ทุกวันนี้เรามีรายจ่ายในการใช้ชีวิตตกเดือนละเท่าไหร่กัน แล้วรายจ่ายส่วนใหญ่มักเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง นี่คงเป็นอีกเรื่องสำคัญไม่น้อยสำหรับคนไทย เพราะระดับค่าใช้จ่ายมักผันแปรไปตามพื้นที่ บางที่อาจมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ในขณะที่บางพื้นที่มีระดับค่าใช้จ่ายลดหลั่นลงมา
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนประจำปี พ.ศ.2563 โดยสำรวจจากครัวเรือนทั้งหมด 77 จังหมด เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างของสมาชิกในครัวเรือน ลักษณะที่อยู่อาศัย การได้รับสวัสดิการและความช่วยเหลือจากรัฐ การใช้บริการของรัฐ รวมทั้งค่าใช้จ่ายครัวเรือน
สิ่งที่น่าสนใจจากผลการสำรวจฉบับนี้คือเผยให้เห็นว่า คนไทยในแต่ภาคมีระดับรายจ่ายไม่เท่ากัน โดยพื้นที่ กทม นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ เป็นพื้นที่ที่มีค่าใช้จ่ายครัวเรือนต่อเดือนเฉลี่ยมากที่สุด ในขณะที่ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีค่าใช้จ่ายครัวเรือนต่อเดือนเฉลี่ยน้อยที่สุด
มาดูกันว่า คนไทยในแต่ละพื้นที่ของประเทศมีรายจ่ายแต่ละเดือนเฉลี่ยเท่าไหร่ แล้วทั้งหมดนี้คิดเป็นรายจ่ายประเภทไหนมากที่สุด
หากลงรายละเอียดค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทแล้ว ผลการสำรวจฯ นี้ ได้ระบุค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยแต่ละเดือน โดยแบ่งตามรายภาคไว้ ดังนี้
1. กทม + 3 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ)
ค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 31,142 บาท แบ่งเป็น
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค 26,993 บาท ได้แก่
– อาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ 10,093 บาท
– ที่อยู่อาศัย เครื่องแต่งบ้าน และเครื่องใช้ต่างๆ 7,239 บาท
– เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 468 บาท
– ค่ารักษาพยาบาลและรายจ่ายส่วนบุคคล 1,483 บาท
– ค่าเดินทางและการสื่อสาร 6,618 บาท
– ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 1,092 บาท
- ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค 4,149 บาท
2. ภาคกลาง
ค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 21,771 บาท แบ่งเป็น
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค 18,836 บาท ได้แก่
– อาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ 7,753 บาท
– ที่อยู่อาศัย เครื่องแต่งบ้าน และเครื่องใช้ต่างๆ 4,177 บาท
– เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 361 บาท
– ค่ารักษาพยาบาลและรายจ่ายส่วนบุคคล 961 บาท
– ค่าเดินทางและการสื่อสาร 4,867
– ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 717 บาท
- ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค 2,934 บาท
3. ภาคใต้
ค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 19,641 บาท แบ่งเป็น
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค 17,095 บาท ได้แก่
– อาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ 7,098 บาท
– ที่อยู่อาศัย เครื่องแต่งบ้าน และเครื่องใช้ต่างๆ 3,823 บาท
– เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 403 บาท
– ค่ารักษาพยาบาลและรายจ่ายส่วนบุคคล 908 บาท
– ค่าเดินทางและการสื่อสาร 4,258 บาท
– ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 604 บาท
- ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค 2,545 บาท
4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 16,810 บาท แบ่งเป็น
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค 14,796 บาท ได้แก่
– อาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ 6,520 บาท
– ที่อยู่อาศัย เครื่องแต่งบ้าน และเครื่องใช้ต่างๆ 3,147 บาท
– เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 264 บาท
– ค่ารักษาพยาบาลและรายจ่ายส่วนบุคคล 744 บาท
– ค่าเดินทางและการสื่อสาร 3,498 บาท
– ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 624 บาท
- ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค 2,014 บาท
5. ภาคเหนือ
ค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 16,490 บาท แบ่งเป็น
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค 14,370 บาท ได้แก่
– อาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ 6,184 บาท
– ที่อยู่อาศัย เครื่องแต่งบ้าน และเครื่องใช้ต่างๆ 3,378 บาท
– เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 251 บาท
– ค่ารักษาพยาบาลและรายจ่ายส่วนบุคคล 760 บาท
– ค่าเดินทางและการสื่อสาร 3,183 บาท
– ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 613 บาท
- ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค 2,120 บาท
นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั่วประเทศจะเฉลี่ยเดือนละ 21,329 บาท ซึ่งถือว่าเพิ่มมากขึ้นจากปี พ.ศ.2562 มา คิดเป็น 2.8% โดยผู้คนมักเสียค่าใช้จ่ายไปกับค่าอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ มากที่สุด คิดเป็น 35.6% รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเรืองอื่นแตกต่างกันไป ดังนี้
– ที่อยู่อาศัย เครื่องแต่งบ้าน และเครื่องใช้ต่างๆ 20.6%
– ค่าเดินทาและยานพาหนะ 17.2%
– เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และของใช้ส่วนบุคคล 4.7%
– การสื่อสาร 4.0%
– การศึกษา 1.5%
– ค่ารักษาพยาบาลและเวชภัณฑ์ต่างๆ 1.5%
– การบันเทิงหรือจัดงานพิธี 1.0%
– กิจกรรมทางศาสนา 0.9%
ในขณะที่ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค คิดเป็น 13.0% ซึ่งครอบคลุมรายจ่ายประเภทภาษี เบี้ยประกันภัย ดอกเบี้ย ซื้อสลากกินแบ่ง/หวย และอื่นๆ
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคปีที่แล้วที่เพิ่มขึ้นมานั้นเป็นผลมาจากนโยบายรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น เพิ่มจำนวนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการต่างๆ เพิ่มเงินเยียวยาในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด COVID
ถึงอย่างนั้น ตัวเลขดังกล่าวก็เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ผู้คนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่ยังไม่รุนแรงและต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2564 อีกทั้ง สถานการณ์แพร่ระบาดในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจพอสมควร รวมทั้งมีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้า หลายครัวเรือนอาจต้องประเมินการปรับระดับค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนของตนเองตามสภาพการณ์ปัจจุบันเป็นหลัก
Illustration by Waragorn Keeranan