ผ่อนบ้านมายังไม่ทันจะลดต้น รถก็เพิ่งส่งงวดแรก บิลบัตรเครดิตเดือนนี้ก็ต้องลุ้นอีก … ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นสู่ระดับ 2.50% ต่อปี บรรดาลูกหนี้ต้องเจอการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
“ดอกเบี้ยลอยตัวมันเหมือนเป็นการลงทุนนิดนึง อาจจะขึ้นหรือลงก็ได้ และด้วยนิสัยส่วนตัวที่มองว่าความไม่แน่นอนมันน่ากลัว เลยเลือกผ่อนบ้านด้วยดอกเบี้ยแบบคงที่เพราะรู้สึกอุ่นใจกว่า”
การตัดสินใจช่วงใกล้ส่งท้ายปี 2566 ของพนักงานบริษัทเอกชน อย่างเบนซ์—ในวัย 26 ปี กับการลงทุนซื้อบ้านหลังแรก นับเป็นเรื่องท้าทายในสายตาใครหลายคน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจบ้านเรายังเอาแน่เอานอนไม่ค่อยจะได้ แต่ทั้งหมดได้ผ่านขั้นตอนจะผ่านการคิดและไตร่ตรอง สมกับเป็นก้าวสำคัญของชีวิตคนวัยทำงาน
แม้ไม่ได้หวังพึ่งโชคช่วย แต่เบนซ์ยอมรับว่าแอบอุ่นใจไม่น้อย เมื่อได้ยินข่าวการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ เพราะเชื่อว่าการหาข้อมูลก่อนทำสัญญากู้ที่ผ่านมา น่าจะช่วยซับแรงกระแทกที่จะได้รับในอนาคต
ขณะที่คนอีกจำนวนไม่น้อยอาจไม่ได้เตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ และอาจเพิ่งรับรู้ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จนแตะ 2.50% ต่อปี ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์มาตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนของปีกลาย ผ่านกระแสคำวิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคมที่มีต่อธนาคารพาณิชย์
หรือทราบข่าว ผ่านโซเชียลมิเดียของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่เขียนข้อความขนาดสองย่อหน้าราว 4 วันก่อน
แต่นั่นก็อาจเพียงพอที่จะสร้างความงุนงง จนต้องเริ่มหาทางจับต้นชนปลายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นใกล้ตัวที่ว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลต่อประชาชนทั่วไปอย่างไรบ้าง The MATTER จึงถือโอกาสรวบรวมข้อมูลสถานการณ์จากผู้รับผิดชอบหลัก อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย และผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นตามการประเมินของสถาบันการเงินต่างๆ เอาไว้
รวมทั้งข้อสังเกตของ กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก (TDRI) ถึงผลกระทบที่มีต่อประชาชน และการป้องกันหนี้เสียในอนาคต
ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2.50%
ย้อนไปตามถ้อยแถลงของ ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ระบุถึงมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี ด้วยเหตุว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ภาคการส่งออกและการผลิตที่เกี่ยวข้องชะลอลง
ปิติ อธิบายว่าในปี 2567 และ 2568 เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวอย่างสมดุลขึ้น จากอุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
นั่นเป็นเหตุผลที่จะต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทที่เศรษฐกิจกำลังทยอยฟื้นตัวกลับสู่ระดับศักยภาพ เอื้อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน ป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงิน อีกทั้งช่วยรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะอยู่ที่ 1.3% และ 2.0% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ และยังต้องติดตามความเสี่ยงจากต้นทุนราคาอาหาร และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ที่อาจส่งผลให้ราคาพลังงานโลกปรับสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี เลขานุการ กนง. ระบุว่า ระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ต้องติดตามพัฒนาการของคุณภาพสินเชื่อที่อาจได้รับแรงกดดันจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ SME และครัวเรือนบางส่วนที่เปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ยังฟื้นตัวช้า
นั่นจึงทำให้ การตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ต่อปีของแบงก์ชาติ จึงถือเป็นการปรับตัวครั้งที่ 9 นับแต่มีสถานการณ์โควิด-19 แล้วประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกจาก 0.50% เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 จนมาถึงปัจจุบัน
