ก้มหน้าก้มตาทำงาน แต่ไหงพอใกล้ๆ ปลายเดือนเงินแทบจะไม่เหลือ ทำงานมาเป็นปีๆ เงินเก็บก็ไม่มี บ้านก็ยังไม่มี รถก็ยังไม่มี เรื่องเก็บเงินแต่งงานเตรียมมีลูกมีเต้านี่ยิ่งไม่ต้องฝันเลย เอาตัวเองรอดไปเดือนๆ ได้ก็เก่งเต็มที่แล้ว
คน Gen Y หรือพวก Millennials เป็นกลุ่มคนถูกเพ่งเล็งว่า ไอ้เจ้าพวกที่โตมากับอินเทอร์เน็ตพวกนี้ตอนนี้ถึงวัยทำงานแล้ว ดูท่าจะป้อแป้ จะหนี้ท่วม ทำงานมาตั้งนานยังไม่เห็นจะสร้างหลักฐานอะไร จิบกาแฟแก้วละเป็นร้อย โพสต์อาหารหรูหรา ไปเที่ยวต่างประเทศ แต่สุดท้ายยังไม่มีอะไรเป็นของตัวเอง
มนุษย์ทำงานอย่างเราๆ มนุษย์เงินเดือนที่อายุประมาณ 25-35 ปี ก็อาจจะรวดร้าวในใจเล็กๆ ว่า เออ ทำงานมาแสนนานก็จริง แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันอย่างที่ว่า แถมด้วยวิธีจากการแบ่งด้วยเจนเนอร์เรชั่นพวกคนรุ่นเรามักถูกกล่าวหาว่านี่ไงเพราะโตมากับอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดียร์ โตมากับความสะดวกสบาย สุดท้ายเลยเป็นพวกไม่ขยัน ไม่อดทน ไม่อดออม มัวแต่กินหรู ท่องเที่ยว สุดท้ายแล้วก็ตั้งตัวไม่ได้ ไม่มีอะไรเป็นของตัวเอง
อโวคาโด้บดกับกาแฟแก้วละร้อย
‘กาแฟแก้วละร้อย’ ดูจะเป็นหนึ่งในเป้าโจมตีสำคัญที่ชี้ว่านี่ไง แกมันฟุ่มเฟือย
ในทำนองเดียวกันมี Tim Gurner เศรษฐีวัย 35 ออกมาบอกว่า ที่คนรุ่นใหม่ซื้อบ้านไม่ได้ก็เพราะการมีไลฟ์สไตล์ที่แพงเกินไป เอาเงินไปซื้ออโวคาโด้ ซื้อกาแฟกิน ทำตัวตามเซเลบต่างๆ ไปเรื่อยเปื่อย คำบ่นก็ประมาณๆ ที่คนยุคก่อนหน้ามองคนรุ่นใหม่แหละว่า เอ้อ กาแฟแก้วละเป็นร้อย กินข้าวนอกบ้านตลอดเวลา แถมต้องไปเที่ยวกันทุกปี แล้วมันจะไปเหลืออะไรล่ะฟะ
นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะหลังจากนั้นก็มีการลงไปขบคิดจากสื่อต่างๆ ว่า เอ๊ะ มันเป็นเพราะไอ้พวกคนรุ่นใหม่ไม่ได้เรื่องจริงๆ ไหม หรือเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย เป็นเรื่องของตลาดงานที่หดตัวรึเปล่า (อย่าลืมว่า Baby Boomer เกิดในช่วงที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดดจากภาวะหลังสงคราม) ถ้ายังจำได้ทั่วโลกต่างกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาของระบบทุนนิยมที่ก้าวเข้าสู่จุดอิ่มตัว ทั่วโลกวิฤติทางการเงินมากมายที่ต้องตามแก้ไขกันมาตลอด
นอกจากนี้ยังมีประเด็นอีกว่า คนมันไม่ประหยัดกันจริงๆ หรือสิ่งต่างๆ มันแพงสวนทางกับรายรับ จริงๆ แล้วเราออกไปกินข้าวนอกบ้านกันกี่ครั้ง กาแฟแก้วละร้อยเรากินกันกี่แก้วต่อสัปดาห์ แล้วเอาเงินพวกนั้นหยอดกระปุกนำไปสู่การซื้อบ้านแล้วมันพอจริงไหม สำหรับบ้านเราเองก็มีหลายเสียงบอกว่า กาแฟเนี่ยถ้าประหยัดไปวันละ 100 เดือนนึงก็ 20 แก้ว ประหยัดได้ 2,000 บาท แต่ถ้ากินกาแฟแล้วมีพลังกายพลังใจในการทำงานมากขึ้น ก็น่าจะเป็นรายจ่ายที่คุ้มค่ากับการลงทุนไหมนะ บางทีเราอาจจะให้ค่ากับบางอย่างที่พิเศษนิดหน่อยเพื่อคุณภาพชีวิต
