ดาราควรออกมาพูดเรื่องการเมืองไหม?
เรามักเห็นถึงกระแสเรียกร้องให้ดารา นักร้อง ศิลปิน หรือคนมีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้คน จนกลายเป็นประเด็นดีเบตกันอยู่ทุกครั้งไป
The MATTER พูดคุยกับ มุก-กฤตพร มณฑีรรัตน์ หนึ่งในนักร้องวง Olives ที่มักจะโพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ หรืออัพรูปสถานการณ์บ้านเมืองลงในอินสตาแกรมของเธอเองเสมอ เพื่อรับฟังถึงมุมมองของเธอต่อการที่ดาราออกมาแสดงความคิดเห็นและจุดยืนทางการเมืองทางการเมือง
ทำไมถึงสนใจเรื่องการเมือง
เราเป็นคนสนใจเรื่องการเมืองมาตั้งแต่แรกแล้ว เราอ่านหนังสือเยอะ แต่ว่าด้วยสถานะเราตอนนั้น เราไม่สามารถออกตัวได้ แต่ว่าพอมาถึงช่วงนี้ เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องพูดแล้ว ถ้าเราไม่พูด แล้วใครจะพูด มันเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถพูดได้ด้วย ทำไมต้องกลัว แล้วการเมืองมันอยู่รอบตัว หมายถึงว่า คุณออกจากบ้านมา คุณก็ต้องเจอละ เจอทางเท้า เจอรถเมล์ เจอรถสาธารณะ เจอรถไฟฟ้า เจอฝุ่น ทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกับการเมืองหมด
ที่บอกว่า ด้วยสถานะของเราอาจจะพูดไม่ได้ ตอนนั้น มองว่ายังไง ทำไมถึงคิดว่าพูดไม่ได้
เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่พูดต่อๆ กันมา รวมถึง พ่อแม่เราด้วยว่า แต่ก่อนเราเคยโพสต์ในทวิตเตอร์ ตอนที่เราเป็นนักร้อง คุณพ่อก็สายตรงมาเลย “เอ้ย ลบไหม” เขาก็คงห่วงในเรื่องหน้าที่การงานเรา ในอนาคตเรา แต่ถามว่าทำไมต้องลบ ทำไมถึงพูดไม่ได้ งงไหม?
ถึงเราจะเป็นดารานักร้อง แต่เราก็เป็นประชาชนคนนึงที่เราจะต้องสามารถวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่เราเจอในแต่ละวันได้
แล้วทำไมเราไม่สามารถพูดได้ ทำไมต้องบอกให้ลบ ทำไมมันถึงเป็นผลเสีย “เฮ้ย ระวังนะ” จะเป็นผลเสียในอนาคต ทำไมล่ะ ทำไมต้องเป็นผลเสีย ทำไมพูดไม่ได้
แต่ก่อนเราก็เชื่อฟังพ่อแม่ แต่เราก็คิดมาตลอดเลยนะว่า ‘ทำไม?’ พอมาถึงทุกวันนี้ สังคมเราไปเร็วมาก ตอนนี้ ทุกเรื่องเราสามารถพูดได้ เด็กอายุ 14-15 ปี สามารถมาวิจารณ์ระบบการศึกษาได้ เรามองว่า นี่คือประเทศแห่งเสรี ซึ่งเราควรพูดคุยกันได้ เราควรถกกันได้ เราไม่ชอบอะไร เราสามารถวิจารณ์กันได้
ตอนที่โดนบอกจะเกิดผลเสีย มีคำเตือนที่เจาะจงลงไปไหมว่าจะส่งผลเสียอย่างไร
เรื่องสปอนเซอร์ เรื่องหน้าที่การงาน เรื่องที่ว่าถ้าสมมติเราไปวิจารณ์เรื่องการเมืองของรัฐบาลที่เป็นของฝ่ายนี้อยู่ แต่ว่าผู้จัดงานหรือสปอนเซอร์เราอยู่อีกฝั่งหนึ่ง เขาก็อาจจะไม่โอเคหรือเปล่า อีกอย่างหนึ่งก็คือ ด้วยความที่ศิลปินดารา เราก็ไม่ชอบพูดหรอกว่าให้มันเป็นกลาง แต่ว่าเวลาดาราเป็นพรีเซนเตอร์ของสินค้าอย่างหนึ่ง ลูกค้าของสินค้านั้นก็มีอยู่สองฝั่ง เราก็ไม่อยากออกตัวว่า เราอยู่ฝั่งหนึ่ง ไม่งั้นเราก็จะเสียผู้บริโภคอีกฝั่งหนึ่งไปเลย ตัวเจ้าของแบรนด์เขาก็คงไม่อยากให้เราออกตัวอย่างนั้น เพราะจะเสียลูกค้า เสียฐานลูกค้าอีกฝั่งหนึ่งไป
แล้วจุดไหนที่ทำให้รู้สึกว่า เราต้องออกมาพูดแล้ว?