ดอกเบี้ยนโยบายคืออะไร
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น จะเป็นการกำหนดโดยธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ ซึ่งถือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญที่สุด เพราะจะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจ
อธิบายคร่าวๆ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย คล้ายเป็นอัตราที่ธนาคารกลางจะจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เอาเงินมาฝาก รวมถึงเก็บในอัตรานั้นเมื่อมีการกู้ ซึ่งผลลัพธ์ตอนท้ายก็จะไปตกสู่ลูกค้าของแต่ละธนาคาร ที่มีการทำธุรกรรมทั้งกู้เงินและฝากเงิน ในรูปแบบดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราสูงขึ้นด้วย
ข้อมูลของแบงก์ชาติอธิบายกลไกของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ว่า การปรับดอกเบี้ยของสถาบันการเงินอาจไม่เท่ากันกับดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินต้องพิจารณาต้นทุนอื่นๆ และการแข่งขันกับคู่แข่งด้วย
เช่นนี้แล้ว บรรยากาศที่พอจะคาดเดาได้ คือ บางคนก็เลือกที่จะเก็บออมมากขึ้น เพราะผลตอบแทนสูง ลดการจับจ่ายและลงทุนลงไป คนเป็นหนี้อยู่แล้วก็ต้องรับภาระที่เพิ่มขึ้น ทางกลับกันคนที่มีแผนกำลังจะกู้เงินก็อาจคิดใหม่ ทว่า การไหลเวียนเงินลักษณะนี้ จะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ที่อาจกระทบต่อคนในวงกว้างลงได้
จึงไม่น่าแปลกใจที่ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ความคิดเห็นแรกของ กิริฎา จะมองว่าการเปลี่ยนแปลงคราวนี้ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หรือเหนือความคาดหมายแต่อย่างใด แถมเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ไม่เว้นในอาเซียน ที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาสักระยะแล้ว
“อย่างในสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจร้อนแรง การจ้างงานดี หรือในอาเซียนทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ก็ปรับดอกเบี้ยขึ้นมาก่อนแล้ว เพราะเศรษฐกิจของเขาสามารถฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ได้แล้ว ในขณะที่เรายังทำไม่ได้”
กิริฎา อธิบายว่า การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต้องดูจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ เงินเฟ้อ และเปรียบเทียบกับต่างประเทศ
“สำคัญมากนะสถานการณ์ต่างประเทศ เราต้องไม่ให้ดอกเบี้ยของเรากับสหรัฐฯ ต่างกันมากเกินไป ตอนที่เราเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายราวปลายปีก่อน ของสหรัฐจะไป 5% แล้ว”
สำหรับ อัตราเงินเฟ้อซึ่งปรับลดในช่วงที่ผ่านมานั้น อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้คนจำนวนมากเห็นต่างในการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ ทว่า กิริฎา ย้ำถึงความจำเป็นของธนาคารกลางทุกประเทศ ที่ต้องประเมินภาวะเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างน้อย 6 เดือน ไม่เช่นนั้นต่อให้ขึ้นดอกเบี้ยตามหลังก็ไม่สามารถรับมือได้ทัน
“กว่าแบงก์พาณิชย์จะปรับตัวตาม กว่าคนจะลดอุปสงค์ลงมาได้ต้องใช้เวลา ดูจากแถลงการณ์ กนง. ก็ห่วงเรื่องนี้ ว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อต้นปี งบประมาณที่ล่าช้าจนมากองปีนี้อีก”
แล้วจะเลี่ยงภาวะหนี้เสียได้ไหม?
ที่ผ่านมา กิริฎา ชี้ว่า คนไทยคุ้นชินกับการจ่ายดอกเบี้ยต่ำมานานนับสิบปี การปรับขึ้นจึงสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สัมผัสได้ ทั้งกลุ่มผู้ฝากเงินที่จะได้ดอกเบี้ยเพิ่ม ในขณะที่ผู้กู้ก็ต้องรับภาระเพิ่ม ดังนั้นหลักความสามารถในการจ่ายของลูกหนี้ จึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่ผู้กู้และสถาบันการเงินต้องวางแผนร่วมกัน
กิริฎา เริ่มต้นยกตัวอย่าง ‘ดอกเบี้ยบ้าน’ ซึ่งโดยปกติแล้ว มีตัวเลข NPL หรือเงินให้สินเชื่อที่ค้างชำระเงินต้นเกิน 90 วัน ที่เรามักเรียกกันง่ายๆ ว่าหนี้เสีย ในสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก อาจเพราะในทางความรู้สึกคนทั่วไปแล้วย่อมไม่อยากถูกยึดบ้าน นั่นจึงส่งผลให้มีพฤติกรรมการผ่อนชำระต่อเนื่อง
