Carolina State University เพิ่งเผยแพร่งานศึกษาว่าด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้การให้อภัยในเด็ก ในช่วงเวลาสุขสันต์นี้จึงอาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะกลับมาทบทวนเกี่ยวกับการให้อภัย ทำความเข้าใจกระบวนการของการให้อภัย โดยสุดท้ายก็ไม่ได้หมายความว่าเราเองจำต้องให้อภัยไปซะทุกเรื่อง แต่ความเข้าใจเรื่องการให้อภัยก็อาจจะเป็นกระบวนการที่ดีหนึ่งในการจัดการกับอดีตและร่องรอยของคนอื่น
เราให้อภัยเธอ: กรอบคิดเรื่องการให้อภัยที่สัมพันธ์ทั้งความรู้สึกและพฤติกรรม
การอภัยอันที่จริงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนซับซ้อนในตัวเอง ข้อสังเกตเรื่องความยากอาจสัมพันธ์กับงานศึกษาจำนวนมากที่พยายามทั้งทำความเข้าใจตัวการให้อภัยเอง ไปจนถึงความพยายามในการขุดพรวนและมองหาผลกระทบหลายๆ ด้านของการให้อภัย (เช่นว่าส่งผลกับสุขภาพใจมั้ย ผลเชิงสังคมเป็นยังไง) นอกจากการศึกษาในเชิงจิตวิทยาแล้วการให้อภัยยังสัมพันธ์กับมิติทางศีลธรรมและเทววิทยาที่สืบย้อนกลับไปได้อย่างยาวนาน
ทีนี้ นอกจากความเข้าใจและการศึกษาแล้ว โดยตัวเราหลายครั้งก็อาจจะเจอความซับซ้อนยอกใจเรื่องการให้อภัย เช่นว่า เราเองอยากเป็นคนให้อภัยแหละ บางครั้งเพื่อนทำเราโกรธ เราเองอาจจะบอกไปว่า โอเค เราให้อภัยแล้วนะ เราอาจจะบอกว่าเราไม่โกรธแล้ว แต่ความรู้สึกขุ่นข้องบางอย่างยังล่อยลอยอยู่ การให้อภัยสัมพันธ์กับอีกหลายรายละเอียด เช่น เราให้อภัยแล้ว การตัดสินใจว่าจะให้อภัยจึงสัมพันธ์กับการกระทำ (action) ฉันให้อภัยเธอจึงเป็นการกระทำอย่างหนึ่ง ซึ่งการกระทำนี้ก็จะไปส่งผลกับการกระทำอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
ดังนั้น นักวิชาการเช่น จูเลีย เอ็กซ์ลีน (Julie Juola Exline) และ รอย บูไมสเตอร์ (Roy Baumeister) ที่เสนอเรื่องการให้อภัยจึงเสนอว่า การให้ภัยเป็นสิ่งที่สัมพันธ์ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ปัจจัยภายนอกคือการกระทำ (behavioral) ส่วนปัจจัยภายในคือความรู้สึก (emotional) โดยข้อสังเกตนี้ทำให้เราเห็นความยอกย้อนของการให้อภัยที่เชื่อมโยงมิติส่วนบุคคลเข้ากับมิติสาธารณะ เช่น เราอาจจะแสดงให้คนอื่นหรือคู่กรณีรู้ว่าเราให้อภัยคนนั้นแล้ว แต่ในใจเราอาจจะยังขุ่นข้องอยู่ แต่ในทางกลับกันเราอาจจะไม่รู้สึกอะไรแล้ว แต่ก็ไม่ได้แสดงการให้อภัยออกไปเพราะก็ไม่ได้อยากข้องเกี่ยวกันต่อ ซึ่งก็เป็นการชี้ให้เห็นความยอกย้อนของการให้อภัยที่ทั้งเกี่ยวกับความรู้สึกส่วนตัวและผลทางสังคมบางประการ
กลับไปเป็นอย่างเก่า ลบลืม และความสำคัญของความยุติธรรม
แน่นอนว่าการให้อภัยไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าการให้อภัยต้องเป็นแบบไหน โดยเฉพาะในแง่ของการกระทำและความสัมพันธ์ต่อเนื่อง การให้อภัยไม่ได้หมายความว่าเราต้อง ‘กลับไปเป็นเหมือนเดิม’ เพราะบางเรื่องเราอาจจะให้อภัยได้ แต่ไม่จำเป็นต้องกลับไปเป็นอย่างเก่าเช่นความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ
เวลาพูดถึงการให้อภัย เราก็จะมีวลีสำคัญ เช่น “ให้อภัยแต่ไม่ลบลืม” (“Forgive but not forget.”) ตรงนี้เลยทำให้การให้อภัยยิ่งซับซ้อนเข้าไปใหญ่ เราให้อภัยในเรื่องหนึ่งๆ แต่เราไม่ได้ลืมเลือนสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น ถ้าเราย้อนอ่านกวีนิพนธ์ของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ข้างต้น เราอาจจะลบคำว่าเจ็บออก คือ เราจำเรื่องนี้ได้ เราอาจจะเจ็บปวดได้ แต่เราไม่เจ็บหรือเจ็บแค้นกับเรื่องนี้อีกต่อไป ในทางกลับกันบางครั้งเราหายเจ็บแค้นเพราะเราลืมเรื่องนั้นๆ
ในแง่นี้ การลืมไปก็ฟังดูน่าสนใจว่าเราอภัยหรือยัง การลืมในแง่หนึ่งอาจหมายถึงการค้นพบว่าเรื่องราวหรือรอยแผลนั้นอาจไม่สำคัญที่เราต้องแบกรับไว้อีกต่อไป แต่ถ้าเราแค่ลืมไป เมื่อเราเรียกความทรงจำนั้นขึ้นมา บาดแผลนั้นยังคงทิ่มแทงให้เราคับแค้นใจต่อ นั่นก็อาจจะแปลว่าเรายังไม่ให้อภัยกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น
โดยในอีกด้าน เราอาจรู้สึกว่าการให้อภัยดูจะเป็นข้อเรียกร้องที่มีต่อผู้ถูกกระทำเป็นสำคัญ ในแง่นั้นการให้อภัยจึงอาจเป็นคนละเรื่องกับการให้ความยุติธรรม หมายความว่า การให้อภัยไม่ได้หมายถึงการลืมหรือการลบการกระทำหรือบาดแผลที่เคยถูกสร้างเอาไว้ ในทางกลับกันความยุติธรรมเช่นการลงโทษหรือการยอมรับผิดเองก็อาจจะเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของการให้อภัย
ว่าด้วยเรื่องอดีต กับจิตวิทยาและขั้นตอนของการให้อภัย
ในแง่กระบวนการ การให้อภัยมีนิยามค่อนข้างหลายระดับหลายกระบวนการ ขึ้นอยู่กับการแยกแยะขั้นตอน แต่หลักๆ แล้วการให้อภัยมักสัมพันธ์กับการกลับไปทบทวนอดีตและก้าวออกจากความเจ็บร้าว หรือความค้างคาใจในฐานะสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นๆ ในงานศึกษาชื่อ ‘The Enright Process Model of Psychological Forgiveness’ ของ ฟิลลิป ชัตตอน (Philip Sutton) พูดถึงขั้นตอน 4 ขั้นสู่การให้อภัยอันประกอบไปด้วยขั้นเปิดเผย (uncovering), ขั้นตัดสินใจ (deciding), ขั้นพยายาม (working), และขั้นก้าวข้าม (deepening)
ในงานศึกษาและกระบวนการเรื่องการให้อภัยของคุณฟิลิป แกเองค่อนข้างเข้าใจว่าความเจ็บแค้นและการให้อภัยนั้นสัมพันธ์กับความอยุติธรรม ในขั้นตอนแรก คือ ขั้นเปิดเผย หลักการของขั้นนี้คือการกลับไปเผขิญหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น คนที่จะให้อภัยมีความจำเป็นต้องกลับไปรับรู้ว่าความไม่ยุติธรรมหรือบาดแผลนั้นได้ทำอะไรกับชีวิตของคนคนนั้น ขั้นนี้คือการกลับไปเปิดแผลที่เกิดขึ้น ไปรับรู้ เข้าใจ และครุ่นคิดว่า ใคร ทำอะไร ตรงนี้ซับซ้อนนิดหนึ่ง คือ นักวิชาการพยายามชี้ให้เห็นว่าในเรื่องร้ายที่ส่งผลลบกับเรานั้นมีมิติทางความรู้สึกเข้าไปผูกโยงด้วย เช่น การที่คนรักเราถูกรถชน ในเหตุการณ์นั้นนอกจากความเสียหายแล้ว เรายังเกิดความรู้สึกบางอย่างผูกโยงเข้ากับเหตุการณ์ แต่เราสามารถรับรู้ความรู้สึกของเรา และให้อภัยเพื่อทุเลาความรู้สึกเจ็บปวดให้บางเบาลงได้
ในขั้นแรกของการให้อภัยดูเป็นขั้นมีรายละเอียดพอสมควร ทั้งในแง่ของการกลับไปรื้อฟื้นความรู้สึกที่เราติดค้างในใจ บางครั้งการทำความเข้าใจนี้อาจสัมพันธ์กับการสำรวจสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย เช่น การสำรวจถึงเรื่องที่เกิดขึ้นจากมุมต่างๆ ความพยายามทำความเข้าใจคนที่สร้างรอยแผลให้ ไปจนถึงอาจเกี่ยวข้องกับการเข้าใจโลก เข้าใจความยุติธรรมและความอยุติธรรมของโลกนี้ กระทั่งการทำความเข้าใจข้อเสียของการเก็บงำความรู้สึกเชิงลบไว้ เพื่อนำไปสู่การทำงานกับความรู้สึกนั้นๆ และเข้าสู่การให้อภัยได้ในท้ายที่สุด
