ในฐานะผู้หญิงที่ต้องรับมือกับอาการเลือดสาดอย่างเลี่ยงไม่ได้อยู่ทุกเดือน บ้างมีของแถมทั้งปวดท้องเอย ปวดหลังเอย ต่างเข้าอกเข้าใจความยุ่งยากในช่วงวันนั้นของเดือนเป็นอย่างดี ผ้าอนามัยดีที่ช่วยให้สบายเนื้อสบายตัว ก็คล้ายกับมีเพื่อนยามยาก ต่างเพียงต้องใช้เงินเข้าแลก การเรียกร้องสวัสดิการรัฐให้มีผ้าอนามัยฟรีจึงเกิดขึ้น
เคยมีการคำนวณไว้ ตลอดทั้งชีวิตผู้หญิงจะมีรอบเดือนเฉลี่ย 358 ครั้ง และต้องใช้จ่ายกับผ้าอนามัยกว่า 5.8 หมื่นบาท โดยไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เก็บภาษีผ้าอนามัย เท่ากับภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป
The MATTER ชวนไปส่องว่าทำไมบ่อยครั้งการร้องขอผ้าอนามัยฟรี เพื่อลดภาระที่ผู้หญิงต้องแบกรับ มักตามมาด้วยเสียงวิพากษ์ ว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่จำเป็น พร้อมทำความเข้าใจกระบวนการสร้างความเป็นธรรมเรื่องเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ ผ่านสวัสดิการรัฐ
“ใครๆ ก็สนใจสิทธิมนุษยชนรายประเด็นได้” คือสารตั้งต้นสำคัญที่ ลูกแก้ว โชติรส นาคสุทธิ์ นักเขียนอิสระ ผู้ที่สนใจประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ และร่วมส่งเสียงขับเคลื่อนประเด็นผ้าอนามัยมาอย่างสม่ำเสมอ ต้องการสื่อสารถึงคนวงกว้าง ต่อให้คุณ ‘ไม่อิน’ ก็ไม่ใช่ข้ออ้าง เพราะมนุษย์ต่างการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
คุณไม่จำเป็นต้องเป็นแรงงาน แต่คุณพูดเรื่องสิทธิแรงงานได้
คุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนท้อง แต่คุณสามารถพูดสิทธิลาคลอดได้
คุณไม่จำเป็นต้องเป็นผู้พิการ แต่คุณสามารถเรียกร้องทางเดินเท้า
แม้บ่อยครั้งลูกแก้วจะได้รับเสียงสะท้อนกลับที่ชวนอึดอัดใจก็ตาม “ทุกครั้งที่มีใครส่งเสียงออกมามันดูน่ารำคาญไปหมด เขาไม่ตั้งใจฟังด้วยซ้ำ ทั้งที่มันอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล”
เสียงสะท้อนกลับที่ว่า ส่วนหนึ่งก็มาจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง อย่างผู้หญิงที่มีประจำเดือนเองที่ว่า “ไม่เห็นแพงเลย ฉันก็ใช้ได้” บางครั้งก็มาในรูปแบบภาพจากบรรดาเว็บนักขาย ทั้งสีส้ม สีฟ้า พร้อมข้อความอย่าง “นี่ไงถ้วยอนามัยราคา 32 บาท”
“เงื่อนไขทางเศรษฐกิจของทุกคนไม่เหมือนกัน แต่ตอนนี้หลายคนเอามาตรฐานเศรษฐกิจของตัวเองมาตัดสิน ว่าผ้าอนามัยแพงหรือไม่แพง”
ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำสุดของไทยยังอยู่ที่ 331 บาทต่อวัน แต่เงินที่ต้องเสียไปผ้าอนามัย หากคุณเป็นคนที่มีการใช้อย่างเหมาะสม คือ เปลี่ยนระหว่างวัน ก็อาจต้องจ่ายสูงถึง 400 บาทต่อเดือน
