สมัยก่อนเรามีสตูดิโอถ่ายภาพ…ก็ร้านถ่ายรูปนี่แหละ ที่จะมีบริการ ‘ตัดแต่งภาพ’ ต่างๆ ประมาณว่าเอารูปเราหรือเอาตัวเราเข้าไปถ่าย แล้วก็จะมีฉากหลังที่เปลี่ยนได้ ปกติจะเป็นสีๆ เอาไว้ถ่ายรูปติดบัตร แต่บางทีมันจะมีภาพฉากหลังอื่นๆ ด้วย จำพวกทุ่งทานตะวัน ปราสาทหิน กำแพงเมืองจีน หอไอเฟล ไปจนถึงแลนด์มาร์คต่างๆ สารพัด
แม่ง ตลก ใครมันจะไปทำฟะ ตอนนั้นก็คิด
คือ มันน่าอนาถปะวะ ไปก็ไม่ได้ไปจริงๆ ประสบการณ์ตรงนั้นก็ไม่ได้มีจริงๆ แต่ดันมีรูปปลอมๆ แถมดูปลอมๆ โผล่ขึ้นมา น่าอายมากกว่าน่าภูมิใจปะ ถามใจตัวเอง
พอคิดอีกที หรือว่าปัญหามันไม่ได้อยู่ที่เราได้มีประสบการณ์นั้นจริงๆ หรือเปล่า แต่แค่มีภาพเหมืนว่าเรามีประสบการณ์นั้นโผล่ขึ้นมา เพียงแต่ว่า ไอ้ภาพนั้นมันไม่เนียน มันดูน่าตลก มันดูหลอก ปัญหาอาจจะอยู่ที่ความหลอกของภาพ มากกว่าการหลอกว่าเรามีประสบการณ์นั้นๆ จริงๆ รึเปล่า – ถ้ามันเนียนมากๆ จนจับไม่ได้ก็อาจจะไม่มีปัญหา
ยิ่งทุกวันนี้ มองไปรอบๆ ตัว เราก็ต่างอยู่ในโลกของ ‘ภาพ’ รึเปล่า เรารับประสบการณ์ต่างๆ ผ่านสายตา ผ่านภาพเป็นหลัก เราดูโทรทัศน์ ดูหนัง ดูรูปภาพ รับรู้เรื่องราวต่างๆ ผ่านการรับรู้ทางสายตา (visual) ตัวตนของเราก็ถูกสร้างขึ้นโดยคาดว่าจะถูกมองเห็น (to be seen) อย่างในโลกออนไลน์ เราก็โพสรูปต่างๆ เพื่อนิยาม เพื่อบอกเป็นนัยๆ ว่าเราเป็นใคร เราอยู่ตรงไหนของโลกใบนี้ผ่านการกินอะไร ใช้อะไร ไปที่ไหน
เราเป็นใคร หรือการถูกรับรู้ว่าเราเป็นใคร
คำถามเชิงปรัชญาเกี่ยวกับการดำรงอยู่ (existence) อันนึงคือ ‘ต้นไม้ล้มในป่าลึกที่ไม่มีคน จะมีเสียงไหม’ แรกฟังอาจจะงงว่าถามทำไม มันก็ต้องมีเสียงสิ แต่ถ้าคิดอีกที ถ้าไม่มีคนเลยจริงๆ คือไม่มีหูไปฟัง ไปรับรู้การล้มของต้นไม้
การล้มที่ไม่ถูกรับรู้นั้นมันจะถือว่ามีอยู่รึเปล่า
อันนี้จะตอบว่ายังไงก็แล้วแต่จะใช้ปรัชญาแบบไหนตอบ แต่ถ้าทั่วๆ ไป เอาแบบไม่ปรัชญาแบบที่ว่าฉันรู้ว่าฉันเป็นแบบนี้แล้วใช้ชีวิตอยู่โลกห่างไกล ไม่ต้องมีใครมารับรู้ก็ได้ ฉันรู้ของฉันเองพอ – zen เวอร์ แต่ปุถุชนแบบเราๆ มันก็ยากเนอะที่จะทำได้
การถูกมองเห็นว่าเป็นยังไงมันก็สำคัญแหละเนอะ ภาพลักษณ์อะไรพวกนั้น มันก็มีบ้าง(-ไม่ค่อยบ้าง สำคัญเลย) แหละที่เราต้องคำนึงถึง
การถูกเห็น-อาจไม่ได้หมายถึงใคร อาจหมายถึงเรา
คำว่าการถูกเห็น จริงๆ แล้วเป็นคำที่ซับซ้อนอยู่ในที เราอาจรู้สึกว่ามันอยู่ที่การแสดงออกอะไรบางอย่างเพื่อให้คนอื่นรับรู้ว่าเราเป็นใคร แต่จริงๆ แล้ว ภาพต่างๆ ที่เราสร้างขึ้น มันก็สัมพันธ์กับการ ‘รับรู้ตัวเอง’ ของเราอยู่เหมือนกัน
นักจิตวิทยาหลายคนศึกษาโซเชียลมีเดียร์ แล้วพบว่าพื้นที่เช่นเซเชียลมีเดียร์-มีคำว่าสังคม จริงๆ แล้วการนำเสนอตัวตนของเรามันไม่ได้เกี่ยวกับคนอื่นเท่าไหร่ แต่มันเกี่ยวกับการรับรู้ตัวเองของเราเป็นสำคัญ Eliot Panek นักจิตวิทยาแห่ง University of Michigan บอกว่าพื้นที่ของตัวตนออนไลน์พวกนี้มันคือการ ‘สร้างและทำนุบำรุงภาพของตัวเราเอง ภาพที่สร้างด้วยความสนใจสนใจและระมัดระวัง’ งานศึกษาของ Amy Gonzales และ ศาสตราจารย์ Jeffrey Hancock ก็พบความเชื่อมโยงของความสุขและความรู้สึกของการเคารพตนเองที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อมีการอัพเดทหรือจัดแต่งเรื่องราวต่างๆ ของตัวเองในโลกออนไลน์
จริงๆ มันไม่ได้ถูกกำหนดโดยโซเซียลหรือโลกเทคโนยีเท่าไหร่ เพราะโดยปกติ ถ้าให้เราพูดถึงตัวเอง มันก็ต้องมีการ ‘นึกภาพ’ ของตัวเราอยู่ด้วย
เมื่อภาพเป็นความจริงที่จริงยิ่งกว่า
เราอาจจะรู้สึกว่าภาพเป็นแค่ภาพ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือประสบการณ์ของเราเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนและมีความสำคัญกว่า
มาสู่แนวคิดที่เป็นเชิงปรัชญาเข้าใจยากๆ แบบหลังสมัยกัน Jean Baudrillard บอกว่าในโลกหลังสมัยใหม่ที่เรากำลังเริงเล่นกันอยู่นี้ ในที่สุดแล้วเราต่างอยู่ในโลกของภาพที่มันมาก่อนความจริงทั้งหลายไปเรียบร้อยแล้วจ้า พี่แกเรียกความคิดนี้ว่าภาพจำลองไว้ในงานเขียนที่ชื่อว่า Simulacra and Simulation
โบร์ลิยาบอกว่าผลที่เราต่างอยู่ในวังวนของภาพแล้วในที่สุดแล้วความเป็นจริงของโลกสมัยใหม่มันหายไปแล้ว ภาพต่างหากที่มันสำคัญและมากำหนดการดำรงชีวิตของเรานั้นมันคือผลกระทบของระบบทุนนิยมที่มีการผลิตสินค้า การค้าและการโฆษณารวมไปถึงสื่อต่างๆ ที่ช่วยกันสร้างโลกของภาพ (image) ต่างๆ ขึ้นมา
งงนิดหน่อย อธิบายเพิ่มเติมเช่น เราต่างก็ถูกรายล้อมด้วยภาพต่างๆ มากมาย เรามีภาพของวิถีชีวิตแบบนึง จินตนาการแบบนึง ซึ่งภาพพวกนี้มันสืบสาวไปหาความเป็นจริงไม่ได้อีกแล้ว หรือในมุมมองของโบร์ลิยาร์คือ ก็ไม่จำเป็นต้องสืบสาวไปหาความจริงก็ได้
ภาพอย่างการไปเที่ยวชมที่ๆ หนึ่ง เราอาจจะรู้สึกว่า อ้าว ที่ควรจะเป็นคือเราก็ไปมาจริงๆ ไง ไปรับประสบการณ์การดูแสงเหนือ ดูทิวสน ดูกองหิมะสวยงาม แต่เอาเข้าจริงแล้ว ภาพต้นตออันนั้นมันอาจจะเป็นสิ่งที่เราเคยเห็นจากภาพจำนวนมาก เช่นอาจจะเห็นจากโฆษณาของการท่องเที่ยว ภาพจาก-ภาพยนตร์ซักสร้าง ภาพรีวิวในเฟสบุ๊ก ภาพหลายๆ อันเหล่าพวกนั้นสร้างความคาดหวังและจินตนาการให้กับเรา
ดังนั้นต่อให้เราไปในที่นั้นจริงๆ เราก็มีแนวโน้มที่จะรับรู้หรือสร้างประสบการณ์ต่างๆ จากภาพจำลองที่เรามีในหัว เช่น มุมการถ่ายภาพที่เราจะถ่ายก็มีแนวโน้มที่จะเป็นมุมคล้ายๆ กัน กิจกรรมที่เราทำ ความรู้สึกที่เราสัมผัสและเลือกที่จะมาเล่าหรือเก็บไว้เป็นประสบการณ์
ภาพอื่นๆ ก็เป็นทำนองเดียวกันเนอะ เราเดินเข้าร้านกาแฟบางร้าน เราก็มีแนวโน้วที่จะโพสภาพที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน เช่นมุมกล้อง การหันโลโก้สีเขียวๆ ทั้งหมดก็เพื่อบ่งบอกตัวตนอะไรบางอย่างของเรา แต่ภาพก็มีแนวโน้มที่จะไปในทำนองเดียวกัน มีองค์ประกอบคล้ายกัน…ซึ่งก็ไม่รู้ว่าต้นตอการแสดงภาพที่สื่อถึงไลฟ์สไตล์พวกนี้มันมาจากไหน ในแง่หนึ่งมันก็ไม่จำเป็นที่ต้องรู้เท่าไหร่ ไม่ต้องรู้ทำกับสิ่งที่ภาพมันแสดง แสดงถึงรสนิยมและการบริโภคของเรา
มนุษย์เราสร้างตัวตนจากภาพ ส่วนหนึ่งคือการย้ำกับตัวเราเองว่าเราเป็นใคร โดยนัยอาจจะฟังดูเหมือนเป็นการสร้างภาพลวงบางอย่างให้ตัวเราเองเชื่อว่าตัวตนเราเป็นอย่างนั้น แต่โลกก็เป็นแบบนี้แหละเนอะ ตราบใดที่ยังไม่บรรลุธรรม เราก็ยังคงหลงกับวังวนของภาพของตัวเอง การตระหนักรู้ว่า เอ้อ เราก็อยู่กับเศษเสี้ยวของความจริงแม้แต่ตัวเราเองนี่แหละที่เป็นสิ่งที่คำนึงเสียหน่อยมันก็ดี แต่ถ้าถึงขนาดสร้างภาพจำลองขึ้นมาเพื่อลวงคนอื่น ลวงไปลวงมาถึงขนาดลวงตัวเอง อันนี้ ในทางถ้าเยอะไปก็อาจจะต้องปรึกษานักจิตวิทยาเนอะ