จำนวนผู้ติดเชื้อที่กำลังเพิ่มขึ้นเกือบ 10,000 ราย/ วัน ทำให้ภาครัฐออกมาตรการหลายอย่างทั้งในแง่เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ มาตรการสาธารณสุขเร่งตรวจและแจกจ่ายวัคซีน รวมถึงมาตรการจำกัดการเดินทาง โดยเฉพาะการห้ามออกจากเคหะสถานในเวลา 21.00 – 4.00 น. ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
มาตรการทั้งหลายแหล่กระทบกับทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่มีบางกลุ่มที่เผชิญผลกระทบหนักกว่าอย่างเลี่ยงไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือคนที่อยู่ในฐานล่างสุดของสังคม คนที่ไม่มีพื้นที่ส่วนตัวและอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ‘คนไร้บ้าน’
The MATTER ลงพื้นที่พูดคุยกับคนไร้บ้านในพื้นที่คลองหลอดและสถานีรถไฟหัวลำโพง วิกฤตโรคระบาดส่งผลอย่างไรกับพวกเขาบ้าง มาตรการควบคุมโรคกระทบพวกเขาอย่างไร และพวกเขามีหวังบ้างไหมที่จะได้รับวัคซีน
โรคระบาด-เศรษฐกิจร่วง-ตกงาน
ตามปกติ ในทุกวันอังคารริมถนนด้านหลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ ในซอยที่รู้จักกันในชื่อ ‘ตรอกสาเก’ มูลนิธิอิสรชนร่วมกับอาสาสมัครจะลงพื้นที่แจกข้าวกล่อง น้ำดื่ม ขนม และอุปกรณ์ป้องกันตัวเองจากโรคระบาดให้แก่คนไร้บ้านในบริเวณนี้อยู่เป็นประจำ
แต่อังคารนี้ต่างออกไป เพราะมีคนมากกว่า 200 คนที่กำลังต่อแถวรอรับของบริจาค เป็นจำนวนที่เยอะขึ้นมากเทียบกับประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยเดินทางมาลงพื้นที่บริเวณนี้หลายครั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว
“มาจากสายใต้ใหม่คะ” รัตนา (นามสมมุติ) ผู้หญิงวัยกลางคนคนหนึ่งเล่าให้เราฟัง เธอมีอาชีพร้อยพวงมาลัยขาย และเดินทางมารับข้าวที่นี่ตามคำบอกเล่าของเพื่อนฝูง เพราะบริเวณที่เธออาศัยอยู่ไม่มีจุดบริจาค
“นี่รอเพื่อนอยู่ค่ะ คนที่เป็นกระเทยใส่กางเกงสีเขียว มัดจุก ตรงนั่นแหละค่ะ” เธอชี้ไปกึ่งกลางของแถว ขณะที่สองฝากถนน ด้านหลังยังมีคนอีกนับร้อยต่อแถวรอรับของบริจาคอยู่
“พอร้านไล่เราออก ก็ไม่มีเงินจ่ายค่าห้องก็เลยมานอนอยู่ตรงนี้” นงค์ (นามสมมุติ) หญิงวัยกลางคนอายุ 53 ปีเล่าให้เราฟัง
เธอเป็นชาวที่เข้ามารับจ้างทำงานในครัวร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แต่พอต้นปี 2564 แรงระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ร้านอาหารตัดสินใจให้เธอออก เพราะไม่มีแรงจ้างเธออีกต่อไป เมื่อไม่มีงานก็ไม่มีเงิน ไม่นานหญิงสาวก็ตัดสินใจหยุดสัญญาเช่ากับหอพัก และเก็บเงินที่เหลือน้อยนิดใส่กระเป๋าแล้วมาอาศัยอยู่ในสถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพงแทน
ทุกวันนี้เมื่อเข็มชี้เวลา 6 โมง เธอจะมายืนอยู่ด้านหน้าของสถานีหัวลำโพง รอคอยข้าวที่มีคนเอามาบริจาค เธออธิบายถึงชีวิตเธอในช่วงเวลานี้อย่างสั้นและห้วนว่า “มันลำบากมาก”
