ช่วงนี้เกิดเหตุร้ายบ่อยจากแทบทุกมุมโลก ในช่วงนาทีวิกฤติ หลายๆ คนเข้าหาโซเชียลมีเดียเพื่อเช็คข่าวสาร แสดงความรู้สึกต่อเหตุการณ์ บอกคนอื่นว่าตัวเองปลอดภัย หรือสร้างแคมเปญให้คนมาช่วยเหลือกันในโลกจริง
อย่างไรก็ตาม หลายๆ ครั้ง เราอาจจะแชร์ข่าวเท็จ ภาพเหตุการณ์ที่แชร์ไปอาจไปซ้ำเติมจิตใจของครอบครัว รวมไปถึงคนก่อเหตุตัวจริง ก็อาจจะรู้สึกได้ใจที่เห็นผลงานตัวเองถูกแชร์ไปในวงกว้าง
“โซเชียลมีเดียตอบสนองความต้องการด้านข้อมูลข่าวสารได้อย่างทันท่วงที… บางครั้งสื่อกระแสหลักมีผังรายการอยู่ ทำให้ไม่สามารถตัดนำเสนอสิ่งที่คนสนใจได้ แต่ในความเร็วก็ต้องระวังเรื่องความผิดพลาด และความไม่น่าเชื่อถือด้วย”
นี่คือความเห็นอาจารย์ ดอกเตอร์มานะ ตรีรยาภิวัฒน์จาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยต่อการใช้โซเชียลมีเดียในช่วงเหตุร้าย
แต่เราควรใช้สื่อโซเชียลอย่างไรดีล่ะ? The MATTER ได้รับคำแนะนำจากดอกเตอร์มานะ สรุปมาได้ 5 ข้อด้วยกัน มาดูกันเลย
1. ภาพโหดร้ายอย่าแชร์เลย
ภาพคนบาดเจ็บ และภาพศพ ถ้าขึ้นมาในฟีดของพ่อ แม่ พี่น้องหรือเพื่อนๆ ที่ประสบเหตุ เห็นแล้วคงสะเทือนใจกันน่าดู ถึงแม้เราจะเซนเซอร์หน้าคนแล้วก็ไม่ควรส่งต่ออยู่ดีนะ นอกจากจะทำร้ายจิตใจคนอื่นแล้ว ยังมีความผิดทางกฎหมายอีกด้วย
ญาติสามารถฟ้องร้องผู้แชร์ภาพศพในข้อหาละเมิด ตามมาตรา 420 ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันนี้แค่การแชร์ภาพเฉยๆ นะ แต่ถ้ามีคำบรรยายภาพที่ทำให้ญาติผู้เสียชีวิตรู้สึกสะเทือนใจ ก็อาจจะถูกฟ้องเป็นคดีอาญาตามมาตรา 336/4 ที่ว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศพ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ” เช่นกัน
ยิ่งแชร์ภาพผู้เสียชีวิตทางโลกโซเชียลมากๆ ยิ่งทำให้คนก่อเหตุรู้สึกดีใจกับผลงานของตัวเอง อย่างในปีที่แล้ว หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 เคยออกประกาศขอความร่วมมืออย่าแชร์ภาพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่ภาคใต้ ด้วยเหตุผลที่ว่ามาแล้ว
2. อย่าเพิ่งปรักปรำใครถ้าไม่แน่ใจ
ไม่ว่าใครก็คงอยากให้คนทำผิดต้องรับโทษ และก็อยากช่วยเตือนภัยสังคม แต่บางครั้งการลงชื่อหรือภาพผู้ต้องสงสัยว่าคนนี้ทำ คนนั้นทำ โดยที่ไม่มีหลักฐานเพียงพอ และยังไม่มีผลตัดสินออกมาอย่างเป็นทางการ อาจกลายเป็นการใส่ความให้คนๆ หนึ่งตกเป็นจำเลยได้นะ และอาจมีบางผู้ไม่หวังดีปล่อยข้อมูลลวงว่าคนนั้นทำ คนนู้นทำ ให้คนแชร์ต่อๆ กันไป เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากคนก่อเหตุตัวจริงก็ได้ ดังนั้นอย่าโพสต์หรือทวีตเพื่อคาดคะเนว่าใครเป็นคนทำจะดีกว่า
