เชื่อมั้ยว่า เราในปัจจุบันคือส่วนผสมจากเราในวัยเด็ก?
เราอาจจะคิดว่าอดีตหรือวัยเด็กได้สลายหายไปกับห้วงเวลาที่เนิ่นนาน แต่จริงๆ มันมีชีวิตอยู่กับเรามาจนถึงปัจจุบัน ผ่านสิ่งที่ทางจิตวิทยาเรียกว่า “การเปลี่ยนแปลง” ถึงแม้ว่าหน้าตาของมันอาจจะดูไม่เหมือนกับเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว แต่กระบวนการทางความคิด ความรู้สึก และการตอบสนองของเราในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่ผ่านการดัดแปลงจากประสบการณ์และความทรงจำในอดีตของเราเสมอ และถูกแสดงออกมาในสถานการณ์ที่ต่างออกไป
โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้ใหญ่หลายคนหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่าง ‘การทำงาน’ จนอดคิดไม่ได้ว่า อดีตหรือวัยเด็กก็เป็นส่วนผสมในแนวทางการทำงานของเราด้วยหรือเปล่านะ?
เมื่อเด็กคนนั้นอยู่ในโลกของการทำงาน
ในโลกของการทำงาน การหมั่นปรับปรุงพัฒนาตัวเองอยู่เสมอจะช่วยให้เราไม่หยุดนิ่งอยู่ที่เดิม และมีทักษะใหม่ๆ เพื่อมาเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น ซึ่งการพัฒนาตัวเองจะต้องอาศัย growth mindset หรือแนวคิดที่เชื่อว่าเราสามารถเติบโตและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเราควรจะเติบโตไปทางไหน? แล้วต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองในด้านอะไรบ้าง? ด้วยเหตุนี้ เราจึงจะต้องมีการ ‘สะท้อนตัวตน’ เพื่อทำความเข้าใจกับจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองก่อน
การสะท้อนตัวตนหรือ self-reflection คือกระบวนการที่เราจะต้องเปิดใจให้กว้างเพื่อสังเกต สำรวจ และวิเคราะตัวเอง ผ่านเหตุการณ์ ความคิด พฤติกรรม หรืออารมณ์ และนำไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะในมิติไหนของชีวิต ยกตัวอย่างเช่น ความรักความสัมพันธ์ หากเคยได้ยินเรื่องทฤษฎีความผูกพัน (attachment styles) หรือรูปแบบความรัก (love styles) ก็จะเข้าใจว่า การเลี้ยงดูในวัยเด็กส่งผลต่อการปฏิบัติตัวหรือการไว้เนื้อเชื่อใจคนรอบข้างยังไง จึงไม่แปลกที่การทำงานของเราอาจมีผลมาจากเหตุการณ์ในอดีตหรือการเลี้ยงดูในวัยเด็กได้ และหากเราสะท้อนตัวตนผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นได้ เราก็จะรู้ว่าอะไรที่เป็นสาเหตุของอุปสรรคในการทำงาน หรืออะไรที่ทำให้เรามีจุดแข็งอย่างทุกวันนี้ แล้วควรจะต่อยอดอะไรมากขึ้นในอนาคต
อย่างกรณีศึกษาใน Harvard Business Review เรื่อง Family Ghosts in the Executive Suite โดย เดโบราห์ แอนโคนา (Deborah Ancona) และ เดนนิส เพอร์กินส์ (Dennis N.T. Perkins) ผู้เป็นเจ้าของผลการศึกษานี้ ได้สำรวจนักเรียนของพวกเขาที่ชื่อ ซาราห์ (Sarah) ซึ่งเธอลาออกจากการเป็นแผนกบุคคลในบริษัทใหญ่ที่ทำมานาน และได้มาทำงานที่บริษัท start-up แห่งหนึ่งเป็นเวลา 2 ปี เธอเป็นผู้ออกแบบอัลกอรีทึมให้กับบริษัทเพื่อจับคู่นายจ้างกับลูกจ้าง เมื่ออัลกอรีทึมได้รับการทดสอบและพร้อมให้บริการ ก็ถึงขั้นตอนที่จะต้องจัดหาเงินร่วมลงทุนและลูกค้าที่จะเข้ามาใช้
เธอดูเหมาะสมกับงานที่เธอทำมาก เพราะเธอเป็นผู้จัดการที่มีความมั่นใจ มีความเชื่อแรงกล้าแม้จะเป็นบริษัทเปิดใหม่ และมีการเตรียมนำเสนองานอย่างกระตือรือร้นด้วย แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมจริงๆ เธอกลับพบว่าตัวเองนำเสนออย่างติดๆ ขัดๆ ถึงแม้จะพยายามผ่านเรื่องนี้ไปหลายครั้งหลายหน แต่เธอก็ล้มเหลวอยู่เรื่อยๆ จนในที่สุดก็พบกับความเครียดและความกังวล เธอรู้สึกสับสนกับพฤติกรรมของเธอเอง แต่ว่ากันตามตรงบทบาทนี้ก็ค่อนข้างใหม่สำหรับเธอด้วย และเธอก็เป็นผู้หญิงคนเดียวท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีแต่ชายล้วนที่แบกรับงานจำนวนมาก เมื่อเธอใช้เวลาไตร่ตรองสักพักหนึ่ง เธอก็รับรู้ได้ถึงความเชื่อมโยงบางอย่างกับการเปลี่ยนแปลงในวัยเด็กของตัวเอง
ซาราห์มาจากครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาและความสำเร็จเป็นอย่างมาก เธอจึงจะต้องทำให้พ่อแม่ภูมิใจ และเธอก็ทำสำเร็จ จนพ่อแม่รู้สึกตื่นเต้นกับเส้นทางของเธอทุกครั้ง แต่กับพี่ชายของซาราห์นั้นตรงกันข้าม แม้ว่าเขาจะพยายามสุดความสามารถ แต่ก็เทียบไม่ติดเลย จนในที่สุดพี่ชายก็ห่างเหินจากเธอและครอบครัวไป เธอรู้สึกเสียใจในเรื่องนี้มาก เพราะคิดว่าความสำเร็จของเธอเป็นปัจจัยที่ทำให้พี่ชายของเธอต้องตีตัวออกห่าง และความภาคภูมิใจก็แปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกผิดแทน
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ซาราห์กลัวที่จะประสบความสำเร็จ เพราะไม่รู้ว่ามันกำลังนำพามาซึ่งจุดแตกหักกับคนรอบข้างหรือเปล่า แม้ฝ่ายบริหารจะยินดีและมีความสุขกับความทำงานของเธอ แต่เธอกลับกลัวว่าทีมจะโกรธเกลียดเธอมากกว่า ซึ่งเดโบราห์และเดนนิสเรียกสิ่งนี้ว่า family ghosts หรืออดีตที่มีพ่อ แม่ และพี่ชายคอยตามหลอกหลอนเธอไปในที่ทำงานด้วย
จากกรณีของซาราห์ เราจะเห็นได้ว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่มีพลวัตในการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเธอ ไม่ว่าจะเป็น คุณค่าหรือความเชื่อที่ถ่ายทอดมาจากผู้ปกครอง เป็นตัวชี้นำว่าลูกหลานควรจะต้องมีพฤติกรรมแบบไหน ซึ่งครอบครัวอื่นๆ ก็มีการถ่ายทอดคุณค่าที่แตกต่างกันออกไป บางครอบครัวอาจให้ความสำคัญกับการดูแลใส่ใจผู้อื่น บางครอบครัวอาจให้ความสำคัญกับการเก็บซ่อนความอ่อนแอเอาไว้ บางครอบครัวอาจให้ความสำคัญกับการแข่งขันเพื่อให้เป็นที่หนึ่ง และเมื่อคุณค่าเหล่านั้นถูกถ่ายทอดอย่างแรงกล้า ก็ไม่แปลกหากมันจะเป็นกลายเป็นส่วนของของเอกลักษณ์หลักของทั้งครอบครัวนั้นไปโดยปริยาย ถึงตอนนี้ เราอาจจะนึกไปพร้อมๆ กันก็ได้ว่า คุณค่าหรือความเชื่อของครอบครัวเราคืออะไร? ช่วงเวลาไหนที่คนในครอบครัวจะปฏิบัติต่อเราอย่างดี? หรือช่วงเวลาไหนที่พวกเขาจะเข้ามาขัดขวางเราบ้าง?
บทบาทหน้าที่ในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวล้วนแล้วมีบทบาทที่แตกต่างกัน ซึ่งถูกกำหนดผ่านบุคลิกภาพของแต่ละคน เช่น ตัวตลก ตัวสร้างปัญหา ตัวไกล่เกลี่ย ตัวรับฟัง และไม่แปลกหากบทบาทเหล่านี้จะส่งต่อไปยังโลกของการทำงานได้ง่าย เมื่อเป็นบุคลิกภาพที่เราคุ้นชินอยู่แล้ว แต่บทบาทดังกล่าวจะสร้างผลดีหรือผลเสียให้กับตัวเรา? เราควรจะทิ้งบทบาทนั้นหรือสร้างบทบาทใหม่ขึ้นมา? เป็นเรื่องที่เราจะต้องตั้งคำถามและทำความเข้าใจกับตัวเองอยู่เสมอ ผ่านการตั้งคำถาม เช่น เมื่อครั้งที่ยังเด็กเรามักจะมีบทบาทอะไรในครอบครัว? บทบาทของเราเกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบกับคนในครอบครัวยังไง? บทบาทในตอนนั้นสอดคล้องกับตำแหน่งที่เรากำลังทำอยู่หรือไม่? แล้วบทบาทนั้นมีประโยชน์หรือกำลังรั้งเราเอาไว้อยู่กันแน่?
ขอบเขต ทุกครอบครัวมีการกำหนดขอบเขตความเข้มงวดที่แตกต่างกัน บางครอบครัวอาจไม่โอเคที่ลูกอยู่กับหน้าจอโทรทัศน์มากไป บางครอบครัวไม่อนุญาตให้ลูกออกไปเล่นสนุกหลังเลิกเรียน บางครอบครัวอาจไม่เข้มงวดอะไรเลยกับการที่ลูกตื่นสาย ซึ่งบางคนจะรู้สึกสบายใจที่จะอยู่ในองค์กรที่มีการกำหนดขอบเขตคล้ายคลึงกับครอบครัวของพวกเขา เช่นเดียวกับซาราห์ที่อยู่ในครอบครัวที่มีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดและชัดเจน จึงไม่แปลกใจหากเธอจะทำงานในระบบราชการขนาดใหญ่มาได้นานหลายปี เพราะเธอมองว่าที่นั่นมีโครงสร้างที่ชัดเจน และเธอรู้ว่าจะต้องนำทางระบบนั้นยังไง
แต่การอยู่ในระบบที่เข้มงวด มีผู้ปกครองคอยกำกับพฤติกรรมอยู่ตลอดเวลา หรือไม่ได้รับการอนุญาตให้ตัดสินใจด้วยตัวเอง ผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตกล่าวว่า อาจทำให้เด็กโตมาโดยพึ่งพาคนอื่นเป็นหลัก หากอยู่ในความสัมพันธ์ก็อาจส่งผลให้อีกฝ่ายมีอำนาจเหนือกว่าหรือคอยควบคุมได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการทำงานด้วย โดยเฉพาะงานที่ต้องตัดสินใจอะไรหลายๆ อย่าง ในขณะที่เด็กที่ชอบแหกกฎหรือท้าทายคำสั่งของผู้ปกครอง มีแนวโน้มที่จะยืนหยัดเพื่อประโยชน์ของตัวเองมากกว่า หลายคนรวมถึงซาราห์เองก็อยากที่จะเปลี่ยนแปลงหรือท้าทายตัวเอง ด้วยการออกมาอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือระบบการทำงานแบบใหม่ที่ไม่มีระบบชัดเจนหรือกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด ฉะนั้นแล้ว ลองถามตัวเองบ่อยๆ ว่าครอบครัวของเรามีโครงสร้าง กฎเกณฑ์ หรือที่บทบาทที่เข้มงวดหรือยืดหยุ่นเกินไปหรือเปล่า? และเรารู้สึกยังไงที่ได้อยู่ในระบบแบบนี้?
สุดท้าย ความคาดหวังของคนในครอบครัว มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ต้องแบกรับความคาดหวังของพ่อแม่ เช่นเดียวกับที่ซาราห์ทำ จนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญบางอย่าง แต่หลายคนแม้จะพยายามแล้วแต่ก็ล้มเหลวและมองหาความเชี่ยวชาญในด้านอื่นๆ แทน รวมถึงคนแบบพี่ชายของซาราห์ที่ล้มเหลว แล้วก็เลือกที่จะต่อต้าน ในงานวิจัยของเดโบราห์และเดนนิสพบว่า ผู้บริหารบางคนที่มีความช่ำชองในการทำงาน ยังคงพยายามตอบสนองความคาดหวังของครอบครัวอยู่ หรือบางคนยังคงพยายามสะสมเกียรติให้กับตัวเอง เพื่อเอาใจพ่อแม่ที่แม้จะเสียชีวิตไปหลายปีแล้วก็ตาม
ปัจจัยนี้อยากให้ทุกคนลองนึกว่า เราเกิดมาพร้อมกับความคาดหวังในด้านใดบ้าง? เรายังพยายามที่จะทำตามความคาดหวังนั้นอยู่หรือเปล่า? การที่เราพัฒนาตัวเองจนมีความเชี่ยวชาญเพื่อตอบสนองความคาดหวังนั้น เรารู้สึกยังไง? แล้วตอนนี้เราตอบสนองความคาดหวังแบบเดียวกันในที่ทำงานหรือไม่? เพราะไม่ใช่ทุกคนที่แบกรับความคาดหวังแล้วจะทำงานได้ดี ในทางกลับกัน ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า เด็กที่ควบคุมตัวเองได้ดีตั้งแต่เนิ่นๆ มักจะเป็นผู้ใหญ่ที่ทำงานได้ดี และมีวินัยในตัวเองมากกว่า ฉะนั้น พ่อแม่อาจจะต้องมองข้ามเรื่องการกดดันหรือความคาดหวังในตัวเด็ก แล้วปลูกฝังให้พวกเขามีการควบคุมตัวเองที่ดีมากกว่าหรือไม่?
ไปต่อ ไม่ยึดติด
แม้วัยเด็กจะเป็นส่วนประกอบหนึ่งของเราในปัจจุบัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องยึดติดหรือนิยามตัวตนของเราด้วยอดีตที่ผ่านมาเสมอไป เพราะหากเราสังเกตได้ว่า อะไรที่หล่อหลอมให้เรากลายเป็นเราในทุกวันนี้ เราก็จะสามารถพัฒนาเส้นทางหรือตัวตนใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นให้กับตัวเองได้ กล่าวคือ ใช้อดีตของเราให้เกิดประโยชน์นั่นเอง
เริ่มแรก ลองระบุอดีตของตัวเองให้ชัดเจนเสียก่อน อาจจะใช้การจดบันทึกหรือสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งเรายังเด็ก เช่น อะไรที่ทำให้เรารู้สึกมั่นใจในตัวเอง อะไรที่ทำให้เรารู้สึกประหลาดใจ อะไรที่ทำให้เราสับสน หรืออะไรที่ทำให้เรารู้สึกด้อยค่า มีผู้บริหารหลายคนที่รู้สึกลำบากใจกับการทำแบบฝึกหัดนี้ เพราะปอกเปลือกตัวตนของเราทำความเข้าใจกับบุคลิกภาพที่ซับซ้อน สามารถนำมาสู่ความรู้สึกอับอายหรือละอายใจในภายหลังได้ แต่หากเราเปิดใจรับความเป็นไปได้ของตัวเราจากภาพรวมดังกล่าว และไม่รีบตัดสินใจตัวเองไปเสียก่อน เราจะพบกับรูปแบบบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเราในปัจจุบัน ทั้งในทางที่มีประโยชน์และทางที่ควรปรับปรุงแก้ไข
จากนั้น ให้ตั้งเป้าหมายสำหรับการเปลี่ยนแปลง หลังจากที่เราได้ดูบทสรุปทั้งหมดแล้วว่า รูปแบบการใช้ชีวิตในวัยเด็กหรืออดีตส่งผลต่อการทำงานเรายังไง ให้โฟกัสว่ารูปแบบเหล่านั้นช่วยเหลืออะไรเราได้บ้าง บางพฤติกรรมช่วยให้เรามีความยืดหยุ่นในการทำงาน ซึ่งความยืดหยุ่นนั้นก็เหมือนกับเสาหลักแห่งความสำเร็จของเรา บางพฤติกรรมช่วยให้เรากล้าที่จะต่อรองเพื่อผลประโยชน์สูงสุดขององค์กร ก็สานต่อพฤติกรรมหรือนิสัยนั้นต่อไปเรื่อยๆ ในทางตรงกันข้าม ลองโฟกัสว่ามีรูปแบบพฤติกรรมไหนที่ขัดขวางการทำงานของเราอยู่ บางพฤติกรรมทำให้เราปิดกั้นการรับฟังความคิดเห็นต่างของคนอื่น ซึ่งทำให้องค์กรขาดวิสัยทัศน์ในการพัฒนา ให้เราตัดสินใจว่าควรจะเก็บพฤติกรรมนั้นมาปรับใช้ หรือเลือกที่จะทิ้งเอาไว้เบื้องหลังในอดีตต่อไป ไตร่ตรองดูให้ดีว่าวิธีไหนที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงของเรามีประสิทธิภาพมากที่สุด
ทั้งนี้ อย่าลืมที่จะวางกรอบเป้าหมายให้เหมาะสม เพื่อที่จะป้องกันเราจากตัวกระตุ้น (trigger) ที่ไม่ดี เช่น ผู้บริหารคนหนึ่งอยากเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการทำงานมากขึ้น แต่เขามาจากครอบครัวที่มักจะคาดหวังให้มองข้ามแผนชีวิตของตัวเอง เพื่อช่วยเหลือน้องสาวที่ด้อยโอกาสกว่า ซึ่งบางครั้งเขาก็เลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้น และถูกผู้เป็นแม่ด่าทออย่างหนักในเวลาต่อมา บอกว่าเขาเป็นคนที่เห็นแก่ตัวคนหนึ่ง ทำให้เมื่ออยู่ในที่ทำงาน เขาจะมีปัญหากับเป้าหมายที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเห็นแก่ตัว เขารู้สึกดิ้นรนอย่างหนักที่จะ ‘เผยแพร่ความคิดของตัวเองไปสู่บุคลากรทั้งองค์กร’ เพราะอดีตที่คอยหลอกหลอนมักจะทำให้เขาลดความทะเยอทะยานนั้นลงอยู่เสมอ แต่ผู้บริหารคนนั้นตระหนักได้ว่า เขาสามารถวางกรอบเป้าหมายใหม่ได้ ในฐานะผู้ที่ ‘แนะนำวิสัยทัศน์ใหม่ที่จะช่วยองค์กรอยู่รอดจากการเปลี่ยนแปลง’ ซึ่งสุดท้ายก็ส่งผลให้การปรับโครงสร้างใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่ดูเห็นแก่ตัวในสายตาเขาอีกต่อไป
สุดท้าย หมั่นพัฒนาตัวเองในเวอร์ชันใหม่อยู่เสมอ ทดลองทำในสิ่งที่ต่างออกไปจากเดิมดูบ้าง หรือลองเอาตัวเองไปอยู่ใน ‘ตัวตนชั่วคราว’ (provisional selves) ซึ่ง เฮอร์มิเนีย อิบาร์รา (Herminia Ibarra) ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นผู้นำอธิบายว่า ตัวตนชั่วคราวถือเป็นรูปแบบพฤติกรรมใหม่ที่เราไม่เคยมีอดีตฝังใจกับมันมาก่อน ให้เราลองระบุต้นแบบที่ประสบความสำเร็จขึ้นมา ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่มีชื่อเสียงหรือคนที่เรารู้จักเป็นการส่วนตัว จากนั้นให้วิเคราะห์ว่าเราสามารถทำสิ่งที่เหมือนกับเขาได้หรือไม่ มีอะไรที่ต้นแบบนั้นคล้ายคลึงกับเรา หรือมีพฤติกรรมอะไรของเขาที่ท้าทายทักษะของเราบ้าง พยายามค้นหาต้นแบบหลายๆ แบบที่ปราศจากการทับซ้อนกับอดีตของเรา เพื่อนำมาเรียนรู้และช่วยให้เราก้าวไปข้างหน้า ในฐานะเวอร์ชันใหม่ที่ดีกว่าเดิม
ทุกครั้งที่ทดลองรูปแบบพฤติกรรมใหม่ๆ อย่าลืมที่จะสะท้อนตัวตนของเราอยู่เรื่อยๆ เพื่อที่จะตอบตัวเองได้ว่า เราพึงพอใจกับเวอร์ชันนี้แล้ว หรือยังอยากพัฒนาตรงไหนเพิ่มเติมอีกหรือเปล่า และการพัฒนานั้นจะทำให้เราไปอยู่ในจุดที่ดีกว่าเดิมได้ยังไง หากเราตั้งใจฟังคำตอบของตัวเองมากพอ เราก็จะสามารถเคลื่อนย้ายไปในทิศทางใหม่ๆ ได้ทันเวลา
อ้างอิงข้อมูลจาก