“ทั้งหมดนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องแบ่งเงินมาช่วยคนจน แต่มันคืออีกโมเดลหนึ่งที่คนทั้งประเทศจะเข้มแข็งพร้อมๆ กัน ไม่ใช่โดยการช่วยเหลือของรัฐ แต่โดยการช่วยเหลือของเราทุกคน เพียงแต่รัฐบาลเป็นคนกลางที่นำภาษีของเรา มาจัดการจัดสรรให้ทุกคน”
เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการจากกลุ่ม Wefair ผู้พยายามผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการ เคยเขียนถึง Universal Basic Income หรือเงินเดือนให้เปล่าที่ภาครัฐให้ประชาชนทุกคน ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า หลักการ 5 ช้อของ UBI คือ เป็นเงินสด, ไม่มีเงื่อนไข, เพียงพอ, ถ้วนหน้า และเป็นสิทธิของประชาชนทุกคน
ขยายความต่ออีกนิดคือ ถ้าเรามีนโยบาย UBI ทุกๆ เดือนรัฐบาลจะโอนเงินจำนวน 2,763 บาท/เดือน (รายได้ขั้นต่ำบนเส้นความยากจน) ให้แก่เราทุกคน โดยไม่คำนึงว่าเราจะเป็นใคร ประกอบอาชีพอะไร หรือมีที่พักอยู่แห่งหนตำบลไหนของประเทศ
ที่เพิ่งเคยได้ยินหรือรู้ถึงมันมาบ้างคงรู้สึกว่ามันเป็นแนวคิดที่อัศจรรย์ แต่ก็มีคำถามอยู่ในใจต่อมาว่า “แล้วมันจะเป็นไปได้จริงหรือ?” ตลอดจน “จ่ายมากก็ไปเข้ากระเป๋าผู้มีอำนาจอีก”
เราอยากให้ทุกคนเก็บคำถามที่สงสัยไว้ในกระเป๋าก่อน แล้วลองไล่สายตาผ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ และจะเข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ที่ขึ้นชื่อในมุมมองต่อความเป็นจริงถึงศรัทธาในแนวคิดนี้ และทำอย่างไรให้แนวคิด UBI เกิดขึ้นได้จริง จนถึงเหตุใดมันถึงควรที่จะต้องเกิดขึ้นในโลกหลังยุค Covid-19 ที่เศรษฐกิจดูแห้งเหี่ยวและผู้คนสิ้นไร้ไม้ตอกเช่นนี้
อยากชวนอาจารย์มองนโยบายของภาครัฐตอนนี้ แต่ละนโยบายใกล้เคียงหรือแตกต่างกับแนวคิด UBI อย่างไรบ้าง
ขอยกความแตกต่างใน 2 ประเด็นสำคัญนะครับ
ประเด็นแรก มีเงื่อนไขในการให้ อย่างโครงการ ‘เราชนะ’ มันมีเงื่อนไขว่าจะต้องไปสแกนในร้านเหล่านี้เท่านั้น ก็จะมีปัญหาว่าบางคนสมัครได้ แต่พอจะไปสแกนกล้องกลับไม่ดี สแกนไม่ได้ หรือ ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ ก็ระบุให้มีร้านที่ใช้ประโยชน์ได้จำนวนหนึ่งเท่านั้นเอง และยังมีล็อกสินค้าบางประเภทไว้อีก
ทั้งหมดนี้มันเกิดมาจากความเชื่อของรัฐ ที่มองว่าประชาชนเสี่ยงที่จะไปซื้อสินค้าที่เป็นภัยต่อตัวเอง รัฐบาลก็เลยต้องไปครอบและคลุมเอาไว้ให้ซื้อเฉพาะสิ่งที่รัฐบาลคิดว่าเป็นประโยชน์
ตรงนี้ตรงข้ามกับแนวคิดของ UBI เลย เพราะแนวคิดของ UBI เชื่อว่าประชาชนวางแผนเองได้ และจากการทดลองในหลายประเทศ พบว่าประชาชนสามารถเลือกซื้อสินค้าเองได้ และสินค้าอันดับแรกที่พวกเขาเลือกซื้อคือ อาหาร
ต่อมาคือนำไปต่อยอดเรื่อง อาชีพ ยกตัวอย่าง ผมได้เดือนละพันนึงจาก UBI และสามารถเก็บเงินไว้ได้ ผมอาจจะเก็บไว้จนถึงจุดนึงแล้วไปลงทุนในภาคการเกษตรหรืออื่นๆ ที่ต่อยอดเป็นอาชีพของผมได้ ดังนั้น เวลาเขาทดลองทำ UBI กันในต่างประเทศ เขาถึงบอกว่าถ้าอยากให้เห็นผลก็ต้องลองสัก 3 ปี เพราะว่าคนจะได้มีเวลาวางแผนได้
ประเด็นที่สอง ถ้วนหน้า เพราะรัฐบาลยังมีความเชื่อเสมอว่าไม่ควรจะช่วยทุกคน และจำเป็นต้องพิสูจน์ความจน แต่รัฐบาลไม่เคยดูเลยว่าผลการพิสูจน์ความจนของตัวเองนั้นเป็นอย่างไร ยกตัวอย่าง นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ปรากฏว่ากลุ่มคนที่จนที่สุด 20 % ของประเทศ ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพียง 40 % ที่เหลืออีก 60 % ตกหล่น
และที่ตกหล่นก็เพราะรัฐบาลมีเกณฑ์อื่นๆ คู่มาด้วย เช่น ถ้ามีที่ดินเกิน 10 ไร่ถือว่าไม่จน หรือมีเงินฝากเกินกว่าเท่านี้ก็ไม่จน เลยกลายเป็นว่าคนจนตกหล่น อย่าลืมว่าคนจนเนี่ยมีภาวะไดนามิก เราไม่สามารถที่จะไปบอกได้ว่าที่ดินเท่านี้ไร่แล้วจะแปลว่าไม่จน มันก็เลยกลายเป็นปัญหา
สรุปย่อๆ ว่าตั้งแต่รัฐบาล คสช. จนถึงพรรคพลังประชารัฐ เวลาออกเรื่องสวัสดิการมักจะออกบนความเชื่อว่าจะต้องพุ่งไปที่คนจน เชื่อว่าตัวเองคัดคนจนได้ แต่ที่ผ่านมาก็คือไม่สำรเร็จและมีการตกหล่นอยู่เสมอ
ถ้า UBI เกิดขึ้นได้จริง มันจะพาสังคมเราออกจากความจนได้อย่างไรบ้าง
การแก้ไขความจนมี 2 คำที่เป็นตัวหลัก คำแรกคือ Basic อีกคำคือ Universal
ซึ่งภาวะความจนเนี่ยมันเป็นพลวัต และยิ่งเผชิญปัญหาไวรัส Covid-19 ยิ่งทำให้เราเห็นภาวะพลวัตนี้ชัดเจนขึ้น เพราะอาจมีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่คิดว่ายังไงฉันก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความจนหรอก กระทั่งเกิด Covid-19 เขาก็จนโดยอัตโนมัติ
แต่เมื่อเรามี UBI มีรายได้พื้นฐานที่เพียงพอ อย่างน้อยที่สุด เราก็ไม่ต้องกังวลว่าเราจะหล่นลงมามีรายได้น้อยกว่าเส้นความยากจน เพราะทุกคนจะพ้นจากเส้นความจนตั้งแต่แรกแล้ว
แต่ในสถานการณ์ตอนนี้ พิษ Covid-19 ทำให้เกิดหนี้ครัวเรือน หนี้นู้นนี้เต็มไปหมด เราจะมี UBI ได้หรือ
หนี้ที่เกิดขึ้นจาก Covid-19 มี 3 ส่วนด้วยกัน หนี้ส่วนแรกคือมันเกิดมาก่อนแล้ว หนี้ส่วนที่สองก็คือหนี้ที่เราชำระไม่ได้ แล้วก็หนี้ส่วนที่สามคือหนี้ที่เรากู้มาด้วยความจำเป็น จึงเกิดเป็นหนี้ก้อนใหม่
แต่ถ้าสมมติว่ามี UBI เราอาจยังแก้หนี้เดิมไม่ได้ แต่ว่าอย่างน้อยเราอาจจะไม่ต้องกู้หนี้ใหม่เพิ่มแล้ว เพราะ UBI จะจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับทุกคนโดยที่ไม่ต้องพิสูจน์ว่าเราจนหรือได้รับผลกระทบจาก Covid-19 จริงหรือไม่
รัฐต้องทำอย่างไรบ้าง ถึงจะมีเงินเพียงพอสำหรับทำ UBI
ผมคิดว่าถ้าเราถามว่ารัฐต้องทำอย่างไร อาจจะแปลว่าเราไม่เข้าใจ UBI ครบจริงๆ เพราะในประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ มันเริ่มต้นจากประชาชนเป็นคนตัดสินใจให้รัฐเป็นคนจัดให้’ ไม่ใช่รัฐตัดสินใจ มันไม่เหมือนกันนะครับ
ประชาชนต้องตัดสินใจก่อนว่าจะมีกลไกหนึ่งที่จะมาช่วยพวกเราผ่านทางรัฐ หมายความว่าประชาชนต้องยอมเสียภาษีเยอะขึ้น เพื่อให้รัฐบาลมีเงินเยอะขึ้น เพื่อมาจัดสวัสดิการให้ประชาชนทุกคนอีกทีหนึ่ง
พูดง่ายๆ เหมือนกับเราเอาเงินส่วนหนึ่งไปฝากไว้ที่รัฐผ่านการเสียภาษี แล้วรัฐบาลก็จัดสรรเงินมาให้กับเราอีกทีนะครับ
ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ ตอนนี้ประเทศไทยเก็บภาษีประมาณร้อยละ 15 ของจีดีพี ในขณะที่ประเทศรัฐสวัสดิการเก็บภาษีประมาณร้อยละ 45 ของจีดีพี เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดว่ารัฐบาลไม่มีเงิน มันก็ถูกแค่ครึ่งหนึ่ง
แปลว่าถ้าเราจะมีระบบ UBI ได้จริง ต้องมีการยกเครื่องระบบภาษีใหม่ใช่หรือเปล่า
จริงๆ กฎหมายมันมีอยู่แล้วครับ ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มระบุไว้ว่าให้เก็บที่ 10 % แต่มันมีข้อยกเว้นลดหย่อนให้ลดลงมา 7 %
ถ้าสมมติเรากลับไปเก็บที่ 10 % เหมือนเดิม เราจะมีรายได้เกือบ 3 แสนล้านบาท สำหรับมาทำเรื่องของรัฐสวัสดิการ แต่แน่นอนมันก็แปลว่าเราก็ต้องจ่ายค่าสินค้าแพงขึ้นเช่นกัน
เพราะฉะนั้น เรื่องรัฐสวัสดิการมันไม่ใช่ว่ารัฐจะตัดสินใจอย่างไร แต่เราจะตัดสินใจให้รัฐทำหน้าที่นั้นแทนเราหรือไม่ กลายเป็นจิ๊กซอว์ไก่กับไข่ เพราะบางคนบอกว่า “ไม่ไว้ใจในรัฐ” แต่เราจะเสียภาษีเพิ่มขึ้นโดยไม่ไว้ใจรัฐได้อย่างไร? ก็ต้องเริ่มจากว่ารัฐบาลช่วยแยกบัญชีมาให้ชัดๆ ได้ไหม ว่าภาษีที่เพิ่มขึ้นมันจะไม่ไหลไปสู่เรือดำน้ำ หรือการซื้ออะไรที่ไม่เป็นรูปธรรม และเงินที่เราจ่ายเพิ่มมันจะไปอยู่ในบัญชีที่เราเรียกว่า ‘บัญชีสวัสดิการโดยตรงของประชาชน’
แต่เราจะเสียภาษีเพิ่มขึ้นโดยไม่ไว้ใจรัฐได้อย่างไร? ก็ต้องเริ่มจากว่ารัฐบาลช่วยแยกบัญชีมาให้ชัดๆ ได้ไหม ว่าภาษีที่เพิ่มขึ้นมันจะไม่ไหลไปสู่เรือดำน้ำ หรือการซื้ออะไรที่ไม่เป็นรูปธรรม และเงินที่เราจ่ายเพิ่มมันจะไปอยู่ในบัญชีที่เราเรียกว่า ‘บัญชีสวัสดิการโดยตรงของประชาชน’
และถ้ามันเป็นไปได้ ผมคิดว่าการตัดสินใจหลังจากนั้น มันจะค่อยเป็นค่อยไปตามระบอบประชาธิปไตย สมมุติเราคิดว่า “อื้อ จ่ายภาษีแค่นี้แล้วมันได้ประโยชน์ดีนะ” ถ้าจ่ายมากกว่านี้น่าจะได้ประโยชน์มากขึ้น อัตราภาษีก็อาจเพิ่มขึ้นได้อีก เพราะอย่างในประเทศรัฐสวัสดิการเขาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกัน 25% นะ แต่ผมไม่ได้เสนอนะว่าต้องเก็บ25 % แล้วแต่เขาพิจารณากัน
และเช่นกัน ถ้าเราเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วปรากฏว่าสวัสดิการที่ได้รับมันไม่ค่อยโอเค เราอาจจะกลับมาเก็บในอัตราเท่าเดิมก็ได้
อันที่จริง ในเรื่องภาษีถ้าไล่เป็นลำดับ ตัวแรกที่ควรเพิ่มคือภาษีทรัพย์สิน ภาษีรายได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ที่คุยเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะอยากเปรียบเทียบให้เห็นว่าแม้กระทั่งการเพิ่มอัตราภาษีที่ส่งผลกับทุกคน มันก็อาจจะคุ้มค่า ถ้าเราได้รับสวัสดิการกลับคืนมา
ในกรณีนี้คนรวยต้องเสียภาษีเยอะขึ้นกว่าคนจนมาก ตรงนี้เราจะสามารถจูงใจพวกเขาให้หันมาเห็นด้วยกับนโยบายนี้ได้อย่างไร
ผมอยากให้คนรวยมอง 2 ลักษณะมากกว่านะครับ หนึ่งคือ การที่ทุกคนในสังคมเข้มแข็ง มันคือความเข้มแข็งในเชิงธุรกิจของเขาเองด้วย เพราะเขาจะมีผู้ร่วมงานที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น เรียนจบระดับปริญญาตรีมากขึ้น รวมถึงมีศักยภาพทางความคิดดีขึ้น ทุกคนจะช่วยทำให้เขาเข้มแข็งขึ้นในเวทีโลก
อย่างในเดนมาร์กเอง จุดเริ่มต้นของระบบรัฐสวัสดิการก็ไม่ใช่เพื่อช่วยคนจนอย่างเดียวนะ แต่มันเกิดขึ้นในฐานะความเชื่อว่ามันจะสร้างความเข้มแข็งของทั้งประเทศ
ผมคิดว่าคนรวยเราอาจจะยังมีจินตนาการนี้น้อยไป เราก็เลยคิดว่านี่คือการเสียเงินเพื่อไปช่วยคนจน ซึ่งผมคิดว่าไม่จริงนะ อย่างกรณีผมก็ไม่ได้รวย แต่ยินดีจ่ายเพิ่มขึ้น เพราะว่าผมคิดว่ามันไปช่วยซึ่งกันและกันและได้ประโยชน์ทั้งคู่มากกว่า
หนึ่งเหตุผลของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ UBI คือ มันจะทำให้คนขี้เกียจทำงานและประสิทธิภาพการผลิตลดลงหรือเปล่า
ถ้าเราพูดภาษาเศรษฐศาสตร์ เขาก็จะไปดูว่า Labour Supply หรือปริมาณแรงงานในระบบเนี่ยลดลงไหม คำตอบคือว่าถ้าเราดูโดยมวลรวมในหลายประเทศที่มีรัฐสวัสดิการเนี่ยไม่ลดลง
แต่ว่ามันอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ผู้คนบางส่วน เช่น แม่ที่ต้องดูแลลูก หรือว่าลูกที่ต้องดูแลแม่ที่สูงวัย คนกลุ่มนี้จะมี Labour Supply ในตลาดแรงงานน้อยลง ซึ่งการลดลงตรงนี้ก็จะถูกแทนที่ด้วยคนกลุ่มอื่นที่เข้ามาทำแทน เพราะงั้นโดยภาพรวมไม่ได้ส่งผลกระทบในทางเศรษฐกิจ
และเช่นเดียวกันครับ การที่คนบางกลุ่มเลือกหันมาใช้เวลาดูแลคนรอบตัวมากขึ้น เราจะไปบอกว่าเป็นผลเสียก็อาจจะไม่ใช่ มันเกิดจากการชั่งน้ำหนักของเขา และมันอาจจะเป็นทางเลือกที่เดิมทีเขาอยากเลือกอยู่แล้ว แต่เขาเลือกไม่ได้
ในแง่หนึ่ง UBI เองก็อาจถูกนำเสนอในฐานะนโยบายประชานิยม แล้วมันมีโอกาสเสี่ยงที่จะนำไปสู่ปัญหาการคลังในอนาตตไหม
ถ้าเราจะมี UBI เราจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้น ปัญหาภาระการคลังมันจะไม่มี ทุกอย่างมันสมดุลกันระหว่างภาษีที่ประชาชนมอบให้รัฐกับเงินสวัสดิการที่รัฐมอบกลับคืนมา แต่ประเทศเรายังเชื่อมตรงนี้ไม่ติด เราก็เลยคิดว่าถ้ารัฐจ่ายให้ประชาชนมาก แปลว่าจะมีภาระทางการคลังเพิ่มขึ้น แต่อันที่จริงมันเป็นตรงข้าม เพราะถ้ารัฐจ่ายให้ประชาชนมาก แปลว่าประชาชนไว้ใจรัฐและเสียภาษีให้ตัวเองมากขึ้นต่างหาก
เมื่อเราเริ่มเดินหน้าในเรื่องรัฐสวัสดิการและ UBI แล้ว เราจะมีเกณฑ์วัดความสำเร็จได้อย่างไรบ้าง
ผมคิดว่าเราสามารถเซ็ตเกณฑ์วัดความสำเร็จได้ 3 ข้อ หนึ่งความยากจนลดลงไหม สองผลิตภาพ/ประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มขึ้นไหม และสามคุณภาพชีวิตดีขึ้นไหม
ในประเด็นแรก ความยากจนลดลง ก็หมายความว่าทุกคนหรือคนส่วนใหญ่มีรายได้เกินกว่าเส้นความยากจน ยกตัวอย่างนโยบายเบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาท เชื่อไหมครับว่าในปี 2552-2554 (2 ปีแรกที่เริ่มต้นนโยบาย) มีจำนวนผู้สูงอายุยากจนลดลงไป 700,000 คน เรียกว่าเป็นการลดลงครั้งใหญ่มาก ทั้งที่เงินที่มอบให้มันยังไม่ถึง 2,700 บาทเลย
ประเด็นที่สองและสาม มีการนำเงินไปใช้ตรงไหนและคุณภาพชีวิตดีขึ้นไหม ต้องพูดว่าน่าเสียดายที่ไม่เคยมีการเก็บข้อมูลว่าผู้สูงอายุนำเบี้ยผู้สูงอายุไปใช้อย่างไร แต่ว่ามีการเก็บข้อมูลในส่วนของเบี้ยเด็กเล็ก พบว่ากลุ่มครอบครัวยากจนที่ได้รับเบี้ยเด็กเนี่ย มีโภชนาการที่ดีขึ้น ไปพบแพทย์บ่อยครั้งขึ้น รับวัคซีนครบถ้วนขึ้น และพัฒนาการของเด็กก็ดีขึ้นด้วย
อีกข้อนึงที่เห็นได้ชัดจากเบี้ยเด็กเล็กคือ คุณแม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น เพราะเงินจำนวนนี้โอนไปทางบัญชีคุณแม่ จากเดิมที่คุณแม่อาจไม่มีรายได้จึงไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ แต่ว่าพอได้เงินจำนวนี้ เขาก็มีอำนาจตัดสินใจเพิ่มขึ้น
ถ้าหากให้มองรอบด้าน ประเมินว่าจะมีโอกาสได้เห็น UBI หรือการเดินหน้าสู่รัฐสวัสดิการในเร็วๆนี้ไหม
ผมคิดว่าทิศทางมันไปทางนั้นนะ เพราะในอนาคตเรากำลังเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างกรณี Covid-19 นี่เห็นชัดเลยว่ามันสะเทือนถึงชีวิตคนนับล้าน คนประมาณ 2,000,000 คนตกงานแบบที่ไม่รู้ว่าจะกลับไปทำงานได้อีกไหม เพราะเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น และคนกลุ่มนี้ไม่เคยถูก ReSkill หรือฝึกทักษะไปสู่อาชีพใหม่ๆ
ในกรณีประเทศไทยมันไม่มีคำตอบอื่นแล้ว ถ้าแต่ละคนยังคิดว่าแยกกันสู้ปัญหาของตัวเองดีไหม คนประมาณ 50% ของประเทศในตอนนี้น่าจะสู้ไม่ไหว ดังนั้นเรามาช่วยกันสู้ดีไหม เสียภาษีเยอะขึ้นหน่อย แต่ทุกคนปลอดภัยและเข้มแข็งไปพร้อมๆ กัน
ผมคิดว่าปัญหาตอนนี้มันเป็นเรื่องของจินตนาการ แต่ไม่ใช่ว่าประเทศเราจะมาจินตนาการแบบนี้เป็นประเทศแรก มีอีกหลายประเทศที่เขาจินตนาการและลงมือทำแล้ว ซึ่งเราสามารถไปเรียนรู้จากเขาได้ว่าเป็นอย่างไร
ตัวอย่างนึงคือ คนที่เชื่อว่ามี UBI หรือ รัฐสวัสดิการแล้วคนจะขี้เกียจ ประเทศจะแข่งขันไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการไม่ว่าเดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ มีความสามารถในการแข่งขันติด Top10 และถ้าถามว่าทำไม คำตอบคือทุกคนได้รับสวัสดิการ ได้รับการศึกษาเต็มที่ ตามศักยภาพที่ตัวเองมี และเมื่อทุกคนมั่นใจได้เติบโตเต็มตามศักยภาพ ก็เห็นแล้วว่าผลคือนวัตกรรมของประเทศเหล่านี้ติดอันดับต้นๆ ของโลก
ทั้งหมดนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องแบ่งเงินมาช่วยคนจน แต่มันคืออีกโมเดลหนึ่งที่คนทั้งประเทศจะเข้มแข็งพร้อมๆ กัน ไม่ใช่โดยการช่วยเหลือของรัฐ แต่โดยการช่วยเหลือของเราทุกคน เพียงแต่รัฐบาลเป็นคนกลางที่นำภาษีของเรา มาจัดการจัดสรรให้ทุกคน
มันคือความเชื่อ มันคือจินตนาการของคนทั้งชาติ ประเทศเหล่านั้นเขาถึงไปสู่จุดนั้นได้
อ่านสเตตัสที่ อ.เดชรัต เขียนถึง UBI ในเฟซบุ๊กได้ที่:
ตอนที่ 1: https://www.facebook.com/decharut.sukkumnoed/posts/3684606538297937
ตอนที่ 2: https://www.facebook.com/decharut.sukkumnoed/posts/3692828320809092
ตอนที่ 3: https://www.facebook.com/decharut.sukkumnoed/posts/3693677334057524