โกลเด้นวีค – ได้ชื่อว่าเป็นช่วงเวลาสัปดาห์ที่มนุษย์อพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานมากที่สุดในโลก เพราะเป็นวันหยุดยาว ‘วันชาติจีน’ ที่คนจีนหลายล้านคน เดินทางออกนอกประเทศ และเดินทางภายในประเทศเพื่อเยี่ยมญาติ
ปีนี้รัฐบาลจีนคาดการณ์ไว้ด้วยว่า คนจีนจะเดินทางกันอุ่นหนาฝาคั่ง เพราะว่าวันชาติจีน ตรงกับวันหยุดฤดูใบไม้ร่วงด้วย
นอกจากกลับบ้านเกิดเยี่ยมครอบครัว รวมญาติ ทุกปีนักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางออกนอกประเทศกว่า 7 ล้านคน (ตัวเลขจากกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน) ปลายทางอันดับหนึ่งแน่นอนว่าประเทศไทย
แต่เพราะการระบาดไวรัสครั้งใหญ่ ปิดกั้นอิสระเสรีของเราในการจะเดินทางไปไหนก็ได้ทุกขอบมุมโลก ดังนั้นเงินจากกระเป๋านักท่องเที่ยวจีน จึงไม่กระเด็นมาหาเศรษฐกิจไทยเลย – แม้แต่บาทเดียว
นักท่องเที่ยว(ล่องหน)ย่านห้วยขวาง
วันหยุดแห่งชาติชาวจีนปีนี้ กินระยะเวลา 1-8 ตุลาคม รัฐบาลจีนประมาณการว่า จะเกิดการเดินทางของคนจีนจำนวน 550 ล้านคน
ปกติแล้วในช่วงวันหยุดชาติจีน หลายแหล่งท่องเที่ยวแลนด์มาร์กในไทยจะคับคั่งไปด้วยคนจีนที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาใช้จ่ายท่องเที่ยว หนึ่งในนั้นคือ ‘ตลาดนัดรถไฟรัชดา’ สถานที่ที่ทุกโปรแกรมทัวร์จีนต้องระบุว่า จะพานักท่องเที่ยวของพวกเขามาลง
ย้อนกลับไปในช่วงเวลาเดียวกันนี้เมื่อราวปีก่อน ถ้าแวะไปตลาดรถไฟ นักท่องเที่ยวที่คลาคล่ำ ธงแดงของหัวหน้าทัวร์ที่ชูให้เห็นทุกๆ ระยะสองเมตร เสียงต่อราคากันดังสนั่นตลาด – คงทำให้เรานึกอยากถอดใจกลับบ้านดีกว่าเข้าไปเบียดเสียด
แต่ก็เหมือนหนังคนละม้วนกับปีนี้ The MATTER เดินสำรวจตลาดนัดรถไฟรัชดา และละแวกห้วยขวาง ชีพจรวันที่ไม่มีนักท่องเที่ยวชาวจีน แถมยังฝนตกปรอยๆ ให้ความรู้สึกเซื่องซึมแบบที่ตลาดนัดรถไฟแห่งนี้ไม่เคยเป็นมาก่อน
“มันก็ต้องพยายามน่ะครับ ผมลูกสองด้วย ก็ต้องปรับตัว ลดค่าใช้จ่าย อะไรไม่จำเป็นก็ตัดออกหมดเลย” เทพประทาน แสนหวู่ พ่อค้าขายแว่นตาแฟชั่น ที่ขายในตลาดนัดหลังห้างสรรพสินค้าเอสพลานาดแห่งนี้มากว่า 3 ปี แชร์สถานการณ์ให้ฟัง – แม้ว่าร้านค้าในตลาดนัดรถไฟรัชดาเกือบครึ่งจะปิดในวันกลางสัปดาห์ และผู้คนก็บางตา แต่เทพประทาน เป็นหนึ่งในคนที่มาขายทุกวัน เขาบอกว่า อย่างน้อยก็ให้มันมีรายได้หมุนเวียน รับผิดชอบชีวิตลูกสองคนของเขาได้บ้าง
ในวันที่รายได้หดหายไปกว่า 90% เทพประทานถึงกับบ่นว่า เขาทำอาชีพพ่อค้ามา 10 ปี ผ่านเหตุการณ์ทางการเมือง ผ่านน้ำท่วม ผ่านมาหลายมรสุม แต่ไม่เคยเจออะไรที่หนักหนาสาหัสเหมือนปีนี้มาก่อนในชีวิต ตั้งแต่การโดนล็อกดาวน์สั่งปิดตลาดไปตอนมีนาคมที่ผ่านมา และแม้จะเปิดตลาดรายได้ก็ไม่ได้กลับมาทันที
แต่ภายใต้แววตาเหน็ดเหนื่อย เขาก็ยังคงกระตือรือร้นที่จะขายของ และให้คำแนะนำลูกค้าเป็นอย่างดี
“ถ้าถามนะ ในฐานะพ่อค้าแม่ค้า ก็อยากให้นักท่องเที่ยวกลับมา อยากให้ทัวร์มาลง ผมพร้อมนะ ถ้าถามว่ากลัวโควิดไหมก็กลัว ก็อยากให้รัฐลองดูว่าจะมีมาตรการกรองอย่างไรบ้าง ตัวเราเองก็ไม่ใช่ผู้บริหารประเทศที่จะกำหนดมาตรการอะไรได้”
จะทำอย่างไรต่อไปดี?