จริงๆ เราพูดมานานแล้ว ในทวิตเตอร์ เราจะรีทวีตข่าวการเมืองตลอด แต่ว่าที่เราเป็นคนโพสต์เองจริงๆ ก็คือวันที่สลายการชุมนุม หน้าสยาม วันแรกที่เขาใช้รถฉีดน้ำ วันนั้นเราอยู่ตรงนั้น แล้วเราโกรธ เราโกรธมาก เพราะเราเจอกับตัวด้วย
การชุมนุมวันนั้นค่อนข้างยาวตั้งแต่หน้าสยามจนมาถึงหน้ามาบุญครอง เราอยู่ตรงหน้ามาบุญครอง แล้วหลังเราอยู่ติดกับเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) เลย อยู่ตรงรั้ว แล้วเด็กเยอะมาก ใส่ชุดลูกเสือ-เนตรนารีมาเลย ทีนี้มีคนบอกว่ามีรถน้ำมา จากตอนแรกที่นั่งชุมนุมกันอยู่ เด็กก็ลุกขึ้นแล้วก็กรี๊ด แล้วก็วิ่งมาทางเรา เข้าใจว่าน้องเขาแตกตื่น แต่ คฝ.ที่ยืนอยู่ข้างหลังเราหัวเราะ แล้วเราแบบ “โห เห็นเป็นเรื่องตลกได้ไงวะ” คือโกรธแล้ว ตอนนั้นยังไม่มีฉีดน้ำ แล้วพอฉีดน้ำอีก เราก็เห็น คฝ.เขาก็นั่งดูมือถือกัน เราก็ชะเง้อไปดู แล้วก็เห็นมีฉีดน้ำ แต่เขาก็ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เรายิ่งโกรธเข้าไปอีก แล้วเราก็นั่งตามอ่านทวิตเตอร์ ได้ยินเสียงกรี๊ดมาตลอดจากฝั่งสยาม แต่เราอยู่หน้ามาบุญครอง เราเดินไปไม่ได้ คนมันเต็ม จุดนั้นเราฟีลขาดเลย
วันนั้นเราเครียดมาก เราคิดว่าไม่ไหวแล้ว กลับมาบ้านเราต้องโพสต์แล้ว เราเห็นเด็กอายุ 14-15 ปี ที่ต้องมาเจอเรื่องอะไรแบบนี้ เขามาสู้เพื่ออนาคตของเขา เราก็อยากเป็นกระบอกเสียงให้เขา เราอยากปกป้องให้เขา แล้วเราก็อยากให้เขามีอนาคตที่ดีด้วย
เหมือนวันนั้นก็เลยเป็นวันที่รู้สึกว่า ไม่ได้แล้ว
ไม่ได้แล้ว แต่ว่าจริงๆ ก่อนหน้านี้ก็ออกไปม็อบอยู่แล้ว ทั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ธรรมศาสตร์ สนามหลวงเราก็ไปมา มีอัพในสตอรี่ไอจีบ้าง แต่เราไม่ได้โพสต์ขนาดนั้น แต่วันที่สยามเราไม่ไหว เราต้องโพสต์เป็นรูปเลย แล้วบอกว่า “ขอให้มีความเป็นคนกันหน่อย”
จริงๆ วันนั้นเป็นวันที่มีคนเรียกร้องกับคนที่มีชื่อเสียงเยอะมาก ด้วยความที่ว่า มันเป็นเรื่องสะเทือนใจ
ใช่ แล้วการที่เราออกมาโพสต์ มันไม่ได้บอกว่าเราเลือกข้างฝั่งการเมืองฝั่งไหนนะ มันแค่เราเลือกข้างความเป็นมนุษย์ หมายถึงว่า โอเค คุณไม่ชอบพรรคนี้ ไม่ชอบพรรคนี้ ได้ ไม่เป็นไร จะบอกว่าเป็นกลาง คุณไม่เลือกทั้งสองพรรค ก็ไม่เป็นไร แต่ว่านี่เป็นเรื่องที่มีคนเจ็บ มีคนถูกทำร้าย มีคนถูกจับขังคุกโดยไม่เป็นธรรม คุณเป็นกลางกับเรื่องแบบนี้ได้ยังไง คุณเป็นกลางกับการที่เห็นคนโดนน้ำฉีดใส่หัวแล้วล้มลงไป คุณเป็นกลางกับการที่เห็นคนโดนโล่ทุบ แล้วคุณบอกว่า สมควรแล้วเหรอ อันนี้คือไม่ใช่ว่าคุณเป็นกลางหรอก คุณไม่มีความเป็นคนมากกว่า
