หมายเหตุ: บทความนี้เล่าเรื่อง War of the Worlds ของ เอช จี เวลส์ (H. G. Wells)
หากใครติดตามข่าวราชวงศ์อังกฤษ เมื่อไม่นานมานี้ เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์กนั้นพึ่งเจอกระแสข่าวว่าทรงพัวพันกับอาชญากรคดีล่วงละเมิดทางเพศและคดีค้ามนุษย์ นาม เจฟฟรีย์ เอปสไตน์ (Jeffrey Epstein) ผู้ฆ่าตัวตายในคุกเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก่อนจะได้รับคำพิพากษา หลังจากเอปสตีนเสียชีวิตเพราะบรรดาเหยื่อของเอปสไตน์กล้าพูดเรื่องประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดของตนมากขึ้น บางคนกล่าวว่าหลังจากถูกเอปสไตน์ล่วงละเมิด หรือถูกเอปสไตน์ขายให้ชายคนอื่นนั้น ตนได้หมดกำลังใจในการใช้ชีวิต รู้สึกหวาดกลัว และเกิดบาดแผลในจิตใจ เหยื่อรายหนึ่งนาม เวอร์จิเนีย จุฟแฟร (Virginia Giuffre) เล่าว่าเธอถูกเอปสไตน์ล่อลวงให้ร่วมเพศกับเจ้าชายแอนดรูว์ตั้งแต่ตนยังเป็นวัยรุ่นและใช้นามสกุลว่าโรเบิตส์ (Roberts) โดยมีภาพหลักฐานว่าเธอเคยถ่ายรูปกับเจ้าชายแอนดรูว์จริง
ในรายการบีบีซี นิวส์ไนท์ (BBC Newsnight) วันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เจ้าชายแอนดรูว์ประทานสัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 2001 ซึ่งเวอร์จิเนียกล่าวว่าถูกพระองค์ล่วงละเมิดนั้น พระองค์ไม่ได้อยู่ ณ ที่เกิดเหตุ แต่พระองค์เสด็จไปร่วมงานเลี้ยงกับเจ้าหญิงเบียทริซ (Princess Beatrice) พระธิดา ที่ร้านพิซซา เอ็กซเพรส (pizza express) สาขาเมืองโวคิง (Woking) จังหวัดซะรีย์ (Surrey) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงลอนดอน พระองค์ยังเสริมด้วยว่า แทบจะไม่เคยเสด็จไปโวคิงเลย ทำให้ทรงจำได้แม่นว่าวันนั้นเสด็จโวคิง หลังจากประทานสัมภาษณ์แบบนั้น หลายคนที่เชื่อว่าเจ้าชายแอนดรูว์ไม่ได้ทรงพูดความจริงก็เลยรีวิวร้านพิซซ่า เอ็กซเพรสที่โวคิงในคืนวันนั้น โดยกล่าวว่าเป็นร้านอาหารที่อร่อยจนลืมไม่ลง ไปมาเป็นสิบปีก็ยังจำได้ ถึงแม้จะพิซซาชีสธรรมดา ไม่ต่างอะไรจากที่เพื่อนทำกันเองง่ายๆ ก็ยังจำได้ อะไรแบบนั้น
ดิฉันไม่ขอพูดต่อว่าความจริงความเท็จคืออะไร เพราะดิฉันก็ไม่ทราบ แต่สิ่งที่ดิฉันสนใจคือทำไมโวคิง (และพิซซ่า เอ็กซเพรสที่โวคิง) ดูเหมือนเป็นเมืองที่ถูกกระแนะกระแหนว่าเป็นเมืองที่ใครๆ ก็น่าจะลืม หรือเป็นเมืองที่ไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะกับเจ้าชายแอนดรูว์ขนาดนั้น จนขนาดเจ้าชายแอนดรูว์ก็ตรัสออกมาว่าไม่ค่อยได้ไป ถึงได้จำได้ว่าไป มันเป็นเมืองน่าเบื่อหรือชวนเซ็ง ไม่เหมาะกับเจ้านายหรืออย่างไรหนอ
อันที่จริงแล้ว ในมุมวรรณกรรม โวคิงเป็นฉากสำคัญของนวนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดัง นั่นคือ War of the Worlds ของ H. G. Wells ซึ่งกลายเป็นที่มาของภาพยนตร์ดังชื่อเดียวกัน กำกับโดย สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) นำแสดงโดย ทอม ครูซ (Tom Cruise) ใน ค.ศ. 2005 วรรณกรรมเรื่องนี้เล่าเรื่องยานลึกลับจากดาวอังคารที่ตั้งใจจะล่าอาณานิคมบนโลกและล้างผลาญเผ่าพันธุ์มนุษย์ วรรณกรรมเรื่องนี้ไม่ได้ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นมาแล้วทั้งละครเพลง ละครวิทยุ และละครโทรทัศน์ วรรณกรรมเรื่องนี้ถือเป็นวรรณกรรมเรื่องแรกที่พูดถึงมนุษย์ต่างดาวบุกโลกโดยเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ล่าสุด บีบีซีได้จัดทำละครโทรทัศน์เรื่อง War of the Worlds ขึ้นอีก โดยเล่นตอนแรกในวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา การจัดทำครั้งนี้ถือว่าแปลกกว่าครั้งอื่นๆ ก่อนหน้า เพราะเป็นฉบับแรกที่จัดให้ท้องเรื่องอยู่ในสมัยเดียวกับช่วงที่ตีพิมพ์นวนิยายเรื่องนี้เป็นครั้งแรก (ค.ศ. 1897)
แล้วโวคิงในนิยายกับชีวิตจริงต่างหรือเหมือนกันแค่ไหน ถ้าโวคิงเป็นย่านที่ไม่ได้มีอะไรน่าจดจำ ทำไมเอเลียนถึงมาบุก ทำไมเอเลียนไม่ไปพังบิ๊กเบน พังรัฐสภา หรือพังโบสถ์เซนต์พอล ทำไมไม่ไปนิวยอร์ก หรือเมืองใหญ่ๆ ถ้าพูดกันตามตรง โวคิงคือดินแดนชานเมือง ในช่วงที่นวนิยายเล่มนี้เขียนขึ้น โวคิงเป็นเหมือนหมู่บ้านจัดสรรคลองสามคลองห้า ปทุมธานี ทำไมฉากแรกในโลกวรรณคดีอังกฤษที่มีมนุษย์ต่างดาวบุก ถึงไปบุกที่ทุ่งโล่งกว้างในชุมชนเล็กๆ ชานเมืองลอนดอน
เราอาจจะพบข้อมูลว่า H. G. Wells ผู้เขียนเรื่องนี้เคยพักที่บ้านเล็กๆ ไม่ไกลจากสถานีรถไฟโวคิง ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่เพราะแค่ H. G. Wells เคยพักบ้านนี้เท่านั้นหรือ ถึงเป็นสาเหตุให้เขาเลือกให้มนุษย์ดาวอังคารลงจอดกลางทุ่ง ในเมืองนี้ ถ้าอยากจะให้มนุษย์ดาวอังคารเดินทางมาเมืองนี้แล้วฆ่าคน แสดงว่าเวลส์ก็ไม่ได้รักเมืองนี้เลยน่ะสิ
ดิฉันสนใจคำว่า Alien (เอเลี่ยน) มาก ถึงแม้ว่าเวลส์จะไม่ได้ใช้คำนี้ และกว่าคำนี้จะมีความหมายว่ามนุษย์ต่างดาวก็ปาเข้าไปทศวรรษ 1950 แล้ว แต่การเน้นย้ำความแตกต่างระหว่างมนุษย์และชาวดาวอังคาร (ซึ่งดูเหมือนปลาหมึกยักษ์) ก็ทำให้การใช้คำว่าเอเลียนนั้นไม่ผิดอะไร เพราะความหมายหลักๆ ของคำว่า Alien คือคนต่างด้าว หรือเป็นคำวิเศษณ์แปลว่าต่างด้าว ต่างแดนก็ได้ ในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้าถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ วลีอย่าง “The Alien Religion” ไม่ได้หมายถึงศาสนาบูชามนุษย์ต่างดาวแต่อย่างใด แต่หมายถึงศาสนายิว
วลีนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการอพยพของชาวยิวจากรัสเซียและยุโรปหลังจากถูกเหยียดและขับไล่จากรัสเซีย คำว่าเอเลี่ยนในความหมายว่าต่างด้าว อาจอธิบายปรากฏการณ์ความเป็นต่างดาวได้เช่นกัน ถ้าคิดต่อจากคำว่า ‘alien’ ก็จะได้คำกริยาว่า ‘alienate’ ซึ่งแปลว่าทำให้รู้สึกแปลกแยก โดยมักอยู่ในรูป ‘alienated’ ซึ่งแปลว่า แปลกแยก ได้อีก ปรากฏการณ์การแปลกแยกจากกันในเมือง ทำให้เกิดความเหงาและความหวาดระแวง ปรากฏการณ์การแปลกแยกจากวัตถุสินค้า (เราต้องไปซื้อของมาใช้ เรารู้จักของจากราคาและผ่านโฆษณา เราต้องการของใหม่ ตามแฟชั่น คนสร้างไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้สร้าง) และปรากฏการณ์แปลกแยกจากตัวเองในเวลางาน (ซึ่งอาจจะต้องปั้นหน้ารับลูกค้า หรือปั่นต้นฉบับให้ทันส่งในพื้นที่ทำงาน) ล้วนเป็นปรากฏการณ์ของยุคสมัยใหม่และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ซึ่งเข้มข้นมากในศตวรรษที่สิบเก้า อ่านเท่านี้คุณคงรู้สึกแล้วว่ามี ‘เอเลี่ยน’ เต็มไปหมด ไม่ต้องมาจากดาวไหนเลย
โวคิงในช่วงเปลี่ยนผ่านจากศตวรรษที่สิบเก้าสู่ศตวรรษที่ยี่สิบ
คือพื้นที่แห่งความสงบ สว่าง สะอาด แบบที่ชนชั้นกลางระดับล่างถึงกลาง
ต้องการจะพักอาศัยเพื่อหลีกหนีจากฝุ่นควันและสลัมเมืองหลวง
แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการสถานที่พักผ่อนซึ่งไม่ฟุ่มเฟือย และใกล้ที่ทำงานในเมือง โวคิงเป็นเหมือนที่ซุกหัวนอนของบรรดามนุษย์ทำงานออฟฟิซกรากกรำ นั่งรถไฟเข้าลอนดอนตอนเช้าและกลับมาตอนเย็น ชีวิตแบบนี้คือชีวิตที่เวลส์พบเจอตลอดระยะเวลาที่พักอยู่ที่โวคิง
ถ้าใครได้อ่านหนังสือ บทแรกๆ ของหนังสือที่เริ่มพูดถึงเหตุการณ์ ‘ดาวตก’ ปริศนาที่มาตกอยู่กลางทุ่งฮอร์เซลล์ คอมมอนส์ (Horsell Commons) ซึ่งเป็นทุ่งกว้างขนาดใหญ่ ไม่ห่างจากตัวเมืองโวคิงนั้น เรา มนุษย์ยุคปัจจุบัน อาจจะรู้สึกหวั่นวิตกหรือตื่นเต้นตามประสาคนที่ได้เสพเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาว หรือลุ้นแล้วว่าจะมีระเบิดตู้มต้าม แต่ตัวเอกของเราคือได้ข่าวแล้วก็เข้าบ้านไปดื่มชา เราอาจจะเห็นบรรยากาศที่ดูเหมือนสงบในเรื่องช่วงแรกๆ เช่น ตัวเอกกับภรรยาพากันไปเดินเล่น มีคนเล่นดนตรีร้องรำทำเพลงเดินผ่านมา หรือเราจะเห็นว่าพื้นที่บริเวณนั้นเต็มไปด้วยกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ เช่น สนามกอล์ฟที่ไบฟลีท (Byfleet) หรือสวนต่างๆ ที่วิมเบิลดัน (Wimbledon) บ้าง บานส์ (Barnes) บ้าง ถึงแม้ว่าหลายๆ คนในเรื่องจะเริ่มรู้แล้วว่ามนุษย์ดาวอังคารบุกมาทำร้ายมนุษย์ (แม้จะไม่มีใครคาดเดาเหตุผล) แต่เราก็จะเห็นมนุษย์เหล่านี้อยู่เรื่อยๆ จนผ่านไปสักหกเจ็ดบท
สำหรับดิฉันแล้ว นี่คงเป็นสิ่งที่เวลส์รำคาญและรังเกียจเดียดฉันท์พอประมาณ ชุมชนชานเมืองเหล่านี้เต็มไปด้วยคนที่เหมือนถูกเลี้ยงให้เชื่อง ไม่หูไวตาไวกับอะไร ไม่รู้จักระวังอันตรายที่จะเข้ามาถึงตัว ความเฉื่อยชาของชาวชานเมืองนี้ก็เกี่ยวพันกับการเป็นส่วนหนึ่งของกลจักรแห่งทุนในกรุงลอนดอน มหานครซึ่งเป็นที่เลื่องลือกันว่าเจริญในทางธุรกิจมากที่สุดในศตวรรษที่สิบเก้า ชาวชานเมืองเหล่านี้คือชนชั้นกลางผู้ไม่ต้องการเกลือกกลั้วกับความสกปรกของชนชั้นแรงงานและความสกปรกในเมือง (เวลส์เองก็หนีจากลอนดอนมาอยู่โวคิงเพราะเป็นโรคปอด ทนมลภาวะในกรุงลอนดอนไม่ได้) แต่ก็ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำทุกวันๆ เพื่อจะสร้างหลักทรัพย์และฐานะให้ตัวเองได้ไต่บันไดชนชั้นขึ้นมาบ้าง พื้นที่บ้านของเขาจึงเป็นพื้นที่แห่งการชาร์จแบต พักผ่อน ปลดปล่อย ก่อนจะกลับไปอยู่ในกลจักรใหม่
แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คนเหล่านี้มองไม่เห็นภยันตรายที่เกิดขึ้นต่อตัวเอง ทั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น และเกิดขึ้นไปแล้วในระบบที่กดขี่และทำให้เราแปลกแยกจากตัวเอง (เวลาทำงานต้องเล่นคนละบทบาทกับเวลาอยู่บ้าน) ตัวละครเหล่านี้ถูกมองว่าไม่รู้เท่าทันโครงสร้างอำนาจที่กดขี่ตนเอง เมื่อตัวเอกของเรื่อง (ไม่มีชื่อ) ได้พบกับนายทหารปืนใหญ่ที่เคยหลบอยู่แถวบ้านของเขา ระหว่างเดินทางเข้าลอนดอน (ซึ่งโดนมนุษย์ดาวอังคารทำลายจนแทบจะราบเป็นหน้ากลอง)
นายทหารคนนั้นเสนอว่าทั้งตัวเอกและเขารอดตาย ไม่ถูกมนุษย์ดาวอังคารกินเพราะไม่ใช่กลุ่มคนที่จะโดนกำจัด คนที่โดนกำจัดคือพวก “เสมียนที่อยู่ในไอ้บ้านพรรค์นี้นี่แหละ ไม่มีจิตวิญญาณ ไม่ได้มีความฝันน่าภาคภูมิใจ ไม่ได้มีความปรารถนาน่าอวดอะไรทั้งนั้น พวกนี้ทำอะไรเป็นบ้าง นอกจากตระหนกตกใจแล้วก็การเตรียมเนื้อเตรียมตัว” นายทหารคนนี้พูดต่อว่า “พวกดาวอังคารนี่คงเป็นพระมาโปรดของไอ้พวกนี้ล่ะมั้ง สร้างกรงใหญ่ๆ สบายๆ กินอาหารขุนให้อ้วน เพาะพันธุ์อย่างดี ไม่ต้องกังวลอะไร ผ่านไปสักอาทิตย์มันก็ออกวิ่งไปในทุ่งนั่นน่ะ หรือไม่ก็นอนรอเวลาหิวๆ แต่แล้วก็จะยินดีให้เขาจับไปง่ายๆ มันคงสงสัยกันด้วยว่าคนก่อนหน้านั้นเขาอยู่กันยังไง ก่อนที่จะมีพวกดาวอังคารมาเลี้ยง”
ถึงแม้ตัวละครทหารประเภทนี้ ซึ่งอธิบายโลกในฝันของเขาต่อว่าเป็นโลกที่ไม่มีกวีหรือวรรณคดีเพราะทำให้คนฟุ้งซ่านนั้น จะถูกเวลส์วิพากษ์ในบทความอื่นๆ ภายหลัง แต่ความคิดแบบนี้ก็ไม่ได้ต่างจากแนวคิดของเวลส์ที่ชิงชังความเฉยชาและขาดความรู้เรื่องการเมืองของมนุษย์ชนชั้นกลางชานเมือง ผู้ทำงานวนๆ เป็นเครื่องจักร ไร้แรงพลังทางจิตวิญญาณ
แต่แนวคิดเกี่ยวกับชานเมืองไม่ได้เป็นแค่ที่ซุกหัวนอน
ของเครื่องจักรรับใช้ระบบทุนขูดรีด แต่เป็นพื้นที่ที่ชนชั้นกลาง
คาดหวังว่าจะได้พบเจอแต่พวกเดียวกัน
ชนชั้นกลางเหมือนกัน ในบรรยากาศที่สะอาดสงบตามประสาชานเมือง (ถ้าคุณนึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงโฆษณาหมู่บ้านจัดสรรบ้านเรา คุณจะนึกออกทันที หมาวิ่งเล่น พ่อแม่ลูกสุขสันต์ มีทะเลสาบขุดสวยๆ มีหญ้าเขียวๆ) ชานเมืองนั้นไม่ไกลจากเมืองหลวง แต่ก็ไม่ได้อยู่ใกล้สิ่งสกปรก หรือชนชั้นที่ชนชั้นกลางระดับล่างและกลางรังเกียจ พูดง่ายๆ คือที่ไม่ใช่ที่ของคนจน แรงงาน คนสกปรก
แต่เรื่องตลกสำหรับโวคิงก็คือ โวคิงไม่ใช่ดินแดนปิดล้อม กั้นไม่ให้คนนอกเข้าอย่างแน่นหนา เพราะไม่มีที่ไหนกั้นได้อยู่แล้ว อย่างแรก ชนชั้นกลางสมัยนั้น (หรือสมัยนี้ก็เถอะ) ก็ยังต้องการสินค้าและบริการ ถ้าทุกคนเป็นมนุษย์ทำงานเช้าเข้าเมืองเย็นกลับบ้าน จะซื้ออาหารที่ไหน ถ้าอยากได้ธรรมชาติสะอาดๆ ต้นไม้สวยงาม ซึ่งอันที่จริงมาจากการเสริมเติมแต่งฝีมือมนุษย์ ก็ต้องมีคนสวน มีคนงาน มาจัดสภาพธรรมชาติให้เพลินตาเพลินใจหรือเปล่า โวคิง หรือชานเมืองอื่นๆ ที่เกิดขึ้นรอบเมืองใหญ่ในสหราชอาณาจักรนั้นก็ไม่อาจปิดกั้นตัวเองจากชนชั้นแรงงาน ซึ่งชนชั้นกลางมองว่าสกปรกหรือน่ารังเกียจได้อย่างแท้จริง นอกจากจะผิดหวัง เพราะสุดท้ายสังคมชานเมืองก็ยัง ‘ปนเปื้อน’ ก็ยังต้องมาระวังว่าใครเป็นชนชั้นกลางตัวจริงตัวปลอม ใครตกกระป๋อง ใครคบชู้ ใครบ้างที่ไม่สามารถรักษาค่านิยมแบบชนชั้นกลางไว้ได้ พื้นที่ซุกหัวนอนแห่งนี้จึงเป็นพื้นที่ของความหวาดระแวงต่อความเป็นอื่น และกลัวว่าวันหนึ่งเราจะเป็นอื่นขึ้นมา
โวคิงไม่ได้ต่างจากที่อื่นในเรื่องนี้เลย โวคิงเป็นพื้นที่ปลูกพืชขายเพื่อการทำสวนมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ธรรมชาติแบบประดิษฐ์ๆ ที่นี่จะเด่น (ในปัจจุบันอาจจะไม่ขนาดนั้น) แต่สิ่งที่โวคิงไม่เหมือนกับที่อื่นๆ คือ โวคิงเป็นเมืองที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเก้าแล้ว ในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า ก่อนเวลส์จะเขียนโวคิงนั้น โวคิงมีสถาบันบูรพคดีศึกษาและวรรณคดีบูรพา (Institute of Oriental Learning and Literature) ก่อตั้งโดย กอทท์ลีบ วิลเฮล์ม ไลท์เนอร์ (Gottlieb Wilhelm Leitner) ลูกหลานชาวยิวจากฮังการีผู้รู้ถึง 15 ภาษา และได้เป็นอาจารย์ตั้งแต่อายุ 19 ปีที่คิงส์คอลเลจ ลอนดอน (King’s College, London)
หลังจากนั้น เขาได้รับเงินบริจาคสนับสนุนจาก เบกุม ชาห์ จาฮัน (Begum Shah Jahan) ผู้ปกครองราชรัฐโภปาล (Bhopal) เพื่อสร้างมัสยิดแห่งแรกในอังกฤษใน ค.ศ. 1889 แม้ปัจจุบันสถาบันที่ไลท์เนอร์ตั้งจะไม่อยู่แล้ว แต่มัสยิดอันสวยงาม ออกแบบโดยสถาปนิกอังกฤษและข้ารับใช้ชาวมุสลิมของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียอย่างโมฮัมเหม็ด บุคช์ (Mohammed Buksh) และ อับดุล คาริม (Abdul Karim) นั้นยังคงอยู่ ซึ่งภายหลังได้เป็นเลขานุการประจำพระองค์และอยู่ในภาพยนตร์ Victoria and Abdul (Stephen Frears, 2017) นั้นก็เคยมาร่วมทำพิธีที่นี่เมื่อสมเด็จพระราชินีเสด็จมาประทับที่พระตำหนักวินด์เซอร์ (Windsor)
ดิฉันไม่ทราบแน่ชัดว่าเวลส์คิดอย่างไรกับมัสยิดนี้ แต่เวลส์เคยถูกชาวมุสลิมในอังกฤษต่อต้านใน ค.ศ. 1938 เมื่อเวลส์พิมพ์หนังสือ A Short History of the World โดยมีเนื้อหาดูถูกพระศาสดาโมฮัมหมัด ดิฉันคิดว่าไม่น่าแปลกใจอะไรที่เวลส์จะมองว่าชาวมุสลิมก็เป็นเอเลียนอีกกลุ่มหนึ่ง
พื้นที่ชานเมืองที่ดูจะปลอดภัยสำหรับชนชั้นกลางหลายๆ คนก็ไม่ได้เป็นดังนั้น ความกลัวว่าจะมีคนแปลกหน้าสะท้อนความกลัวในภาพรวมของจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งมองเห็นว่าจักรวรรดิเสื่อมและกลัวคนจะเข้ามารุกรานตนเอง เช่นเดียวกับที่เอเลียนดาวอังคารบุกยึดโลก ณ จุดเริ่มต้นของนวนิยาย ผู้เขียนได้กล่าวถึงความกลัวว่าโลกจะถูกมนุษย์ดาวอังคารซึ่งอยู่ในดาวอันเสื่อมทรามขาดแคลนทรัพยากรจะมายึดโลกเพื่อหาทรัพยากรแหล่งใหม่ แต่กระนั้นผู้เขียนก็ได้กล่าวว่า สิ่งที่ชาวดาวอังคารทำต่อโลกมนุษย์นี้ ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากที่กองทัพอังกฤษออกไปฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทัสเมเนีย (Tasmania) ที่เกาะทัสเมเนีย ทางใต้ของออสเตรเลีย (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษในตอนนั้น) และไหนจะการล้างผลาญสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ เช่นนกโดโด (Dodo) ด้วยน้ำมือมนุษย์อีกเล่า นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนความกังวลของทั้งชนชั้นกลางชานเมืองอังกฤษ ผู้หวาดกลัวความเป็นอื่นทั้งทางชนชั้น ชาติพันธุ์ และอาจจะสายพันธุ์เสียด้วยซ้ำ บทแรกของนวนิยายแสดงความรู้สึกผิดต่อจักรวรรดิอังกฤษและการเหยียดชาติพันธุ์อื่น แต่ในขณะเดียวกันก็แสดงความหวาดกลัวว่าจักรวรรดิของตนจะเสื่อมทรามลง พรมแดนของชาติและพรมแดนของชนชั้นไม่อาจปิดกั้นได้แนบสนิท
เอเลี่ยนเหล่านั้นจึงสะท้อนความกลัวการบุกรุกของความเป็นอื่น และการมองเห็นภาพความรุนแรงโหดร้ายของจักรวรรดิอังกฤษเอง ภาพของเอเลี่ยนซึ่งดูเหมือนปลาหมึกยักษ์ แต่ดูดเลือดเป็นอาหารราวผีดูดเลือดนั้นก็สะท้อนความกังวลแบบหนึ่งในอังกฤษช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า ซึ่งเรียกว่าความกังวลเรื่องความเสื่อมทราม (degeneration anxiety) หรือความกลัวการวิวัฒนาการย้อนกลับ (devolution) หลังจากนายพลกอร์ดอน (General Gordon) ทหารผู้ยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดิอังกฤษถูกสังหารที่ซูดาน ตามด้วยการต่อสู้อย่างยากลำบากกับชาวซูลูในแอฟริกาใต้ ตามด้วยการพ่ายแพ้สงครามโบเออร์ (Boer) ครั้งที่หนึ่ง (ระหว่างอังกฤษกับเนเธอร์แลนด์) ในแอฟริกาใต้ ชาวอังกฤษเกิดความกลัวว่าอารยธรรมอังกฤษ ซึ่งเชื่อกันไปเองว่าเลิศเลอที่สุดในหมู่มนุษย์นั้น กำลังเสื่อมถอย ความรู้เรื่องทฤษฎีวิวัฒนาการที่อาจจะยังไม่หนักแน่นพอทำให้เกิดจินตนาการว่ามนุษย์จะเสื่อมลง กลายเป็นสัตว์ประหลาดน่าเกลียดก็เป็นได้
สำหรับเวลส์ ชาวดาวอังคารไม่ได้ต่างจากมนุษย์ เพียงแค่วิวัฒนาการไปจนสุดและถึงคราวเสื่อมก่อน จึงต้องลงมาหาเหยื่อที่โลกมนุษย์ เรื่องนี้เวลส์เน้นย้ำบ่อยครั้ง โดยเทียบให้ดูว่าถึงแม้ชาวดาวอังคารจะมาจากดาวอื่น แต่ชาวดาวอังคารก็มีลักษณะที่คล้ายกับเราเพียงแต่รุดหน้ามากกว่า (ดังนั้นดาวอังคารจึงเสื่อมถอยก่อน) เมื่อมีข่าวในสมัยนั้นว่า เพอร์ซิวัล เลาเวลล์ (Percival Lowell) นักเขียนและนักธุรกิจชาวอเมริกัน ได้ศึกษาภาพวาดและภาพถ่ายดาวอังคารจำนวนมากก่อนจะนำมาปะติดปะต่อและเสนอว่ามีคลองชลประทาน (irrigation canal) ในดาวอังคาร เวลส์ยิ่งคิดว่าอาจเป็นไปได้ที่ดาวอังคารมีอารยธรรมที่เสื่อมไปแล้ว (นักวิจารณ์ในยุคปัจจุบันเห็นว่า ครอบครัวของเลาเวลล์ทำธุรกิจชลประทานมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เลาเวลล์จะเห็นร่องรอยดาวอังคารเป็นคลองชลประทาน)
วรรณกรรมเรื่องนี้ได้แสดงความรังเกียจและหวาดกลัวมนุษย์ดาวอังคาร โดยเน้นย้ำว่าเป็นพวกมีแต่สมองแต่ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก โหดร้ายทารุณ แต่ในขณะเดียวกัน ตัวเอกก็มักจะฉุกคิดทุกครั้งว่าบางทีมนุษย์ก็โหดร้ายกับชาติพันธุ์อื่นหรือสัตว์อื่นๆ ไม่ต่างกัน อิทธิพลแนวคิดวิวัฒนาการต่ออุดมการณ์จักรวรรดินิยมอังกฤษทำให้ชาติพันธุ์อื่นซึ่งไม่ใช่ยุโรปนั้นอยู่ในลำดับชั้นต่ำกว่าในบันไดวิวัฒนาการ โดยเฉพาะกลุ่มคน ‘ป่าเถื่อน’ ซึ่งเจ้าอาณานิคมมักมองว่าใกล้เคียงกับสัตว์
ความรุนแรงต่อชาติใต้อาณานิคมและต่อสัตว์อาจถูกมองว่าเชื่อมโยงกันด้วยอิทธิพลแนวคิดยูเจนิกส์(eugenics) ซึ่งมองว่าเผ่าพันธุ์ที่ดีกว่าก็ย่อมอยู่รอด แนวคิดยูเจนิกส์กระทบคนเป็นวงกว้าง ไม่ใช่แค่สัตว์ คนผิวสี หรือคนตะวันออก แต่ยังรวมถึงคนพิการและคนจนด้วย แนวคิดที่ว่าเอเลียนจะมากำจัดพวกมนุษย์ชานเมืองนั้นก็อาจเรียกได้ว่าเป็นอิทธิพลแนวคิดยูเจนิกส์เช่นกัน เมื่อมนุษย์ถูกมนุษย์ต่างดาวโจมตีในแบบที่มนุษย์ทำกับมนุษย์คนอื่นที่เห็นว่าเป็นมนุษย์น้อยกว่า มนุษย์ในเรื่องอย่างตัวเอกก็เกิดการตั้งคำถามว่า ‘มนุษย์’ คืออะไรกันแน่
หลายคนอาจนึกรำคาญตอนจบที่บรรดาเอเลียนไม่ได้ตายด้วยน้ำมือมนุษย์ แต่ชักตายเพราะแพ้แบคทีเรียบนโลก บางคนอาจมองว่าเวลส์ให้แบคทีเรียมาฆ่าเพราะหาทางลงไม่ได้ นักวิจารณ์บางคนเสนอว่า ความคิดเรื่องจุลชีวันนั้นปรากฏตั้งแต่ย่อหน้าแรกของเรื่องแล้ว เวลส์เริ่มเรื่องว่า คิดไหมว่าจะมีมนุษย์ดาวอื่นเฝ้ามองเราทุกฝีก้าว โดยที่เราไม่รู้สึกตัว เหมือนกับเรามองจุลชีวันผ่านกล้องจุลทรรศน์ หลายคนอาจตีความว่าหน่วยของชีวิตที่เล็กที่สุดอย่างจุลชีพยังต่อสู้จนชนะได้
ความเหนือกว่าทางเทคโนโลยีไม่ได้แปลว่ามนุษย์ดาวอังคารจะชนะ ชีวิตในหน่วยเล็กที่สุดยังสู้เพื่อให้ตัวเองรอด สำหรับดิฉันแล้ว ดิฉันคิดสองอย่าง อย่างแรกคือ จบแบบนี้ก็ดีเหมือนกันค่ะ มนุษย์จะได้ไม่ต้องดีใจเพ้อๆ เจ้อๆ ว่ามนุษย์ในที่สุดก็เป็นฝ่ายชนะ เพราะมนุษย์ไม่ได้ทำอะไรเลย สอง ดิฉันมองว่านี่คืออีกภาพสะท้อนหนึ่งของโลกแห่งการล่าอาณานิคม ซึ่งเจ้าอาณานิคมมักพ่ายแพ้ให้แก่จุลชีวันต่างถิ่น และในทางกลับกัน จุลชีวันต่างถิ่นก็ทำลายพืช/สัตว์ต่างถิ่นได้เช่นกันเพราะระบบนิเวศต่างๆ และต้องอาศัยเวลาปรับเข้าหากัน (บางสายพันธุ์ก็ปรับไม่สำเร็จ ก็เอาเขามาตายเปล่าๆ)
การค้นคว้าวิจัยเรื่องเชื้อมาลาเรียในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้าส่วนหนึ่งก็มาจากการล่าอาณานิคม เพราะนักล่าอาณานิคมจำนวนมากตายเพราะโรคนี้ ความน่าโมโหของดิฉันอยู่ที่บทถัดไป บทสุดท้ายของเรื่องตัวเอกของเรื่องไม่ได้สำนึกอะไรเลย นอกจากจะนับแบคทีเรียเป็นเพื่อนยากของมนุษยชาติแล้ว ยังมีหน้าบอกว่าจะไปล่าอาณานิคมบนดาวอังคารอีก ดิฉันมองว่านวนิยายเล่มนี้ไม่ได้สนับสนุนแนวคิดแบบนี้โดยตรง แต่ตั้งใจเสียดสี (และอาจจะเหยียด) มนุษย์ชานเมืองอย่างตัวเอกซึ่งย้อนแย้งและขาดวิสัยทัศน์
ปัจจุบันนี้โวคิงก็หากินกับ War of the Worlds นี่แหละค่ะ เดินจากสถานีไปสักพักคุณจะเจอเจ้าหุ่นสามขา เจอยานทรงกระบอกที่มนุษย์ดาวอังคารเดินทางมาโลก เจอรูปปั้น H. G. Wells คุณสามารถไปเดินฮอร์เซลล์ คอมมอนส์ได้ แถมมีแผนที่ให้คุณได้สำรวจตามเรื่องราวในหนังสือด้วย มีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ เล่าประวัติเมืองตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน คุณสามารถเดินทางออกไปชมมัสยิด ชาห์ จาฮัน ที่ดิฉันได้เล่าให้ฟังไปแล้วก็ได้ค่ะ แต่โวคิงก็อาจจะไม่ใช่เมืองที่มีนักท่องเที่ยวพลุกพล่านเพราะมันก็ยังคงเป็นย่านที่พักอาศัยอย่างที่มันเคยเป็นมา เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว
พื้นที่โวคิงใน War of the Worlds คือพื้นที่แห่งความหวาดระแวง หวาดกลัวความเป็นอื่นและการปลอมปน ทะเลาะเบาะแว้งในหมู่พวกเดียวกันเองว่าใครปลอม ใครจริง ใครเป็นอื่น ด้วยสาเหตุซึ่งขัดแย้งกันเอง กล่าวคือ เส้นพรมแดนไม่ได้แข็งแรงพอ หรือไม่ก็แข็งแรงเกินไป ถ้าไม่แข็งแรงพอ ความเป็นอื่นก็เข้ามาปะปนได้ เกิดการลากเส้นแบ่งใหม่ แต่ถ้าแข็งแรงเกินไป ก็แปลว่าชัดเจนแล้วว่าอะไรเป็นอื่นไม่เป็นอื่น สรุป จะแข็งแรงหรือจะอ่อนแอ ความเป็นอื่นก็ถูกสร้างขึ้นมาได้ทั้งนั้น พื้นที่อันสงบสุขแท้จริงนั้นอาจไม่มีอยู่
ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องห่างไกล แต่ดิฉันว่าพวกเราก็คงเข้าใจดี เพราะหลายๆ คนก็เป็นมนุษย์ออฟฟิศที่รบพุ่งกับงานกองพะเนินเทินทึก นั่งรถไฟฟ้าเบียดเสียดแออัดกลับคอนโดตามเส้นทางรถไฟฟ้า (บางคนยังต้องใช้มือถือพิมพ์งานตอบเจ้านายหรือลูกค้าอยู่) บางคนก็อยากจะเปิดเน็ตฟลิกซ์ดู พลางแกะแกงเห็ดไปพลาง บางคนก็อาจจะกำลังออกไปวิ่งต่อที่ฟิตเนส หรือบางคนก็อาจจะไปนั่งกินปิ้งย่างกับเพื่อนฝูงเพื่อหลีกหนีงานในเย็นวันนั้น เพื่อที่จะตื่นเช้าไปเข้าออฟฟิศ ทำงานงกๆ แล้ววนไปเรื่อยๆ ในวงจรเดิมๆ เพราะหวังว่าคุณจะมีอนาคตที่ดีขึ้น อยู่บ้านสวยๆ เที่ยวบ่อยๆ
จะฝันเช่นนั้นมันก็ไม่ผิด ดิฉันก็ฝันอย่างนั้น แต่การจมอยู่กับงานและความฝันที่จะได้พักผ่อนในวันหนึ่งอาจจะทำให้เราอ่อนแอ เมื่ออ่อนแอก็ย่อมหงุดหงิด เมื่อเปราะบางก็ยอมกลัวความเป็นอื่นที่สังคมมักจะให้ภาพว่าจะมาคุกคามและทำร้าย เมื่อไม่มั่นคงก็ทำให้คุณไม่อยากให้ใครมาตีเสมอ ระบบงานอันเข้มงวดและขาดความยุติธรรมไม่ได้ทำให้เราแค่อ่อนแอ แต่ทำให้เราจิตใจเปราะบาง อิจฉาริษยาหรือเหยียดคนอื่น (ซึ่งอยู่ภายใต้สภาพเดียวกับเรา) ภาพความเป็นอื่นที่อุดมการณ์ต่างๆ (เช่น ชาตินิยม หรือขนบรักต่างเพศ) สร้างไว้ก็เข้ามาตอบโจทย์ในการสร้างตัวตนมนุษย์อันแสนเหนื่อยล้า ทรมาน แตก็หวาดกลัว ชิงชัง เจ็บปวด และในที่สุดก็ว้าเหว่เพราะหวาดกลัวความเป็นอื่น ซึ่งอาจจะไม่ได้แค่มาจากที่อื่น แต่กลัวว่าคุณเองจะกลายเป็นอื่น กลายเป็นคนที่ไม่ได้รับการยอมรับ
ถ้าคุณจะถามดิฉัน ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากคุณเท่าไรหรอกค่ะ ว่าจะทำยังไงไม่ให้เรามีชีวิตวนเวียนเหงาเศร้า ดิฉันก็คงจะตอบแบบง่ายๆ ที่สุด ณ ตอนนี้ไปก่อนว่า “พัก” ค่ะ พักร่าง พักสมอง อย่าให้งานตามหลอกหลอนคุณมากเกินไป (การทำงานมากเกินไปอาจจะอันตรายกว่าการกินหมูย่างเกาหลีด้วยซ้ำ ค่ะ ดิฉันเองก็ปั่นบทความนี้พยายามจะให้เสร็จตอนตีสี่ครึ่ง) หาเพื่อนฝูงที่จะถนอมน้ำใจกัน ช่วยกันยอมรับข้อผิดพลาดของกันและกัน และมองเห็นต้นเหตุของความเหนื่อยยากที่ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยชาบู (แต่อาจจะต้องกินชาบูไปก่อน) ก่อนจะค่อยๆ ขยับไปช่วยกันสรรค์สร้างสังคมที่แฟร์กับคนทำงานมากกว่านี้ หรือสังคมที่ให้ความสำคัญกับการพักผ่อนของมนุษย์ ยอมรับว่ามนุษย์ไม่ได้มีคุณค่าเพียงเพราะทำงานในระบบที่ทรมานร่างกายมนุษย์ หรือสังคมให้คุณค่ากับงานสร้างสรรค์มากกว่านี้ อย่างน้อย การได้พัก ถอยออกมา และมองเห็นโครงสร้างอันไม่เป็นธรรมนี่แหละคือจุดเริ่มต้นของการปราบเอเลี่ยน