ในแผนงานแผนกบุคคลอาจบรรจุเต็มไปด้วยการเทรนนิ่ง ข้อมูลสวัสดิการ ข้อกำหนดองค์กร แต่อาจจะไม่มี HR บริษัทใดในโลก ออกแบบแผนการรับมือโรคระบาดระดับ global ไว้ในคู่มือองค์กรมาก่อน
และนั่นคือสิ่งที่วันนี้กลายเป็นเรื่อง ‘ต้องทำ’ มากที่สุด
แผนกบุคคลขององค์กรในอนาคตอันใกล้จะเป็นอย่างไร The MATTER รวมคาดการณ์จาก HR Specialist มืออาชีพหลายคนมาให้อ่านกัน
สุขภาพกายสำคัญ สุขภาพใจก็ต้องโฟกัส
ก่อนหน้านี้ระบบ HR อาจจะคุ้มครองการรักษาในโรงพยาบาลด้านต่างๆ แต่หลายประกันที่บริษัททำให้ไม่ครอบคลุมการรักษาด้านจิตเวช ปีนี้เป็นปีที่คนทำงาน เครียด เครียด และเครียด กับความไม่แน่นอน เส้นชีวิตกับงานพร่าเลือน ตลอดจนฉันจะโดนเลย์ออฟไหมหว่า – ทั้งหมดนี้คือความกดดันที่เป็นบาดแผลคนทำงานต่อเนื่องไปสู่ปีหน้าแน่นอน
ดังนั้นบริษัทจะเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น ซัพพอร์ตพนักงานด้านสวัสดิการเพื่อให้พวกเขาผ่านพ้นช่วงยากลำบากทางใจไปให้ได้ และควรจะมีการเทรนนิ่งหัวหน้าแผนกให้สามารถรับมือและจัดการกับภาวะอารมณ์ของตัวเองและลูกทีมได้อย่างถูกต้อง
แต่ละองค์กรเริ่มแชร์กลยุทธ์ HR กันแบบไม่หมกเม็ด
ก่อนหน้านี้โนว์ฮาวการบริหารจัดการทรัพยากมนุษย์ของแต่ละองค์กรนั้นดูจะเป็นความลับ แต่ไม่ใช่กับ ค.ศ.2021 ที่เชื่อได้ว่าหลายบริษัทจะเริ่มแชร์องค์ความรู้กัน เพื่อรับมือกับสถานการณ์สุดคาดคิดที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกมากมาย เหมือนที่ COVID-19 มันทำกับเรามาแล้ว!
สิ่งที่เรียกว่า open-source-collaboration เป็นเรื่องที่คนทำงาน HR อาจจะไม่คาดคิดมาก่อน แต่ถ้าระบบการทำงานบริษัทหนึ่งรวนเพราะวิกฤติอะไรสักอย่าง แน่นอนมันจะส่งผลกระทบต่อคู่ค้าเป็นทอดๆ ดังนั้นความลับบริษัทยังสำคัญ แต่ธุรกิจฉันก็ต้องอยู่รอด ตั้งแต่ปีนี้จึงเริ่มเห็นเฮดของ HR หลายบริษัทใหญ่แชร์แผนรับมือโรคระบาด ทั้งรีเสิร์ช แบบฟอร์มการทำงาน หรือไอเดียต่างๆ ระหว่างกัน
ทำงานแบบไฮบริด เป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้
แม้จะเป็นเรื่องใหญ่กับการวางระบบงานใหม่ – แต่ในไทยเองระหว่างล็อกดาวน์รอบแรก (และขออย่าให้มันมีรอบสองเลยนะ) หลายบริษัทก็พิสูจน์แล้วว่า เมื่อตัวเลือกอยู่รอดหรือเจ๊ง ไล่ตามจี้แบบติดๆ พวกเขาสามารถปรับแผนการทำงาน WFH ได้แบบ วัน ไนท์ มิราเคิล กันเลยทีเดียว และหลายคนก็คิดว่าจริงๆ ทำงานที่บ้านตลอดไปก็ได้ แต่ผ่านไปหลายเดือนเข้า ก็ได้รู้ว่าออฟฟิศนั้นสำคัญ ดังนั้นระบบการทำงานแบบ ‘ไฮบริด’ จึงถือกำเนิด และปีหน้าหลายองค์กรก็คงจะไฮบริดกันอยู่
แน่นอนว่าการทำงานแบบไฮบริด ลูกผสมระหว่างการทำงานที่บ้านและเข้าออฟฟิศเป็นครั้งคราว จะจัดการระบบคนได้ยากกว่าการที่ทุกคนพร้อมหน้ากันที่ออฟฟิศ หรือการที่ทุกคนทำงานที่บ้านกันตั้งแต่ต้น แต่มันหลีกเลี่ยงได้ที่ไหนกัน สิ่งสำคัญที่จะทำให้ระบบ HR ประสบความสำเร็จนั้น คงเป็นเรื่องของการสื่อสารอย่างชัดเจน และระบบเอกสารที่เข้าถึงสะดวก แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าอย่างไร สิ่งที่องค์กรต้องทำคือการวางระบบระยะยืนยาว ที่ทำให้คนทำงานทำงานได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงสถานที่
