ข่าวลือว่าหนังสือพิมพ์ระดับชาติ 3 ฉบับจะปิดตัวลง ที่คนในแวดวงสื่อพูดกันมาตั้งแต่ต้นปี 2562 ก็กลายเป็นความจริง หลังจาก The Nation ประกาศปิดตัวตามโพสต์ทูเดย์และ M2F
คอมเม้นต์ใต้ข่าวการปิดตัวหนังสือพิมพ์หลายฉบับมักจะออกมาซ้ำๆ กัน คือ
”พฤติกรรมการเสพข่าวสารของคนมันเปลี่ยนไปแล้ว”
“หนังสือพิมพ์ไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อโลกอีกต่อไป”
“ถ้าปรับตัวไม่ทันก็ต้องจากไป เป็นเรื่องธรรมดา”
ฯลฯ
แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในขณะที่เราอาจจะคิดว่า หนังสือพิมพ์ระดับชาติปิดตัวไปเป็นสิบๆ ฉบับ ทว่าแท้จริงแล้ว นับแต่โซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพล หนังสือพิมพ์ระดับชาติของไทยเพิ่งปิดตัวไปเพียง 5 ฉบับเท่านั้น (จากที่มีอยู่ราว 20 ฉบับ) ได้แก่ โลกวันนี้ (ปี 2557) บ้านเมือง (ปี 2559) และเพิ่งมา 3 ฉบับล่าสุดในปีนี้
เทียบกับนิตยสารที่โดนผลกระทบรุนแรงกว่า ที่สองปีก่อน The MATTER ถึงกับเคยไปยืนนับจำนวนหัวบนแผง พบว่าเหลือเพียง 1/3 จากที่เคยมีถึงกว่า 400 หัว และปัจจุบันอาจมีเหลือน้อยกว่านั้น
แต่ถึงหนังสือพิมพ์จะปิดตัวน้อยกว่านิตยสาร แต่หากเทียบผลกระทบที่อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไทยถูก disrupt จากเทคโนโลยีก็ถือว่าสาหัสพอๆ กัน!
เหตุผลที่เธอไป – ง่ายๆ – รายได้ลดลง
สมชาย มีเสน ผู้บริหารเครือเนชั่น อธิบายเหตุผลที่ปิดหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ The Nation ทั้งๆ ที่เป็นที่มาของชื่อเครือสื่อนี้ว่า เกิดจากเม็ดเงินโฆษณาในหนังสือพิมพ์ที่ลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับหนังสือพิมพ์ The Nation ขาดทุนมาตลอดนับสิบปี
ทั้งนี้ จะปรับตัวให้ The Nation ก้าวขึ้นสู่ออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้เป็นต้นไป และจะเพิ่มภาษาจีนด้วย ให้กลายเป็นสื่อ 2 ภาษา (อังกฤษ-จีน)
เหตุผลของเครือเนชั่นก็ไม่ต่างจากเครือบางกอกโพสต์ที่เคยประกาศปิดหนังสือพิมพ์ธุรกิจโพสต์ทูเดย์ และหนังสือพิมพ์แจกฟรี M2F เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ซีอีโอเครือบางกอกโพสต์ ให้เหตุผลเรื่องผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง และจากพนักงาน 200 คน ก็เลือกไว้เพียง 20 คน ให้ไปทำงานต่อกับทีมดิจิทัลของบริษัท
สำหรับภาพรวมเม็ดเงินในอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังเคยขึ้นสูงสุดในปี 2550 ที่มีเม็ดเงินรวมกัน 1.6 หมื่นล้านบาท จากนั้นก็ประคองอยู่ในระดับ 1.4 – 1.5 หมื่นล้านบาท แล้วก็เริ่มทิ้งดิ่งตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา (ที่มาข้อมูล: สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย / Nielsen)
- ปี 2549 – 15,432 ล้านบาท
- ปี 2550 – 15,826 ล้านบาท *สูงสุด
- ปี 2551 – 15,288 ล้านบาท
- ปี 2552 – 14,149 ล้านบาท
- ปี 2553 – 15,000 ล้านบาท
- ปี 2554 – 14,558 ล้านบาท
- ปี 2555 – 15,183 ล้านบาท
- ปี 2556 – 15,258 ล้านบาท
- ปี 2557 – 13,166 ล้านบาท *เริ่มลดลง
- ปี 2558 – 12,332 ล้านบาท
- ปี 2559 – 9,843 ล้านบาท
- ปี 2560 – 7,706 ล้านบาท
- ปี 2561 – 6,100 ล้านบาท
ดูตัวเลขก็ได้ข้อสรุปง่ายๆ ว่า เม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์นั้นลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียว และเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับเร่งปรับตัวขนานใหญ่ ทั้งไม่รับคนเพิ่ม, เปิดเออรี่รีไทร์, ลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าโอที เบี้ยต่างจังหวัด ฯลฯ, ไม่ให้โบนัส, ไม่ขึ้นเงินเดือน, ลดไซส์หนังสือพิมพ์, ลดจำนวนหน้า, เพิ่มวิธีหารายได้ ทั้งจากออนไลน์ จัดอีเว้นต์ และวิธีการอื่นๆ
บางฉบับการปรับตัวดังกล่าว ก็พอให้ยังทำธุรกิจต่อไปได้ แต่บางฉบับปรับตัวไม่ทัน ต้องประกาศปิดตัวไปในท้ายที่สุด
เหลืออะไรบ้างบนแผงหนังสือ
ในยุคสมัยนี้ อย่าว่าแต่ให้เดินหาหนังสือพิมพ์เลย กระทั่งเดินหาแผงขายหนังสือพิมพ์ก็ยังยาก
สมัยก่อนในแวดวงคนหนังสือพิมพ์ มักจะมีคำพูดที่ไว้ข่มกันเวลาได้ข่าวดีๆ ว่า “เจอกันบนแผง” แต่สมัยนี้ แผงหนังสืออยู่ที่ไหนล่ะ? กระทั่งใน 7-eleven บางสาขาก็ไม่มีแผงขายหนังสือพิมพ์ด้วยซ้ำ
ในยุคหนึ่งคนทำหนังสือพิมพ์อาจจะภาคภูมิใจว่า สื่อชนิดนี้มีพลัง พาดหัวหน้าหนึ่งอะไรไป ข่าวนั้นต้องเป็น talk of the town คนใหญ่คนโตในประเทศ ตั้งแต่ปลัดกระทรวงไปจนถึงนายกรัฐมนตรีต้องอ่านหนังสือพิมพ์ทุกเช้า
แต่ช่วง 2-3 ปีหลัง อิทธิพลของหนังสือพิมพ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้โอเคว่า ในต่างจังหวัดคนจำนวนไม่น้อยจะยังอ่านหนังสือพิมพ์กันอยู๋ แต่ก็เริ่มหาคนซื้อได้น้อยลงทุกทีๆ (แม้น่ายินดีที่ผู้นำคนปัจจุบันยังเอาหนังสือพิมพ์ฉบับโน้นฉบับนี้มาโวยวายเรื่องพาดหัวข่าวอยู่เนืองๆ แปลว่าแกยังอ่านอยู่ แต่ก็มีอดีตรองนายกฯ รายหนึ่งออกมาแฉว่า เจ้าตัวอ่อนไหวกับเรื่องราวต่างๆ ในโซเขียลมีเดียมาก)
จากการตรวจสอบหนังสือพิมพ์รายวันระดับชาติ พบว่ามีชะตากรรมต่อไปนี้ (ปีที่เริ่มขาย / ชื่อหนังสือพิมพ์ / เจ้าของ / สถานะปัจจุบัน)
- 2489 / Bangkok Post / เครือบางกอกโพสต์ / ยังขายอยู่
- 2493 / ไทยรัฐ / บริษัท วัชรพล จำกัด / ยังขายอยู่
- 2493 / สยามรัฐ / บริษัท สยามรัฐ จำกัด / ยังขายอยู่
- 2507 / เดลินิวส์ / บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด / ยังขายอยู่
