ไม่ว่าจะเป็นโรม เวียนนา หรือลอนดอน ก็ทำไม่ได้อย่างกรุงเทพมหานคร ดินแดนที่มีงานศิลปะติดตั้งอยู่ทุกหัวมุมถนน สายไฟอันยุ่งเหยิงเป็นงานศิลปะที่ทำให้ประชาชนผู้สัญจรไปมาได้หยุดคิดถึงความซับซ้อนยอกย้อนของชีวิต ทำให้ชาวกรุงเทพได้พินิจพิเคราะห์ถึงปรัชญาชีวิตขั้นสูง นานวันเข้าสายไฟ (หรือสายอะไรก็ช่างที่มันยุ่งๆ นี่แหละ)ก็กลายเป็นศิลปะเชิงประสบการณ์ คือวันดีคืนดีก็ติดไฟและไหม้ทำลายตัวเองไปแถบนึง ทำให้ผู้คนได้ชมความงามราวชมพลุไฟในหน้าร้อนที่โอซาก้าและได้คิดถึงความไม่แน่นอนของชีวิต เป็นสัจธรรม
เมื่อทางเท้าธรรมดามันไม่ได้คำนึงถึงสุขภาวะและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ มหานครกรุงเทพฯจึงมีการออกแบบทางเท้าให้เต็มไปด้วยความตื่นเต้นเร้าใจ และกระตุ้นให้ชาวมหานครได้ใช้งานกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ และตื่นตัวกันอยู่เสมอ เอกลักษณ์ทางเท้าที่ไม่เหมือนใครคือแผ่นปูทางที่สามารถพลิกไปมาได้ ทำให้ทุกย่างก้าวต้องใช้ไหวพริบและการวางแผน รวมถึงกล้ามเนื้อต่างๆ อยู่เสมอ แถมบางครั้งก็มีรถมอเตอร์ไซค์วิ่งสวนให้เราต้องคอยบิดตัวหลบอยู่บ่อยๆ เป็นการใช้กล้ามเนื้อทุกส่วนตามคอนเซปต์ แค่ขยับเท่ากับออกกำลังกาย ส่วนนวัตกรรมสำคัญอีกอย่างคือสะพานลอย เอ้า อย่าขี้เกียจ จงปีนข้ามไปเพื่อข้ามถนน ได้ทุกส่วนทั้งขา เอว แขน ครบฟูลบอร์ดี้ ส่วนแนวคิดเรื่องอารยสถาปัตย์ที่ว่า เราต้องออกแบบพื้นที่เพื่อทุกคนกลุ่ม ทั้งคนแก่ คนพิการ อะไรนั่น…ก็ ไว้ก่อนแล้วกันเนอะ
แม้ว่าจะเป็นเมืองหลวงอันทันสมัย แต่เราก็ไม่เคยแยกตัวออกจากธรรมชาติและหลงลืมรากเหง้าของมหานครแห่งสายน้ำของเรา ทุกครั้งยามฝนตกหนัก ถนนทั้งหลายจะกลายเป็นคลองได้อย่างน่าอัศจรรย์ ไม่ว่าจะเป็นถนนใหญ่หรือตรอกซอกซอยทั้งใจกลางและย่านยานเมือง จากตลาดสดกลายเป็นตลาดน้ำ เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลายจะมีโอกาสออกมาเริงร่า ราวกับอยู่ในโลกการ์ตูนดิสนีย์
ความอดทน ความอดกลั้น และสัจธรรม เป็นสิ่งสำคัญที่เมืองอย่างกรุงเทพฯได้มอบให้กับผู้อยู่อาศัยทุกเช้าและเย็น โดยเฉพาะในวันธรรมงาน ความล่าช้าของขนส่งมวลชน รวมถึงการจราจรที่ต้องใช้เวลาเนิ่นนานเป็นกุศโลบายให้เราชาวพุทธได้ถือโอกาสเจริญศีล สติ สมาธิ และปัญญา การเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งในกรุงเทพนั้นจึงเต็มไปด้วยความหมาย เป็นการเดินทางทางจิตวิญญาณมากกว่าจะเป็นการเดินทางทางกายภาพ (เพราะมันไปไม่ได้จริงๆ ไง)
