แน่นอนว่าโรคระบาดใหญ่ COVID-19 คือสิ่งที่เข้ามากระทบสุขภาพกายของเราอย่างจัง แต่สิ่งที่เราอาจลืมนึกไปนั่นก็คือ สุขภาพใจหรือ mental health ของเราก็กำลังได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ทั้งความเครียด ความเศร้า ความโกรธ ความกังวล ความเหนื่อยล้า ความกลัว หรือความสิ้นหวังที่ถาโถมมาใส่ในขณะนี้
โดยการจะก้าวข้ามสถานการณ์ตอนนี้ไปได้ ไม่เพียงแต่เราจะต้องดูแลสุขภาพกายเท่านั้น สุขภาพใจเองก็เป็นสิ่งที่ต้องโฟกัสด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะถ้าเราอยู่ในประเทศที่มีการบริหารจัดการที่ล้มเหลว ลืมตาตื่นขึ้นมาแต่ละวันก็เจอแต่ข่าวร้าย การคงสภาพใจให้แข็งแรงนับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร ยิ่งถ้าใครมีภาวะทางจิตใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สถานการณ์ตอนนี้อาจกระตุ้นให้เกิด mental breakdown จนยากที่จะควบคุมได้
แต่ก่อนที่ใจจะพังถึงขั้นนั้น The MATTER ก็มีวิธีมาแนะนำ เพื่อให้ทุกคนสะท้อนความคิด ความรู้สึกที่มีข้างใน และพักจากความรู้สึกไม่พึงประสงค์ต่างๆ บ้าง ซึ่งก็สามารถทำตามได้ไม่ยาก ดังนี้
กำหนดลิมิตในการใช้โซเชียลมีเดีย : ข่าวสารและข้อมูลที่เราต้องเห็นในแต่ละวัน เต็มไปด้วยความสูญเสีย ความสิ้นหวัง ความเกลียดชัง และความสะเทือนใจ ลองลิมิตช่วงเวลาในการเปิดรับข่าวสารเหล่านี้ดูบ้าง เพื่อให้ตัวเองได้พักจากความคิดและความรู้สึกที่กำลังครุกรุ่น หรือหากจำเป็นต้องอัพเดตข่าวจริงๆ ลองเลือกเปิดรับอะไรที่ไม่หดหู่เกินไป หรือไม่ emotional มากเกินไป จนอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะทางอารมณ์ที่รุนแรง
พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกกับคนที่สบายใจ : การกักตัวส่งผลให้เรารู้สึกอ้างว้างมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาในชีวิต การรับมือด้วยตัวคนเดียวเพียงลำพังอาจเป็นเรื่องยาก ถ้ามีคนร่วมรู้สึกหรือร่วมแก้ปัญหาไปด้วยอาจทำให้สิ่งหนักๆ ในใจนั้นเบาลง หากมีคนที่รู้สึกไว้วางใจหรือสบายใจที่จะคุยด้วย ติดต่อไปหาเขาบ่อยๆ ทักไปชวนเล่นเกม วิดีโอคอล หรือชนแก้วออนไลน์ก็ได้ เพราะไม่เพียงแต่กระชับความสัมพันธ์ในช่วงนี้ แต่ยังเป็นการซัพพอร์ตใจของกันและกันในยามที่ยากลำบากด้วย
จดบันทึกความคิดและความรู้สึกในแต่ละวัน : บางคนมักจะชะล่าใจว่า ความเครียดหรือความหดหู่ที่เกิดขึ้น พอตื่นเช้ามาก็คงหายไปแล้ว แต่กลายเป็นว่าความรู้สึกนั้นดันเกิดขึ้นซ้ำๆ และสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว จนวันหนึ่งเอ่อล้นและยากที่จะรับมือ ฉะนั้น ลองจดบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันดู อาจจะเป็นการเล่าผ่านไดอารี่ การทำ mood tracker เพื่อบันทึกอารมณ์ หรือจดเป็น bullet journal แบบสั้นๆ เข้าใจง่ายก็ได้ เพราะการจดบันทึกจะช่วยให้เราสังเกตเห็นภาพรวมความคิดและความรู้สึกของเราในช่วงนี้ ว่าสภาพจิตใจของเรากำลังมีความผิดปกติอะไร มักเกิดจากสาเหตุไหน และควรแก้ไขอย่างไรดี
อย่ารู้สึกผิดที่จะมีความสุข : พอสถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น หลายคนเริ่มรู้สึกว่าถ้าใช้ชีวิตมีความสุขมากเกินไป จะดูไม่ดีในสายตาคนอื่นหรือเปล่า เพราะหันมองรอบตัวขณะนี้ มีผู้คนมากมายกำลังลำบากจากผลกระทบของโรคระบาดและเศรษฐกิจ ซึ่งการไม่กล้ามีความสุขหรือพยายามข่มอารมณ์เชิงบวกเอาไว้ นอกจากไม่ได้ช่วยเปลี่ยนความรู้สึกของใคร ยังทำให้เราเองสะสมภาวะที่อันตรายต่อจิตใจเอาไว้ด้วย ทางที่ดีให้โอกาสตัวเองได้ซึมซับกับความสุขที่หาได้ยากในช่วงนี้บ้าง กินอะไรอร่อยๆ ดูซีรีส์ที่ชอบ ทำงานอดิเรกที่รัก เพื่อเบี่ยงเบนตัวเองจากความรู้สึกไม่พึงประสงค์บ้างก็ได้ ในขณะเดียวกันก็ยังตระหนักถึงปัญหาอยู่เรื่อยๆ และช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่พอช่วยได้
ขีดเส้นแบ่งเวลาทำงานและเวลาส่วนตัว : สำหรับคนที่ต้องทำงานอยู่บ้าน การที่เส้นแบ่งเวลาระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวเริ่มเลือนหายไป ทุกช่วงเวลาจะกลายเป็นงานไปหมด จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน ดังนั้น พยายามกำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจนในการเข้า-ออกงาน ลิมิตการใช้อุปกรณ์สื่อสารในช่วงเวลาพักผ่อน หรือลองพูดคุยกับทางองค์กร เพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายบางอย่างให้สนับสนุนการมี work-life balance มากขึ้น ก็จะเป็นการรักษาสุขภาพใจของคนทำงานในระยะยาวด้วย
ใส่ใจการกินและการพักผ่อนของตัวเองอยู่เสมอ : คงปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าสุขภาพกายเราพร้อม สุขภาพใจก็จะดีขึ้นตามไปด้วย ฉะนั้นแล้ว พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และขยับเขยื้อนร่างกายอยู่เสมอ นอกจากจะช่วยชาร์จพลังงานให้กับร่างกาย ยังส่งเสริมให้สุขภาพใจสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์รอบตัวได้อย่างมีสติมากยิ่งขึ้น
สิ่งสำคัญคือการยอมรับและไม่กล่าวโทษตัวเอง เพราะทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นอะไรที่เมกเซนส์มาก เมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ เพียงแต่ว่าเมื่อยอมรับได้แล้ว เราควรจะหาทางรับมือให้ทัน เพื่อไม่ให้สุขภาพใจแย่ลงไปกว่าเดิม แต่ในขณะเดียวกัน ก็อย่ากดดันตัวเองมากจนเกินไป เพราะถ้าผ่านไปคนเดียวไม่ได้ เรายังมีคนรอบข้างที่พร้อมจะช่วยเหลืออยู่ ลองติดต่อพวกเขาดูบ้างก็ไม่เสียหายนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
unicef.org