ชีวิตของนงค์ ไม่ต่างจากตาล (นามสมมุติ) และแหม่ม (นามสมมุติ) สองคู่รักริมฟุตบาทที่อายุห่างกันมากกว่า 10 ปี ทั้งคู่พบรักกันริมถนน หลังจากที่ตาลลาออกจากงานขับเรือยนต์พาชาวต่างชาติท่องเที่ยวตามเกาะในพัทยา
“งานมันเดิน แต่เงินมันไม่เดิน และคิดดูสิผมจะอยู่ทำไม” ตาลพูดขึ้นด้วยสีหน้าเรียบเฉย อดีตเจ้านายไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้างให้เขา นับตั้งแต่ไวรัส COVID-19 เริ่มระบาดและนักท่องเที่ยวบางตาลงเรื่อยๆ
“ลำบากไหม? ข้าวมันพอมีกินอยู่ แต่เงินมันไม่มีใช้” ตาลพูดเสร็จ แหม่มก็อ้อนว่าช่วยซื้อกาแฟกระป๋องและนมให้หน่อยสักสองชุด สำหรับตัวเธอและแฟนหนุ่ม
แล้วจะปฏิเสธได้อย่างไร ถ้ามันเป็นคำขอจากคนที่อยู่อย่างยากลำบากกว่า
ชีวิตคนไร้บ้านในมาตรการคุมโรคระบาด
ปฏิเสธได้ยากว่า มาตรการควบคุมโรคระบาดของภาครัฐเป็นสิ่งจำเป็นในสถานการณ์ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยจวนเจียนแตะหลัก 10,000 คนในทุกวัน
แต่มาตรการที่เข้มงวดและแข็งกร้าว โดยเฉพาะมาตรการห้ามออกจากบ้านในระหว่างเวลา 21.00-4.00 น. ในจังหวัดที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามประกาศของ ศบค. ย่อมกระทบวิถีชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยุ่ในพื้นที่สาธารณะ
ปกติแล้ว รัตนาร้อยพวงมาลัยขายอยู่ริมถนนข้างๆ ตรอกสาเก โดยเริ่มขายตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงมืดค่ำ มีบางครั้งที่ต้องไปขายสี่แยกบ้าง แต่ภายหลังที่มาตรการ (คล้าย) เคอร์ฟิวถูกเริ่มใช้ เธอก็ต้องรีบเก็บของให้เร็วขึ้น เพราะหากช้าก็จะไม่มีรถกลับบ้าน
“กลัวมากกว่าค่ะ กลัวมากกลัวเขาจะมาจับหนูไป” รัตนาเล่าให้เราฟังถึงผลกระทบจากมาตรการกึ่งเคอร์ฟิวของภาครัฐ
“แต่ถึงตอนนี้ยังไม่มีใครมาจับนะคะ มีแต่ก่อนหน้านี้ที่เคยโดนไปครั้งหนึ่ง ตำรวจเขาบอกหนูเร่ร่อนเลยพาไป สน. อยู่คืนหนึ่งค่ะ”
ด้านแหม่มพูดถึงมาตรการดังกล่าวว่า “กลัวดิ คืนนี้ยิ่งกลัวเลย เทศกิจจะมาคืนนี้เนี่ย”
“แต่เคอร์ฟิวคืออะไร?” ตาลถามขึ้นด้วยความไม่รู้ เมื่อเราอธิบายให้ฟัง เขาถึงร้องอ๋อ
“แล้วถ้าเราอยู่บนถนนแบบนี้ เขาจะจับไหม ?” กลายเป็นตาลที่ถามเรากลับขึ้นมา เราบอกไม่แน่ใจ แต่เป็นไปได้
“งั้นก็กลัวแล้วล่ะ คืนนี้เทศกิจมาด้วย เก็บของเลยนะเธอ คืนนี้ต้องหลบเข้าซอย ” ตาลหันไปบอกแฟนสาวต่างวัย แล้วทั้งสองคนก็พูดคุยเออออกันอยู่สองคน
“ตอนนี้จะไปก็ไปไม่ได้ รถมันไม่มีแล้ว เขาประกาศเคอร์ฟิวแล้วนี่” นงค์ตอบคำถามขณะเก็บข้างของเพื่อออกจากสถานีหัวลำโพง หลังจากเจ้าหน้าที่สถานีเดินออกมาไล่
ท้องถนนชื้นแฉะจากสายฝน เท้าของนงค์จ้ำไปเรื่อยไม่มีปลายทาง เธอพูดต่อ “กลับไปก็ต้องกักตัวอีก 14 วัน ก็ขี้เกียจ กลับแล้วไงก็ต้องกลับมานี่อีก กลับไปก็ทำไร่นาไม่อยากทำ”