ทว่า รูปแบบแพ็กเกจการกู้สินเชื่อบ้านในปีแรกๆ ของธนาคารพาณิชย์ ที่หลายคนเลือกให้มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วงต้น ก่อนที่จะปรับเป็นดอกเบี้ยลอยตัวเมื่อครบกำหนด ก็นับเป็นประเด็นที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งอาจได้รับผลกระทบเมื่อดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น
“เราจ่ายเงินงวดเท่ากันทุกเดือน ดอกเบี้ยขึ้นเลยยังไม่รู้สึกมาก ต่อมาธนาคารอาจใช้วิธียืดเวลาผ่อน หรือปรับเงินงวดครั้งหลัง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางออก”
ดังที่ โซ่— พนักงานออฟฟิศในวัย 28 ปี ซึ่งเป็นอีกคนที่เพิ่งกู้สินเชื่อบ้านช่วงปลายปีก่อน และต้องจ่ายค่างวดหลักหมื่นต่อเดือน เขาจึงพยายามติดตามข่าวสาร และศึกษาวิธีการรีไฟแนนซ์บ้าน เพื่อไม่พลาดโอกาสตามกรอบเวลาที่ธนาคารเปิดช่องทางไว้ ไม่เช่นนั้นจะติดกับดักของดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้นในอนาคต ซึ่งการหาข้อมูลด้วยตัวเอง เพื่อเปรียบเทียบกับข้อแนะนำของธนาคารเป็นวิธีการที่เขาเลือกใช้
เช่นเดียวกับเบนซ์ ที่ยืนยันว่าจะไม่พลาดโอกาสรีไฟแนนซ์เช่นกัน ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นสถานการณ์การทางการเงินของเธอน่าจะขยับขยายดีขึ้นจากอายุการทำงาน จนมีตัวเลือกรูปแบบการชำระที่มากขึ้นด้วย
ขณะที่ความน่ากังวลกลับตกอยู่กับ‘สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์’ ที่ตัวเลข NPL สูง ตั้งแต่ยังไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ตามการติดตามข้อมูลของกิริฎา “ช่วงหนึ่งคนที่ฐานเงินเดือนยังน้อยอาจคิดว่าผ่อนรถได้ แต่ในที่สุดก็ไม่รอด ยิ่งดอกเบี้ยขึ้นยิ่งลำบาก เพราะปกติก็จ่ายไม่ไหว รถเป็นอะไรที่ไม่ได้ก็ให้ยึด คนไม่ค่อยพยายาม”
สอดคล้องกับข้อมูลของ อนุชาติ ดีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ที่เปิดเผยผ่านฐานเศรษฐกิจว่า สถาบันการเงินส่งสัญญาณยึดรถเพิ่มขึ้น โดยช่วง 9 เดือนสุดท้ายของปี 2566 มีรถยึดเข้าสู่ลานประมูลรวม 2.5-2.7 หมื่นคันต่อเดือน เพิ่มขึ้นราว 30% จากทั้งระบบ
โดยสถานการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับ สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อธุรกิจ SME เช่นกัน เราถึงได้เห็นข้อมูลที่เปิดเผยโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2566 ที่ว่าย้อนหลังไป 11 เดือนมีธุรกิจเลิกกิจการไป 17,858 ราย คิดเป็นมูลค่า 107,728.90 ล้านบาท ธุรกิจเลิกสูงสุด ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร สาเหตุเพราะอาจถูกเลิกสัญญา ลูกค้าไม่มี และเงินทุนน้อย
“ที่น่าสนใจคือ หนี้เสียในเครดิตการ์ดต่ำมาก คนอาจพยายามจ่ายขั้นต่ำ อีกมุมหนึ่งอาจต้องยกเครดิตให้บริษัทติดตามหนี้ แต่อย่างน้อยๆ ก็ยังทำให้คนทั่วไปไม่เสียประวัติ”
เมื่อถามถึงข้อครหาที่เกิดขึ้น ว่าตัวเลขผลกำไรของธนาคารพาณิชย์ที่ผ่านมา สะท้อนถึงเป้าหมายที่เห็นผลประกอบการทางธุรกิจนำหน้า จนไม่ได้ช่วยวางแผนทางการเงินลูกหนี้อย่างเหมาะสมหรือไม่นั้น ในฐานะผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก (TDRI) อาจไม่สามารถให้คำตอบเรื่องนี้ได้ “จริงๆ ตัวเลขก็ไม่ได้สูงมากสำหรับกำไรของธนาคาร ต้องดูที่ฐานทุนของธุรกิจนั้นด้วย กำไรเท่านี้ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของฐานทุน ยังต่ำกว่าสมัยก่อนโควิดอยู่อีก”
“การช่วยวางแผนผ่อนชำระหนี้ไม่ใช่แค่หน้าที่ แต่เป็นผลประโยชน์ของธนาคารเอง ที่หากรับลูกค้าที่มีโอกาสสร้างหนี้เสียเยอะ เขาก็จะเดือดร้อน ธนาคารส่วนใหญ่ถึงมีความพยายามแนะนำให้ปรับโครงสร้างหนี้ หรือปรับดอกเบี้ย”
ดังนั้น การไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หรือยื้อเวลาให้ช้าลงไปอีก อาจไม่ใช่วิธีดูแลการเงินของคนไทยที่ควรจะเป็น โดยกิริฎา ชี้ว่าการช่วยเหลือประชาชนแบบเจาะกลุ่มด้วยวิธีการของสถาบันการเงิน ทั้งปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย หรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ และป้องกันการสร้างปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม อย่างเงินเฟ้อ เงินทุนไหลออกนอกประเทศ เป็นต้น
ท้ายสุดแล้ว คงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า การรู้จักประเมินรายได้ วางแผนทางการเงินให้รัดกุม และศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ เพื่อลดโอกาสบาดเจ็บจากเศรษฐกิจที่ดูจะเอาแน่เอานอนไม่ได้