ปฏิรูป คำกริยาที่แปลว่า ปรับปรุงให้สมควร (พจนานุกรมบันฑิตยสถาน ปี 2544)
อยู่ๆ ก็กลายเป็นเรื่องงงงวย สร้างความงุนงงให้กับวงการภาษาไทย เมื่อมีดาราชายท่านหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมว่า เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ เพราะคำว่าปฏิรูป หมายถึง ‘ล้มล้าง’ คำที่ดูมีความหมายตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง
ซึ่งคำว่า ปฏิรูป นั้น ถูกพบตั้งเป็นชื่อองค์กร หน่วยงาน และแผนงานของรัฐบาลต่างๆ มากมาย ซึ่งหากคำว่า ปฏิรูปนั้น แปลว่าล้มล้างจริงๆ นั้น ชื่อ และความหมายต่างๆ นั้น จะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน
คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูป (ล้มล้าง) ประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)
ถือเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ออกมามีบทบาทอย่างมากในการชุมนุม ก่อนการรัฐประหาร ปีพ.ศ. 2557 ที่เคลื่อนไหวขับไล่ อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และหวังขจัดอิทธิพลของตระกูลชินวัตรจากการเมืองไทย ซึ่งกลุ่มนี้ ก่อตั้งโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำการประท้วงและอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
โดยหากคำว่า ปฏิรูปเท่ากับการล้มล้างนั้น ชื่อกลุ่มนี้ก็จะกลายเป็น คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ‘ล้มล้าง’ ประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
รวมถึงนอกจากชื่อกลุ่มแล้ว สโลแกนต่างๆ นั้น ก็มักจะมีคำว่าปฏิรูปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งก็จะกลายเป็น ล้มล้างก่อนเลือกตั้งเช่นกัน
ยุทธศาสตร์ชาติฯ และแผนปฏิรูป (ล้มล้าง) ประเทศ
เป็นผลมาจากการรัฐประหาร เมื่อ คสช. หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ประกาศร่างยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ ที่มีผลลากยาว 20 ปี โดยหากเปลี่ยนคำว่าปฏิรูป ชื่อนั้นก็จะกลายเป็น ‘ยุทธศาสตร์ชาติฯ และแผนล้มล้างประเทศ’ ไป ซึ่งดูแล้วก็ขัดๆ กับเป้าหมายของ คสช. ที่เข้ามาโดยสถาปนาว่าตนเข้ามาเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อย
โดยเนื้อหาสาระของแผนปฏิรูป (ล้มล้าง) ประเทศนั้น มีทั้งหมด 12 ด้าน ได้แก่ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข สื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ สังคม พลังงาน การป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ และด้านสุดท้ายคือ การศึกษา ซึ่งถ้าหากคำว่าปฏิรูป = ล้มล้างนั้น แผนนี้ก็ถือเป็นการทำลายประเทศ จนอาจกลายเป็นรัฐล้มเหลวไปเลยก็ได้
สภาปฏิรูป (ล้มล้าง) แห่งชาติ (สปช.)
นอกจากยุทธศาสตร์ชาติฯ และแผนปฏิรูปประเทศแล้ว ผลจากการรัฐประหารนั้น ได้สร้างองค์กร หน่วยงาน และมรดกต่างๆ มากมาย ซึ่งล้วนแต่มีคำว่า ‘ปฏิรูป’ ประกอบ ซึ่งหากคำว่าปฏิรูป แปลว่าล้มล้างจริงๆ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ก่อตั้งในยุค คสช.ก็จะกลายเป็น ‘สภาล้มล้างแห่งชาติ’
ทั้งนี้การประชุมในสภาเอง ยังมีเพื่อให้สมาชิก 250 คน มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูป (ล้มล้าง) ในด้านต่างๆ ทั้งจากการทำงานเพื่อการล้มล้างนี้ ยังได้รับเงินเดือนกันมากถึงกว่า 7 หมื่นบาท โดยประธานสภาที่ 74,420 บาท รองประธาน 73,420 บาท และสมาชิกสภา เดือนละ 71,230 บาทเลยด้วย
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป (ล้มล้าง) ประเทศ
ยังไม่หมด ผลของการล้มล้างของ คสช. ยังไม่หมดเท่านี้ เพราะหลังจากที่สภาปฏิรูปประชาชนถูกยุบไปแล้ว ก็มีการตั้งสภาใหม่ขึ้นมา ได้แก่ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งก็จะกลายเป็นสภาขับเคลื่อนการล้มล้างประเทศ เช่นกัน
และหากคำว่าปฏิรูป = ล้มล้างอย่างที่มีบางคนกล่าวอ้างนั้น ยังแปลได้ว่าโดยตลอดระยะเวลาการทำงานเกือบ 2 ปีเต็ม หรือ 660 วันของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป (ล้มล้าง) ประเทศ ก็ได้ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการล้มล้างต่างๆ ต่อนายกรัฐมนตรีจำนวน 188 เรื่องเลยด้วย
พรรคประชาชนปฏิรูป (ล้มล้าง)
แม้ว่าพรรคนี้จะสิ้นสภาพพรรคการเมืองไปแล้ว แต่เชื่อว่าคำขวัญประจำพรรคอย่าง ‘น้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ’ ก็ยังเป็นที่จดจำอยู่ และหากเปลี่ยนคำว่า ปฏิรูป ในชื่อพรรคที่ก่อตั้งโดยไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคนี้ก็จะกลายเป็น ‘พรรคประชาชนล้มล้าง’ ซึ่งแม้ว่าจะไม่รู้ว่าประชาชนนี้จะล้มล้างอะไร แต่ฟังแล้วชื่อพรรคก็ดูฮาร์ดคอขึ้นมาทันที
สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)
สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นหน่วยงานในกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ที่มีหน้าที่จัดการที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร และเพิ่มศักยภาพให้กับพื้นที่เกษตรกรรมให้เกษตรกรสามารถทำกินบนพื้นที่นั้นได้ หากสำนักงานนี้กลายเป็นสำนักงานล้มล้างที่ดินแล้ว แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ทั้งการจัดที่ดิน การพัฒนาพื้นที่ และการสร้างรายได้ทั่วทั้งประเทศ