เมื่อเราถามเธอว่าคิดว่าจะได้กลับมาทำงานเมื่อไหร่ เธอส่ายหน้า ไม่มองตา และจ้ำต่อไปบนน้ำขังริมถนน
วัคซีน COVID-19 ที่ยากจะมาถึง
ไม่มีอาหารทานนับเป็นเรื่องเลวร้ายของคนไร้บ้าน แต่ในวิกฤตโรคระบาด การเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ป้องกัน ข้อมูลการดูแลตัวเอง และระบบสาธารณสุขคือ สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของที่สุด
“ฉันขอได้ไหมคะ” รัตนาพูดแล้วยกมือไหว้หลังจากรู้ว่าเราเป็นนักข่าว “ยายคนหนึ่งนอนอยู่หน้าถนนราชดำเนิน ช่วยหน่อยเถอะค่ะ แกลุกไปไหนไม่ได้เลย ขี้เยี่ยวไหลตลอดเวลา”
“มีคนมาตรวจโควิดแล้วค่ะ แกไม่ติด แต่ก็ยังไม่มีคนมารับไปค่ะ” เธอพูดแล้วยังไหว้ท่วมหัว
รัตนาเช่นเดียวกับป้านงค์ และคนอื่นๆ ที่เล่าให้ฟังว่าทุกวันนี้พวกเธอต้องรออุปกรณ์ป้องกันโรคระบาด อาทิ หน้ากากอนามัย, เจลล้างมือ จากมูลนิธิ หรือคนที่มาบริจาคเอง มีน้อยครั้งมากที่เธอจะได้รับจากหน่วยงานภาครัฐ
“ตรวจแล้ว ผมไม่ติด” ตาลรีบพูดขึ้นหลังเราถามว่าได้รับการตรวจหาไวรัส COVID-19 บ้างไหม
“ใช่ๆ เขาไม่ติด ฉันก็ไม่ติด แต่แถวนี้มีคนติดหนึ่งคน แต่ไม่รู้จักนะ เป็นพวกคนนอก” แหม่มรีบเสริม
คนไร้บ้านริมตรอกสาเกเล่าเรื่องคล้ายกับคนไร้บ้านบริเวณถนหัวลำโพงว่า เมื่อ 2-3 วันที่แล้ว มีรถจากกระทรวงสาธาณสุขเข้ามาตรวจหาผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในบริเวณที่พวกตนอยู่ แต่นั่นนับเป็นวาระสุดพิเศษ เพราะเท่าที่สองสามีภรรยาคนไร้บ้านจำได้คือ “ตรวจครั้งเดียวนะ ปีที่แล้วไม่เห็นมีมา”
แล้วฉีดวัคซีนกันหรือยัง? เราถามทั้งสองหลังจากเหลือบไปเห็นกระเป๋าใบหนึ่งที่มีป้ายข้อความว่า ‘ฉีดวัคซีนแล้ว’
“ผมไม่ได้เป็นอะไร ผมไม่ได้เป็นอะไร” ตาลรีบปฏิเสธ
“ถ้าเป็นป้าก็ต้องเป็นสิ” แหม่มรีบเสริม ก่อนที่เราจะอธิบายว่าวัคซีนคือการฉีดเข้าไปเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อการเจ็บป่วยจากไวรัส
“ไม่รู้ เขาไม่อธิบายอะไร” ตาลบอก
เรื่องเล่าจากปากทั้งสองตรงกับที่ จ๋า-อัจฉรา สรวารี จากมูลนิธิอิสรชนเล่าว่า “ปัญหา COVID-19 ของคนไร้บ้านเริ่มตั้งแต่รอบแรกที่ไม่ได้รับการตรวจ จนถึงรอบนี้ที่ไม่ได้รับวัคซีน แต่มันปกติอยู่แล้ว เมื่อคนทั่วไปยังไม่ได้รับการดูแล คนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในที่สาธารณะก็จะดรอปลงไปอีกระดับนึง”
เธอเล่าว่าที่มีรถจากกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาตรวจก็เป็นเพราะมูลนิธิของเธอพยายามประสานกับภาครัฐ “พยายามทุกอย่างจนมาได้ตรวจเมื่อไม่นานมานี้ แต่มันก็ไม่ครอบคลุมทุกคนอีก เพราะมีเงื่อนไขการตรวจ เช่น บางคนไม่มีบัตรประชาชน
ในเรื่องการกระจายวัคซีน อัจฉราเรียกร้องให้ภาครัฐนำวัคซีนออกมาแจกจ่ายแก่คนไร้บ้านตามจุดต่างๆ ให้เร็วที่สุด
“ตอนนี้มีประมาณ 10-20 คนที่ได้วัคซีนแล้ว เพราะอิสรชนหาโควตาวัคซีนให้ได้”