หลังจากเหตุการณ์นั้น พอเข้าไปในโซเชียล เห็นเพื่อนๆ ในวงการโพสต์เรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองไหมแล้วรู้สึกยังไงบ้าง
ถ้าบอกว่า ไม่รู้สึก ก็อาจจะดูโกหก เพราะวันที่เราเปียกน้ำ เรากลับมาบ้าน เราใจสั่น มือสั่น แล้วนั่งกับเพื่อนอยู่ แล้วคือนั่งเงียบกันทั้งสองคนเลย นั่งหายใจทิ้งเป็นชั่วโมง เพราะรู้สึกอึดอัดกับสิ่งที่เจอ พอเราหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาจะโพสต์เรื่องที่เกิดขึ้น ไถฟีดปุ๊บ คนนั้นอยู่ทะเล คนนั้นอยู่ที่โน่นนั่นนี่ คือเราไม่รู้จะพูดยังไง เราไม่มีสิทธิบังคับให้เขาออกมาพูดหรอก แต่ถามว่าเรารู้สึกไหม เรารู้สึกนะ
เรามองว่า สนใจความเป็นบ้านเมืองหน่อย ถ้าประเทศนี้มันดีขึ้น คุณก็คือคนนึงที่ได้รับผลประโยชน์นั้น ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม สิ่งที่เด็กโดน สิ่งที่ผู้ชุมนุมทุกคนโดน โดนเรื่องการสลายต่างๆ คุณอาจจะไม่รู้สึก ไม่ได้สนใจ เพราะคุณมองว่า ตัวเองไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสิ่งที่เขาเรียกร้อง แต่เอาจริงๆ คุณมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เพราะฉะนั้น สนใจบ้านเมืองหน่อย พวกเราทุกคนต้องการให้บ้านเมืองมันดีกว่านี้ พวกเราออกมาเพื่อที่ต้องการให้ประเทศเราไปได้ไกลกว่านี้ ที่ทุกคนโดนกระทำความรุนแรง ก็เพื่ออยากให้ประเทศนี้มันดีขึ้น สนใจเราหน่อย ดูรอบๆ ข้างหน่อยว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง
คนชอบพูดว่า ดาราส่วนใหญ่เป็น ignorant คิดเห็นยังไงบ้าง?
เราว่าตอนนี้มีคนที่เงียบอยู่ 2 ประเภท คือพูดไม่ได้จริงๆ เพราะว่าโดนขู่ว่าจะถอดพรีเซนเตอร์ กับคนที่ไม่พูดเพราะ ignorant เพราะไทยเฉย ไม่ใช่แค่ดารา เราว่าคนในประเทศก็ยังมีไทยเฉย ไทยอิกนอร์แรนท์อยู่
สิ่งแย่ๆ ที่เจอในทุกๆ วัน ฝนตก รถติด หรือว่าทางเท้า หรืออะไรต่างๆ เขาก็มองว่ามันเป็นมาอย่างนี้อยู่แล้ว เป็นมาอยู่ตั้งนาน เปลี่ยนไม่ได้หรอก ก็ทนกันไป แต่ในประเทศที่เจริญแล้ว ทุกอย่างมันดีโดยที่เราไม่ต้องร้องขอด้วยซ้ำ รัฐบาลจะต้องทำทุกอย่าง ให้ประชาชน ทำทางเท้า ทำสาธารณูปโภค ทำขนส่งมวลชน ทุกอย่าง กลายเป็นว่า ประเทศนี้พอมันไม่ดี ก็บอกกันว่า ไม่เป็นไร เธอทนไป มันเป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว ทุกอย่างเริ่มต้นที่ตัวเราเองสิ ทำไมแค่นี้ทนไม่ได้
คนที่เป็นไทยเฉย เขาจะมองว่า “อุ้ย ฝุ่นเยอะจัง” “อุ้ยทางเท้าแย่จัง” แต่เขาไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องการเมือง เขาไม่รู้สึกว่ามันเปลี่ยนอะไรได้ ถามว่ามีเยอะไหม เราว่าเยอะมากด้วย