นั่นจึงเป็นจุดสำคัญของลูกแก้ว ที่พยายามซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อชี้ว่าสวัสดิการผ้าอนามัยฟรี จำเป็นต้องมีเพื่อคนที่เข้าไม่ถึง หรือซื้อแล้วไปเบียดเบียนความจำเป็นอื่น ๆ จนกระทบคุณภาพชีวิตในภาพรวม
ลูกแก้วเปรียบเทียบประเด็นนี้ ไว้กับ ‘ทุนเรียนฟรี’ ไว้อย่างน่าสนใจว่า เป็นนโยบายพื้นฐานที่เกือบทุกประเทศ เพราะต้องการสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยไม่ได้สนใจว่าหลายคนจะมีความพร้อมที่มากไปกว่านั้นแล้ว “มันจำเป็นต้องมีตาข่ายสวัสดิการขั้นต่ำรองรับ”
“ถ้าเรามองผ้าอนามัยเป็นเรื่องเดียวกัน ใครมีเงิน อยากจะใช้แบบชาเขียว ชาร์โคล กลิ่นพีช ก็ใช้เลยเงินเธอ แต่ขั้นต่ำต้องมีรองรับคนที่ไม่พร้อมเข้าไม่ถึงผ้าอนามัยทั่วไป”
‘ใคร ๆ ก็สนใจสิทธิมนุษยชนรายประเด็นได้’
“บางเรื่องที่เรารู้สึกว่าคุณภาพชีวิตเราโอเคแล้ว เราอาจไม่อยากพูด ก็ฟังอยู่ห่าง ๆ ส่วนตัวมองว่าไม่เป็นไรเลย แต่เราจะไปขัดคนที่เขาพูดทำไม ถ้ามันมีคนหนึ่งคนที่ประสบปัญหาอยู่แล้วอย่างส่งเสียงเขา”
ข้อยืนยันหนึ่งที่ลูกแก้วมองว่าสอดคล้อง กับสมมติฐานที่ว่า “ใคร ๆ ก็สนใจสิทธิมนุษยชนรายประเด็นได้” ก็คือเสียงผู้ชายที่แตกออกเป็นหลายทางทั้งสนับสนุน อยู่นิ่ง ๆ รวมถึงโวยวาย
“เรานึกไม่ออกว่าเขาเสียอะไร ถ้าเป็นเพราะรัฐกำลังจะเอาเงินจากกระเป๋าเขาดึงออมาเป็นสวัสดิการผ้าอนามัย เราคงรู้สึกใช่เธอเสียประโยชน์ แต่นี่หลายคนกำลังจะได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ โดยที่ไม่มีทางรู้เลยว่าจะเป็นลูกคุณ หลานคุณ”
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นในสังคม ที่ผู้คนอาจไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่กลับมีส่วนร่วมแสดงความเห็นโดยไม่ได้สนว่าใครเป็นใคร อย่างกรณีเรือดำน้ำ การก่อสร้างอนุสาวรีย์ เป็นต้น
ไม่นานมานี้พรรคเพื่อไทยได้ยกนโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้ามาพูดถึง โดยทำแผนประมาณการงบประมาณไว้ว่า รัฐต้องจ่าย 1.9 ล้านบาท โดยสามารถดึงเงินมาได้จาก 2 ส่วน คือ การอุดหนุนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มจากภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ของผ้าอนามัย คิดเป็นเงิน 5 พันล้านบาทโดยประมาณ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณอีกประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท นั่นก็ทำให้เห็นภาพคร่าว ๆ ของราคาที่ต้องจ่าย
ขอเพียงได้รับการปฏิบัติที่เท่ากัน
คงอดไม่ได้ที่เมื่อเกิดความขัดแย้งในมิติที่เกี่ยวข้องกับเพศ โดยเฉพาะผู้หญิง คำว่า ‘เฟมินิสต์’ จะถูกโยงเป็นหนึ่งปมที่ไม่เคยถูกคลี่จนคลายเสียที
‘ทำไมเฟมินิสต์ไม่ส่งเสียงเรื่องผู้ชายบ้าง’ กลายเป็นหนึ่งคำโต้แย้งที่ลูกแก้วพบเห็นอยู่บ่อยครั้ง เมื่อมีข้อถกเถียงเรื่องผ้าอนามัย เธอจึงอยากย้อนกลับไปเน้นย้ำแก่นสำคัญที่ว่า ทุกคนที่มีปัญหาสามารถส่งเสียงของตนเองได้
“ช่วงหนึ่งซิฟิลิสระบาดหนักมาก ผู้ชายก็สามารถส่งเสียงว่าอยากแก้ปัญหายังไง อยากเรียกร้องสวัสดิการรักษาฟรี เราอยากจะฟังด้วยซ้ำ อินไม่อินเราไม่ขัดขวางแน่นอน”
ลูกแก้วเล่าว่า ความตั้งใจในทุกครั้งที่สื่อสารเรื่องผู้หญิง หรือเพศที่หลากหลาย ก็เพียงแต่อยาก “อุดรอยรั่ว หรือกลบความเปราะบางนั้น ให้คนยืนเท่ากัน ไม่ใช่ให้ใครยืนเหนือกว่าใคร” แต่เมื่อถูกเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้ง ก็อดสงสัยไม่ได้ว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่สังคมควรเข้าใจร่วมกันนานแล้วเหรอ
“คนเข้าใจผิดอยู่มาก ว่าเฟมินิสต์อยากให้ผู้หญิงเป็นใหญ่ ผู้หญิงต้องมีอำนาจ ไม่ใช่ แค่อยากให้ทุกคนเท่ากัน ไม่ใช่แปลว่าต้องสรีระเหมือนกัน หน้าที่การงานเหมือนกัน แต่มันคือวิธีคิดของสังคม เมื่อมองคนเท่ากันก็จะได้รับการปฏิบัติที่เท่ากัน”
ส่วนเหตุผลอีกประการ ที่ทำให้การขับเคลื่อนจำเป็นต้องเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย ก็เพราะ “ทุกปัญหามันมีรายละเอียด ที่ต้องการการแก้ไขที่ต่างกัน” ไม่เพียงประเด็นของผ้าอนามัย
เข้าใจความเป็นธรรมเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์
“เราเป็นพ่อแล้วมีลูกสาว เราอยากให้ลูกสาวใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และปลอดภัยในทุกวัน ในวันที่เขามีประจำเดือนเราเข้าใจในเชิงสรีระร่างกาย แต่เราซัพพอร์ตให้เขาไปโรงเรียนได้มั่นใจในวันที่เป็นเมนส์
ทุกวันนี้บรรดา ‘พันธมิตร’ ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของปัญหามีส่วนร่วมมากขึ้นเรื่อย ๆ กับการขับเคลื่อนนโยบายในมิติวิถีชีวิต ด้วยแรงสนับสนุนของการให้การศึกษา ตามความเห็นของ จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา
“การทำความเข้าใจช่วยนะ คุยกันตั้งแต่ด่ากันวงแตก แบ่งขาวดำชัดเจน ไปจนถึงระดับสร้างการเรียนรู้และทำความเข้าใจ ผ่านบรรยากาศทางสังคมที่เปิดโอกาสให้ถกเถียง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ถึงระดับวัฒนธรรม”
คงไม่ค้านสายตา ถ้าจะมองว่าการเคลื่อนไหวเชิงสังคมตลอดหลายปีที่ผ่านมา ส่งเสริมให้เรื่องผ้าอนามัยเป็นประเด็นสาธารณะได้อย่างดี ผ่านการระดมเสียงอย่างเป็นระบบ ตัวอย่างที่เห็นภาพ ก็อย่างลงชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org
แต่เมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากรัฐบาล เสียงหัวเราะของจิตติมาดังขึ้น ก่อนที่จะเล่าว่า ยังไม่เห็นนโยบายจากรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม “เห็นแค่เสียงของความต้องการ ที่แหลมคมและชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ”