ตัวเลขจาก United Nations World Tourism Organisation บอกว่า นักท่องเที่ยวจีนคิดเป็น 1 ใน 5 ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งใช้จ่ายเงินหมุนเวียนเป็นมูลค่านับล้านล้านบาทในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
“ช่วงโกลเด้นวีคจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในไทยพุ่งปรู๊ดเลย โดยเฉพาะในเมืองที่เป็นปลายทางหลัก กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต” ผศ.ดร.ไพฑูรย์ มนต์พานทอง คณบดีคณะการจัดการการท่องเที่ยว แห่ง NIDA ให้สัมภาษณ์ The MATTER ทางโทรศัพท์
นักท่องเที่ยวจีนก็เป็นนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของไทย คิดเป็นราว 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เข้ามาในไทยต่อปี ส่วนใหญ่เข้ามาประมาณ 5-7 วัน และใช้จ่าย 25,000-50,000 บาทต่อหัว
ดังนั้นเมื่อประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศท่องเที่ยว และพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับหนึ่ง ไม่สามารถเปิดประตูต้อนรับต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีนได้ จึงเป็นคำถามว่า จะยังไงต่อไป
“บางประเทศเขาให้ความสำคัญกับการคุมโรคและเศรษฐกิจครึ่งต่อครึ่ง ส่วนไทยเน้นที่การคุมโรค การติดเชื้อเนี่ยน้อยมาก แต่เราก็ไม่ได้เรื่องของเศรษฐกิจเลย โจทย์สำคัญก็คือนโยบายของภาครัฐ ว่าที่สุดแล้วจะเอาขาการดูแลโรคภัยไข้เจ็บไม่ให้โรคระบาด หรือจะเอาแบบที่เรามีความเสี่ยงหน่อยหนึ่งแต่เป็นความเสี่ยงที่เราควบคุมได้”
ไม่นานมานี้ รัฐบาลเตรียมจะเปิด Tourism Bubble เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่แรกในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งไพฑูรย์บอกว่า เป็นจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยว 90% โดยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่อปีกว่า 4 แสนล้านบาท
รูปแบบกระทรวงการท่องเที่ยวเสนอ คือจะจำกัดพื้นที่เดินทางของนักท่องเที่ยวให้อยู่ภายในจังหวัดนำร่องจนครบ 14 วันในห้องพัก และหากต้องการไปจังหวัดอื่นต่อต้องกักเพิ่มอีก 7 วันเป็น 21 วัน โดยเป้าหมายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวลองสเตย์ แต่สุดท้ายภูเก็ต โมเดลนี้ ก็โดนนายกฯ ประยุทธ์ตีกลับให้ไปทบทวนใหม่
“จริงๆ แล้วเป็นไอเดียที่ดีนะคะ ไม่ว่าจะภูเก็ตโมเดลหรือสมุยโมเดล เพราะพื้นที่ที่เป็นเกาะมันก็จะควบคุมทางเข้าและออกได้ง่ายหน่อย แม้ว่าจะได้ข่าวว่าจะเลื่อนไปอีกหน่อย แต่ถามว่ามีความเป็นไปได้ไหม ถ้าจะ Travel Bubble จีนกับไทย ก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะเราเห็นว่าในจีนการควบคุมโรคระบาดถือว่าดี บ้านเราก็ดี แต่ต้องดูในมิติว่าหากนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาแล้ว จะบริหารจัดการยังไงในฝั่งเรา จะสร้างความมั่นใจให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างไร เพราะในความหมายของคำว่าพื้นที่ท่องเที่ยว มันไม่ใช่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว การจัดการเพื่อสร้างความมั่นใจว่าปลอดภัยทั้งกระบวนการ จะทำยังไง ตั้งแต่สนามบินไปจนถึงโรงแรม ร้านอาหาร”
“นอกจากจัดการฝั่งเรา เราก็ต้องบริหารนักท่องเที่ยวจีนด้วย เพราะตามพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนเขาก็จะเน้นเอาง่ายๆ เร็วๆ ไม่ค่อยตามกฎระเบียบ เราจะควบคุมเขาได้อย่างไร อันนี้คิดว่าเป็นโจทย์สำคัญ”
ไพฑูรย์บอกว่า มีวิจัยในจีนออกมา ระบุว่าตอนนี้นักท่องเที่ยวจีนพร้อมแล้วที่จะเที่ยว และปลายทางหลังสถานการณ์โควิดจบลง อันดับหนึ่งก็คือประเทศไทย ซึ่งส่วนตัวไพฑูรย์ก็เชื่อว่านักท่องเที่ยวจีนจะไม่หายไปจากประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีวัฒนธรรม อาหาร แหล่งท่องเที่ยว ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเอเชีย โดยเฉพาะคนจีน และเป็นประเทศที่ท่องเที่ยวและคุ้มค่าเงินที่จ่าย
แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าก็คือว่า ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวไทยที่ปัจจุบันยังเรียงรายอยู่ในห้องไอซียู จะปรับตัวอย่างไร ในกรณีที่อนาคตอาจจะมีการระบาดอีกครั้ง และนักท่องเที่ยวอาจจะหายวับไปกับตาอีกหน ทำให้เราไม่สามารถพึ่งพานักท่องเที่ยวกลุ่มเดียวได้อีกต่อไป
“พฤติกรรมหลังจากนี้ของนักท่องเที่ยวจีนน่าจะเปลี่ยนไป ประเภทหมู่คณะอาจจะไม่มาแล้ว เขาจะมาเป็นแบบนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง หรือ FIT มากขึ้น ซึ่งก็น่าจะดีกับประเทศไทยนะคะ เพราะที่ผ่านมาตลาดนทท.จีน เราเน้นที่ปริมาณมากเกินไป ทำให้รายได้มันไม่ได้ตกอยู่ที่บ้านเรา แต่ไปกระจุกอยู่บางที่”
“นักท่องเที่ยวจีนจะหาข้อมูลออนไลน์มากขึ้น ติดต่อโดยตรง ในอนาคตโจทย์สำคัญคือ ผู้ประกอบการต้องปรับตัว มัคคุเทศก์ที่เสี่ยงจะตกงานกว่า 20,000 กว่าคนก็ด้วย ต้องปรับตัวตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงนี้ การท่องเที่ยวแบบ FIT ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ มาเที่ยวหรูๆ กำลังจ่ายมาก เขาจะมามากขึ้น แต่เราจะส่งเมสเสจ สื่อสารการตลาด ทำคอนเทนต์ไปอย่างไร ให้เขามาบ้านเราและมีความเชื่อมั่น มาแล้วปลอดภัย มีคุณค่าในการท่องเที่ยวมากพอ คุ้มค่าที่จะมาแม้จะยังมีกลัวโรคระบาดก็ตาม” ไพฑูรย์ บอก
จะช้าจะเร็ว การท่องเที่ยวไทยต้องปรับตัว ศึกษาความคาดหวังของนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ ว่าต้องการสินค้าและบริการอย่างไร รวมไปถึงการทำตลาดนักท่องเที่ยวชาติอื่นด้วย รวมไปถึงจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเกือบทั้งหมดอย่างภูเก็ต ก็ต้องเริ่มหาแหล่งรายได้อื่นควบคู่กันไป
“ที่ผ่านมาเราเหมือนเอาไข่ใส่ตะกร้าเดียว พอหล่นปุ๊บแตกหมดเลย”
ข้อดีอย่างน้อยที่สุดของ COVID-19 ช่วง Golden Week
อย่างน้อยที่สุดหากเราอยากจะมองหาอีกมุมของการระบาด COVID-19 ในช่วงโกลเด้นวีคนี้ ก็คงเป็นเรื่องการท่องเที่ยวภายในประเทศได้รับความสนใจจากคนในประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะประเทศไหนของโลก (ส่วนหนึ่งก็เพราะโดนล็อกเอาไว้นั่นแหละ)
เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานว่า คนจีนเดินทางท่องเที่ยวในแลนด์มาร์กของประเทศกันอย่างคึกคัก ตลอดแนวกำแพงเมืองจีนมีการ์ดยืนเรียงรายดูแลรักษาความปลอดภัย ขณะที่โรงแรมที่เมืองลาซา ธิเบต ถูกจองเต็มเกือบหมด โดยยอดจองสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 600% และรัฐได้ขอให้สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายที่ของจีนจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหลือ 75% จากความจุปกติเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อ
ตัวเลขจากรัฐบาลจีนบอกว่า คนจีนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศช่วงโกลเด้นวีคเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10% ขณะที่สายการบินก็จัดโปรฯ ตั๋วบินกันกระจาย ค่าตั๋วเครื่องบินถูกลงราว 10% เหลือราคาราว 4,500 บาท
ส่วนในประเทศไทย ข้อมูลจาก Booking.com บอกว่า ในช่วงฤดูฝนปีนี้ (มิ.ย.-ส.ค.) คนไทยให้ความสนใจกับการเที่ยวที่จุดหมายปลายทางใกล้บ้านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ พัทยา และเชียงใหม่ การจองการที่พักบน Booking.com ของคนไทย เป็นปลายทางในประเทศไทยมากถึง 96% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่เกิดขึ้นเพียง 32% เท่านั้น จากการจองทั้งหมด
อ้างอิงข้อมูลจาก