เพียงแค่ต้นสัปดาห์นี้ สังคมไทยกลับต้องเห็นกับตัวเลขผู้ต้องขัง ที่ติดเชื้อ COVID-19 จำนวนเกือบหมื่นราย ในเรือนจำทั่วทั้งประเทศไทย
สถานการณ์ดังกล่าว นำมาซึ่งการตั้งคำถาม ต่อกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรม ต่อการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ตั้งแต่การคัดกรองผู้ต้องขังรายใหม่ มาตรการควบคุมโรค และป้องกันการแพร่ระบาด จนกระทั่งมีการตั้งข้อสงสัยว่า หน่วยงานของรัฐมีความพยายาม ในการปกปิดข้อเท็จจริงหรือไม่
วิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเรือนจำระลอกนี้ อาจเริ่มต้นขึ้นอย่างน้อยในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา จนกระทั่งปัจจุบัน ที่มีรายงานผู้ติดเชื้อในเรือนจำแล้วกว่าหมื่นราย The MATTER ขอพาคุณกลับไปไล่เรียงไทม์ไลน์ พร้อมตรวจสอบการแพร่ระบาด COVID-19 ในเรือนจำครั้งนี้ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
2 เมษายน พ.ศ.2564: เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 263 ราย
รายงานการพบผู้ต้องขังติดเชื้อ COVID-19 ในเรือนจำ เริ่มขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2564 หลังมีผู้ต้องขังติดเชื้ออย่างน้อย ในเรือนจำจังหวัดนราธิวาสไม่ต่ำกว่า 263 ราย แต่เนื่องจากข้อมูลผู้ป่วยไม่ต่อเนื่อง ตัวเลขดังกล่าวจึงเป็นเพียงแค่การคาดเดาขั้นต่ำเท่านั้น
ทั้งนี้ รายงานการพบผู้ต้องขัง และผู้คุม กลับไม่ถูกนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน ตลอดช่วงเดือนเมษายน พ.ศ.2564 ก่อนที่ iLaw จะนำออกมาเปิดเผยในวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมาว่า กรมราชทัณฑ์พบผู้ติดเชื้อ ในส่วนกลางกรมราชทัณฑ์เรือนจำ และทัณฑสถานจำนวน 19 แห่ง ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จำนวน 77 ราย และผู้ต้องขังจำนวน 575 ราย โดยระบุวันที่ในเอกสาร 29 เมษายน พ.ศ.2564
23 เมษายน พ.ศ.2564: ชูเกียรติ แสงวงค์ หรือ จัสติน ติด COVID-19
กรณีการติด COVID-19 ในเรือนจำ เริ่มเป็นที่ถูกจับตา หลังมีรายงานข่าว ในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2564 ว่า ชูเกียรติ แสงวงค์ หรือ จัสติน ผู้ต้องหาจากคดี ม.112 ถูกตรวจพบว่าติด COVID-19 ขณะกักตัว 14 วัน หลังกลับมาจากศาล โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้เก็บตัวอย่างจากจัสติน เพื่อส่งตรวจหาเชื้อ ก่อนจะพบว่าติด COVID-19 ในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2564 จริง ทั้งนี้ ในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2564 เรือนพิเศษกรุงเทพมหานคร มีรายงานพบผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่ เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 10 ราย
ธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ออกมาแถลง หลังจากรายงานข่าวจัสตินติด COVID-19 ว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหนคร ได้ทำการกักตัวบุคลากร ที่สัมผัสใกล้ชิดจัสติน ตลอดจนผู้ต้องขังร่วมห้อง โดยมี พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน, ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ The Bottom Blues, และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน เป็น 3 ในผู้ใกล้ชิด ซึ่งจากการตรวจแล้ว ไม่พบว่าทั้ง 3 ติดเชื้อ COVID-19 ทั้งนี้ ธวัชชัยย้ำว่า กรมราชทัณฑ์มีมาตรการป้องกันอย่างดี
26 เมษายน พ.ศ.2564: เรือนจำกลางเชียงใหม่ ติดเชื้อ 146 ราย
ทิ้งห่างมาได้เพียงไม่กี่วัน มีรายงานพบการติดเชื้อใหม่ในเรือนจำกลางเชียงใหม่ โดยก่อนหน้านี้ พบว่ามีผู้ต้องขังติดเชื้อในห้วงเวลา 7-12 เมษายน พ.ศ.2564 ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อเป็นผู้ต้องขังจำนวน 144 ราย และผู้คุมอีก 2 ราย โดยในช่วงเวลานั้น เรือนจำกลางเชียงใหม่มีผู้ต้องขังจำนวน 6,404 ราย ทำให้อัตราผู้ติดเชื้อใหม่ คิดเป็น 2.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนที่สูง