Gen Y ไทย อยู่ตรงไหน ตกลงห่วยจริงแค่ไหน
โดยทั่วๆ ไปเด็กจบใหม่เงินเดือนพื้นฐานคงอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท จากการสำรวจพบว่ารายได้เฉลี่ยของคนรุ่นใหม่อยู่ที่ประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน จากการสำรวจบอกว่าคนรุ่นใหม่ชอบรายได้แบบที่มีคอมมิชชั่นมากกว่าแบบนิ่งๆ (ดังนั้นคงนับว่าขี้เกียจไม่ได้มั้งเพราะระบบนี้ทำมากได้มาก) ถ้ามองจากคนรอบๆ ตัวมีเด็กรุ่นใหม่รายได้เดือนละ 20,000 กลางๆ ก็ถือว่าโอเคแล้ว ซึ่งแน่ล่ะว่าแต่ละเดือนๆ เงินเดือนเท่านี้แต่เราก็มีรายจ่ายอื่นๆ ที่ต้องจ่ายมากมาย เช่นค่าเช่าที่พัก ค่าเดินทางเข้าไปทำงาน ค่ารักษาอาการเจ็บป่วย ค่าซ่อมแซมบ้าน ค่าใช้จ่ายสำหรับที่บ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต สารพัดมากมายก่ายกอง
แถมสมัยนี้ ถ้าจะซื้อบ้านซักหลังหนึ่งก็ต้องคำนึงถึงอะไรหลายๆ อย่าง เพราะการคมนาคมก็ไม่ดี จะไปซื้อไกลๆ สุดท้ายก็กลายเป็นว่าใช้เวลาอยู่บนถนนทิ้งไปวันๆ ถ้าจะเอาทำเลดีๆ มีรถไฟฟ้า (รถไฟฟ้าก็มีแสนจะน้อย) ราคาสองล้านก็แทบจะซื้อได้แค่ห้องเดี่ยวๆ แคบๆ ต้องอดกาแฟเยอะพอสมควรถึงจะผ่อนและดาวน์ไหว
TCIJ สำรวจ Gen Y พบว่าจริงๆ แล้วพวกเราเองก็ไม่ใช่ว่าจะเอาเงินไปถมกับของเก๋ๆ กาแฟสวยๆ อย่างเดียว เพราะจากการสำรวจเมื่อปลายปีที่แล้ว (2559) พบว่าคนรุ่นใหม่มีหนี้เพิ่มขึ้นก็จริง แต่ในการสร้างหนี้นั้นส่วนใหญ่เป็นการกู้ซื้อบ้านในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทเป็นหลัก นั่นก็แปลว่าเหล่ามนุษย์เงินเดือนรุ่นใหม่ก็เหน็ดเหนื่อยและอดออมเอาเงินไปลงกับสินทรัพย์ชิ้นใหญ่ๆ ด้วย ไม่ได้ซื้อกาแฟกันอย่างเดียว (แต่ก็มีเรื่องหนี้เสียด้วยที่อาจจะต้องระวังนิดนึง)
ประเด็นเรื่องการใช้เงินไปจนถึงการก่อหนี้ดูเป็นสิ่งที่มีรายละเอียดลงไปในแต่ละการใช้ชีวิต บางคนมองว่าการลงทุนกับกาแฟช่วยจุดให้วันนั้นทำงานได้สดใสขึ้น บางคนชอบชีวิตที่เป็นโสดก็เลยเห็นว่าบ้านไม่ใช่สิ่งที่ต้องลงทุน บางคนเชื่อในเรื่องการลงทุนทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสร้างเครือข่ายและหารายได้หลายๆ ทางมากกว่าการอดออม หรือบางครั้งโดยสภาพเศรษฐกิจและความจำเป็นต่างๆ มันก็ทำให้เราทำได้แค่นี้จริงๆ รายจ่ายเยอะ ของแพง สวัสดิการก็ไม่มี ต้องช่วยทุกทางแล้ว
ทำเต็มที่แล้วจริงๆ