เรามองว่า จริงๆ สื่อมวลชนก็มีส่วน ถ้าเกิดเราไม่เล่นทวิตเตอร์ เราจะรู้ไหมว่า วันนี้เขาออกไปเรียกร้องที่ไหน เราจะรู้ไหมว่า มีม็อบเกษตรกรที่มาเรียกร้องเป็นอาทิตย์แล้ว เพราะข่าวไม่ออก สื่อหลักไม่ออก ฟรีทีวีไม่ออก แล้วเราจะรู้ได้ยังไง จริงๆ บางทีคนที่เป็นไทยเฉย เขาอาจจะไม่ได้รับสารที่ถูกต้องด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้น ทุกครั้งเวลาที่เกิดมีเหตุอะไร เรามีผู้ติดตามอยู่ส่วนหนึ่ง ก็พยายามที่จะเอาสิ่งที่เกิดขึ้นในทวิตเตอร์ หรือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น เอามาลงสตอรี่ไอจี เพื่อให้คนได้รู้ว่า เกิดอะไรขึ้นบ้าง เราเอาคลิปที่อยู่ในทวิตเตอร์ เราก็ไปอัดมา แล้วเอามาโพสต์ลงในสตอรี่ไอจี เพื่อให้คนรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างในวันๆ นึง
ให้อย่างน้อย แฟนคลับเราก็ได้รับข่าวสาร
ใช่ๆ ประมาณนั้น เพราะอย่างที่เราบอก มันมีหลายคนมากที่ไม่เล่นทวิตเตอร์ เล่นไม่เป็นด้วย แต่แปลกไหมว่า ทำไมข่าวมันถึงต้องอยู่แต่ในทวิตเตอร์ ทำไมในเฟซบุ๊กถึงเป็นเฟคนิวส์ ไม่ได้บอกว่า ทวิตเตอร์ไม่มีเฟคนิวส์นะ ก็มีเหมือนกัน มีเยอะ เราก็ต้องกรองเหมือนกัน แต่ก็นั่นแหละ อยากให้คนที่ อยากให้คนเสพข่าวให้มากกว่านี้ ไม่ใช่แค่ในทวิตเตอร์
ปกติรับข่าวสารจากทวิตเตอร์เป็นหลักไหม?
เอาจริงๆ เราเล่นทวิตเตอร์แบบทั้งวัน ตลอดเวลา เพื่อที่จะเสพข่าว เรามีทวิตเตอร์เพื่อที่จะเสพข่าวโดยเฉพาะเลย แต่ก็ต้องเลือกนะ เราต้องติดตามจากแหล่งที่เชื่อถือได้ในทวิตเตอร์ ต้องเป็นคนที่ให้ข้อมูลถูกต้อง ยืนยันได้ เราจะฟอลโลว์นักข่าว สำนักข่าว แล้วก็คนที่ลงพื้นที่จริงๆ คนที่เขาสามารถยืนยันตัวตนได้ เพราะอย่างที่บอกว่า เดี๋ยวนี้ IO ในทวิตเตอร์เขาเก่งมากนะ แต่ก่อนจะไม่ค่อยเนียน แต่เดี๋ยวนี้เนียนมาก เลยต้องระวัง
แล้วส่วนตัวมองว่า ดารามีความจำเป็นที่จะต้องออกมาพูดเรื่องการเมืองไหม
เราไม่สามารถไปบังคับให้ใครออกมาพูดได้ แต่ถามว่า อยากให้ดาราออกมาพูดไหม อยากสิ เพราะว่า คุณมีคนฟอลโลว์เป็นแสน เป็นล้าน ผู้รับฟังคุณเยอะมาก ถ้าเทียบกับคนธรรมดาทั่วไปที่คนฟอลโลว์หลักพัน ออกมาพูด คนฟังแค่หลักพัน แต่คุณออกมาพูด คนฟังหลักแสนหลักล้าน อยากให้พูดไหม อยากให้พูดอยู่แล้ว
เข้าใจว่าคุณอาจจะไม่อยากพูดเรื่องการเมือง แต่ว่าทุกวันนี้ มันไม่ใช่เรื่องการเมืองแล้ว เพราะว่าตอนนี้เราไม่พูดถึงพรรคใดพรรคนึง เราไม่ได้พูดถึงคนใดคนนึง เราพูดถึงแค่ว่า ประชาชนโดนทำร้าย แค่นั้นเลย คุณจะไม่ออกมาพูดเพราะว่าคุณบอกเป็นกลาง แต่ว่าอันนี้มันไม่ใช่ อันนี้มันคือความเป็นคน คุณเห็นคนโดนทำร้ายแล้วคุณไม่ออกมาพูด รู้สึกอะไรหรือเปล่า หรือยังจะบอกว่าตัวเองเป็นกลางอยู่ ขอไม่ยุ่งละกัน
ถ้าคุณโอเคกับสิ่งนั้น งั้นก็โอเค ไม่บังคับ แต่รู้ไว้ละกันว่าตอนนี้มีคนที่บาดเจ็บ คนที่โดนทำร้ายอยู่ จากการเรียกร้องเพื่อให้ประเทศนี้ดีขึ้น
ถ้าบอกว่าดาราออกมาพูดเรื่องการเมืองไม่ได้ งั้นเราไม่พูดในฐานะดาราก็ได้ เราพูดในฐานะประชาชนละกัน
กับคำว่า ราคาที่ต้องจ่าย คิดเห็นว่ายังไงบ้าง
ทุกคนมีราคาที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว ทุกๆ องค์กรมันมีราคาที่ต้องจ่าย ไม่ใช่แค่ดารา แต่อยากรู้ว่าการที่เราออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ทำไมเราต้องเสีย ทำไมเราต้องจ่าย อย่างที่เราบอกว่า ที่เราทำอยู่ตอนนี้มันไม่ใช่การเลือกพรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราพูดเรื่องประชาธิปไตย ทำไมเราต้องจ่าย
ในเมื่อเราต้องการให้ประเทศเป็นประเทศที่ดี ถามว่าจ่ายไหม จ่าย ทุกคนต้องจ่ายอยู่แล้ว แต่ไม่สมควรที่จะต้องจ่าย ไม่อยากให้ประเทศดีเหรอ ทำไมเราต้องจ่ายให้คุณ เราอยากได้ชีวิตดีๆ ทำไมเราต้องจ่ายให้คุณ
เคยมีอะไรที่สูญเสียไปจากการที่ออกมาพูดเรื่องการเมืองไหม
ถ้าถามว่าสูญเสียกับอะไรไป เอาอันที่มันรู้สึกว่า มันไม่โอเค เราว่า น่าจะเป็นการสูญเสียเพื่อน พี่ น้อง ที่เขาเห็นต่างแล้วคิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันไม่ถูกต้อง มันไม่ใช่สิ่งที่ควรทำมากกว่า สิ่งที่เสียคือ เสียใจมาก
เคยมีรุ่นพี่คนนึงที่เราชอบมาก เป็นไอดอลเราเลย เป็นต้นแบบเราเลย แต่พอเราออกมาพูด เขากลับมาบอกว่า เหมือนแบบ “โน ไม่ๆๆ” ทำให้เรารู้ว่าเขามีความคิดเป็นยังไง อันนี้เรารู้สึกว่า การที่เราออกมายืนด้านประชาธิปไตย การที่เราออกมายืนเพื่อให้ประเทศนี้ดีขึ้นทำให้เราต้องเสียคนรอบๆ ตัวเราไปเลยเหรอ ทำไมต้องเสีย ยังงงอยู่เลยว่าทำไมเราต้องเสีย ทำไมต้องจ่าย ทำไมต้องเสีย แล้วก็กลายเป็นไม่คุยกันเลย คือมันเข้าใจได้ เราไม่โกรธเขา เราคิดต่างกันได้ แต่ก็แค่เสียใจที่ว่า การที่เราออกมาพูดแค่นี้ ทำไมถึงต้องเสียคนรอบข้างเราไปเลย
ถ้าย้อนกลับไป จะตัดสินใจเหมือนเดิมไหม เมื่อเทียบกับสิ่งที่เราเสียไป
เราไม่โกรธว่าที่เสียเขาไป เขาเลือกที่จะไม่คุยกับเรา เพราะงั้น ถ้าย้อนกลับไปได้ ยังไงเราก็ต้องทำอยู่ดี คือตอนนี้ ถามตอนนี้ ถามว่ายังทำไหม เราก็ยังทำอยู่ดี ถ้าไม่ทำสิจะเสียใจหรือเปล่า คุณจะสามารถนั่งอยู่บ้านเฉยๆ ไถอินสตาแกรม ไถทวิตเตอร์เจอข่าวคนถูกกระสุนยางยิง เจอข่าวคนโดนแก๊สน้ำตาแล้วคุณสามารถเลื่อนผ่านไปอัพรูปอินสตาแกรมต่อ คุณทำได้เหรอ ถ้าเป็นเรา เราทำไม่ได้ เรานิ่งเฉยไม่ได้
ถามว่าตอนนี้ยังทำไหม เราก็ทำ ถ้าไม่ทำสิจะเสียใจ เพราะตอนนี้เรารู้สึกว่า เรามีความเป็นมนุษย์ แล้วเราได้ใช้มันอย่างเต็มที่ ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ตอนที่ออกมาพูด กังวลอะไรกับฟีดแบกไหม
จนถึงวันที่เราออกมาพูดเรื่องนี้ เราก็ยังคิดอยู่นะว่า กระทบงานแน่ๆ ยังไงก็กระทบงาน เพราะอย่างที่เราบอกว่า ลูกค้าเรา มีทั้งสองฝ่าย ยังไงก็ต้องโดนบ้างแหละ แต่ไม่เป็นไร เพราะตอนนี้เราก็ยังมีงานที่มาจากลูกค้าที่เข้าใจว่าเราแสดงจุดยืนยังไง และเราก็รู้สึกสบายใจที่จะทำงาน ทางฝั่งลูกค้าที่เขาไม่เลือกเรา เขาเป็นคนถือเงิน เขามีสิทธิอยู่แล้วแหละว่าเขาเลือกที่จะจ่ายให้ใคร จะจ่ายให้กับศิลปินคนนี้แล้วเขาไม่สบายใจที่จะทำงานด้วย เขาจะจ่ายทำไม
เพราะฉะนั้น ไม่เป็นไร เราแสดงจุดยืน ลูกค้าที่เข้ามาตอนนี้ก็แสดงว่า เขารู้ว่าเราแสดงจุดยืนอะไร และเขารับได้กับสิ่งนั้น หรือเขาอาจจะเห็นด้วยกับสิ่งนั้น หรือเขาอาจจะไม่เป็นไร มองเป็นแค่คนละเรื่องกัน เรื่องการเมืองไม่เกี่ยวอยู่แล้ว ไม่เป็นไร แต่ว่าทุกอย่างที่เข้ามาตอนนี้ ทำให้เราสบายใจที่จะทำงาน โดยที่เราไม่ต้องไปฝืนยิ้มได้งาน แต่เราพูดไม่ได้ แบบนั้นเราไม่มีความสุข
คือตอนนี้โอเคกับสิ่งที่เป็นอยู่ดี
ใช่ ถามว่า งานน้อยไหม งานมันน้อยอยู่แล้ว เพราะว่ามันก็ตัดตัวเลือกไปเยอะ แต่เราโอเค ไม่เป็นไร เรามีเวลาว่าง เราไปม็อบได้ ก็มองในแง่ดีไป โอเค วันนี้ไม่มีงานเราก็ได้ออกไปม็อบ วันนี้มีงานก็โอเค ได้เจอลูกค้าที่เราสามารถพูดคุยกันได้
ช่วงหลังเห็นพูดถึงเรื่อง ภาคีดารา มันคืออะไร แล้วจะช่วยยังไงบ้าง
ที่เราตั้งขึ้นมาก็เพื่อที่จะรวบรวมศิลปิน ดารา อินฟลูเอนเซอร์ ที่ออกมาแสดงจุดยืนทางประชาธิปไตย ที่ออกมาม็อบ รวมถึง ศิลปิน ดารา อินฟลูเอนเซอร์ที่โดนผลกระทบจากการแสดงออกทางการเมือง จริงๆ ตอนแรก ภาคีศิลปินมาจากการที่เรานั่งคุยกันในคลับเฮาส์แหละ เรานั่งคุยกัน แชร์กันต่างๆ นานา
ด้วยความที่ทุกคนเป็นศิลปินกันหมด ทุกคนสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ แล้วสร้างสรรค์ผลงานในทางที่เป็นประชาธิปไตยด้วย เราก็มานั่งคุยกันเหมือนกัน อาจจะมีเพลงด้วยหรือเปล่า เหมือนที่วงสามัญชนทำ รวมถึง เราเคยคิดกันด้วยนะว่า เหรือเราจะมีเอเจนซี่เองเลย ในเมื่อตอนนี้ คนออกมาเรียกร้องถูกแคนเซิลงานเยอะ งั้นทำไมเราไม่ตั้งเอเจนซี่เองเลย
จริงๆ ภาคีศิลปินเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำคนที่มีหัวทางด้านศิลปะ ไม่ใช่แค่ดารา อินฟลูเอนเซอร์ ยูทูปเบอร์ คนที่มีความสามาถและเป็นประชาธิปไตยมารวมกัน ขับเคลื่อนสังคม โดยอาจจะใช้ศิลปวัฒนธรรมด้วย รวมถึงเรามีกระบอกเสียงที่ดังกว่าคนอื่นด้วย เพราะงั้นก็เลยมารวมตัวกัน
