ลึกๆ แล้ว มนุษย์เรามีความรู้สึกว่าเราเองเดียวดายอยู่ในจักรวาลอันไพศาลแห่งนี้ จึงไม่แปลกที่ เราเองมักจะตื่นเต้นเมื่อพบปะกับเหตุการณ์ที่เหมือนจะชี้ไปว่า ในที่สุด การมาเยือนหรือการค้นพบอารยธรรมจากดาวดวงอื่นได้มาถึงดาวดวงน้อยของเราแล้ว
การฝันถึงมนุษย์ต่างดาวนั้น ดูจะเป็นความฝันที่อยู่คู่มนุษย์เรามาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ที่เราเริ่มครุ่นคิดถึงโลกของเราในฐานะส่วนหนึ่งของระบบที่ยิ่งใหญ่กว่าเรามาอย่างเนิ่นนาน แม้ว่าในความฝันถึงอารยธรรมต่างดาวของเรานั้น ลึกๆ แล้ว อาจจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เรามักนึกถึงการบุกยึด การถูกควบคุม หรือการเดินทางไปจนพบกับมนุษย์ต่างดาว ที่เรามักวาดภาพเป็นสิ่งมีชีวิตสีเทาๆ หัวโต หน้าตาประหลาด มักมาพร้อมกับยูเอฟโอที่เป็นทรงกลม ล่องลอยอย่างแปลกประหลาดอยู่บนท้องฟ้า
เมื่อไหร่ที่เราในฐานะมนุษยชาติฝันถึงดาวและสิ่งมีชีวิตในโลกอื่น ส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจว่าโลกไม่ใช่พื้นที่เดียวบนจักรวาล แต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ยิ่งใหญ่และซับซ้อนกว่าความเข้าใจของเรามากนัก อารยธรรมและประวัติศาสตร์ของมนุษย์แสนสั้นนักบนคาบเวลาอันยาวนาน ไม่แปลกที่นักคิด นักวิทยาศาสตร์ จะเชื่อและลอบฝันถึงมนุษย์ต่างดาวมาตั้งแต่บรรพกาล จากปรัชญากรีกที่อภิปรายถึงพหุจักรวาลมาตั้งแต่ก่อนกาล ถึงยุคสมัยที่เราเริ่มเข้าใจสุริยจักรวาล แต่ความเข้าใจนั้นเริ่มจากความผิดพลาดจากการแปลแผนที่ของดาวอังคารในช่วงปลายศตวรรษที่ 19
เมล็ดพันธุ์ในดินแดนอื่น
ประเด็นความคิดถึงมนุษย์ต่างดาว ค่อนข้างสัมพันธ์กับมิติเชิงปรัชญาในหลายแง่ แต่เดิมเรามองไปบนท้องฟ้าและอาจจะนิยามดวงดาวต่างๆ ในฐานะส่วนหนึ่งของโลก เป็นพื้นที่ของสรวงสรรค์ แต่การนึกถึงมนุษย์ต่างดาวหมายถึงการที่มนุษย์เรา เริ่มจินตนาการถึงโลกใบอื่นที่เราไม่เข้าใจ นึกถึงจักรวาลใบอื่นๆ ที่อาจจะคล้ายกับเรา มีการก่อร่างสร้างตัว วิวัฒน์สร้างอารยธรรม มีสิ่งมีชีวิตที่เติบโตขึ้นได้คล้ายกับโลกสีฟ้าของเรา
อันที่จริง นักปรัชญาโบราณที่เก่ามากๆ เองก็เคยเสนอความคิดเกี่ยวกับโลกที่ค่อนข้างให้ภาพตรงและสัมพันธ์กับความเป็นไปได้ของการมีสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น ความคิดของนักปรัชญาโบราณชื่ออะแนกซิแมนเดอร์ (Anaximander) นักปรัชญาและนักเทววิทยาในยุคก่อนโสเกรติส อะแนกซิแมนเดอร์ เป็นนักคิดคนแรกที่เสนอว่าโลกเป็นสสารที่ล่อยลอยอยู่บนที่ว่าง (void) ที่ไร้ที่สิ้นสุด จินตนาการตรงนี้เองสัมพันธ์กับความคิดที่ต่อเนื่องมา คือมองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ในความเป็นอนันต์ โดยเฉพาะความเป็นไปได้ของการมีโลกอื่นๆ (the plurality of worlds)
