หากแบ่งกันหยาบๆ แล้ว การที่ผู้หญิงรับผิดชอบกิจการต่างๆ ภายในบ้านมักถูกอธิบายออกเป็น 2 ชุดใหญ่ บ้านคือพื้นที่กักขังไม่ให้ผู้หญิงประสบความสำเร็จในชีวิตนอกบ้าน กับงานของผู้หญิงคือกิจการภายในบ้านที่ทำให้ผู้หญิงสามารถกุมบทบาทอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของครอบครัวได้มากกว่าผู้ชาย เช่น ‘บ้านแบ้’ ที่ ‘อาย้อย’ เป็นผู้แบกรับภาระอันหนักอึ้งของบ้าน พวกผู้ชายเหนื่อยน้อยกว่า อาเฮียผัวอาย้อยที่แม้ว่าอาย้อยพร่ำบอกว่าทำงานหนักไม่พักผ่อน แต่ก็ไม่ค่อยเห็นแอ็กชั่นอะไรในบ้านเท่าอาย้อย ขณะเดียวกันอาย้อยก็เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดแห่งบ้านแบ้ เป็นเถ้าแก่เนี้ยเหนือลูกเหนือผัวผู้ชายทุกคนในบ้าน สามารถบงการชีวิตคนอื่นได้
แต่ก็นั่นแหละลูกๆ เองก็ขบถ ก่อปฏิวัติได้เช่นกัน เพราะในโลกปิตาธิปไตย ยังไงผู้ชายก็ไม่อยากอยู่ใต้อำนาจของผู้หญิง
แม้ ‘บ้านแบ้’ หรือ ตระกูล ‘อัศวรุ่งเรืองกิจ’ ที่ทั้งแบ้และอัศว หมายถึงม้า สัตว์ที่ทำให้นึกถึง ‘ความเป็นชาย’ แต่ผู้ที่ประคับประคองและมีตัวตนมากที่สุดในตระกูลกลับเป็นผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นแม่ผัวหรือลูกสะใภ้ ทำหน้าที่ปกป้องตระกูลของเฮีย ขณะที่ผู้ชายในบ้านเป็นเพียงเจ้าของนามสกุลเท่านั้น แต่การรักษาวงศ์ตระกูลไม่ให้เสื่อมลงเป็นเรื่องของผู้หญิงที่จะมาแต่งงานเข้าเรือน เหมือนกับก่อนที่อาย้อยจะได้เป็นเถ้าแก่เนี้ย เธอก็เป็นลูกสะใภ้ที่ถูกแม่ผัวอย่างอาม่าลิ้มโขกสับด่าทอจนกระทั่งบั้นปลายชีวิต
อาย้อยกลายเป็นศูนย์บังคับบัญชาของบ้านแบ้ ดำเนินกิจการและจัดสรรทรัพยากรร้านอัศวรุ่งเรื่องพาณิชและโรงสี แม้กระทั่งอาเตี่ยเองก็ได้แค่ปรามเบาๆ อย่างเกรงอกเกรงใจ ขณะหนุ่มๆ ลูกเถ้าแก่เนี้ย อาใช้ก็อยู่แต่ในค่ายทหาร ไม่ได้มาดูแลกิจการในบ้าน ส่วนอาตงก็ทึ่มๆ บื้อๆ น้อมรับคำบัญชาแม่ย้อย เช่นเดียวกับอาซาลาเวนเดอร์ที่จำนนอย่างโลกสวยๆ แล้วก็หนีออกจากบ้านไป ส่วนอาสี่ก็อยู่แต่ปากน้ำโพไม่เอาถ่าน แล้วก็ซี้แหงแก๋ไปแล้ว
ในกรงกรรม ครอบครัวจึงกลายเป็นสถาบันของผู้หญิง ขณะที่สถาบันของผู้ชายไม่เพียงมีคุณค่าน้อยกว่าพึ่งพาอะไรไม่ได้ ซ้ำยังสร้างอุปสรรคให้กับพวกเธอด้วยซ้ำ เหมือนกับที่แม่ย้อยอยากให้อาใช้ออกจากเกณฑ์ทหารไวๆ จะได้มาช่วยกิจการครอบครัว ขณะเดียวกันก็ไปเจ้ากี้เจ้าการให้อาตงสึกพระมาช่วยแต่งงานกอบกู้หน้าตาวงศ์ตระกูล
แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าครอบครัวใครอีกแหละ เพราะในเรื่องก็ได้จำลองภาพตัวแทนของครอบครัวต่างๆ บ้านคนจีนที่แต่งงานรับสะใภ้เข้ามาเป็นแรงงานของตระกูลในระบบกงสี เหมือนที่ย้อยสาวไทยแต่งงานกับอาเฮียเข้าบ้านแบ้ บ้านข้าราชการบ้านชนชั้นกลางไทยที่ประคบประหงมลูก เรียนหนังสืออย่างเดียวไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เช่นเพียงเพ็ญลูกกำนันศรแห่งตำบลฆะมังเป็นคุณหนูจองหองไปวันๆ และอีพิไลลูกสาวเถ้าแก่โรงสีที่ตลาดทับกฤช จบ มศ.5 ที่มีแม่คอยทำให้ทุกอย่าง ยกทรงกางเกงลิง แม่ก็ซักให้ วันๆ ทำตัวเป็นผู้ดีตีนแดง ก่อไฟหุงข้าวไม่เป็น พอแต่งงานก็ให้ผัวให้อาย้อยทำกับข้าวให้กิน บ้านช่องไม่เคยปัดกวาดเช็ดถู ขณะที่เรณูหาพืชผักผลไม้ในสวนท้ายบ้านมาทำอาหารให้บ้านสามีกิน ทำขนมขาย ทำงานตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน็อต ซึ่งเรณูก็เป็นผลผลิตของครอบครัวไทยยากจนที่ต้องปากกัดตีนถีบ เสี่ยงโชคชะตา บุญปลูก จันตา รวมไปถึงพี่ก้านก้ามปูก็เช่นกัน
บ้านไม่เพียงเป็นสถาบันของพวกผู้หญิง ขณะเดียวกันยังเป็นสังเวียนที่พวกเธองัด ‘ความเป็นหญิง’ เช่น งานแม่บ้านงานเรือน การเป็นแม่ มาสู้กัน
ด้วยเหตุนี้มดลูกของพวกเธอจึงเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สำคัญ เพราะการมีลูกคือการได้มาซึ่งอำนาจต่อรอง เป็นเครื่องประกันความมั่นคงให้สมาชิกภาพของครอบครัว ซึ่งก็เริ่มประกาศศึกกันตั้งแต่ ep. แรก ที่เรณูตอกหน้าอาย้อยว่าตั้งท้องกับอาใช้ ไม่ให้ถูกขับไล่ไสส่งเหมือนหมูเหมือนหมา เพราะตั้งท้องให้สายเลือดบ้านแบ้ แบร่ๆๆ… แถมยังได้ปาดหน้าพิไลจนต้องถอนหมั้น เพราะมดลูกพิไลยังไม่มีอะไรมาต่อรอง แม้ว่าครั้งนั้นจะเป็นการท้องปลอมของเรณู แต่นางก็เอาเมนส์มาหลอกว่าแท้ง เรียกคะแนนสงสารพวกผู้ชายบ้านแบ้อีก ซึ่งมันก็ยังคืออำนาจของมดลูกอยู่ดี
มดลูกนี่ยิ่งใหญ่ชนิดที่ว่า สถานภาพทางเศรษฐกิจ พื้นเพครอบครัว ระดับการศึกษาก็ไม่สามารถเอาชนะได้ และด้วยเหตุนี้ นังพิไลที่หวังจะมีลูกเอาใจแม่ผัวเรียกร้องทรัพย์สมบัติ จึงแกล้งยั่วผัวซึมกระทือให้ตบะแตก แล้วเมื่อเสร็จกิจพิไลก็ไล่อาตงไปนอนที่พื้นต่อ
ไม่เฉพาะที่ชุมแสง แต่ที่ฆะมังก็เช่นกัน นังบังอรต่อให้รักภักดีกับพี่ก้านกล้ามโต ปรนนิบัติพัดวีแม่พี่ก้านราวกับเป็นเมียพี่ก้านเพียงใดนางก็นกอยู่ดี บังอรจึงต้องโกหกว่าตั้งท้องเพื่อให้ได้พี่ก้านมาครอง แต่อย่างไรก็ตามเพียงเพ็ญลูกสาวกำนันศรที่ไม่ต้องลงแรงดูแลแม่ใครก็อ้างสิทธิเพราะท้องก่อนและท้องจริง และก่อนที่เรื่องจะคลี่คลายลง การท้องของเพียงเพ็ญก็สามารถทำให้ปิตาธิปไตยของพ่อกำนันของเธอเสื่อมถอยลง
มดลูกที่ตั้งครรภ์ยังทรงพลังถึงขั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ ชนิดที่ว่านังมาลาที่พอท้องแล้วก็มีวาจาสิทธิ์ สามารถสาปอาสี่ตายได้โดยไม่ถึงสามวันเจ็ดวัน
อานุภาพที่มองไม่เห็นของมดลูก—ในโลกของผู้ชายและคนไม่รู้วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ มดลูกกับไสยศาสตร์จึงเป็นสิ่งคล้ายๆ กัน (เหมือนที่บางวัฒนธรรมก่อนสมัยใหม่ไม่ให้ผู้หญิงมีเมนส์เข้าศาสนสถาน หรือจับสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีพ) ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ มีเพียงคน ‘ทำ’ เท่านั้นถึงจะรู้ หญิงเจ้าของครรภ์เท่านั้นจะรู้ว่าเด็กที่เกิดออกมาเป็นลูกใคร อย่างไรก็ดี มันก็เป็นความรู้ที่ไม่ค่อยจะมั่นใจได้ 100% เพราะได้กันแล้วเด็กจะติดหรือเปล่าติดก็ไม่รู้ กลายเป็นสิ่งที่พิสูจน์ยากพอๆ กับเสน่ห์ยาแฝด ที่เรณูเองก็ไม่รู้ว่าที่แม่ผัวรักแม่ผัวลงเป็นเพราะเสน่ห์คุณไสยหรือรักด้วยน้ำใสใจจริง
ทั้งตั้งครรภ์และเสน่ห์ยาแฝดจึงเป็นเครื่องมือและที่พึ่งที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ก็เป็นที่พึ่งได้ดีกว่ารัฐ ที่มาถึงจุดนึงแล้ว ทะเบียนสมรสไม่ใช่สิ่งประกันความมั่นคงอะไรได้สำหรับเรณู
เมื่อครอบครัวเป็นเรื่องของการแบ่งหน้าที่กันทำ การช่วงชิงทรัพยากร การจัดลำดับชนชั้นระหว่างสมาชิกในฐานะทรัพยากรมนุษย์ ตัวละครไม่ว่าเพศใดในเรื่องจึงต้องรับใช้อุดมการณ์และคำบังคับบัญชาของหัวหน้าครอบครัว แม้แต่การเป็นเจ้าบ่าวแทนหรือการคลุมถุงชน ปัญหาแม่ผัวลูกสะใภ้จึงเป็นเรื่องปกติที่สมาชิกหญิงต่างวัย ต่างสิ่งแวดล้อม ต่างลำดับการเข้าบ้าน จะมาใช้ทรัพยากรร่วมกันในพื้นที่จำกัด ขณะเดียวกันการแสวงหาคนรักเองของหนุ่มสาว ในสังคมเปิดโอกาสให้ผู้ชายมีอิสรภาพทางเพศมากกว่าก็ทำให้ตัวละครหญิงต้องเผชิญชะตากรรมการถูกกดทับกดขี่และความรุนแรงในสภาพต่างๆ โดยพวกผู้ชาย และบางครั้งก็ผู้หญิงด้วยกันเอง ประสบการณ์ที่ถูกกระทำเหมือนกันนำไปสู่การช่วยเหลือเกื้อกูลและปกป้องกัน—กลายเป็นภคินีภาพ (sisterhood)
เรณูที่ผ่านประสบการณ์อย่างแสนสาหัสก่อนจะมาเป็นนางกลางเมืองตาคลี ที่ไม่ได้ให้ผู้ชายมาหลอกฟันฟรีๆ เธอสถาปนาอำนาจขึ้นเรื่อยๆ ไปพร้อมกับความแข็งแกร่งสู้คน รบกับแม่ผัวและสะใภ้อีกคนในบ้าน จนเธอได้กลายเป็นผู้พิทักษ์ ปลอบประโลม เคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านแบ้ แล้วก็สถาปนาตนเองเป็นเจ๊ใหญ่ให้โอวาท ยกชีวิตตัวเองที่โดนน้ำร้อนมาก่อนมาสอนหญิง
บ้านของเธอก็เปรียบเสมือนหลุมหลบภัยชั่วคราวจากความโหดร้ายของโลกปิตาธิปไตยให้กับหญิงที่มาชุมแสง ตั้งแต่บุญปลูกที่ถูกอีนังพิไลตบตีเหยียดหยามเพราะเป็นลูกจ้างและการศึกษาน้อยกว่า (อีพิไลนี่น่าตบนัก อย่าให้เจอแถวตลาดสะพานสองนะมึง) เป็นที่พึ่งของมาลาที่ถูกอาสี่ฟันแล้วทิ้งและไล่ให้ไปทำแท้ง แถมบ้านแบ้ยังวางแผนจะให้ร้านเรณูรับฝากครรภ์มาลา เป็นที่พักกายพักใจของจันตาที่ถูกฉีกหน้ากลางงานแต่ง ซึ่งในอดีตก็ตกเป็นเหยื่อผู้ชายและผู้หญิงในวัฒนธรรมปิตาธิปไตยเช่นกัน
‘เรณูบูติก’ จึงกลายเป็นศูนย์รวมประสบการณ์เรื่องเล่าที่หลากหลายของผู้หญิง ทั้งในฐานะถูกกระทำและผู้กระทำ ปรึกษาวางแผน (เช่น แก๊งเพื่อนโสเภณีตาคลี) ไปจนถึงสารภาพบาป และไขความลับ เรณูสาวทำเสน่ห์ยาแฝดก็เปิดเผยความลับให้กับแจ้หมุ่ยนี้จากร้านขายสังฆภัณฑ์ และเป็นที่ตั้งตัวและตั้งหลักของผู้หญิงที่ต้องทำมาหากิน การตัดเสื้อก็เป็นวิชาชีพใหม่ของผู้หญิงสมัยใหม่ในบริบทนั้น ที่ตอบรับความเป็นเมือง ถีบตัวเองจากชนชั้นแรงงานกสิกร เช่นเดียวกับอาชีพครูสอนหนังสือ ช่างเสริมสวย ขายขนมหวาน ครู และนางพยาบาล
ขณะที่ขายบริการทางเพศเป็นอาชีพเก่าแก่คลาสสิก แต่สามารถรองรับโลกสมัยใหม่ได้ดี เช่นบาร์ในตาคลีที่รองรับทหารอเมริกันในยุค สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ทำความเข้าใจบริบทเศรษฐกิจสังคมไทยได้ในบทความ ‘บันทึกสั้นถึง ‘กรงกรรม’ (01)’ โดยตัวพ่อ Filmsick) ซึ่งในบริบทสังคมขณะนั้น ‘หญิงดี-หญิงเลว’ ไม่เพียงอยู่ที่ทำมาหากินหรือนั่งๆ นอนๆ เที่ยวเล่นไปวันๆ แต่ยังอยู่ที่ประกอบอาชีพอะไร ภายใต้การเปลี่ยนแปลงในนามของวาทกรรมการพัฒนา (ทำความเข้าใจเพิ่มเติม และประวัติศาสตร์ พร้อมสปอยล์เบาๆ ได้ที่ ‘ไม่มี หญิงดี-หญิงชั่ว ในกรงกรรม : การมองคุณค่าผู้หญิงในยุคทหารจีไอผ่านสายตาจากปี 2560’ โดยตัวแม่ รุ้งรวี ศิริธรรมไพบูลย์)
โลกของกรงกรรมจึงเป็นโลกที่ผู้หญิงพยายามต่อสู้และหลีกหนีการถูกเอารัดเอาเปรียบโดยผู้ชาย เหมือน ‘สตรีนิยมคลื่นลูกที่สอง’ (Second Wave Feminism) ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่เริ่มหมุดหมายตั้งแต่ทศวรรษ 1960-1980 (ในกรงกรรมเมนชั่นถึง อาภัสรา หงสกุล นางงามจักรวาลในค่ายโลกเสรี ยุคสงครามเย็น ค.ศ. 1965 อย่างน้อยเรื่องนี้ถูกเล่าในปลายทศวรรษ 2500 หรือในช่วง 60s ) ที่พยายามปลดปล่อยผู้หญิง (women’s liberation) ออกจากอำนาจของผู้ชาย การถูกกดทับ กดขี่ของระบอบสังคมปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่ ที่ไม่เพียงละเลยและไม่เข้าใจเพศหญิงและ ‘ความเป็นหญิง’ แต่ยังให้คุณค่ากับ ‘ความเป็นเพศชาย’ สูงกว่า ‘ความเป็นหญิง’
