คำเตือน มีภาพจากเหตุการณ์ลอบสังหารในอังการาเมื่อวาน
เมื่อวานอย่างที่หลายคนทราบข่าว มีการลอบสังหาร เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำตุรกี นาย Andrei Karlov (อังเดรย์ คาร์ลอฟ) โดยชายใส่สูทด้านหลัง ที่ตะโกน “อัลลอหุ อักบัร” แล้วยิงอย่างน้อย 8 นัด ส่งผลให้อังเดรย์เสียชีวิต และมีสามคนได้รับบาดเจ็บ
(The MATTER รายงานข่าวนี้ไว้ที่ https://www.facebook.com/thematterco/photos/a.1735876059961122.1073741831.1721313428084052/1816952491853478/?type=3&theater)
นอกจากวิดีโอเหตุการณ์ที่อาจผ่านตาหลายคนจนเป็นที่สยดสยองแล้ว หนังสือพิมพ์หลายหัวของฝรั่งก็เลือกที่จะลงภาพศพไว้ที่หน้าแรก นั่นคือเป็นภาพนาย Mevlut Mert Altintas ยืนอยู่ มือหนึ่งจับปืน อีกมือชี้ชูขึ้นไปข้างบน ในขณะที่ร่างของท่านทูต Andrei Karlov นอนอยู่เบื้องหลัง (รูปนี้) หรือบางเจ้าก็เอามาใช้เป็นรูปนำลิงก์ไปยังข่าว
ภาพนี้ถ่ายโดย Burhan Ozbilci ช่างภาพของ AP (Associated Press) ที่ตอนแรกเขาก็ไม่คาดคิดว่าจะเป็นวันที่เขาจะได้ถ่ายรูปประวัติศาสตร์ เขาคิดว่าจะเป็นการถ่ายภาพการเปิดงานของท่านทูตเหมือนทุกๆ คราว เขาบรรยายเหตุการณ์ตอนเหตุยิงว่า
“เสียงปืนอย่างน้อยแปดนัดดังขึ้นในห้องแสดงภาพที่ดูสงบสะอาด ความวุ่นวายระเบิดตัวขึ้นไปทั่วบริเวณ ผู้คนกรีดร้อง วิ่งไปหลบหลังเสา ใต้โต๊ะและบางส่วนก็นอนลงบนพื้น ผมเองก็กลัวและงุนงงมาก แต่ก็ไปหลบหลังผนังหนึ่ง แล้วก็ทำงานของผมต่อ นั่นคือการถ่ายภาพ”
มีผู้สรรเสริญความงามในเชิงศิลปะของภาพนี้หลายคน บทความใน Vulture หัวเรื่องว่า “การพิจารณาภาพถ่ายการลอบสังหารในอังคารา ในฐานะภาพวาดประวัติศาสตร์” โดยคุณ Jerry Saltz บอกไว้ว่า
“ไม่เคยเห็นภาพใดเหมือนภาพนี้มาก่อน นี่เป็นภาพนี่สื่อถึงการนองเลือด ชาตินิยม การก่อการร้าย และการกุมอำนาจทางการเมือง แต่กลับอยู่บนฉากสีขาวสะอาดของห้องแสดงภาพชั้นสูงที่แขวนภาพร่วมสมัยอยู่ ทั้งผู้ร้าย ทั้งเหยื่อ ทั้งผู้เข้าร่วมงานต่างแต่งตัวชุดดำขลับสวยงาม ภาพนี้ดูไม่เป็นความจริงเลย และหากพูด – ถึงจะด้วยความเจ็บปวดอย่างที่สุด – มันเป็นภาพที่สวย”
บทความดังกล่าวยังนำภาพนี้ไปเทียบกับภาพวาด Oath of the Horatii ของ Jacques-Louis David ด้วยว่านี่อาจเป็นการเกิดในยุคใหม่ของภาพนี้
เมื่อวาน ภาพนี้กลายเป็นภาพที่ถูกนำไปตัดต่อเป็นมีมมากเป็นอันดับต้นๆ (มีมหนึ่งคือ Steal his look คือถ้าจะแต่งตัวดีเหมือนผู้ร้ายคนนี้จะต้องซื้ออะไรบ้าง อีกมีมคือตัดต่อผู้ร้ายให้เต้นบูกี้) ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องของอินเทอร์เนตที่อาจควบคุมไม่ได้ เป็นพลังอิสระ แต่คำถามของหลายคนก็คือ ทำไมหนังสือพิมพ์จึงเลือกภาพนี้มาลง มีหลักการอย่างไร ในการเลือกรูปที่มีร่างของผู้ตายเผยแพร่?
