เราอยู่ในโลกที่บอกให้เราเจียมเนื้อเจียมตัว ใช้ชีวิตอย่าให้เด่น อย่าให้เป็นที่สะดุดตา ยิ่งถ้าเราโตขึ้นมาในบริบทสังคมไทย ในความหวังดีโดยทั่วไป เราก็มักจะโตขึ้นมาท่ามกลางเสียงดุ ท่ามกลางคำเตือน การที่เราทำอะไรบางอย่างได้ดี ส่วนใหญ่เราก็มองๆ ข้ามความสำเร็จนั้นไป
ยิ่งเราเป็นสังคมที่ไม่ค่อยแสดงออก การชื่นชมจึงกลายเป็นหนึ่งในยาขม ที่เมื่อได้รับมันก็ดีและ แต่ในสัดส่วนความรู้สึก เราเองก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกอึดอัดใจ เมื่อการได้รับคำชมมากๆ หลายครั้งกลายเป็นเรื่องรบกวนจิตใจ เป็นสถานการณ์ในสังคมที่เราอยากจะหลีกเลี่ยง
ทว่าการรับคำชม และในทางกลับกันคือการให้คำชมกับคนอื่น การรับรู้ความสำเร็จทั้งของตัวเราเองและของคนอื่น จนนำไปสู่การชื่นชมและรับคำชมซึ่งกันและกันอย่างจริงใจเหมาะสมได้นั้น นับเป็นศิลปะหนึ่งของการใช้ชีวิต เป็นสิ่งที่ส่งผลดีทั้งต่อตัวเราและความสัมพันธ์ต่อผู้คนโดยรอบ
แน่นอนว่าปัญหาการรับคำชม และศิลปะในการชื่นชมไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในบริบทสังคมไทยหรือสังคมเอเชีย แต่ในวัฒนธรรมโดยทั่วไป การรับคำชม นับเป็นอีกหนึ่งทักษะที่ยาก โดยเฉพาะในยุคที่เรารู้สึกไม่มั่นใจในความสำคัญและศักยภาพในตัวของเราเอง
ทำไมคำชมถึงขม
เบื้องต้นที่สุดของความลำบากใจจากการได้รับคำชม คือความรู้สึกที่ว่าเราเองไม่ได้ดีพอหรือสลักสำคัญอะไรในการรับคำชมนั้นๆ อาการนี้ดูเหมือนจะมาคู่กับอาการ ‘รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง’ หรือ imposter syndrome เมื่อเราประเมินตัวเองต่ำกว่าการแสดงความชื่นชม ไม่รู้สึกว่าตัวเองควรค่า คำชมนั้นแทนที่จะช่วยชุบชูใจก็อาจจะเป็นหนามยอกใจเราไปได้
การรับคำชมนี้มีการศึกษาน่าสนใจบ้างเหมือนกัน เช่นมีการศึกษาพบว่าผู้หญิงมีแนวโน้มจะลำบากใจกับคำชมโดยเฉพาะจากผู้หญิงด้วยกัน แต่คำชมจากผู้ชายนั้นจะรู้สึกว่ารับคำชมนั้นกันได้โดยทั่วไปมากกว่า การรับและส่งคำชมนี้จึงมีมิติทางภาษาและวาทศิลป์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
อันที่จริง การรับคำชม นอกจากเราจะรู้สึกว่าเราไม่ได้ดีเด่นจนน่าได้รับความสนใจและคำชมแล้ว บางครั้งเราเองก็รู้สึกว่าการชม เป็นปฏิสัมพันธ์คือเมื่อเรารับคำชมแล้ว เรารู้สึกว่าเราก็อาจจะติดค้างการชื่นชมหรือความสนใจในตัวอีกฝ่ายด้วย ทำนองว่าชมมาชมกลับ การชมกันเลยดูจะเป็นบทสนทนาต่อเนื่องไม่รู้จบที่พอคาดการณ์ไปแล้วก็คิดว่า ไม่เริ่มวงจรนี้ดีกว่า
แต่คำชมนั้นสำคัญ จากคำใหญ่สู่คำชมเล็กๆ
การชื่นชมถ้าเราทำอย่างจริงจัง การให้คำชมซึ่งกันและกันมีนัยทางสังคมและนัยทางจิตวิทยาที่ค่อนข้างสำคัญ อย่างแรกการชื่นชมคนอื่นอย่างจริงใจแสดงให้เห็นการให้ความสนใจซึ่งกันและกัน และเป็นคนคนหนึ่งจะมองเห็นคุณค่าของคนอีกคนหนึ่งไม่ว่าจะในแง่ไหนก็ตาม
อันที่จริง การชื่นชมกันก็มีหลายระดับ ในสังคมไทยเองเราไม่ค่อยเริ่มบทสนทนาด้วยการชื่นชมกันเท่าไหร่ เราอาจทักกันด้วยเรื่องอื่นๆ แต่มีงานศึกษาพบว่า การชื่นชมซึ่งกันและกันนั้นให้ผลเชิงบวก คือให้พลังและกำลังใจของฝ่ายที่ได้รับคำชมนั้นๆ มากกว่าที่ผู้มอบคำชมให้กัน