ตื่นเต้นและเป็นจริงยิ่งกว่าหนังฮอลลีวูด เมื่อการใช้ชีวิตในกรุงเทพเต็มไปด้วยฉากที่เหมือนกับหลุดออกมาจากภาพยนตร์ ไม่ว่าจะแอคชั่น สยองขวัญ หรือหนังฆาตกรรมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นหัวมุมถนน ปากซอยเปลี่ยว หรือสวนที่ดูพร้อมจะมีการฆ่าฟันกันขึ้นในทุกเมื่อ บรรยากาศที่ถูกสร้างอย่างสมจริงด้วยไฟถนนมืดๆ ที่บางครั้งก็ติดๆ ดับๆ หรือกล้องวงจรปิดที่ใช้การได้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ก็ทำให้การใช้ชีวิตยามค่ำคืนของเราเร้าใจจริงยิ่งขึ้นไป ไม่ว่าจะจากผีสางหรือโจรผู้ร้ายก็ตาม
‘เมืองดี’ ชีวีมีสุข
ในสมัยกรีกมีแนวคิดโบราณหนึ่งเรียกว่า Eudaimonia ถ้าแปลง่ายๆ ก็แปลว่าความสุข หรือการมีชีวิตที่ดีมีความสุข ประมาณว่าการดำรงชีวิตอยู่ของคนเรา มันควรจะต้องอยู่อย่างมีความสุขสิ
‘ความสุข’ หรือการมีชีวิตที่ดี มันฟังดูเป็นเรื่องที่ทั้งใกล้ตัว คือเป็นเรื่องที่เวรี่ชีวิตประจำวัน หรือพอคิดอีกทีก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องในระดับ ‘ปรัชญา’ อย่างที่ในสมัยกรีก ไอ้คำว่า Eudaimonia ก็เป็นสิ่งที่นักปรัชญาคิดขึ้นมา คือพวกนี้ก็พยายามบอกว่าชีวิตคืออะไร อ๋อ ต้องดีมีความสุขสิ แล้วทำอย่างไรล่ะ
โดยสรุป การมีชีวิตที่มีความสุข เพลโตจนถึงอาริสโตเติลเองก็บอกว่ามันสัมพันธ์ทั้งกับปัจจัยภายในและภายนอก ไอ้ ‘ความสุข’ ถ้าลองมองจากความคิดของบ้านเราในไทย ดูเหมือนว่าบ้านเราจะให้ความสำคัญกับ ‘ภายใน’ มากกว่า ประมาณว่าเรามักมองว่าการมีความสุขมักจะเกี่ยวกับการเรามองโลกไปยังไง จัดการกับความรู้สึกยังไง ทำใจอยู่กับโลกห่วยๆ ใบนี้ยังไง พอมองในแง่นี้คำว่าความสุข หรือการมีขีวิตอย่างมีความสุขมันเลยเป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตอยู่บ้าง
แต่ว่าเพลโตเองก็ไม่ได้บอกว่าการมีชีวิตที่มีความสุขหรือ well-being มันจะเกี่ยวกับปรัชญาการคิดการมองโลกอย่างเดียว แต่มันยังหมายถึงปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่มันมามีผลกับการดำรงชีวิตอยู่ของคนหรือพลเมืองด้วย เพราะแน่ล่ะ มนุษย์เราไม่ได้อยู่ตามป่าเขาแล้วแสวงหาความสุขจากศานติในเรือนใจ หรือความสงบอะไรอย่างเดียว แต่มนุษย์เราอยู่กันเป็นสังคม เราต่างก็อยู่กันในเมือง เงื่อนไขการดำรงชีวิตที่มันเกี่ยวข้องกับวัตถุ หรือสิ่งดีๆ ที่มนุษย์จำเป็นต้องมี หรือความรื่นรมย์ไปจนถึงความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก็เป็นสิ่งควรได้
ถ้าเรามองไปที่เมืองสมัยโบราณอย่างกรีกหรือโรมัน จะเห็นว่ามีสิ่งที่เรียกว่าพื้นที่สาธารณะที่มีไว้เพื่อให้ความสุขความบันเทิงกับประชาชน เช่น โคลอสเซียม โรงละครกลางแจ้ง จัตุรัส สวนต่างๆ ไปจนถึงโรงอาบน้ำ
ถ้าพูดอย่างโคตรง่ายและโคตรอยู่บนโลกแห่งความจริงคือ คนเราจะไปมีความสุขกันได้ขนาดไหน ถ้าเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ห่วยแตก เจอกับการจราจรที่ใช้เวลาเป็นชั่วโมง ขนส่งมวลชนที่แสนจะตามอำเภอใจ (มาบ้างไม่มาบ้าง วันดีคืนดีคนขับก็ลงมาด่าผู้โดยสาร) สายไฟรกรุงรัง ฟุตบาทที่พลิกไปมาได้ ถนนที่พร้อมจะน้ำท่วมจะตลอดเวลา แถมบางทีฝาท่อก็เปิด แมงสาบพร้อมจะโบยบิน ไปจนถึงอาชญกรรมที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ถ้าต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมขนาดนี้ก็ไม่รู้จะต้องมีจิตโสดาบันขนาดไหนถึงจะมีจิตที่เบิกบานประภัสสรได้ขนาดนั้น
สวัสดิการของรัฐ กับรัฐสวัสดิการ
เวลาเราพูดถึงรัฐสวัสดิการ ฟังดูเป็นเรื่องที่ไกลตัวจัง สวัสดิการสำหรับบ้านเรามันเป็นแค่เรื่องของคนบางกลุ่ม ไม่เป็นของข้าราชการ ก็เป็นส่วนที่ไม่จำเป็นก็อย่าใช้เลยดีกว่า จ่ายเองได้ก็จ่ายเถอะ เป็นเรื่องของความอนุเคราะห์
ส่วนหนึ่งเรามักคิดว่ารัฐสวัสดิการมันเป็นเรื่องของประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เป็นประเทศที่เก็บภาษีเยอะๆ แล้วเอามาเจือจานให้กับคนทั้งประเทศ ให้มันถ้วนหน้าขึ้น เราเลยรู้สึกกันว่าประเทศพวกนั้นต้องรวยๆ มีประชากรที่มีคุณภาพเยอะๆ ช่วยกันทำงาน ช่วยกันผลิต ช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในประเทศโลกที่สามอย่างเรา ก็มองดูกันเองว่าคงจะยังทำอะไรแบบนั้นไม่ไหวม้าง ประเทศกำลังพัฒนาแบบเราจะเอาเงินจากไหนมากระจายสวัสดิการคุณภาพดีๆ ให้คนอย่างถ้วนหน้าไหว แถมถ้าแจกมากเข้า คนก็ขี้เกียจ ไม่ทำงานกันอีก ประเทศคงจะล่มจมพอดี ต้องหัดให้ดิ้นรนกันบ้าง ให้อดทนด้วย (หลายเสียงคงจะพูดกันอย่างนี้)
โดยทั่วๆ ไปแนวคิดของรัฐสวัสดิการ คือการใช้การเก็บภาษีของรัฐแบบก้าวหน้าเพื่อเอาเงินตรงนั้นมาใช้ในการสร้างพวกสวัสดิการต่างๆ เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล ในบางประเทศ เช่น อังกฤษ ระบบประกันสวัสดิภาพก็จะถึงขนาดว่าถ้าตกงาน รัฐก็จะมีเงินช่วยเหลือให้มีชีวิตอยู่ได้ มีการจัดหาบ้านช่อง ที่อยู่อาศัยให้ หรือแม้แต่บริการดูแลเด็กน้อยรัฐก็จัดหาให้ด้วย
อย่างบ้านเราอาจจะไม่ต้องไปขนาดนั้น เวลาเราเห็นงบประมาณมหาศาลเอาไปใช้ทำอะไรก็ไม่รู้ เช่นที่โดนตรวจสอบกันอยู่ตอนนี้ อุโมงค์ระบายน้ำมั่ง อุโมงค์ไฟแสนสวยบ้าง เรือดำน้ำบ้าง รถดับเพลิง สารพัด จริงๆ แค่เรื่องพื้นฐานอย่างการซ่อมบำรุงผิวจราจร จัดหาขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ หรือระบบสวัสดิการสาธารณสุขที่มันไม่เลวร้ายมากบ้าง แค่พอให้มนุษย์ชาวไทยใช้ชีวิตได้อย่างไม่ต้องบำเพ็ญตบะอะไรกันทุกวันบ้าง แค่นั้นก็พอใจแล้วเนอะ
สปอยล์?