“แต่เราตั้งคำถามว่า ถ้าโจทย์คือการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง ทำไมไม่นำรถพยาบาลออกมาฉีดเขาเลย การที่พาเขาไปฉีดทีละ 10-20 คน มันเป็นการเสี่ยงพาโรคไปด้วยนะ ถ้าคุณรู้ว่าเขาอยู่แถวนี้กันอยู่แล้ว เช่น ถนนราชดำเนิน 300 คน ทำไมไม่เอารถออกมาฉีด ทำไมต้องสร้างเงื่อนไขด้วย”
“เรายืนยันว่าทุกคนต้องได้รับวัคซีน ไม่ใช่แค่คนไร้บ้าน แต่คนไทยทุกคนควรได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงและรวดเร็วที่สุด” เธอประกาศกร้าวในนามของนักทำกิจกรรมเพื่อสังคม
ภาพสะท้อนของสังคมคือ ท้องถนน
‘ท้องถนนคือภาพสะท้อนของสังคมที่ดีที่สุด’ ใครบางคนเคยพูดไว้ใกล้เคียงนี้
และถ้านำคำกล่าวข้างต้นมาเทียบกับข้อมูลคนไร้บ้านที่อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้คนไร้บ้านของ สสส. เปิดเผยเมื่อเดือมกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมาว่า คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 20-30 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็น 300-400 ราย จากตัวเลขเดิมที่ 1,500-1,600 ราย
แปลได้ว่าขณะนี้ท้องถนนของกรุงเทพฯ กลายเป็นที่ซุกหัวนอนของคนเกือบ 2,000 คน คุณว่าภาพแบบนี้สะท้อนสังคมแบบไหน ?
ปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้จำนวนคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นคือ การระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย ธุรกิจขนาดเล็ก-กลางปิดตัว และคนจำนวนมากถูกเลิกจ้างและลอยแพกลางอากาศ
ธนาคารกรุงศรีเปิดเผยรานงานคาดการณ์เศรษฐกิจเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และข้อมูลไปในทิศทางดียวกับหลายสำนักว่า ในปี 2563 GDP ของประเทศไทยหดตัวมากกว่าร้อยละ 6.4 หรือมากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 และถึงแม้มีความเป็นไปได้ที่ในปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโต แต่การเติบโตจะมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐ และการฟื้นของเศรษฐกิจในบางภาคส่วนเท่านั้น และเป็นไปได้สูงว่าจะไม่ใช่ภาคท่องเที่ยวและบริการที่โอบอุ่มแรงงานไทยหลายล้านไว้ในระบบ
อันที่จริง ตัวเลขถดถอยหรือเติบโตของเศรษฐกิจยังไม่น่ากลัวเท่าตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่เปิดเผยสถานการณ์คนว่างงานไตรมาศ 1 ปี 2564 ว่ามีไม่ต่ำกว่า 760,000 ราย ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานหรือทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง/ วัน มีสูงถึง 880,000 ราย และมีอีกราว 410,000 รายที่กำลังจบการศึกษาภาคบังคับ, ปริญญาตรี และเข้าสู่ตลาดแรงงาน
ในคนจำนวนกว่า 8 ล้านนี้ (ว่างงาน+แรงงานจบใหม่) อาจมีสัก 1 ใน 100 หรือใน 1,000 ที่กลายมาเป็นคนไร้บ้านก็เป็นไปได้ และถึงวันนั้น.. คุณว่าท้องถนนของเมืองไทยกำลังสะท้อนภาพอะไรอยู่ ?
อ้างอิง: