“ไม่เห็นเหมือนลูกบ้านนั้นเลย”
ประโยคแทงใจที่ใครหลายคนเคยได้ยินในตอนเป็นเด็ก ที่ไม่ว่าจะขยับตัวไปไหน ทำอะไร ก็มักถูกนำไปเปรียบเทียบกับลูกบ้านอื่นอยู่เสมอ เลยได้แต่หวังว่าเมื่อโตขึ้นแล้ว การเปรียบเทียบอย่างไม่เต็มใจจะหายไป ทว่าเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน สิ่งนี้กลับไม่ได้หายไปอย่างที่คิด ยังคงมีเสียงเปรียบเทียบลอยมาเข้าหูเราอยู่เสมอ ทั้งเจตนาหยอกเอิน ทั้งอยากจะค่อนแคะ และแน่นอนว่า ความเจ็บปวดจากการถูกเปรียบเทียบในวัยผู้ใหญ่ ก็ไม่ได้น้อยลงไปกว่าตอนเราเป็นเด็กเท่าไหร่นัก
โลกการทำงาน การเปรียบเทียบกับลูกข้างบ้านก็ยังไม่หายไป เพียงแต่ขยับมาเป็นเวอร์ชั่นที่โตขึ้นแทน จะเรียกว่าการเปรียบเทียบกับโต๊ะข้างๆ ก็ไม่ผิดอะไร ผลงาน วิธีการทำงาน นิสัย รูปร่างหน้าตา และอีกสารพัดอย่างที่หลายคนมักถูกนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
“ทำงานมาตั้งนานแล้ว ทำไมไม่คล่องเหมือนคนนั้นสักทีนะ”
“ทำวิธีนี้แล้วจะได้เรื่องเหมือนคนนั้นไหม”
“ผอมเกินไปหน่อยนะ โทรมไปหมด ดูคนนั้นสิ มีน้ำมีนวล”
คำพูดเหล่านี้ที่ได้ยินบ่อยในที่ทำงาน มักจะลอยเข้าหูแบบเราไม่ทันตั้งตัว นั่งทำงานอยู่ดีๆ ก็มีคู่เทียบเป็นใครก็ไม่รู้ที่เราไม่เคยคิดจะแข่งด้วย แล้วคนจับคู่เอง ก็ไม่ได้ถามความสมัครใจเราสักคำ ว่าเราอยากจะไปเทียบกับคนนั้นไหม เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ เข้า จากที่คิดว่าเป็นการหยอกล้อที่ไม่อยากจะสนใจอะไร กลายเป็นว่าเราเองก็เริ่มย้อนกลับมาถามตัวเองแล้วเหมือนกัน ว่าสิ่งที่เขากำลังเทียบอยู่นั้นมันจริงหรือเปล่า
หลายคนอาจจะรู้สึกว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบได้อย่างแท้จริง แม้แต่ตัวเราเองก็ยังมีเผลอเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่ในใจกันบ้าง แต่อย่าลืมข้อสำคัญว่า การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นมันเกิดจากความรู้สึกของเราเอง แต่การถูกเอาไปเปรียบเทียบนี่สิ เราไม่เต็มใจที่จะไปเทียบกับใครด้วยซ้ำ นั่งอยู่ดีๆ ก็รู้สึกว่าความมั่นใจที่มีหดหายไป แล้วเพราะอะไรกันนะ คนเราถึงชอบเอาใครต่อใครไปเปรียบเทียบกันแบบนี้
การเปรียบเทียบเป็นธรรมชาติของมนุษย์
ดูเหมือนว่าการหยิบสิ่งนั้นไปเทียบกับสิ่งนี้จะเป็นธรรมชาติของมนุษย์เราที่อาจเลี่ยงไม่ได้จริงๆ นั่นแหละ ลีออน เฟสทิงเจอร์ (Leon Festinger) นักจิตวิทยา ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ในทฤษฎีการเปรียบเทียบทางสังคม (Social Comparison) ว่ามนุษย์เราเนี่ยมีแรงขับตามธรรมชาติที่ชอบเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ทั้งนี้ทำไปเพื่อสร้างเกณฑ์มาตรฐานที่ช่วยให้เราประเมินตนเองได้อย่างแม่นยำ อธิบายให้เห็นภาพมากขึ้นอีกนิด อย่างการสอบวัดคะแนน ความสูง น้ำหนัก อะไรพวกนี้มีคำตอบบอกชัดเจนว่าใครอยู่จุดไหน แต่สำหรับอะไรที่เป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ ไม่ได้บรรทัดฐานบางอย่างที่คอยชี้อย่างชัดเจน ทีนี้แหละ จะเป็นหน้าที่ของการเปรียบเทียบแล้ว