เฟมินิสม์คลื่นลูกที่สองหันมารวมกลุ่มกันเองของผู้หญิง แชร์ปัญหาประสบการณ์แล้วอธิบายปัญหาของเพศหญิงและ ‘ความเป็นหญิง’ ที่สัมพันธ์กับโลกชายเป็นใหญ่ แล้วผลิตความคิดทฤษฎีจากสถานะของผู้หญิงเพื่อต่อรองและท้าทายอำนาจผู้ชาย มีการนำทั้งเศรษฐกิจการเมืองเข้ามาอธิบายกับเรื่องเพศสภาพ เพศวิถี เนื้อตัวร่างกายอันเป็นเรื่องส่วนตัว และรวมไปถึงบ้านอันเป็นพื้นที่ส่วนตัว ด้วยความตระหนักถึงธรรมชาติทางเพศสรีระของผู้หญิงที่ต่างจากผู้ชาย เช่นมดลูกและการตั้งครรภ์ สำหรับพวกเธอแล้วผู้หญิงไม่ว่าชนชั้น ชาติพันธุ์ หรือช่วงวัยใดล้วนมีประสบการณ์คล้ายคลึงกัน ต้องถูกเอารัดเอาเปรียบเหมือนกัน ต้องดิ้นรนต่อสู้โครงสร้างสังคมเหมือนกันไม่ว่ามาจากอำเภอใดบ้านใดก็ตกเป็นเหยื่อผู้ชาย ผู้หญิงทุกคนจึงเป็นพี่น้องกัน[1]
อย่างไรก็สมาคมผู้หญิงเพื่อนเรณูก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกี่ยวดองอะไรกับเฟมินิสม์สำนักต่างๆ ในอเมริกายุโรปช่วง 1960
ในกรงกรรม แม้ผู้หญิงจะตกอยู่ในสภาวะตึงเครียดในครอบครัว แต่เพศหญิงก็เป็นคนเลือกผู้ ไม่ว่าจะแต่งเข้าหรือแต่งออกเธอเป็นผู้เลือกครอบครัวเอง ตั้งแต่อาย้อยเลือกหลักเซ้งขายไอติมมาเป็นผัว เรณูที่เลือกพี่ใช้ท่ามกลางแขกทั้งหลายในบาร์ เพียงเพ็ญตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่าจะเอาพี่ก้านเท่านั้น วรรณนาที่จะยอมเอาอาสี่ก็ต่อเมื่อเป็นผู้เป็นคนเหยียบขี้ไก่ฝ่อ ไปจนถึงนังบังอรสบู่ตกที่แม้ทางเลือกมีไม่มากนัก สุดท้ายนางก็เลือกไอ้หวังเป็นผัว
แต่ก็นั่นแหละ ด้วยลักษณะบางประการของสถาบันครอบครัวด้วยตัวของมันเอง การแต่งงานเข้าไปสังกัดตระกูลวงศ์สามีก็เหมือนเข้าไปอยู่อีกอาณาจักร ย้ายจากกรงนึงไปสู่อีกกรงนึง แบกรับภาระวงศ์ตระกูลที่ไม่ใช่ของพวกเธอแต่แรก ไปพร้อมกับดิ้นรนประคับประคองรักษาสถานภาพของของตนเองที่การจัดลำดับชั้นต่ำสูงซึ่งสัมพันธ์กับการได้รับมรดก
ด้วยเหตุนี้ ตัวละครที่มีชีวิตแฮปปี้ที่สุดในเรื่องก็เห็นจะเป็น ‘ประนอม’ (แสดงโดย อ้อยใจ แดนอีสาน) กะหรี่ตาคลีรุ่นแม่ใหญ่ ที่เข้าใจชีวิตโลกย์ ไม่ทุกข์ไม่ร้อน แถมไม่ต้องรับผิดชอบชีวิตครอบครัวให้ยุ่งยากอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Rory Dicker, A history of U.S. feminisms (Berkeley Calif.: Seal Press, c2008). ; Sarah Gamble, ed., The Icon critical dictionary of feminism andPostfeminism (Trumpington: Icon, 1999).