งานศึกษาในวารสาร Personality and Social Psychology Bulletin ในปี 2020 ศึกษาการแสดงความเอื้ออารีเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน พบว่าการชื่นชมกันในระดับกิจวัตร เช่นการชมว่าวันนี้ใส่เสื้อสีสวย หรือชื่นชมสิ่งทั่วๆ ไปนั้น คำชมนำไปสู่ความรู้สึกที่ดี ในงานศึกษานี้ยังศึกษาปรากฏการณ์และปฏิสัมพันธ์ที่น่าสนใจซึ่งเป็นปฏิสัมพันธ์เชิงบวก เช่นการให้คำชมกับคนแปลกหน้า ความรู้สึกว่าให้คำชมไปแล้วอีกฝ่ายจะรู้สึกว่าไม่จริงใจ
ทว่าทั้งงานศึกษาเรื่องคำชมในเรื่องเล็กๆ หรืองานศึกษาว่าด้วยจิตวิทยาในการให้และรับคำชมโดยทั่วไปเช่นงานศึกษาจาก Sacred Heart University ในปี 2018 ส่วนใหญ่พบผลของคำชมในเชิงบวก ซึ่งไม่ได้ส่งผลแค่ผู้ที่ได้รับคำชมเท่านั้น แต่ความรู้สึกและอารมณ์ที่ดีขึ้น ฝ่ายที่ให้คำชม กลับได้รับพลังจากชื่นชมผู้อื่นด้วย
ยอมรับและไม่ดูถูกตัวเอง
ในความซับซ้อนของการให้และการรับคำชม สำหรับบริบทสังคมไทย มีคำที่นับเป็นทักษะอย่างหนึ่งได้ คือคำว่า ‘appreciation’ โดยคำคำนี้เราอาจนับเป็นศิลปะในการใช้ชีวิตรูปแบบหนึ่งก็ได้ การที่เราจะ appreciate หรือชื่นชมสิ่งใดๆ นั้น หมายความว่าเราสามารถมองเห็น ชื่นชมและยอมรับคุณค่าของสิ่งนั้นๆ ได้อย่างเป็นธรรม และได้ตามสมควร
สำหรับประเด็นเรื่องความลำบากใจในการรับคำชมนั้น ส่วนหนึ่งอาจสัมพันธ์กับศักยภาพในการรับรู้คุณค่า โดยเฉพาะการรับรู้ในความสามารถและคุณค่าในตัวของเราเอง ด้านหนึ่งการรู้จักชื่นชม ยอมรับ และภูมิใจในตัวตนอย่างเหมาะสม สัมพันธ์กับการมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำที่ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของตัวเราเอง แต่เป็นความรู้สึกและความสำเร็จที่เห็นและยอมรับร่วมกัน คือการบอกว่าความสำเร็จหรือการชื่นชมนั้นๆ ไม่ได้ได้มาโดยง่าย ความรู้สึกควรค่าไปจนถึงความเป็นธรรมในการภูมิใจ จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ร่วมส่งพลังให้ในพื้นที่ที่เราได้รับคำชมหรือได้รับการมองเห็นในคุณค่านั้นๆ คือไม่ดูถูกตัวเองและไม่ดูถูกงานและความสำเร็จที่ได้มา
ยิ่งไปกว่านั้น การชื่นชม บางครั้งเราเองก็อาจจะอยู่ในโหมดคิดมาก และเผลอไปคิดในมิติของการแลกเปลี่ยน การได้รับคำชมแล้วรู้สึกเหมือนได้รับสิ่งของซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกอยากตอบแทน อันที่จริง ถ้อยคำที่ดี ถ้าเรามองย้อนไปว่ามันให้คุณทั้งกับผู้ให้และผู้รับ เป็นปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่นำไปสู่ความสัมพันธ์และบรรยากาศที่ดีขึ้น ดังนั้นเราเองก็ไม่จำเป็นต้องมองคำชมนั้นในฐานะสิ่งที่พึงตอบแทน
สำหรับการรับคำชมนั้น กูรูเองมีคำตอบเชิงปฏิบัติที่เรียบง่าย คือการขอบคุณ และรับรู้สิ่งที่ได้รับคำชมนั้น และจบการรับคำชมเรียบร้อยโดยสมบูรณ์ ซึ่งในกระบวนการนี้ก็อาจจะมีอีกหลายทักษะที่เกี่ยวข้อง การยอมรับนับถือตัวเอง การรู้จักเติบโตและมองเห็นคุณค่า แต่บางครั้งการชื่นชมและการยอมรับคำชมนั้นก็มาจากความจริงใจและเป็นกระบวนการอันเรียบง่าย
คำชื่นชมจึงนับเป็นอีกหนึ่งคำวิเศษที่ฟรี และอาจสัมพันธ์กับทักษะทางสังคมที่ทำให้ทั้งเราและความสัมพันธ์เติบโต การรู้จักให้กำลังใจกัน ความใส่ใจซึ่งกันและกัน ไปจนถึงวาทศิลป์ในการให้คำชมอย่างจริงใจ
อ้างอิงข้อมูลจาก
digitalcommons.sacredheart.edu