หนังสือพิมพ์ New York Times เองก็เป็นเจ้าหนึ่งที่ต้องตอบคำถามนี้ หลังจากเลือกลงรูปดังกล่าวบนหน้าแรกของโฮมเพจ, Phil Corbett บรรณาธิการด้านมาตรฐานและจริยธรรม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินใจใช้ภาพดังกล่าว ตอบคำถามไว้ในเซคชั่น Why’d You Do That? ไว้ว่า
“ในสถานการณ์แบบนี้ การใช้ภาพจะเริ่มจากบรรณาธิการที่ดูแลเรื่องนั้นๆ บรรณาธิการภาพและกองบรรณาธิการจะมาตัดสินใจว่าข่าวที่เกิดขึ้นจะอยู่บนหน้าแรก และอยู่บนหน้าโมบายล์ของเราอย่างไร ถ้าเป็นข่าวใหญ่ หรือเป็นภาพที่มีความอ่อนไหวมากก็จะต้องมีบรรณาธิการระดับสูงกว่านั้นมาเกี่ยวข้อง
ในกรณีนี้ ผมคิดว่าพวกเราทุกคนเห็นพ้องกันว่าภาพดังกล่าวควรได้ขึ้นโฮมเพจ มันเป็นภาพข่าวที่มีความสำคัญ เมื่อพิจารณาถึงความเกี่ยวข้องของรัสเซียในซีเรีย และความขัดแย้งระหว่างหลายประเทศและหลายฝักหลายฝ่าย และภาพดังกล่าวก็ยังทำให้เราเห็นธรรมชาติที่น่าสะพรึงของการโจมตีด้วย มันเป็นภาพที่ทรงพลังมาก ผมคิดว่าทรงพลังกว่าการอธิบายเหตุการณ์เป็นตัวอักษรเสียอีก ในภาพเราเห็นมือปืนแต่งตัวดี ฉากอันสะอ้านเรียบร้อยหรูหรา และทั้งหมดนี้ก็ประกอบกันเป็นคุณค่าของข่าว และถึงแม้ภาพอาจทำให้ใครหลายคนตกใจแต่มันก็ไม่ได้มีความแหวะเลย”
“มีบางครั้งที่เราคิดว่าภาพมีความจำเป็นและสำคัญพอที่จะตีพิมพ์ แต่ก็ไม่เอาไว้หน้าหนึ่ง เพราะว่าการพิมพ์ไว้หน้าหนึ่งหมายถึงว่าผู้อ่านที่ไม่ได้เตรียมตัวมาจะต้องมาเห็นภาพนี้อย่างไม่มีทางเลือก ดังนั้นเราจึงพยายามระมัดระวังมากขึ้นแต่ว่าถ้าผู้อ่านได้คลิกจากหัวข้อข่าวเพื่อมาอ่านข่าวหรือกดดูสไลด์โชว์แล้ว ผมคิดว่าเขาก็ค่อนข้างเตรียมตัวมาเจอภาพบางภาพอยู่แล้ว ในกรณีของอังคารา เราคิดว่าเราโอเคกับการเลือกภาพนี้อยู่บนโฮมเพจ แต่สำหรับวิดีโอที่น่ากลัวกว่า เราเลือกที่จะไม่เอาไว้ ก็แปะลิงก์ไว้เฉยๆ
เมื่อถามว่าทำไมไม่ครอปเฉพาะรูปมือปืนมาลงล่ะ จะได้ไม่ต้องลงภาพศพ เขาตอบว่า “ถ้าทำอย่างนั้นภาพข่าวก็จะถูกลดทอนคุณค่าไป ถ้าภาพศพมีเลือด หรือดูสยดสยองเราอาจจะพิจารณาทางเลือกนั้น แต่ว่าในกรณีนี้คิดว่าไม่จำเป็น”
คอลัมน์ Why’d You Do That ปิดบทความด้วยความเห็นจากผู้เขียน (คุณLiz Spayd ซึ่งเป็น Public Editor ของ NYTimes) ว่าเห็นด้วยกับการใช้รูปภาพนี้ขึ้นโฮมเพจ โดยบอกว่า
“แน่ชัดอยู่แล้วว่าภาพนั้นมีพลังอำนาจในการกระทบอารมณ์ความรู้สึกของคน และหลายครั้งภาพถ่ายบางภาพก็ยังช่วยเปลี่ยนแปลงเส้นทางประวัติศาสตร์ไปด้วย ภาพนั้นมีพลังในแบบที่บทความอาจทำไม่ได้ คุณลองคิดถึงภาพศพที่ถูกเผาเป็นถ่านห้อยโหนลงมาจากสะพานใน Falluja หรือภาพร่างเด็กซีเรียจมน้ำตายที่อยู่ริมชายหาดตุรกีสิ ภาพแบบนี้อาจโหดร้ายสำหรับผู้อ่านที่ไม่ได้ตระเตรียมใจมา คนที่อาจจะคลิกดูโฮมเพจ หรือไม่ก็หยิบหนังสือพิมพ์ตอนเช้ามาอ่าน ดังนั้น การจะตัดสินใจใช้ภาพดังกล่าวก็ควรจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง แต่ก็ควรเป็นการตัดสินใจที่เฉียบขาดด้วย”
การลงภาพศพดังกล่าวจึงผ่านการคิดวิเคราะห์มาแล้ว คุณอาจไม่เห็นด้วยกับคำตอบ แต่อย่างน้อยกระบวนการก็มีการชั่งน้ำหนักระหว่างความเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์กับความโหดร้ายของเหตุการณ์ ไม่ได้เป็นการลงภาพศพไม่เซนเซอร์โดยที่ไม่ได้คิดอะไร
อ้างอิง
http://mashable.com/2016/12/19/turkey-assassination-photograher/#Q35IRBb9NOqP
http://www.vulture.com/2016/12/those-harrowing-ankara-assassination-photos.html?mid=facebook_nymag