เรื่องการปรักปรำคนผิดเคยมีเรื่องมาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อนที่สหรัฐ หลังเกิดเหตุกราดยิงที่เมืองซาน เบอร์นาดิโน รัฐแคลิฟอร์เนีย มีสำนักข่าวแห่งหนึ่งลงภาพผิด ไปเอารูปคนธรรมดาที่ชื่อไปบังเอิญซ้ำกับคนก่อเหตุไปประกอบข่าว ถึงแม้สำนักข่าวจะรีบลบ แต่ก็มีคนรีทวีตรูปนั้นไปแล้วบ้าง โชคยังดีที่ทางสำนักข่าวไหวตัวและรีบออกมาแถลงการณ์ขอโทษได้ทันเวลาก่อนจะกลายเป็นไวรัล
และทำไมคนถึงกล้าแชร์อะไรแบบนี้ โดยไม่คิดถึงใจอีกฝ่ายล่ะ? มีนักจิตวิทยาอธิบายไว้ว่า การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียเราจะไม่ได้เห็นคู่สนทนาตรงหน้า สมองของเราเลยลืมประมวลผลไปชั่วขณะว่าทำไปแล้วอีกฝั่งจะคิดอย่างไร และนั่นทำให้คนพูดหรือแชร์อะไรโดยไม่คิดถึงผลกระทบที่ตามมา
3. เช็ค/ชัวร์/แชร์
เราเข้าใจว่าทุกคน เวลาเจอเหตุร้ายมาก็อยากรู้ข่าวคราว กว่าสื่อกระแสจะรายงานก็ต้องใช้เวลารวบรวมข้อมูล บางครั้งแหล่งข่าวจากสื่อโซเชียลอาจมาเร็วกว่า แถมจริงกว่าเพราะต้นทางมาจากที่เกิดเหตุ เราหวังดีอยากให้คนรู้ข่าวสารเร็วๆ เลยรีบแชร์รีบรีทวีต ซึ่งบางครั้งข้อมูลผิด บางทีอาจรีบพิมพ์จนการใช้คำมันสื่อออกมาว่าสถานการณ์น่ากลัวกว่าที่คิด เช่น บอกยอดผู้เสียชีวิตมากเกินกว่าความเป็นจริงๆ จนคนอื่นๆ ในโลกออนไลน์ตระหนกกันยกใหญ่
อย่างสามเดือนที่แล้ว ที่ลอนดอน ตอนเกิดเหตุคนร้ายขับรถพุ่งชนคนหน้ารัฐสภาอังกฤษ รวมถึงเอามีดแทงเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีคนตัดต่อภาพทำป้ายประกาศปลอมๆ ของรถไฟใต้ดิน London Tube ว่าเราจะไม่กลัวการก่อการร้าย คนก็แชร์กันไปยกใหญ่ ถึงขนาดผู้ประกาศข่าว BBC ยังเอาไปพูดออกวิทยุ ก่อนที่จะพบว่ามันเป็นฝีมือโฟโตชอป โชคยังดีที่เคสนี้ยังไม่ได้มีคนเดือดร้อนเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นข้อมูลผิดๆ ของคนร้ายล่ะ หรือตัดต่อให้เข้าใจผิดว่าคนนั้นพูดแบบนี้โดยเจ้าตัวไม่ได้พูดล่ะ ไม่อยากจะคิดเลย
หลายคนอาจสงสัยว่าถ้าเราไม่แชร์ หรือไม่รับสื่อโซเชียลเลยจะเป็นอย่างไร ทางดอกเตอร์มานะก็ได้ให้ความเห็นว่า “ไม่แชร์ไม่ผิดอะไรนะ” และ “ต่อให้เราไม่รับสื่อโซเชียลเลย คนก็หาช่องทางอื่นในการรับข่าวสารได้อยู่ดี”
ดังนั้นเวลารู้ข่าวแล้วให้นิ่งไว้ก่อน แล้วเช็คข้อมูลหลายๆ แหล่ง พอชัวร์แล้วค่อยแชร์จ้า
4. แชร์ภาพหรือคลิปที่เราถ่ายจากเหตุการณ์จริงอย่างระมัดระวัง
เวลาเกิดเหตุบางคนก็ถ่ายรูปหรือคลิปไว้เป็นหลักฐาน เราสามารถเลือกได้ว่าจะเอาภาพนั้นไปส่งให้เจ้าหน้าที่รัฐ หรือจะโพสต์ในสื่อโซเชียลของเราก็ได้ แต่ถ้าจะโพสต์ก็ขอให้ระบุ วัน เวลา และสถานที่ที่ถ่ายอย่างชัดเจน รวมถึงบอกให้ชัดด้วยว่ายินดีให้คนเอาไปแชร์ต่อไหม
เพราะบางครั้งเวลาภาพหรือคลิปอยู่บนโลกออนไลน์ มันอาจถูกแชร์แบบผิดฝาผิดตัวมาแล้ว เช่น เมื่อปลายเดือนที่แล้วมีคนแชร์คลิปพายุหมุนที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งตรงกับช่วงฤดูมรสุมของจังหวัดพอดี แต่พอตรวจสอบแล้วพบว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่ประเทศอุรุกวัย คนละซีกโลกกันเลย
การแชร์แบบผิดๆ ถึงกว่า 2 พันครั้งในคราวนั้นทำให้หลายๆ คนแตกตื่นตกใจกันไปใหญ่
นอกจากนี้ คนที่ถ่ายอาจต้องเตรียมพร้อมให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์เมื่อจำเป็นอีกด้วยนะ
5. แสดงความรู้สึกอะไรก็ขอให้ ‘คิดบวก’
เราใช้โซเชียล มีเดียเพื่อส่งต่อความรู้สึก และความคิดเห็นต่อเรื่องราวต่างๆ แต่ในช่วงวิกฤตการณ์ ถ้าจะพูดอะไรขอให้เป็นถ้อยคำให้กำลังใจ ปลอบใจซึ่งกันและกัน เช่น #prayfor… หรือ “เป็นกำลังใจนะ” หรือ “เราจะผ่านพ้นเหตุร้ายไปด้วยกัน” คนที่ประสบเหตุร้ายต้องการกำลังใจ และการส่งต่อข้อความดีๆ จากคนอื่นๆ ช่วยเยียวยาจิตใจให้กันและกันได้
แต่สิ่งที่ไม่ควรพูดเป็นอย่างยิ่งคือการประณามหรือด่าทอผู้กระทำ เช่น “คนทำมันเลวว่ะ” “เราต้องไปล้างแค้นมัน” เป็นต้น
สิ่งหนึ่งที่ดอกเตอร์มานะฝากไว้ด้วยคือข้อความทางออนไลน์ไม่จำเป็นต้องจบที่ออนไลน์นะ มันสามารถต่อยอดไปยังโลกนอกจอได้ เช่น ตอนช่วงน้ำท่วมปี 2554 ได้เกิดแคมเปญออนไลน์ ชวนคนไปบริจาคเลือด และบริจาคสิ่งของช่วยเหลือกันจริงๆ
อย่างไรก็ตาม ก็มีคนเสนอด้วยว่า บางทีการแสดงความเสียใจหนักๆ ลงบนโลกออนไลน์อยากจะให้ระวังสักนิด เพราะบางทีอาจทำให้คนก่อเหตุรู้สึกสะใจที่ตัวเองทำแผนการสำเร็จ เลยคิดว่าอาจโทรหาหรือนัดเจอกันเพื่อเพื่อพูดคุยแสดงความรู้สึกก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทำได้เช่นกัน
ในช่วงเวลาที่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นติดๆ กันในทุกทวีป เราก็ขอส่งกำลังใจและก้าวผ่านไปพร้อมกับทุกๆ คนไปด้วยกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Namsai Supavong