“ดูก็รู้แล้วว่าแสดง ทำไมถึงยังเชื่อ?”
เป็นบทที่เราเอาไปใส่สถานการณ์ใดก็ได้ในชีวิต ทำไมเพื่อนไม่ยอมเลิกกับแฟนขี้โกหกสักที ทำไมยังมีคนที่เลือกพรรคการเมืองที่พูดแล้วทำไม่ได้อยู่ หรือในการถกเถียงกันว่าดาราสองคนนี้นี่เขารักกันจริงใช่มั้ยนะ บ่อยครั้งทุกคนรู้ว่าหลายเรื่องเป็นการแสดง เป็นเรื่องแต่ง เป็นบทที่ใครคนหนึ่งต้องเล่นเพื่อไปสู่จุดหมาย อีกทั้งก็รู้มันทั้งคนที่แสดงและคนที่เชื่อ แล้วจะมีอะไรหรือเปล่าจะสามารถอธิบายความต้องการที่จะเชื่อนี้ได้หรือไม่ คำตอบคือมี
และจะตลกไหมถ้าเราบอกว่าคำอธิบายของมันเป็นศัพท์เฉพาะมาจากวงการมวยปล้ำ?
ความหมายและความเป็นมาของ kayfabe
กีฬามวยปล้ำไม่ได้เกิดมาแล้วหน้าตาเป็นแบบที่เราเห็นในปัจจุบันเลย ก่อนจะมีแสงสีและดารามวยปล้ำชื่อดังที่ไหลเวียนเข้าสู่วงการบันเทิงกันเป็นว่าเล่น มวยปล้ำในระดับหนึ่งยังเป็นการประลองกำลังระหว่างคนสองคนอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 17 แต่เมื่อเวลาผ่านไป กีฬาดังกล่าวเปลี่ยนหน้าตาไปอย่างมาก เพราะผู้จัดรู้แล้วว่าไม่มีใครมาดูคนสองคนทุ่มกันและกันบนเวทีเพื่อหาว่าใครแกร่งกว่าใคร แต่พวกเขาดูมันเพื่อ ‘เรื่องราว’ ที่เกิดขึ้นบนเวทีมากกว่า
ผู้จัดจึงเริ่มสร้างเรื่องราวขึ้น มีตัวละครที่โดนสร้างให้เป็นตัวดีที่สุขุมนอบน้อม ฮีโร่และตัวเอกของเวทีที่เรียกกันว่า ‘Face’ และตัวร้ายเรียกว่า ‘Heel’ ที่ตามบริบทยุคสมัยอาจจะเป็นคนน่าหมั่นไส้ หยิ่งยโส เช่น กอร์เจียสจอร์จ (Gorgeous George) นักมวยปล้ำผู้มีกิมมิคคือการเป็นนักมวยปล้ำที่มีลักษณะ ‘ออกสาว’ สร้างเสียงโห่และความเกลียดชังจากผู้ชมในช่วงปี 1940 ได้เป็นอย่างดี น่าสนใจคือกอร์เจียสจอร์จเป็นหนึ่งในนักมวยปล้ำจากยุคทองไม่กี่คนที่ยังเป็นที่พูดถึงอยู่ทุกวันนี้
มีทั้งเนื้อเรื่อง ทั้งตัวละคร และมีคนที่อินไปด้วย มวยปล้ำแปรสภาพจากกีฬากลายไปเป็นศิลปะการแสดงไปแล้ว แต่การจะคงไว้ซึ่งเนื้อเรื่องเหล่านั้นต้องอาศัยข้อตกลงบางประการ ข้อตกลงที่เป็นเหมือนการขยิบตาบอกว่าแม้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้จะเป็นเรื่องแต่ง เราทุกคนต่างรู้กัน
และในโลกที่ storytelling เป็นใหญ่อย่างในปัจจุบัน kayfabe หลุดรอดออกจากวงการมวยปล้ำแทรกซึมสู่ทุกอณูของโลกจริงไม่ว่าจะในการเมืองไปจนวงการไอดอล
แล้วมันต่างจากดูหนังยังไง?
บทก็มี ตัวละครก็มี แล้วมันต่างจากการดูหนังยังไง? ความน่าสนใจของ kayfabe คือมันเป็นข้อตกลงที่เลยข้ามผ่านกรอบของงานหลักไปยังนอกสังเวียน นอกจอทีวี นักมวยปล้ำให้สัมภาษณ์ในฐานะตัวละครของตัวเองแทนที่จะเป็นตัวของเขาจริงๆ เท่านั้น หลายๆ คนนำตัวละครของพวกเขาไปยังการพบปะพูดคุยกับแฟนๆ อย่าวสม่ำเสมอ เช่นเดียวกันกับที่คู่จิ้นจำนวนมากต้องมีการ ‘เซอร์วิส’ นอกฉากหนังหรือซีรีส์ งานของพวกเขาไม่ได้จบเพียงเพราะกล้องปิด
เราคงเคยได้ยินว่าในทุกวันนี้ทุกอย่างคือคอนเทนต์ เช่นเดียวกัน เมื่อเวลาผ่านไปพื้นที่ที่ความพยายามคง kayfabe เอาไว้ผุดเพิ่มขึ้นเสมอ วันก่อนเราอาจมีแค่ภาพตรงหน้า แต่สักพักก็มีการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์และวิทยุ พอกล้องวิดีโอพกพาเริ่มเข้าถึงมือคนทั่วไป นั่นก็คืออีกกล้องที่ยังไม่ปิดและในยุคของสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดีย กล้องและการแลกเปลี่ยนข้อมูลก็ไม่เคยปิดเช่นกัน โดยเฉพาะในวงการของการจิ้นที่อาศัยพลังโซเชียลมีเดียสูงมากๆ
และเมื่อเส้นแบ่งเบาบางยิ่งกว่าจะเบาได้ บ่อยครั้งตัวตนที่แสดงและตัวตนจริงผสมเข้าหากันได้ เสริมความเรียลเมื่อบวกกับว่าทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นที่ไหนเลยนอกจากในโลกจริงและบนไทม์ไลน์ที่เราอาศัยอยู่
เพราะฉันอยากจะเชื่อ
หนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของมวยปล้ำสหรัฐอเมริกาคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนะ Madison Square Garden เมื่อเมษายน ปี 1996 ชื่อว่าเหตุการณ์ The Curtain Call ในแมตช์ครั้งสุดท้ายที่ เควิน แนช (Kevin Nash) สกอตต์ ฮอลล์ (Scott Hall) ชอว์น ไมเคิล (Shawn Michaels) และ ทริปเปิลเอช (Triple H.) จะมีร่วมกันก่อนสองคนแรกจะย้ายค่ายจาก WWF ไปยังค่ายคู่แข่ง WCW โดยทั้งสองเป็นคู่ปรับกันในเนื้อเรื่องของ WWF ณ ขณะนั้น
แต่หลังแมตช์ดังกล่าวจบลง มีการเผยแพร่วิดีโอของทั้งสี่เดินขึ้นเวทีเพื่อแสดงความยินดีก่อนจะจากกัน สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นหากมองในตรรกะของเนื้อเรื่องในตอนนั้น และอะไรก็ตามที่ไม่เป็นไปตามเนื้อเรื่องถือว่าเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘Breaking Kayfabe’ ซึ่งเป็นการทำลายข้อตกลง แต่บ่อยครั้งผลของการทำลายข้อตกลงนั้นกลับไม่นำไปสู่จุดจบของความบันเทิง ในกรณีของ The Curtain Call เมื่อเวลาผ่านไปนักมวยปล้ำทั้ง 4 ก็ยังคงเป็นนักมวยปล้ำที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นๆ ต่อ
‘Marks’ คือชื่อเรียกของกลุ่มคนที่อินไปกับเรื่องราวที่เล่าผ่านข้อตกลงจนไม่แยกบทที่ถูกเขียนไว้กับความจริงเบื้องหลังบทนั้นๆ มากพอๆ กันกับการที่ผู้เขียนบทต้องการให้เราเชื่อ ในสังคมปัจจุบันของเรา เราต้องการที่จะเชื่อในอะไรสักอย่าง ไม่ได้หมายความเป็นชายกล้ามโตสองคนต่อยกันบนสังเวียนนั้นเกลียดกันจริงๆ แต่อาจเป็นความเชื่อว่าคู่ดาราสองคนนั้นเขาเป็นแฟนกัน ไม่ได้คุยกันนานแล้วเขาเลิกกันรึเปล่า เพลงที่นักดนตรีคนนั้นร้องเรียลมาก ต้องเป็นประสบการณ์ตรงแน่ๆ นักการเมืองคนนั้นคิดแบบที่พูดจริงดิ? แย่มาก
ในโลกที่เรื่องเล่าเป็นใหญ่ เมื่อเรื่องเล่าดีพอสายตาของเราไม่อาจมองไปที่อื่นได้เลย บางครั้งหลับตาเบือนหน้าหนีความจริงที่เคาะประตูเรียกเราอยู่ด้วยซ้ำ
อ้างอิงข้อมูลจาก