จะมีการออกแถลงการณ์อะไรไหม
ก่อนหน้านี้ที่แอมมี่โดนจับไป ทางภาคีศิลปินจริงๆ ก็ร่างไว้แล้วแหละ ว่าจะออกแถลงการณ์เรื่องไม่เห็นด้วยกับการที่แอมมี่โดนจับ แต่ว่า หลังจากนั้นมันก็มีม็อบ มีอะไรต่างๆ นานา ความรุนแรงมันมากขึ้นจนทำให้เรื่องนั้นมันเงียบไป เลยไม่ได้ออกแถลงการณ์ แต่แค่จริงๆ เรามีกรุ๊ป เรามีภาคีอยู่แล้วแหละ แค่ไม่เคยออกจดหมายเป็นทางการ
แต่ว่าเรามีกลุ่มไลน์กัน เราคุยกันตลอด หลังไมค์ หรือแม้แต่ ด้วยความที่เราบอกว่า โอเค เรามี followers เยอะ วันที่เราไปม็อบ เราใช้คลับเฮาส์เป็นวอร์ อย่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เราก็เปิดไลฟ์เลย ‘ภาคีศิลปิน live from ม็อบ’ แล้วก็เราก็ได้เป็น speaker ร่วมกับโมเดอร์เรเตอร์ สปีกเกอร์ท่านอื่นด้วย ซึ่งคนที่เราจะเอามาพูด ที่จะดึงขึ้นมา ต้องเป็นคนที่อยู่ในม็อบ ณ ตอนนั้นจริงๆ รวมถึงเราด้วย แล้วก็ส่งข่าวกัน
เราก็เปิดไมค์บอก ตอนนี้อยู่หน้าปั้ม ปตท.นะคะ ต้องการน้ำด่วน แล้วก็ปิดไมค์ แล้วคนอื่นๆ ก็เปิดไมค์พูดกันมา เรารู้สึกว่า ภาคีศิลปินมันไม่ใช่แค่การผลิตผลงานหรืออะไร มันสามารถสร้างประโยชน์ให้ได้มากกว่านั้นเยอะมากๆ ส่วนผลงานจะเป็นอะไรยังไงก็ต้องติดตามรอชม
บางคนมองว่า การกดดันที่ดาราอาจจะไม่เวิร์ก ต้องไปกดดันที่ช่อง หรือแบรนด์ จุดนี้มองว่ายังไง
กดดันได้ไหม กดดันได้ เรามีสิทธิพูด แต่ว่าเขาจะทำไหมก็อีกเรื่องนึง แต่อย่างที่เราบอกถ้าเกิดเขาไม่สบายใจที่จะทำ ก็ไปกดดันเขาทำไม กดดันไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา
อยากเห็นสังคมไทยเป็นแบบไหน
เราเคยพูดว่า เราอยากได้ทางเท้าดีๆ อยากได้รถไฟความเร็วสูง เราสามารถไปลำพูนได้โดยนั่งรถไฟความเร็วสูง อยากได้รถเมล์ติดแอร์ทุกคัน ไม่ใช่แค่บางคัน อยากได้สวนสาธารณะ อยากได้อากาศดีๆ สวัสดิการรัฐดีๆ คือพอเราพูดอะไรอย่างนี้ คนจะรู้สึกว่า “โห ไกลไป” “เยอะไป” “ยากว่ะ” “เป็นไปไม่ได้” ถ้าเป็นไปไม่ได้ แล้วทำไมประเทศอื่นเขาเป็นไปได้
ประเทศอื่นที่เขามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่พร้อมจะพัฒนา มาจากเสียงของประชาชนจริงๆ พอ 4 ปีทำไม่ดี ไม่เป็นไร โหวตออก เลือกตั้งใหม่ ให้รัฐบาลใหม่มาทำ ประเทศเลยพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะคนที่เขาเข้ามา เขาต้องการที่จะพัฒนาประเทศ สิ่งที่เราหวังกัน สิ่งที่เราต้องการ ทางเท้าดี ขนส่งสาธารณะดีๆ ต่างจังหวัดต้องมีรถประจำทางดีๆ มันไม่ใช่เรื่องยาก
ถ้าเรามีรัฐบาลที่ดี เรามีคนทำงานที่เป็นคนที่ต้องการที่จะพัฒนาประเทศจริงๆ คนไทยมีคนเก่งเยอะนะ เก่งเยอะมากๆ เรานั่งคุยกับหลายคนรู้สึกว่า ว้าวมาก คนนั้น คนนี้เก่งมาก แต่เราโดนกดด้วยอำนาจชนชั้น อำนาจอายุ วัยวุฒิ หรืออะไรก็ตามอยู่
แต่ตอนนี้ คนรุ่นใหม่เก่งๆ เยอะมาก แล้วเขาก็พร้อมที่จะพัฒนาประเทศ เขาพร้อมที่จะทำให้ประเทศเราเป็นตามที่เขาหวัง อยากมีเหมือนญี่ปุ่น อยากมีเหมือนออสเตรเลีย อย่างตอนที่เราไปออสเตรเลีย รถแทรม รถลากอยู่ในเขตเมือง แล้วทุกคนนั่งฟรี สมมติเขตเมืองของเขา เราตีว่าเป็นสุขุมวิทละกัน คือคุณมีบัตรแหละ แตะขึ้นไป แต่มันไม่หักเงินคุณ เพราะฉะนั้นโซนเมืองที่รถติดอย่างสุขุมวิท ก็รถไม่ติด เพราะว่าคนผูกไทด์ใส่สูททุกคนขึ้นรถแทรมเหมือนกัน แล้วมันก็วิ่งเป็นวงกลม วิ่งเป็นสายไป แต่ถ้าเกิดคุณอยู่สุขุมวิทจะวิ่งออกมารัชดา คุณจ่าย 15 บาทได้เหมือนกัน คือระบบขนส่งมันส่งเสริมให้คนที่คุณรวยแค่ไหนก็ตาม แต่คุณก็ต้องนั่งรถขนส่งสาธารณะเพราะว่ามันดี มันถูก มันสบาย ไม่ต้องเสียที่จอดรถ ไม่ต้องรถติด
แล้วชีวิตของเขาก็ดี มีถนนเรียบที่สามารถเล่นสเก็ตบอร์ดได้ แต่ที่ไทย เอาแค่ทางเข้ามารัชดาซอย 3 ฟุตบาทยังไม่มีเลย คือเรื่องทุกอย่างเราเคยชิน จนชินชาเกินไป เราสามารถมีชีวิตที่ดีได้กว่านี้มากๆ เราอยากมีชีวิตอย่างนั้นบ้าง ทำไมล่ะ อันนี้คือตั้งคำถามกับตัวเองตลอด เลยเป็นแรงขับเคลื่อน แรงผลักดันให้เราออกมาม็อบ เราอยากมีชีวิตที่ดี แล้วเรารู้ว่าเรามีได้
ในฐานะที่เป็นประชาชนคนนึง เรามีความหวังกับประเทศนี้มากน้อยแค่ไหน
แต่ก่อนเราจะพูดว่า เราหมดหวังกับประเทศนี้มาก เราอยากย้ายออกจากประเทศ รู้สึกว่า เราอยากไปเรียนต่างประเทศ อยากไปทำงานต่างประเทศ เพราะเราไม่เห็นความหวัง แต่แบบภายในระยะเวลา 1 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา เราสามารถพาความคิดคนมาไกลได้มาก ภายในเวลา 1 ปี เร็วกว่าที่เราเกิดมาอีก 20-30 ปี
ตอนนี้เราวิ่งได้เร็วแล้ว ตอนแรกเราบอกว่า เราไม่เห็นหวัง แต่ตอนนี้เราเริ่มเห็นหวังแล้ว เราเห็นหวังว่าประเทศนี้มันจะไปได้ดีกว่านี้ เพราะคนรุ่นใหม่ เพราะคนที่มีความคิด คนเก่งๆ ทั้งหลาย เริ่มออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง เพื่อความสามารถของตัวเอง เพื่อหวังจะให้ประเทศนี้ดีขึ้น เพราะเขามีหวัง
ที่เราออกไปชุมนุม ก็เพราะตอนนี้เรายังมีหวังอยู่ มีหวังในเด็กๆ รุ่นใหม่ มันอาจใช้เวลา 1-2 ปี หรือ 10-30 ปี ไม่เป็นไร เราอาจจะเป็นคนแก่เกษียณ แล้วเพิ่งสำเร็จตอนเราอายุ 60 ปี ก็ไม่เป็นไร แสดงว่าเรายังมีหวังอยู่ แล้วเราคิดว่าเรามีหวังแน่ๆ เราทำได้ แค่ปีเดียวเรามาได้ไกลขนาดนี้ ลองดูอีก 2-3 ปีสิ เรื่องทุกเรื่องต้องคุยกันได้แล้ว