Agile & Nudging เรื่องความยืดหยุ่นก็สำคัญ
Agile Model หรือการทำงานแบบให้ความสำคัญกับคน การสื่อสาร ลดขั้นตอนการประสานงาน ลดภาระงานเอกสาร และเน้นการปรับปรุงธุรกิจ สินค้า และบริการ ก็เป็นเรื่องที่องค์กรห้ามละเลย
โมเดลดังกล่าวนั้น คือการปรับการทำงานจากแต่ก่อนที่ทีมคิดก็คิดไป ทีมทดสอบก็ทำไป แล้วก็โยนกลับมาแก้ ดีแล้วค่อยปล่อยสู่ตลาด แต่ระบบ Agile คือการที่ทุกทีมทำงานและสื่อสารร่วมกันอย่างรวดเร็ว และทดสอบระบบกับกลุ่มตัวอย่าง เพื่อกระชับเวลามากขึ้น
อีกคำคือ Nudging คือการใช้แรงกระตุ้นคนให้ทำ แทนการออกคำสั่งเชิงนโยบาย เป็นวิธีทางพฤติกรรมศาสตร์ที่ได้รับความสนใจในเวลานี้ ยกตัวอย่างเช่น การทำ Social Distancing ในที่ทำงาน แทนที่จะใช้ลูกศรบนทางเดินหรือป้ายห้าม ลองรีดีไซน์การออกแบบง่ายๆ ดู เช่น ใช้พรมสีเข้มวางบนจุดต้องห้ามแทน ซึ่งเป็นวิธีที่คนทำงานรู้สึกเฟรนลี่และไม่ถูกบังคับ แต่เกิดผลลัพธ์ในรูปแบบเดียวกันอย่างเป็นธรรมชาติ
ท่องจำไว้ HR ไม่ใช่ admin อีกต่อไป
HR จะไม่เพียงเป็นแค่คนคอยจัดการเอกสาร แต่จะกลายเป็นฟังก์ชันทางธุรกิจแทน ไม่ใช่แค่จัดหาคน แต่จัดหาสกิลให้คนด้วย – ที่พูดแบบนี้เพราะที่ผ่านมา HR เหมือนทำงานเป็นแผนกซัพพอร์ต แต่ทันทีที่ COVID-19 ระบาด ก็เป็นแผนกนี้นี่แหละ ที่ก้าวมาเป็นกระดูกสันหลังบริษัท เมื่อการล็อกดาวน์เริ่มต้นขึ้น เวิร์กสเปซหายไป เหลือเพียงแค่คนและมันสมองเท่านั้น การจัดการ ‘คน’ ทำให้งานได้ นั่นหมายถึงความต่อเนื่องทางธุรกิจที่ยังมีอยู่
เทรนนิ่งการทำงานออนไลน์ ซัพพอร์ตสกิลคนทำงาน การจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้ทำงานได้ การดูแลสวัสดิภาพชีวิต นั่นคือเรื่องที่ HR ทำได้ และเป็นเรื่องยืนระยะที่จะต้องทำ ดังนั้น HR จะกลายเป็นหนึ่งในหัวใจองค์กร ที่จะต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น
ความหลากหลายคือสิ่งสวยงาม และเป็นอีกเทรนด์ที่ห้ามเพิกเฉย
อีกเทรนด์ที่จะลืมพูดถึงไปไม่ได้ คือเรื่องความหลากหลายในองค์กร แม้จะไม่เกี่ยวกับการระบาด แต่นี่คือเทรนด์ที่จะมีไปตลอดกาล และวันหนึ่งมันจะกลายเป็นเรื่องปกติที่เราไม่ต้องหันกลับมาโฟกัสกันอีก
ปัญหาเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศในองค์กรมีมากมาย – และท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 เรายังได้เห็นมูฟเมนต์การเคลื่อนไหวทางสังคมขนาดใหญ่เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมในหลายประเทศ ดังนั้นภารกิจของ HR ในปีหน้าจะไม่ใช่แค่การจ้างงานคนที่ทาเลนต์ แต่เป็นการสร้างความหลากหลายในการจ้างงาน และความหลากหลายในองค์กรให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
อ้างอิงข้อมูลจาก
‘Redefining HR: Transforming People Teams to Drive Business Performance’ by Lars Schmidt