ในยุคต่อมาความคิดเรื่องโลกต่างๆ โลกในดินแดนอื่นได้รับการบันทึกและใคร่ครวญต่อเนื่อง นักคิดคนสำคัญคืออพิคคิวรัส (Epicurus) ได้รับความคิดจากศตวรรษก่อนหน้าเรื่องความเป็นอนันต์ อพิคคิวรัสได้เขียนจดหมายถึงเฮโรโดตัส (Herodotus) บิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ระบุว่า ‘ด้านนอกนั้นมีโลก (cosmoi) อื่นๆ อยู่อีกอย่างไร้จำกัด บางโลกนั้นเหมือนกับโลกของเรา และบางโลกก็ต่างออกไป’ ข้อเขียนส่วนใหญ่ของอพิคคิวรัสหายสาปสูญไป แต่หลักฐานที่หลงเหลือมาจากบทกวีและงานเขียนชุด De rerum natura- On the Nature of Things กวีซึ่งเป็นลูกศิษย์
ในงานเขียนดังกล่าวนับเป็นหลักฐานชิ้นแรกของการคิดถึงมนุษย์ต่างดาว ในบทกวีมีการพูดถึงความคิดเรื่องการมีโลกใบอื่นๆ ที่เป็นไปได้อย่างไม่รู้จบ ในความเป็นไปได้นั้น กวีได้ใช้อุปมาของเมล็ดพันธุ์ (seed) ว่า ถ้าโลกเราเติบโตได้จากเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต ดังนั้นโลกใบอื่นๆ ก็เป็นไปได้ที่จะมีชีวิตงอกงาม และมีมนุษย์ที่เติบโตขึ้น ทั้งที่เหมือน และที่มีสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างไป (Still other worlds, still other breeds of men, And other generations of the wild.)
ความคิดเรื่องโลกใบอื่น แม้ว่าจะเป็นความคิดค่อนข้างสอดคล้องกับความรู้สมัยใหม่ แต่ความคิดเรื่องสิ่งมีชีวิตและโลกอื่น ค่อนข้างขัดแย้งกับปรัชญาและเทววิทยาตะวันตกที่เป็นกระแสหลักในยุคต่อๆ มา คือโลกเรามักถูกมองว่าเป็นพื้นเดียว เป็นการสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า เป็นพื้นที่ตรงกลางระหว่างสวรรค์และโลกบาดาล เพลโตเชื่อเรื่องโลกของแบบและโลกเราก็เป็นโลกใบเดียวที่ถูกสร้างขึ้น อาริสโตเติลเองก็เชื่อว่าโลกของเราเป็นพื้นที่เดียวที่มีสสาร สวรรค์ด้านบนเป็นพื้นที่ที่ไร้สสารรูปร่าง ความคิดดังกล่าวกลายเป็นสิ่งที่นักเทววิทยาและวิธีคิดของคริสต์ในยุคหลังนำไปปรับเพื่ออธิบายจักรวาลวิทยา
ความต้องห้ามของความคิดของเอเลี่ยน
จากความคิดเก่าก่อนสมัยเพลโต ความคิดเรื่องพหุจักรวาลเลือนหายไป โลกเป็นอาณาจักรเดียวของมนุษย์ จนเมื่อเรามีการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ นักคิดและวิทยาศาสตร์หลายคนที่เปลี่ยนความเข้าใจของศาสนจักร และให้ความกระจ่างกับจักรวาลวิทยาแบบใหม่ ในกรณีของความเคลื่อนไหวในการปฏิวัติวิทยาศาสตร์และความคิดต่อเอเลี่ยนทำให้เห็นความขัดแย้งทางความคิดในการเปลี่ยนแปลงของความต่อจักรวาลและโลก
ความเป็นไปได้ของโลกอันหมายถึงชีวิตและอารยธรรมบนดาวอื่น แน่นอนว่าเริ่มจากนิโคลลิส โคเปอนิคัส (Nicolaus Copernicus) นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ผู้เสนอว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ ดาวโลกและดวงดาวอื่นๆ ต่างหากที่โคจรไปรอบๆ รวมถึงการที่เราเองที่มีเพียงดวงจันทร์ที่อยู่ในวงโคจรของเรา ภาพใหม่ของโลกในฐานะส่วนหนึ่งของระบบนี้ทำให้เราเริ่มนึกถึงดาวดวงอื่นๆ ที่อาจมีลักษะคล้ายกัน
ในช่วงรอยต่อคือยุคหลังจากโคเปอนิคัส วิทยาศาสตร์เองก็มีความขัดแย้งในตัวเอง คือมีอิทธิพลทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นการศึกษาและการค้นพบต่อเนื่องที่สัมพันธ์กับนักวิทยาศาสตร์สำคัญสองคน คือโยฮันเนิส เคปเลอร์ (Johannes Kepler) และกาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) ทั้งคู่มีคุณูปการต่อดาราศาสตร์อย่างลึกซึ้ง แต่ทั้งคู่ก็มีข้อพิพาทกันจากความคิดถึงความเป็นไปได้ของมนุษย์ต่างดาวและอารยธรรมบนดาวอื่น
คือในตอนนั้นเคปเลอร์ได้รับต้นฉบับ Siderius nuncius (Starry Messenger) งานเขียนที่ประกาศการค้นพบดวงจันทร์บริวารทั้งสี่ดวงของดาวพฤหัส ในความลิงโลดนั้นเคปเลอร์ส่งจดหมายแสดงความยินดีแก่กาลิเลโอ โน๊ตว่าเคปเลอร์เป็นโปรแตสแตน ส่วนกาลิเลโอเป็นคาทอลิก ในเนื้อความเคปเลอร์ดันระบุว่า ไม่ได้มีแค่เราที่มีดวงจันทร์ แต่ดาวพฤหัสเองก็มีลักษณะเหมือนกับเรา เคปเลอร์สรุปด้วยวิธีแบบปรัชญาว่า เช่นนั้นแล้วดาวใหญ่ที่มีดวงจันทร์และระบบบริวารแบบเดียวกับเราก็มีโอกาสที่จะมีสิ่งมีชีวิต มีมนุษย์อยู่ (deduce with the highest degree of probability that Jupiter is inhabited.)
สิ่งที่น่าสนใจคือ กาลิเลโอปฏิเสธความคิดอย่างแข็งกร้าว กาลิเลโอเขียนใน Letters on Sunspots ตีพิมพ์ในปี 1613 ว่าความคิดว่าดาว เช่น ดาวศุกร์ ดาวพฤหัส ดาวเสาร์หรือดวงจันทร์อาจมี ‘สิ่งมีชีวิต’ อันหมายถึงสิ่งมีชีวิตที่เป็นมนุษย์แบบเรานั้นเป็นเรื่อง ‘ผิดพลาดและควรสาปแช่ง (false and damnable)’ ถือว่าความคิดเรื่องมนุษย์ต่างดาวเป็นเรื่องนอกรีต ซึ่งหลังจากนั้นกาลิเลโอเองก็ออกปกป้องทฤษฎีของโคเปอนัส ถูกจับและคุมขังจนวาระสุดท้ายของชีวิต
นอกจากความขัดแย้งเรื่องโลกอื่นมีมนุษย์ได้ไหมซึ่งขัดกับความคิดของศาสนจักร ในยุคนั้นมีงานเขียนคล้ายๆ กัน เช่น Conversations on the Plurality of Worlds ตีพิมพ์ในปี 1686 ของนักเขียนฝรั่งเศส งานเขียนนั้นจินตนาการต่อจากความคิดของโคเปอนิคัส โดยพูดเรื่องโลกใบอื่นๆ มีการพรรณนาอย่างละเอียด เช่น ชาวดาวศุกร์ผิวสีแทนจากแสนแดด รักความสนุกสนาน ชอบเต้นรำและจัดการแข่งขัน ส่วนชาวดาวเสาร์นั้นตรงข้ามกันบูดบึ้งและหัวเราะไม่เป็น งานเขียนนี้นับเป็นงานยุคก่อนวรรณกรรมไซไฟที่เป็นตรงกลางของวิทยาศาสตร์และบันเทิงคดี ในงานเขียนนั้นเองก็ระบุไว้ว่า ชาวดาวอื่น ไม่ได้เกิดจากอาดัมและอีฟ ดังนั้นก็ไม่จำเป็นต้องไถ่บาป
คลองบนดาวอังคาร รากของความคิดและการสำรวจแดนอื่น
จินตนาการเรื่องชาวดาวอื่นในยุคหลังสัมพันธ์กับดาวอังคารต่อเนื่องมาในยุคสมัยใหม่ คือในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในช่วงนั้นเราเริ่มทำแผนที่ดวงดาว และนวัตกรรมกล้องดูดาวชัดเจนขึ้น หนึ่งในกระแสสำคัญเรื่องชาวดาวอังคารมีที่มาจากความผิดพลาด คือในปี 1877 นักดาราศาสตร์ชาวอิตาเลียนชื่อโจวันนี สเกียปาเรลลี่ (Giovanni Schiaparelli) ค้นพบและทำแผนผังพื้นที่บนดาวอังคาร
เมื่อแผนผังดาวอังคารแปลออกจากภาษาอิตาเลียนเป็นอังกฤษมีการแปลผิด คือแปลคำว่า ‘canali’ ที่ต้นทางหมายความถึง channel หมายถึงทางน้ำหรือพื้นที่ทั่วไป ในฉบับภาษาอังกฤษดันไปแปลว่าเป็น ‘canal’ อันมีนัยถึงการเป็นโครงสร้างหรือระบบชลประทาน หลังจากนั้นก็เลยมีนักคิดหรือนักเขียนที่บอกว่า นี่ไง เขาหมายถึงว่าบนดาวอังคารต้องมีอารยธรรมหรือสิ่งมีชีวิตบางอย่างอยู่บนนั้น โดยประกอบกับข้อเขียนและความคิดที่มนุษย์ตื่นเต้นกับความเป็นไปได้ของอารยธรรมบนดาวอังคาร พอดีกันว่า นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) ประกาศในหนังสือพิมพ์ว่าเขารับสัญญาณบางอย่างจากดาวอังคารได้ในปี 1901 ซึ่งภายหลังนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็นสัญญาณวิทยุทั่วไปในอวกาศ
ในช่วงๆ เดียวกันเมื่อเราเองเริ่มมองท้องฟ้าและมองเห็นว่าดาวอื่นๆ นั้นอาจมีระบบและอาณาจักรของตัวเอง มนุษย์เริ่มวาดภาพดินแดนและผู้มาเยือน ในงานเขียนประเภทนวนิยายวิทยาศาสตร์หรือไซไฟก็เฟื่องฟูขึ้นพร้อมๆ กันกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ งานเขียนส่วนใหญ่ไม่ค่อยไว้ใจทั้งเทคโนโลยี รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นวนิยายสำคัญคือเรื่อง The War of the Worlds เริ่มเผยแพร่เป็นตอนๆในช่วงปี 1897 ในเรื่องนี้เองที่ค่อนข้างเป็นต้นแบบของยูเอฟโอ การมาถึงของชาวดาวอื่นในพาหนะทรงกรวย ยานอวกาศทรงกลมที่มีขาระโยงระยาง
ความเข้าใจและจินตนาการถึงโลกใบอื่น ถึงมนุษย์และภูมิปัญญาในดาวอื่น นับเป็นจินตนาการอันเก่าแก่ที่ด้านหนึ่ง เป็นข้อสงสัยของมนุษย์ที่มีต่อตัวเราเองในฐานะภูมิปัญญาหนึ่งเดียวในพื้นที่ว่าง และจักรวาลที่ไร้ที่สิ้นสุด ทุกวันนี้มนุษย์เราก็ยังคงก้าวไปข้างหน้าในการค้นหาพื้นที่และดินแดนอื่นๆ ซึ่งในการสำรวจนั้นเราเองก็หวังที่จะพบพานสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หรือการที่เราเฝ้ารอการมาถึง
ที่มาของความฝันนั้นอาจมาจากนักปรัชญาที่มีอายุเมื่อหลายพันปีก่อน จากการสังเกตความเป็นไปได้รอบๆ หรือจากความผิดพลาดของการแปล จากเรื่องเล่า จากวรรณกรรม หรือจากหนังและซีรีส์ ข้อสำคัญของความฝันของเราที่มีต่อโลกใบอื่น บางครั้งอาจสัมพันธ์ทั้งกับความโดดเดี่ยวของเราเอง รวมถึงการตั้งคำถามถึงความยิ่งใหญ่ของเรา ที่แท้จริงแล้วอาจจะเยาว์วัยและยังล้าหลัง เมื่อเทียบกับเส้นเวลาอื่นๆ ที่เราจินตนาการไปไม่ถึง
อ้างอิงข้อมูลจาก