เรื่องที่ว่าในที่สุดแล้วถ้ารัฐจัดหาทุกอย่างให้กับพลเมือง มันจะสปอยล์คนไหมนะ หรือทุกคนจะพร้อมใจกันเลิกทำงาน นั่งๆ นอนๆ ให้รัฐบาลเลี้ยงเป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขารึเปล่า ผลของการศึกษาหนึ่งบอกว่า ก็ไม่เชิงนะ แต่การที่รัฐมอบอะไรที่เป็นพื้นฐานให้กับพลเมืองแล้ว มันกลับทำให้คนกล้าที่จะเสี่ยงมากขึ้น เช่นในสหรัฐ ระบบพวกประกันสุขภาพหรือการศึกษาพื้นฐานที่ดีขึ้น กลับทำให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยมากขึ้นเหมือนกัน
มันคล้ายๆ เป็นเหรียญคนละด้าน ด้านหนึ่งเราก็มองว่าถ้าคนไม่ต้องหากินเอง ก็จะเฮ้ ไม่ต้องทำอะไรแล้วสบายจัง ระบบเศรษฐกิจก็จะพังเพราะจะเต็มไปด้วยมนุษย์ขี้เกียจตัวเป็นขน แต่ในอีกทางหนึ่งถ้าเราไม่ต้องหากิน เราก็พร้อมที่จะสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ พร้อมที่จะเสี่ยง เพราะว่ายังไงรัฐก็มอบความต้องการพื้นฐานให้อยู่แล้ว
จากเอกสารการศึกษาของ Harvard Business School’s Gareth Olds รายงานจากโครงการแสตมป์อาหาร คือให้คำตอบว่าถ้ารัฐมอบสวัสดิการพื้นฐานอย่างอาหารให้ฟรีๆ ผลคือ คนมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น กล้าเสี่ยงในการที่จะโดดไปทำธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น ประมาณว่าเฮ้ย ถ้าเจ๊งก็นี่ไงยังมีข้าวกินละเว้ย แถมพอสำรวจเข้าจริงๆ คนที่กลายเป็นผู้ประกอบการพวกนี้กลับใช้ไอ้แสตมป์อาหารนี่น้อยมากๆ ทำให้แสตมป์อาหารที่ว่า แทนที่ว่าจะแย่งกันจนหมดไว กลายเป็นกระจายไปสู่คนที่ต้องการมันจริงๆ ได้มากขึ้นซะอย่างนั้น
เจ๋งเนอะ การช่วย ไม่ได้ทำให้คนงอมืองอเท้า แต่กลับทำให้คนกล้าที่จะทำอะไรมากขึ้นต่างหาก นอกจากเรื่องสแตมป์อาหารแล้ว ต่อมาพวกโครงการการให้การรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น การศึกษาก็พบแนวโน้มในทำนองเดียวกัน ว่ายิ่งไปกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เกิดการคิดริเริ่มธุรกิจใหม่ๆ
แต่ทุกข้อสรุปมีข้อจำกัดเสมอแหละ ไม่ใช่ทุกประเทศที่พอให้สวัสดิการรัฐแล้วมันจะได้ผลให้คนกล้าเสี่ยงไปทั้งหมด เช่นในฝรั่งเศสที่มีการให้หลักประกันการตกงาน ในปี 2001 กลับพบว่าคนที่กินเงินประกันการตกงานก็ไม่ได้จะลุกขึ้นไปประกอบธุรกิจใหม่ๆ อย่างมีนัยสำคัญเหมือนกับที่เกิดขึ้นในสหรัฐเลย
กลับมาที่บ้านเรา จริงๆ ผลของการเอาเงินไปลงทุนกับสวัสดิการ จะมีมากหรือน้อย ก็ไม่สำคัญเท่ากับการให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของประชาชนคนธรรมดาด้วย ที่สำคัญคือมุมมองของรัฐสวัสดิการคือการพยายามสร้างความเท่าเทียมผ่านการจัดการและกระจายทรัพยากรให้มันเป็นเป็นธรรมและถ้วนหน้ากันมากขึ้น ความเท่าเทียมไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องเท่ากันอย่างเป็นอุดมคติ แต่หมายถึงการที่เราช่วยๆ กันทำให้แต่ละคนมีความยากลำบากในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันน้อยลง เรื่องสวัสดิการมันก็คือการมอบอะไรที่เป็นพื้นฐานการพลเมืองตามสมควรที่จะได้ และที่สำคัญคือไม่ใช่เรื่องของความอนุเคราะห์ หรือการให้ทาน