- 2514 / The Nation / เครือเนชั่น / ปิด 2562
- 2515 / บ้านเมือง / บริษัท นวกิจบ้านเมือง จำกัด/ ปิด 2559
- 2518 / ประชาชาติธุรกิจ / เครือมติชน / ยังขายอยู่
- 2521 / มติชน / เครือมติชน / ยังขายอยู่
- 2523 / แนวหน้า / บริษัท หนังสือพิมพ์แนวหน้า จำกัด / ยังขายอยู่
- 2524 / ฐานเศรษฐกิจ / บริษัท ฐานเศรษฐกิจ จำกัด / ยังขายอยู่
- 2530 / กรุงเทพธุรกิจ / เครือเนชั่น / ยังขายอยู่
- 2533 / ผู้จัดการรายวัน 360 องศา / บริษัท ไทยเดย์ ดอตคอม จำกัด / ยังขายอยู่
- 2534 / ข่าวสด / เครือมติชน / ยังขายอยู่
- 2539 / ไทยโพสต์ / บริษัท ไทยโพสต์ จำกัด / ยังขายอยู่
- 2542 / โลกวันนี้ / เครือวัฎฎะ / ปิด 2557
- 2544 / คมชัดลึก / เครือเนชั่น / ยังขายอยู่
- 2546 / โพสต์ทูเดย์ / เครือบางกอกโพสต์ / ปิด 2562
- 2554 / M2F / เครือบางกอกโพสต์ / ปิด 2562
มีทางรอดไหม?
คำตอบคือ มี! แต่อาจต้องปรับตัวขนานใหญ่และใช้เวลาอยู่สักหน่อย ความท้าทายคือ ปรับตัวได้ถูกทางไหม และมีความอดทนรวมถึงสายป่านยาวพอที่จะรอหรือเปล่า
ต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ชื่อดังของอังกฤษ The Guardian ก็เพิ่งประกาศว่ากลับมาทำกำไรได้แล้ว หลังพยายามทำอะไรอยู่หลายอย่าง เช่น ลุยออนไลน์มากขึ้นจนคนเข้าเว็บเพิ่ม 70% ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงเปิดให้ผู้อ่านบริจาค ซึ่งมีผู้สนับสนุนเป็นประจำหลายแสนราย
ถ้าย้อนมาดูของไทย เครือมติชน (เจ้าของหนังสือพิมพ์มติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ) ก็พลิกมามีกำไรในปี 2560 หลังปรับเข้าสู่โลกออนไลน์ คู่ขนานไปกับยุบแผนกที่มีค่าใช้จ่ายเยอะ รวมถึงเปิดเออร์ลี่รีไทร์คนจำนวนหนึ่ง
ด้านหนังสือพิมพ์อันดับหนึ่งอย่างไทยรัฐ ก็เริ่มปรับตัวมาพักใหญ่แล้ว หลังจากผู้บริหารเคยทำนานไว้ว่าหนังสือพิมพ์จะยังเป็นธุรกิจที่รุ่งเรืองอยู่ไม่ถึง 10 ปี (นี่ขนาดไทยรัฐนะ) โดยเริ่มทำสื่อออนไลน์ในปี 2551 และสื่อทีวีในปี 2556 และปัจจุบัน รายได้ของเครือไทยรัฐ เริ่มมีสัดส่วนจากออนไลน์และทีวีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2560 ไทยรัฐมีสัดส่วนรายได้จากหนังสือพิมพ์:ทีวี:ออนไลน์อยู่ที่ 74% 21% และ 5% ตามลำดับ แม้ผลประกอบการจะยังกำไรและขาดทุนสลับไปมาอยู่
นี่คือภาพรวมอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ไทยที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แม้หลายคนจะมองว่าวิกฤต แต่หลายองค์กรก็พิสูจน์แล้วว่า ทางรอดนั้นมีอยู่ เพียงแต่ต้องปรับตัว ต้องใช้เวลา และต้องยอมรับว่าอิทธิพลของสื่อกระดาษนี้ต่อสังคมไทยจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป