คงได้แต่ถอนหายใจ เมื่อเราได้เห็นทัศนวิสัยที่เริ่มเพ่งเล็งว่า สาขาวิชาไหนในมหาวิทยาลัยที่ ‘ไม่เข้ายุคเข้าสมัย’ จบมาแล้วไม่มีตลาดงานรองรับโดยตรง มีแนวโน้มที่จะถูกปิดเพราะถือว่าเรียนไปก็ ‘ไม่มีประโยชน์’ ซึ่งคำว่า ‘ประโยชน์’ ในที่นี้ในสายตาของท่านๆ ก็อาจหมายถึงการฝึกฝนเชิงวิชาชีพออกมาเป็นรูปธรรม สาขาที่เป็น ‘ความรู้’ ทั้งหลายก็เลยต้องร้อนๆ หนาวๆ ไปพร้อมกับคำถามว่า แล้วแบบนี้เรารับการศึกษากันไปเพื่ออะไร เพื่อป้อนสู่ตลาดแรงงาน สู่โลกทุนนิยม ทำงานแล้วตายจากไปโลกเท่านั้นหรือ?
ในโลกที่เราสามารถแบ่งสาขาคร่าวๆ ออกเป็นสองสาย คือ สายวิทย์และสายศิลป์ ในทัศนคติของผู้บริหารที่มีประกาศออกมา หลักๆ แล้วย่อมเพ่งเล็งไปที่สายศิลป์อันหมายถึงสาขาวิชาที่ศึกษาความรู้ที่ค่อนข้างหนักไปทางนามธรรม ไปทางสังคม ซึ่งถ้ามองอย่างหยาบๆ ความเป็นนามธรรม เช่น ปรัชญา วรรณกรรม ไปจนถึงสาขาแนวสังคมศาสตร์ทั้งหลายเหล่านี้อาจจะดู ‘มองเห็น’ คุณค่าได้ยากกว่าสาขาวิชาประเภทวิทย์ – วิชาชีพ
ในโลกของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระแสการศึกษาที่เราให้ความสนใจคือวิชาแขนง ‘STEM’ วิชาที่เรามองว่าเป็นรากฐานองค์ความรู้ที่มีวิทยาศาสตร์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งแน่ล่ะว่าความรู้รากฐาน ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science), เทคโนโลยี (Technology), วิศวกรรม (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) สาขาสำคัญเหล่านี้แน่นอนว่าต่างเป็นแกนที่ขับเคลื่อนโลกและความก้าวหน้าของมนุษย์
แต่…จริงอยู่ว่าสาขาหลักที่ว่านั้นมีความสำคัญอย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็ใช่ว่าเราจะต้องโยนสาขานอกเหนือจากนี้ทิ้งไปซะให้หมด ยิ่งในโลกของเทคโนโลยี ในโลกของคอมพิวเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ สาขาที่ทำให้เราขบคิด จินตนาการ และรักษาคุณสมบัติบางอย่างของมนุษย์เราไว้ ย่อมเป็นองค์ความรู้ที่จำเป็น ดังนั้นจึงมีข้อเสนอว่าเราควรจะเติม Arts เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพื้นฐาน ในชื่อ STEAM
การแบ่งแยกของวิทย์และศิลป์
พูดกันตามความจริง โดยนัย เราต่างสัมผัสได้ถึงการแบ่งแยกกันระหว่างฝ่ายวิทย์และฝ่ายศิลป์ ลึกๆ แล้วก็มีบ้างที่คนเรียนแต่ละสาขาจะแอบๆ เขม่นกันพอขำๆ แต่สิ่งที่เราพอจะสัมผัสได้คือ คนที่ได้รับการศึกษาในทางวิทย์และทางศิลป์ ดูจะมีแนวคิดและการมองโลกที่แตกต่างกัน ความแตกแยกทางแขนงวิชานี้มีพ่อมดนักคิดคนหนึ่งทำนายไว้ตั้งแต่ปี 1959 ว่าเราจะมีการแบ่งสายและแบ่งคนแตกออกเป็นสองฝั่ง อันเป็นรากฐานความคิดที่ส่งผลมาจนถึงบ้านเรา ที่มองและไม่เห็นค่าของโลกอีกด้าน
C.P. Snow นักฟิสิกส์และนักเขียนนวนิยายบรรยายไว้ที่ Cambridge University ในปีดังกล่าว เนื้อความบอกว่า ในโลกยุคต่อจากนี้ เราจะมีความแตกแยกของคนออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายนักวิทยาศาสตร์ (scientists) และฝ่ายนักวรรณกรรม (literary world) ปัญหาของการแยกแขนงนี้นอกจากนัยที่สองฝ่ายแอบเขม่นกันแล้ว จะทำให้แต่ละฝ่ายมีความรู้ความเข้าใจแค่ในสาขาของตัวเอง ซึ่งก็เป็นอย่างที่เราพอจะเข้าใจ ว่าคนแผนวิทย์น้อยคนที่จะสนใจเข้าใจโลกของวรรณกรรม และคนแผนศิลป์ก็ไม่เข้าใจโลกของวิทยาศาสตร์ กลไก และคณิตศาสตร์ ปัญหาความแตกร้าวนี้มีข้อสังเกตว่ายิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ละฝ่ายต่างก็ทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน มีความคิดที่ว่าต่างฝ่ายต่างไม่ได้เรื่อง และเป็นองค์ความรู้ที่ไม่จำเป็น – อุ๊ย คุ้นๆ
ซึ่งแน่ล่ะ เราต่างรู้ดีว่า โลกเรานี้ต่างเดินไปได้ด้วยศาสตร์ทั้งสองด้านควบคู่กันไป ใน ‘การได้รับการศึกษา’ (educated)’ คนๆ นึงก็ควรจะมีความรู้ในทั้งสองด้าน และต่อให้โลกนี้ยิ่งต้องพึ่งพาวิทยาการและเทคโนโลยีมากขึ้นเท่าไหร่ ความรู้และทักษะ ‘แบบมนุษย์’ เป็นสิ่งที่สาขาทางมนุษยศาสตร์ให้การฝึกฝนเช่น ทักษะการคิด การจินตนาการ และตั้งคำถามถกเถียงกับสิ่งต่างๆ ย่อมเป็นทักษะที่เราควรมี ในโลกของจักรกลที่กำลังจะมาถึง
ศิลปศาสตร์อยู่ตรงไหนในอัลกอริทึม
ไม่นานมานี้มีข่าวที่สวนทางกับกระแสสั่งปิดสาขาในเชิงนามธรรมว่า พื้นที่ของมนุษย์เทคโนโลยี เช่นซิลิคอนวัลเลย์เอง ก็ต้องการคนสายศิลป์มากขึ้น บัณฑิตที่จบสายมนุษยศาสตร์และปรัชญามีอัตราการจ้างงานและรายได้ที่สูงขึ้นเนื่องจากโลกสมัยใหม่ต้องการทักษะประเภท soft skill ทักษะพิเศษที่สาขาทางศิลปศาสตร์ให้ความสำคัญและฝึกฝนได้ ทักษะเช่น การสื่อสารระหว่างบุคคล การคิดเชิงวิพากษ์ วาทศิลป์และการใช้เหตุผล ความเข้าใจมนุษย์ การตีความ ในตลาดงานที่คนทำงานกับเทคโนโลยีก็เวรี่เทคโนโลยี เราก็ยิ่งต้องการคนที่เข้าใจคน เข้าใจมนุษย์ มาช่วยสร้างสรรค์ผลงาน ออกแบบนวัตกรรมที่มีมนุษย์อยู่ในนั้น
ทุกวันนี้เรายิ่งจะก้าวเข้าใกล้ยุคแห่งจักรกล นักเขียนหลายคนมองอนาคตไว้อย่างมืดหม่นว่า ถ้าเรายึดติดกับระบบ กับสิ่งจำลองต่างๆ เราคัดแยกและจัดการสิ่งต่างๆ ด้วยระบบระเบียบจนอาจหลงลืม ‘ความเป็นมนุษย์’ หลงลืมความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าอกเข้าใจและความยุติธรรม
ข้อเสนอหนึ่งที่อาจจะเป็นรูปธรรมน้อยกว่าทักษะแบบ soft skill คือบอกว่า พลังของมนุษยศาสตร์เป็นสาขาที่เปิดโอกาสให้เราเข้าใจการกระทำของตัวเอง และ ‘จินตนาการใหม่’ ความเป็นจริงในปัจจุบัน ฟังแล้วอาจจะงงหน่อยแต่การจินตนาการถึงอนาคตหรือความเป็นไปได้อื่นๆ – ที่อาจจะฟังดูฟุ้งซ่าน – นี่แหละคือแกนกลางสำคัญที่เราจะมีความความฉลาดและความเข้าใจโลกมากขึ้น
ความก้าวหน้าและความเปลี่ยนแปลงของโลกนี้เกิดจากมิติทางจิตนาการของเราทั้งนั้น ถ้ามนุษย์เราไม่สามารถจินตนาการอะไรใหม่ๆ หรือทางอื่นๆ ได้ เราก็อาจจะเป็นเหมือนแค่เครื่องจักรที่รับรู้และประมวลผลไปในแต่ละวัน แต่สิ่งและวิธีการสำคัญที่โลกสายศิลป์ ทั้งปรัชญาและวรรณกรรมศึกษาท้าทายให้เราคิด คือให้เราคิด – และลองจินตนาการต่อโลกใบนี้ซะใหม่
วรรณกรรมและปรัชญาพาเราไปในมุมมองอื่นๆ ที่เราไม่เคยมี พาเราไปสัมผัสว่าความจริงอาจมีหลายมุมและแสนจะยอกย้อน สิ่งที่เราคิดว่าถูก อาจจะผิดเมื่อเราลองถอยหลังออกมาสักก้าว สิ่งที่เราคิดว่าเลวทรามหรือถูกต้องตามกฏหมายอาจจะมีความไม่ยุติธรรมอยู่ในนั้น จากการท้าทายนี้ เราจึงสามารถจินตนาการและถกเถียงถึงสิ่งที่เราเป็น ถึงความเป็นจริงที่เราเคยเชื่อมั่นจนกระทั่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของความคิด ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมที่ดีขึ้นกว่านี้ได้ – เพราะเรามักจินตนาการถึงสังคมที่ดีขึ้นกว่านี้
หนังหรือหนังสือไซไฟดิสโทเปีย หรือวรรณกรรมจากเสียงที่เราไม่เคยได้ยินดูจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการชวนเราไปจินตนาการถึงอนาคตอันใกล้และนำไปสู่การถกเถียงเรื่องความคิด ความเชื่อ และความเป็นมนุษย์
เคยมีคำกล่าวว่า สติปัญญาในระดับสูง คือความสามารถในการถกเถียงเรื่องต่างๆ ได้ โดยที่เราไม่เอาตัวไปผูกกับสิ่งนั้นๆ เราอาจเถียงกันเรื่องความถูกต้อง ความดี ศีลธรรม ความเป็นไปของเราในโลกดิจิทัลและเครื่องจักร ปลายทางของการถกเถียงคือความเข้าใจ การลดทอนอัตตาของตัวเองลง และเปิดไปสู่ความเป็นได้อื่นๆ มุมมองอื่นๆ ตรงนี้เป็นแกนสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้และทัศนคติที่ไม่รู้จบ ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องมือที่เราควรจะได้รับการฝึกฝน และการเรียนรู้ในแขนงมนุษยศาสตร์ ความเข้าใจและความสามารถในการพูดคุยถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมจะฝึกฝนขัดเกลาเราได้
ในที่สุดแล้ว เราไม่ได้เกิดมา ทำงาน แล้วตายไป ในมิติของการศึกษาของการเป็นมนุษย์ สิ่งหนึ่งที่เราควรตอบคือเรากำลังค้นหาหรือเข้าใจอะไร ‘ความรู้’ ที่เราพึงเรียน พึงมี จะนำพาเราและโลกใบนี้ไปในทางไหน ความรู้และความเข้าใจนามธรรม ความลุ่มลึกของอารมณ์และการมองโลกดูจะเป็นองค์ประกอบที่เราขาดไม่ได้ไม่ว่าเราจะอยู่ในยุคสมัยไหนก็ตาม ในทางกลับกัน ถ้าพูดอย่างไม่โรแมนติก สาขาวิชาอันเก่าแก่ทั้งหลายเองก็อาจจะต้องมีการอัพเดต ขยับตัวและขยับขยาย เพราะในที่สุดแล้ว การให้การศึกษาก็เป็นการผลิตผู้คนออกมาสู่โลกใบนี้จริงๆ ไม่ได้อยู่แค่กับอดีต ฟองอากาศ หรือหอคอยงาช้าง
อ้างอิงข้อมูลจาก