ขั้นที่สองและสามค่อนข้างเกี่ยวข้องกัน คือ ขั้นของการตัดสินใจและการพยายามทำให้เกิดการให้อภัยขึ้นได้ ในแง่นี้ทำให้เราเห็นว่าการให้อภัยเป็นการกระทำที่เราสามารถ—และอาจจะต้องเลือกพร้อมทั้งทำอะไรบางอย่างเพื่อให้เราสามารถให้อภัยได้ในท้ายที่สุด ในขั้นของการทำให้การให้อภัยเกิดขึ้น (working phrase) งานศึกษาระบุการศึกษาเชิงคลินิกว่า ในขั้นนี้คนที่ให้อภัยมักผ่านกระบวนการคล้ายๆ กับการมองต่างมุม คือ เป็นการพยายามทำความเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง และพยายามมองอีกด้านของผู้กระทำซึ่งนำไปสู่การมองคนเหล่านั้นในแง่ดี และมองว่าบทเรียนทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นของขวัญทางศีลธรรม (moral gift) ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
ขั้นสุดท้ายของการให้อภัยจะคล้ายๆ เป็นขั้นของการเรียนรู้ ทำนองว่า แม้ว่าจะเป็นผู้ถูกกระทำ รักษาความคุมแค้นไว้ และปลดปล่อยความคุมแค้นนั้น ขั้นนี้นักจิตวิทยาค่อนข้างมองไปในเชิงจิตวิทยาพัฒนาการ คือ คนที่ให้อภัยก็ได้บทเรียนบางอย่าง ได้ออกจากคุกของการไม่ให้อภัยและคุกของความรู้สึก บางแนวทางจึงเน้นในแง่ของการรับรู้ว่าสิ่งที่ผ่านไปแล้วแต่เรายังฝังใจอยู่ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต การให้อภัยส่วนหนึ่งจึงเป็นการไม่ยอมให้หนามที่ยอกใจนั้นยอกใจของเราต่อไป ในขั้นนี้นำไปสู่การผ่อนคลาย ความเข้าใจโลก การได้กลับมาเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ อีกครั้ง
ทั้งหมดนี้เป็นมุมมองของการให้อภัยที่สัมพันธ์กับจิตวิทยา ในทางจิตวิทยาค่อนข้างมองว่าการให้อภัยเป็นพฤติกรรมเชิงบวก สัมพันธ์กับการปลดปล่อยอดีต ปลดปล่อยความรู้สึก โดยในแง่ของการศึกษาเรื่องการให้อภัยในมุมนี้ก็เลยเน้นไปข้อดีของการให้อภัย เช่น ในงานศึกษาของมหาวิทยาลัย North Carolina State University ที่พูดเรื่องการปลูกฝังคอนเซปต์การให้อภัยก็ระบุว่า การให้อภัยเป็นขั้นตอนของการยุติความขัดแย้งและฟื้นฟูควาสัมพันธ์ระหว่างบุคคล งานศึกษาชิ้นอื่นๆ ก็จะย้ำผลเชิงบวกเช่นสุขภาพจิตของการให้อภัย บางชิ้นเสนอว่าการให้อภัยทำให้คนที่ได้รับการให้อภัยไม่ทำซ้ำ
ในแง่นี้เราต้องอย่าลืมว่าการให้อภัยเป็นภาระของการผู้ถูกกระทำ ดังนั้น การให้อภัยถ้ามองตามโมเดลของคุณฟิลิป การให้อภัยเป็นเสรีภาพในการเลือก ไม่ใช่ข้อบังคับ และแน่นอนว่าการให้อภัยมีรายละเอียดและมีเงื่อนไขของมันเอง บางเรื่องต้องการความยุติธรรม ในงานศึกษาเรื่องการปลูกฝังการให้อภัยกับเด็กๆ ก็ไม่ได้เรียกร้องให้เด็กให้อภัย แต่เน้นไปที่การรับรู้ความรู้สึกและการแสดงการขอโทษอย่างจริงใจ
ดังนั้นแล้ว การจะให้อภัยหรือการจะรักษาความคุมแค้นก็เป็นสิ่งที่เราเลือกกระทำได้และคงไม่มีทางเลือกไหนที่ถูกต้องกว่าทางใด ถ้าเรารู้สึกว่าไม่อยากแบกความรู้สึกไว้ก็อาจจะทดลองเดินตามขั้นตอนของการให้อภัย แต่ถ้าอยากรักษาความแค้นไว้จนกว่าจะเกิดความยุติธรรม เราก็มีบทความเกี่ยวกับเทวี Nemesis เทวีแห่งความคุมแค้นและความยุติธรรมให้อ่านด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon