สมัยเรียน อกหักก็แค่ไปดื่มเพื่อลืมเธอ (แม้ว่าจะตื่นมาแล้วพบว่าไม่ได้ลืมเธอหรอก แต่เราลืมไปเลยว่าเคยมีเรียนได้) หรือถ้าอยากพักใจ ก็โดดเรียนแล้วจองทริปขึ้นดอยไปนั่งดูพระอาทิตย์ตก พร้อมค้นหาความหมายของชีวิตก็ได้
แต่เมื่อเราโตขึ้น มีงานมีการที่ต้องทำ มีหน้าที่รับผิดชอบ การอกหักกลายเป็นเรื่องที่ยากจะรับมือไปในทันที เพราะความเศร้าที่ถาโถมมาจากการอกหัก ไม่ได้น้อยลงกว่าเมื่อก่อน แถมอกหักแล้ว งานยังหนักอีก จะเอาเวลาที่ไหนไปนั่งเศร้า หันหน้าคุยกับใครก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะเข้าใจเราไหม เราไม่ได้รายล้อมไปด้วยเพื่อนๆ เหมือนวันวานแล้ว
เมื่อความสัมพันธ์ต้องยุติลง ไม่มีใครยืนทรงตัวให้ได้เหมือนเดิมไหวหรอก แต่อย่าเพิ่งหงุดหงิดตัวเองที่รู้สึกเป๋ คนเรามีความรู้สึกแบบนี้กันได้ทั้งนั้น เพียงแค่อย่าเพิ่งให้มันนำทางชีวิตเราจนพังหมดทั้งความรัก การงาน หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
ลองบอกใครสักคน อาจทำให้รู้สึกดีขึ้น
สิ่งสำคัญ คือ อย่าแยกตัวออกจากคนที่รักและแคร์เรา เมื่อเราอกหัก คนเหล่านั้นก็พร้อมที่จะซัพพอร์ตหัวใจ และช่วยดึงให้เราไม่จมอยู่กับความเศร้า เราเข้าใจว่าพวกเขาไม่สามารถเติมเต็มหลุมในใจที่เกิดจากการเสียคนรักไปได้จริง แต่อย่างน้อยพวกเขาสามารถอยู่เคียงข้าง และคอยให้กำลังใจเราได้เสมอ
Tanisha Ranger นักจิตวิทยาคลินิกให้คำแนะนำเอาไว้ว่า อย่าเพิ่งคิดว่า ‘ไม่มีใครอยากฟังเรื่องราวความรักของเรา ไม่มีใครคิดว่าเรื่องที่เราโดนเทมันสำคัญ ทุกคนน่าจะคิดว่ามันไร้สาระ’ เมื่อเราคิดอย่างนั้น เราก็จะแยกตัวออกมาจากผู้คน ซึ่งนั่นทำให้ทุกอย่างแย่ลง ดังนั้นถ้าเราอกหักจะลองบอกใครสักคนเอาไว้ก็ได้ อย่างน้อยการได้พูดออกไปก็จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น และถึงแม้ว่าเราจะไม่มีใครให้คุยด้วยได้เลยในที่ทำงาน ก็อย่าลืมว่าเรายังมีโทรศัพท์ที่สามารถโทร หรือทักหาใครที่เราไว้ใจได้ เรายังมีเพื่อนที่ไม่ได้อยู่ในที่ทำงานอีกนะ
ส่วนเรื่องการทำงาน ถ้ารู้สึกว่าอยากบอกใครสักคนในที่ทำงาน หรือบอกหัวหน้างาน ว่าการอกหักครั้งนี้อาจทำให้เราไม่เหมือนเดิมไปสักพักก็ย่อมได้ ไม่ว่าจะเล่าให้ฟังจนหมดว่ากำลังเจออยู่กับอะไร แต่ในอีกมิติ ถ้าเราตัดสินใจเล่าไปทั้งหมด ก็ต้องยอมรับว่ามีโอกาสที่พวกเขาจะตัดสินปัญหาหัวใจของเราก็มีอยู่เหมือนกัน
คนเรามีมุมมองต่อความสัมพันธ์ที่ไม่เหมือนกัน การเลิกกับแฟนที่คบกันมาหกเดือนอาจดูไม่หนักหนาเท่าการหย่าร้างหลังจากแต่งงานกันมาสิบปี เราแนะนำให้ลองชั่งน้ำหนักดูก่อนว่าจะเล่าทั้งหมดหรือไม่ หรือจะเลือกบอกแค่เพียงเล็กน้อยว่าในตอนนี้กำลังเจอกับปัญหาในชีวิตอยู่ บางครั้งเราอาจดูเครียดหรือเหม่อลอยไปบ้างก็ไม่ต้องตกใจ
จัดการกับงานตรงหน้าอย่างไร ไม่ให้หนักหัวใจจนเกินไป
Shannon Gracia นักจิตบำบัดได้ให้คำแนะนำเอาไว้ว่า การสร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้กับตัวเองนั้นจะส่งผลดีในช่วงอกหัก ลองใช้เวลาสักเล็กน้อยเพื่อทำสิ่งดีๆ ให้ตัวเองในขณะที่อยู่ในที่ทำงาน จะเป็นการชงกาแฟสักแก้วก่อนเริ่มงาน ซื้อไอศกรีมถ้วยยักษ์มานั่งกินไปด้วย หรือลองแต่งตัวไปทำงานในสไตล์ใหม่ที่ไม่เคยใส่มาก่อน เพื่อเติมความสดใสให้หัวใจก็ได้
แต่ถ้ามานั่งหน้าจอแล้วสมาธิแตกกระเจิง รู้สึกไม่อยากทำอะไร เธอก็ยังแนะนำว่า ลองวางแผนว่าวันนี้จะต้องทำอะไรบ้าง และเริ่มทำจากสิ่งที่ง่ายที่สุดก่อน อะไรที่ทำเสร็จได้ในเวลาอันสั้น เลือกทำเป็นอย่างแรกเลย และเมื่อต้องทำงานที่ใช้พลังสมองจำนวนมาก แต่ไม่สามารถโฟกัสกับมันได้จริงๆ ก็สามารถพักจากงานนั้น มาทำสิ่งที่ไม่ได้ทำมานานอย่างการเคลียร์กองอีเมลทั้งหมด การจัดโต๊ะทำงาน หรือการจัดระเบียบหน้าจอก็ได้เหมือนกัน เมื่อรู้สึกใจสงบแล้ว ค่อยกลับไปทำงานอีกครั้ง
แต่ถ้าทำอย่างไรก็ไม่รู้สึกสงบเลย ก็ยังมีคำแนะนำอีกหนึ่งอย่าง คือหาเวลาพักจากงาน หาที่ปลอดภัยของตัวเอง แล้วทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ เธอแนะนำว่าเดินออกจากตึกที่ทำงานไปเลยจะดีที่สุด ออกจากสิ่งแวดล้อมของการทำงานไปเลย จะเป็นการเดินไปหาซื้ออะไรมากิน การหนีเข้าไปนั่งในรถแล้วเปิดเพลงให้ดังที่สุด หรือการนั่งพักที่ไหนสักแห่งก็สามารถช่วยได้ เมื่อพร้อมแล้วค่อยกลับไปนั่งทำงานอีกครั้ง
เมื่อเราเข้าใจตัวเอง เราจะก้าวข้ามผ่านความรู้สึกนี้ได้เร็วขึ้น
อีกหนึ่งสิ่งที่ทำได้คือ หาเวลาพักระหว่างวัน เพื่อทำความเข้าใจตัวเอง ทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมีงานศึกษาชิ้นหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าการทำความเข้าใจจุดจบของความสัมพันธ์ จะทำให้เราฟื้นฟูจิตใจจากความรู้สึกอกหักได้เร็วขึ้น ด้วยการนำคนอกหักกว่า 210 คน มาร่วมทำการทดลอง ครึ่งหนึ่งของพวกเขาจะถูกเชิญมาพูดคุย ตอบคำถามเกี่ยวกับจุดจบของความสัมพันธ์เป็นเวลาเก้าสัปดาห์ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งได้ทำแบบสอบถามเพียงสองชุดเท่านั้น จนถึงช่วงจบการทดลอง คนอกหักกลุ่มแรกนั้นฟื้นฟูจิตใจได้เร็วกว่ากลุ่มที่สอง
แต่บางครั้งเราก็อาจต้องการผู้เชี่ยวชาญคอยช่วยนำทางให้ในการเข้าใจตัวเอง อย่าเพิ่งคิดว่าอกหักแค่นี้ ปรึกษาจิตแพทย์ได้ด้วยเหรอ เพราะการอกหักอาจทำให้ร่างกายเราเปลี่ยนไปได้ ไม่ว่าจะเป็นนอนไม่หลับ กินอาหารน้อยลง ไม่มีสมาธิ เฉื่อยชา นับเป็นเรื่องปกติมากที่จะไปเล่าให้จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาฟัง เราจะได้คำแนะนำที่เหมาะสมกับเรา ได้เข้าใจตัวเอง ได้คำตอบให้กับคำถามมากมายในใจ และอาจได้วิธีการรับมือแบบใหม่ ๆ ที่ช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นมาได้อีกด้วย
ขอแค่เข้าใจตัวเอง รู้วิธีรับมือกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น มันอาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่เราจะต้องดีขึ้นแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon