รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจคนหนึ่งเคยประกาศว่าจะทำให้คนจนหมดประเทศ แต่ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยก็ยังมีคนยากจนอยู่เป็นจำนวนมาก
ธนาคารโลกเคยประเมินว่า ในปี พ.ศ.2561 คนไทย 6.7 ล้านคน หรือราว 10% ของประชากร มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (poverty line) ซึ่งยึดตัวเลขที่ 2,763 บาท/คน/เดือน ขณะที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน ทำได้เพียงออกมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย แต่การแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรมกลับยังไม่เห็น
ไม่รวมถึงนโยบายเพิ่มรายได้ที่เคยประกาศไว้ในช่วงหาเสียง ทั้งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400-425 บาท/คน/วัน ขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำให้กับผู้จบอาชีวะเป็น 18,000 บาท และปริญญาตรีเป็น 20,000 บาท ที่สุดก็ถูกเบี้ยวเสียดื้อๆ
แล้วเราจะฝันถึงวันที่ประเทศไทยไม่มีความยากจน พูดง่ายๆ หรือ ‘ไม่มีคนจน’ ได้ไหม
จากคำถามนี้ กลุ่ม CARE จึงจัดงานระดัมสมองเพื่อหาคำตอบ ภายใต้ชื่องาน ‘คนไทยไร้จน : ฝันเฟื่องหรือเรื่องจริง’ มีการเชิญนักเศรษฐศาสตร์มหภาค นักการเงิน นักการทูต นักออกแบบ นักวิชาการ ไปจนถึงนักการเมือง มาร่วมกันเสนอแนวคิดและมุมมองต่างๆ มีการให้ข้อมูลทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้สิน มุมมองการแก้ความยากจนในประเทศต่างๆ ผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดต่อ SMEs แนวคิดเรื่องแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการใช้มาตรการ ‘ภาษีเงินได้ติดลบ’ (Negative Income Tax – NIT)
แต่สิ่งที่ถูกย้ำมากที่สุด ก็คือมาตรการ Universal Basic Income – UBI หรือการให้เงินสดเป็น ‘รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า’ สำหรับประชากรทุกๆ คน ที่ผู้เสนอเชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย และน่าจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างแท้จริง
ลองไปดูกันว่า ทำไมพวกเขาถึงเชื่อเช่นนั้น จากปากของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกฯ รมว.คลัง รมว.ไอซีที และ รมช.สาธารณสุข ผู้เคยผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) จนเกิดขึ้นได้จริง ได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติที่บางประเทศก็หยิบยืมแนวคิดนี้ไปใช้ และของ ปราชญ์ ปัญจคุณาธร นักศึกษาปริญญาเอก สาขาปรัชญา ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และเป็น Graduate Research Fellow ที่ศูนย์วิจัย Stanford Basic Income Lab
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี: UBI เกิดขึ้นได้จริง แค่เริ่มต้นเดิน และเดินทีละก้าว
เราทุกคนต่างมีความฝัน ฝันแต่ละคนอาจจะต่างกัน สมัยยังเด็ก เราอาจมีฝันที่ยิ่งใหญ่ ให้โลกนี้ไม่มีสงคราม ให้ทุกคนเป็นพี่น้องกัน พออายุมากขึ้น เรารับรู้ถึงอุปสรรคแล้วก็เรียนรู้ว่าฝันต้องเรียวเล็กลง จากฝันจะเปลี่ยนแปลงโลกมาเป็นให้หมู่บ้านชุมชนนี้ดีขึ้น พอสูงอายุขึ้นแค่ฝันให้แค่มีงานทำ มีครอบครัวที่อบอุ่น
ชีวิตนี้มีความฝันที่ยังไม่ได้ทำอีกไหม? คือสิ่งที่ผมเคยถามกับ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบบริการสาธารณสุข เมื่อ 22 ปีก่อน หรือในปี พ.ศ.2542 นพ.สงวนตอบว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ ’30 บาทรักษาทุกโรค’
ผมนำความฝันนั้นมาบอกคุณทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่บอกว่าถ้าฝันนี้ทำให้จริงได้จะเป็นประโยชน์กับคนไทยมากมาย จึงนำมาเป็นนโยบายในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2544 ผลปรากฎว่า พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งถล่มทลาย คุณทักษิณได้เป็นนายกฯ และเดินหน้าทำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ย้อนกลับไปสมัยยังเป็นนักศึกษา มีวลีหนึ่งที่คนมักจะพูดกันอยู่เสมอคือ ‘โง่-จน-เจ็บ’ ซึ่งต้องโง่ก่อนถึงจะจบและเจ็บ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมถึงคิดได้ว่า ไม่จำเป็นต้องโง่ถึงจะจบ และจนถึงจะเจ็บ แต่ทั้งหมดเป็นเหตุและผลซึ่งกันและกัน การเจ็บป่วยทำให้คนจนได้ และความจนก็ทำให้โง่ได้ มีงานวิจัยที่อินเดียบอกว่า ก่อนถึงฤดูเก็บเกี่ยวที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ ไอคิวของเกษตรกรจะลดลง
สิ่งนี้บ่งบอกอะไรได้บ้าง? สิ่งนี้บอกเราว่า ‘รายได้’ เป็นตัวปลดเปลื้องความทุกข์ และเป็นตัวปล่อยปล่อยสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงความรู้สึกอยากเรียนรู้ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาผู้คนไม่ได้กำลังต่อสู้กับการพยายามรักษาไม่ให้ตนเองป่วย หรือพยายามถีบตัวเองออกจากความจนเพียงอย่างเดียว แต่อีกหนึ่งอุปสรรคที่พวกเขาต้องเผชิญ คือ ‘โครงสร้างทางสังคม’ ที่กดทับปัญหาเหล่านี้อีกที โครงสร้างสังคมที่เป็นเหมือนใยแมงมุมคอยดักให้ประชาชนติดอยู่ในวัฏจักรเดิมๆ
ดังนั้น จุดสำคัญที่เราต้องเร่งแก้ไขคือ ‘โครงสร้างทางสังคม’ ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากพอจะทำมันได้สำคัญคือ ‘รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า’ หรือ Universal Basic Income (UBI)
UBI ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงมานานหลายศตวรรษ เมื่อ 500 ปีก่อน เซอร์ โธมัส มอร์ (Sir Thomas More) ผู้เขียนหนังสือ Utopia ก็นำเสนอเกี่ยวกับประเด็นนี้ และ 200 ปีก่อน โธมัส เพน (Thomas Paine) ก็พูดถึงเช่นนั้น หรือแม้แต่ปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกฯ ไทยก็ยกความสำคัญของประเด็นนี้ขึ้นมาเล่า และหากถามถึงคนในยุคปัจจุบัน อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Tesla เองก็เคยกล่าวว่า ในอนาคต UBI จะกลายเป็นนโยบายสำคัญสำหรับคนทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีกำลังได้รับการพัฒนาจนมีความสามารถเทียบเท่ามนุษย์ ซึ่งมันจะนำมาสู่การปลดแรงงานบางส่วนในไม่ช้า ดังนั้น UBI จึงสำคัญมากในฐานะ ‘เบาะรองความเสี่ยง’ สำหรับแรงงานที่เรียนรู้ทักษะใหม่ (re-skill) ไม่ทัน
ที่จริงแล้ว เส้นเรื่องของ 30 บาทกับ UBI อาจจะใกล้เคียงกัน เส้นเรื่องของ 30 บาท เรามองว่าเป็น ‘สิทธิ’ ไม่ใช้การร้องขอ สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยายาลอย่างเท่าเทียม เช่นเดียวกัน UBI ก็ควรจะเป็น ‘สิทธิ’ ไม่ใช่การร้องขอ สิทธิในการได้รับรายได้สม่ำเสมอในทุกๆ เดือน ที่มากพอ
ที่จะเกินเส้นความยากจน 2,763 บาท/เดือน และถ้วนหน้าด้วย คือไม่ว่าคุณจะยากดีมีจน คุณก็ได้รับสิทธินี้
ถามว่ามันยากใช่ไหม คำตอบคือใช่ UBI อาจจะยากกว่า 30 บาท แต่ความยากมันมีวิธีการ เช่นเดียวกับ 30 บาท ที่ก้าวไปทีละขั้นๆ
ถ้าย้อนไปดู 30 บาท ก็เคยเป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่ก็เกินขึ้นได้จริง วันนี้ 30 บาท จากใช้งบ 7 หมื่นล้าน เป็น 1.9 แสนล้าน ผลที่ได้กลับมาไม่ได้มีแค่รายได้ แต่ยังรวมถึงมีคนไม่ล้มละลาย แต่ยังเพิ่มโอกาสทำมาหากิน การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตปี พ.ศ.2540 30 บาทก็มีส่วนช่วยเหลือ
เช่นเดียวกัน คนไทยไร้จน ถ้าเราทำให้ทุกๆ คนมีรายได้พื้นฐานที่เขามั่นใจได้ว่า ไม่ว่าจะตกงาน เขายังมีเงินก้อนนี้พอที่จะประทังชีวิต เขายังมีโอกาส re-skill ไม่รวมถึงคนกว่า 2 ล้านคนที่ทำงานใน gig economy เป็นฟรีแลนซ์ ไม่มีรายได้ประจำ ถ้ามีงานเป็นรายได้ถ้วนหน้า เขาก็จะมีโอกาสหาตัวเองให้เจอ และสร้างรายได้ต่อไปได้
UBI ไม่ได้เป็นนโยบายที่ช่วยให้คนพ้นจากความยากจนเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยให้พวกเขาขยายศักยภาพที่มีอยู่ หลุดพ้นจากความกังวลที่จะไม่มีกิน หากในอนาคตเขาอยากจะเริ่มก่อตั้งธุรกิจ หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เขาก็จะทำมันอย่างมั่นใจ เพราะมีกระบะทรายที่ชื่อ UBI รองรับความเจ็บปวดนั้นอยู่
โดยสรุป เรื่องความจน ก่อนหน้านี้เราอาจมีวิธีคิดหลายแบบ ทั้งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เงินเยียวยาระยะสั้น บางครั้งความฝันอาจอยู่แค่ว่า ไม่ต้องคิดอะไรอ้อมๆ แต่คิดตรงๆ มีปัญหาการเจ็บป่วย ก็มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีปัญหาเรื่องความจน ก็ให้เงินเพื่อพ้นความยากจน แต่อาจจะต้องเดินไปทีละก้าว
วันนี้ได้เวลาของการปัดฝุ่น รื้อลิ้นชักความทรงจำ ดูว่าความฝันที่เราเคยมีในวัยเยาว์ ความฝันนั้นยังมีอยู่หรือไม่ ตั้งคำถามว่า มีชีวิตนี้คุณมีความฝันที่ยังไม่ได้ทำหรือไม่
ปราชญ์ ปัญจคุณาธร: ทำไมคนถึงหันมาพูดถึง UBI มากขึ้น
แม้ว่าในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา เหล่านักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ นักการเมือง หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติ (UN) จะออกมาเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ หันมาพิจารณาการใช้นโยบาย UBI เพื่อบรรเทาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่มีครั้งใดเลยที่ UBI จะดึงดูด และชวนให้หยิบยกมาพิจารณาใหม่เท่าในปัจจุบัน
แล้วอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ UBI กลายมาเป็นที่สนใจของชาวโลกอีกครั้งล่ะ ? ผมมองว่ามาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ
- ความกังวลเรื่องความมั่นคงในอาชีพ ซึ่งเกิดจากการที่เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์พัฒนาขีดความสามารถมากขึ้นทุกวัน การ disruption ที่อาจทำให้คนตกงาน
- ความไม่พอใจระบบทุนนิยม ทั้งจากฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ทั้งเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการต่อต้านตลาดเสรี
- กลุ่มนักพัฒนาและเอ็นจีโอมองว่า สวัสดิการที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจนคือ ‘cash transfer’ หรือการมอบเงินสดให้แก่ประชาชน ไม่ใช่การมอบเป็นสินค้าหรือบริการ เรื่องนี้มีงานวิจัยจำนวนมากรองรับ
UBI หรือ ‘รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า’ คืออะไร ง่ายๆ คือ 1.สวัสดิการที่รัฐให้เป็นเงิน ไม่ใช่สิ่งของ 2.ให้ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะกลุ่ม 3.ไม่ต้องมีเงื่อนไข ทั้งเงื่อนไขในการรับและใช้จ่ายเงิน 4.จ่ายให้กับปัจเจกบุคคลไม่ใช่ครัวเรือน 5.จ่ายประจำ ไม่ใช่ครั้งเดียวจบ นโยบายอะไรที่เรียกว่า UBI ต้องมีคุณสมบัติ 5 ข้อนี้
แนวคิดหลัง UBI มีอะไรบ้าง? มีอาทิ anti-paternalism ประชาชนเลือกเอง รัฐไม่ต้องมาเลือกให้, equality ความเท่าเทียม UBI เป็นสิทธิ ไม่ใช่เงินสงเคราะห์ ไม่ใช่เงินรางวัลถ้าทำตามเงื่อนไข, no stigma คนที่รับสวัสดิการไม่ควรถูกตีตราว่าเป็นภาระภาษี นี่คือเหตุผลที่ UBI ต้องจ่ายให้ทุกคน แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ funding model, individualism จ่ายให้ปัจเจกไม่ใช่ครัวเรือน อาจเพิ่มความเท่าเทียมทางเพศได้, administrative effectiveness ความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และ safety net ประกันความเสี่ยงให้คน อาจทำให้คนกล้าทำงานสร้างสรรค์มากขึ้น มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊ก เคยพูดสนับสนุน UBI ไว้ด้วยเหตุผลนี้
ผลของ UBI ในทางปฏิบัติมีอะไรบ้าง? มีคนคาดการณ์ไว้หลายอย่าง เช่น ผลทางบวก อาจมีการจ้างงานมากขึ้น มีผลดีต่อสุขภาพ การศึกษา ลดอาชญากรรม เพิ่มการลงทุน-นวัตกรรม ผลทางลบ อาจลดแรงจูงใจการทำงาน ทำให้เกิดเงินเฟ้อ มีการบริโภคอบายมุข คนย้ายถิ่นฐาน เกิดปัญหาในครอบครัว
ถามว่าจะรู้ถึงผลนี้ได้อย่างไร คำตอบคืองานวิจัย เช่น รัฐอลาสก้าของสหรัฐฯ หรือผลจากการปฏิบัติเบื้องต้น เช่น โครงการ Give Directly ในเคนยา หรือโครงการจ่ายเงินที่ใกล้เคียง
สำหรับข้อกังวลต่างๆ
มีข้อกังวลทางเศรษฐกิจ 3 เรื่อง
1.จะทำให้เกิดการบริโภคอบายมุขมากขึ้น ทั้งยาเสพติด การพนัน ฯลฯ พบว่ามีงานวิจัยพูดอย่างชัดเจนมากว่า ไม่ทำให้การบริโภคอบายมุขมีมากขึ้น แล้วคนใช้เงินไปกับอะไร ผลจากเคนยา ถ้าจ่ายเล็กแต่ถี่ คนจะใช้ซื้ออาหาร แต่ถ้าจ่ายใหญ๋แต่ไม่ถี่ คนจะซื้อสินค้าคงทน เช่น หลังคาสังกะสี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจ่ายด้วย ถ้าจ่ายประจำและแน่นอน คนจะบริโภค แต่ถ้าจ่ายไม่ประจำและไม่แน่นอน คนจะออมมากขึ้น
2.จะทำให้คนทำงานน้อยลง อาจเกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น แล้วงานวิจัยบอกว่าอย่างไร มีข้อมูล 2 ขั้ว สมัยก่อนบอกว่า ทำให้คนลดชั่วโมงทำงานลง แต่ระยะหลังบอกว่า ไม่ทำให้ labour supply ลดลง
3.จะทำให้เกิดเงินเฟ้อ ผลการวิจัยบอกไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า แทบไม่มีหลักฐานเลยว่า UBI จะทำให้เกิดเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ
และข้อกังวลทางปรัชญา 1 เรื่อง คือ คิดว่า UBI จะมาทดแทนสวัสดิการดั้งเดิม ทั้งด้านการศึกษาและการรักษาพยาบาล หรือไม่ ผลศึกษาพบว่า อาจไม่สามารถมาทดแทนได้ทั้งหมด เพราะสินค้าบางอย่างให้เป็นเงินไม่ได้ เช่น การจัดการศึกษา ผมจึงคิดว่ายังมาแทนที่สวัสดิการดั้งเดิมไม่ได้ แต่อาจมาเสริมแทน
แต่ผลในทางปฏิบัติหลายเรื่องยังต้องอาศัยงานวิจัยเพิ่มเติม
Content by Jaruwan Sudaduong & Pongpiphat Banchanont
Photo by Fasai Sirichanthanun