จิตติมา ย้อนให้ฟังว่า การเรียกร้องไม่ได้เจาะจงเพียงเรื่องผ้าอนามัย ควรเป็นสวัสดิการเท่านั้น แต่ครอบคลุมความเข้าใจอื่น อย่างคำนึงถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่ชัดเจน คำนึงถึงชีวิตของคนในสังคมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เช่น การสมรสเท่าเทียม การรับรองอัตลักษณ์
‘เอาตังค์มาจากไหน’ มักเป็นคำถามที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีความพยายามผลักดันให้เกิดนโยบายรัฐ จิตติมา สะท้อนต้นตอเดิมที่มองนโยบายในเชิงการสงเคราะห์ แต่ไม่เคยขยับไปสู่การออกแบบสวัสดิการที่สร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น “สวัสดิการไม่ใช่เรื่องที่รัฐจะต้องจ่ายเงินให้เสมอ”
แม้ในปีนี้ข้อถกเถียงเรื่องผ้าอนามัยฟรี อาจขยับไปในมิติอื่น ๆ เพิ่มเติม แต่ปัญหาตั้งต้นเดิมที่ว่าทำไมผ้าอนามัยถึงแพง ก็ยังคงรอการแก้ไขไม่ต่างกัน สะท้อนว่า ความเป็นธรรมเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ยังคงเป็นสิ่งที่คนไทยเฝ้ารอ
ข้อมูลของ Rocket Media Lab สำรวจการเก็บภาษีผ้าอนามัยจาก 69 ประเทศทั่วโลก พบว่าลักษณะการเก็บ หลัก ๆ มี 3 รูปแบบ อย่างในเคนย่า ยกเว้นภาษีไปเลย อีกแบบ คือ เก็บต่ำกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ทั้งในเบลเยียม เยอรมนี หรือเพื่อนบ้าเราอย่างเวียดนาม
สำหรับไทยนั้น ใช้รูปแบบเก็บเท่าภาษีมูลค่าเพิ่มในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป เช่นเดียวกับใน ฮังการี ฟินแลนด์ บัลแกเรีย อาร์เจนติน่า จีน
มีไม่น้อยมองว่าความพยายามผลักดันให้เลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) เป็นเพียงการแสดงออกทางสัญลักษณ์ ไม่ได้ทำให้ผู้คนเข้าถึงผ้าอนามัยได้อย่างกว้างขวาง การเรียกร้องประเด็นนี้จึงอาจไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด
จิตติมา จึงได้กล่าวถึงอีกประเด็น ที่ต้องทำควบคู่กัน คือ การจัด ‘โครงสร้างราคา’ ที่ต้องชัดเจนของผ้าอนามัย เสมือนที่ทำกับสินค้าอุปโภค บริโภค ที่มีการควบคุมโฆษณา ซึ่งก็อาจจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง
“สินค้าที่เกี่ยวกับเพศ มันมีมายาคติหลายอย่างที่การตลาดเข้าไปทำงาน แล้วเขาก็ลงทุนทำ คงต้องยอมรับว่ารากลึกของสังคมไทย ฝังให้เรื่องเพศเป็นสิ่งน่าหวาดกลัว จึงไม่แปลกที่จะเกิดอาการรับไม่ได้ปรากฏให้เห็น
“เราคัดค้าน หลายครั้งก็เพราะเราไม่รู้” จึงไม่มีหนทางไหนที่ดีไปกว่าบอกเล่าไปเรื่อยๆ ซ้ำๆ อย่างที่จิตติมาไม่ละความพยายาม
หากมีใครสักคนมาถามคุณว่าทำไมคุณควรเข้าใจ มีส่วนร่วม หรือน้อยที่สุดไม่ปฏิเสธ ในโอกาสของการขับเคลื่อนให้ผ้าอนามัย เป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการรัฐ แล้วคุณยังไม่มีคำตอบ ลองใช้เหตุผลนี้สิ “เราอยากเป็นคนหนึ่งที่ส่งเสริมสุขภาพทางเพศให้กับคนใกล้ชิด”
Illustration by Kodchakorn Thammachart