การเปรียบเทียบในทฤษฎีนี้จึงแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่
- Upward Social Comparison
การเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่เรามองว่าดีกว่าเรา มักจะเน้นไปที่การเทียบเพื่อผลักดันตัวเองและหาทางให้อยู่ในจุดเดียวกับคนนั้นให้ได้ - Downward Social Comparison
การเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่เรามองว่าแย่กว่าเรา เพื่อให้เรารู้สึกดีกว่า เหนือกว่า หรือเพื่อปลอบประโลมตัวเอง แม้เราจะไม่ได้ดีเลิศอะไร แต่ก็ยังมีคนที่อยู่ในจุดที่แย่กว่าเรา
เราเลยได้เห็นผู้คนเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่เก่งกว่าเมื่อต้องการแรงบันดาลใจในการพัฒนาตัวเอง และเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่แย่กว่าเมื่อพวกเขาต้องการรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าการเปรียบเทียบจะไม่ได้หยุดอยู่แค่ความพึงพอใจของตัวเอง หลายคนยังใช้วิธีนี้กับคนอื่นเพื่อชี้ให้เห็นว่าใครอยู่ในมาตรฐานไหน ไม่ต่างจากในตอนที่เราเปรียบเทียบตัวเองกันคนอื่น พอเราถูกนำไปเปรียบเทียบ สิ่งนี้ก็ยังวนเวียนอยู่กับมาตรฐานสังคมที่มองเข้ามาเหมือนเดิม
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเที่ยวการเปรียบเทียบคนนู้นคนนี้ไปเรื่อยจะเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เชื่อว่าเมื่อมีการเปรียบเทียบเกิดขึ้น โดยเฉพาะการจับคู่เทียบแบบที่เจ้าตัวไม่เต็มใจ เจตนาของการเปรียบเทียบจะคอยบอกว่าเราควรรับมืออย่างไรกับเรื่องนี้ หากเป็นการเทียบเพื่อตั้งคำถามทั่วไป ถามหาความแตกต่าง เราอาจตอบกลับไปได้อย่างสบายใจ แต่หากเป็นการเปรียบเทียบเพื่อกดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต่ำกว่า แน่นอนว่าเรื่องนี้อาจมีคนเสียใจ ถูกทำให้อับอาย โดนหักหน้า และยิ่งโดนบ่อยเข้าความมั่นใจที่มีก็ย่อมถดถอยลงไป
ดร.อลิซาเบธ สก็อตต์ (Elizabeth Scott) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ได้กล่าวถึงเรื่องนี้บนเว็บไซต์ verywellmind ไว้ว่า ไม่ว่าเราจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่ดีกว่าหรือด้อยกว่า การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นยังไงมันก็สร้างความเครียดให้เราอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่แค่เรื่องคนไหนจิตอ่อน คนไหนจิตแข็งถึงจะรับมือได้ แม้แต่ ทีโอดอร์ โรเซอเวลต์ (Theodore Roosevelt)ประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐ คนที่อยู่ในจุดสูงของสังคม ยังเรียกการเปรียบเทียบว่า ‘จอมโจรขโมยความสุข’ ในด้านหนึ่งมันอาจช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เราลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเองได้ แต่ในอีกด้านมันก็สามารถทวีการตัดสินและอคติต่อตนเองได้ไม่ต่างกัน จนเรารู้สึกต้องแข่งขันกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา
แม้เราจะไม่ได้เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร แต่ถ้านั่งทำงานอยู่ดีๆ แล้วมีคนเอาเราไปเทียบกับคนอื่น เราก็คงอดไม่ได้ที่จะเก็บการเทียบครั้งนั้นไว้ในใจ แล้วเราจะรับมือยังไง หากไม่อยากให้สิ่งนี้กัดกิน Self-Esteem ของเราไปจนหมดสิ้น
-
- มั่นใจในทางเดินของเราเอง
ตัวตนแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะต้องถูกนำมาเปรียบเทียบกันเพื่อหาคนชนะอยู่ตลอดเวลา เราสามารถทำงานแบบนี้ ใช้ชีวิตแบบนี้ของเรา มีความสุขกับมัน ไปพร้อมกับชื่นชมชีวิตคนอื่นที่ก้าวแซงหน้าเราไปได้ แม้ใครจะหยิบเราไปเปรียบเทียบ แต่ถ้าเรามั่นใจในวิถีทางของตัวเอง มีความสุขกับมันมากพอ เราจะไม่สนใจทางเดินอื่นที่อาจจะไปได้ไวกว่าหรือดีกว่าทางของเรา - เจ้าจงเข้าร่วมไม่ใช่แข่งขัน
ถ้าการถูกเปรียบเทียบมันเลี่ยงไม่ได้และเราเองก็ไม่อยากวิ่งหนีหรือวางเฉยกับเรื่องนี้แล้ว เราเองก็สามารถเผชิญหน้าเรื่องนี้ได้โดยตรงเหมือนกันนะ และไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองเข้าไปแข่งกันตามเกมคนอื่นอีกด้วย เพราะเราจะรับมือด้วยการเข้าร่วมแทนน่ะสิ คนไหนทำงานเก่งกว่า ได้เลย เก่งกว่าไม่เป็นไร ขอเรียนรู้ในสิ่งที่เราขาดไป เพื่อพัฒนาให้ตัวเองก้าวตามคนนั้นได้ทัน แต่ข้อสำคัญอย่าลืมว่า เราทำไปเพื่อพัฒนาตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อเอาชนะอีกฝ่าย - รายงานคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง
หากรับมือด้วยการจัดการตัวเองก็แล้ว แต่เหมือนว่าตัวการที่ชอบเปรียบเทียบยังคงทำหน้าที่อย่างไม่หยุดหย่อน จนเลยเส้นของการหลอกย้อ กลายเป็นเรื่องของการเสียดสี ค่อนแคะ เราสามารถนับว่าพฤติกรรมนี้รบกวนการทำงานและสร้างบรรยากาศเป็นพิษให้ที่ทำงานได้เช่นกัน เก็บรายละเอียดของเรื่อง แล้วนำไปแจ้งคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง อย่างหัวหน้างานของคนนั้นและฝ่ายทรัพยากรบุคคล เพื่อให้จัดการไม่ให้พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลกระทบกับบรรยากาศโดยรวมในที่ทำงาน
- มั่นใจในทางเดินของเราเอง
หากเราอยากจะแข่งขันกับใครสักคน ขอให้เราเป็นคนเลือกเส้นชัยนั้นด้วยตัวเอง ถ้าหากถูกนำไปเปรียบเทียบกับใครโดยไม่เต็มใจอีกครั้ง ขอให้เราพึงระลึกไว้เสมอว่า เราไม่จำเป็นต้องลงสนามแข่งขันที่เราไม่ได้เลือก วิ่งเข้าเส้นชัยที่คนอื่นเป็นคนขีดให้
อ้างอิงจาก