เรือนจำกลางเชียงใหม่ ระบุว่า ขอให้มั่นใจในมาตรการ และมั่นใจว่าเรือนจำกลางเชียงใหม่ จะกลับมามีสถานการณ์ปกติได้ภายในอีก 28 วัน ทั้งนี้ ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2564 มีรายงานการพบผู้ต้องขังติดเชื้อ ในเรือนจำกลางเชียงใหม่อีกอย่างน้อย 189 ราย
27 เมษายน – 1 พฤษภาคม พ.ศ.2564: โรงพยาบาลราชทัณฑ์รายงานผู้ต้องขัง เข้ารับการรักษาตัวจาก COVID-19
เฟซบุ๊กของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มีการโพสต์รายงานผู้ต้องขังติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่อยู่เป็นประจำ โดยวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 มียอดผู้ติดเชื้อ 13 ราย, 28 เมษายน พ.ศ.2564 มียอดผู้ติดเชื้อ 13 ราย, 29 เมษายน พ.ศ.2564 มียอดผู้ติดเชื้อ 38 ราย, 30 เมษายน พ.ศ.2564 มียอดผู้ติดเชื้อ 63 ราย ทั้งนี้ รายงานผลครั้งสุดท้าย ปรากฏขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ในยอดผู้ติดเชื้อสะสม 64 ราย
5 พฤษภาคม พ.ศ.2564 อานนท์ นำภา ติด COVID-19
วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2564 เฟซบุ๊กของอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร และทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า อานนท์ติดเชื้อ COVID-19 ก่อนจะถูกส่งตัวไปรักษา ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดย Twitter ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนจะพบว่าอานนท์ติดเชื้อ ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2564 อานนท์มีอาการไข้ขึ้น เวียนศีรษะ และคลื่นไส้มาเป็นเวลา 3 วัน
กรมราชทัณฑ์ ได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2564 หลังจากมีรายงานว่า อานนท์ติด COVID-19 โดยเป็นการยืนยันข่าวดังกล่าวว่าเป็นความจริง ทั้งนี้กรมราชทัณฑ์สันนิษฐานว่า อานนท์อาจได้รับเชื้อมาจากจัสติน ซึ่งติดเชื้อมาก่อนหน้านี้ ในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2564 เนื่องจากถูกกักตัวอยู่ด้วยกัน แต่จากผลตรวจอานนท์ในครั้งแรก พบมีค่าเป็นลบ จากรายงานของทนายระบุว่า อานนท์ได้ถูกส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์
7 พฤษภาคม พ.ศ.2564: ราชทัณฑ์ลบรายงานผู้ต้องขังติดเชื้อ
iLaw รายงานว่า ในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2564 มีการเผยแพร่ข้อมูล จำนวนผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่ อยู่ที่จำนวน 322 ราย ก่อนที่ข้อมูลที่ถูกโพสต์นี้ จะถูกลบออกไปในภายหลัง ทั้งนี้ ข้อมูลในส่วนของเรือนจำแต่ละแห่ง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ยังไม่มีการเปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่แต่อย่างใด
11 พฤษภาคม พ.ศ.2564: ผู้ต้องขัง คดีทุบรถควบคุม เพนกวิน-ไมค์ 4 ราย ติด COVID-19
4 ใน 5 ผู้ต้องขังทางการเมือง จากคดีทุบรถควบคุมตัวไมค์ และเพนวิน ที่ สน.ประชาชื่น ได้แก่ ธวัช สุขประเสริฐ, ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี, สมคิด โตสอย และฉลวย เอกศักดิ์ ถูกตรวจพบว่าติด COVID-19 ในเรือนจำ ยกเว้น ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ที่ไม่ได้ติดเชื้อ อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเรือนจำ เริ่มขยายตัวมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2564 มีรายงานว่า ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี หรือ เฮียซ้ง ถูกส่งตัวเข้า ICU จากการติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยจากผลเอกซเรย์ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2564 พบว่ามีเชื้อลงปอด และยังไม่มีอาการดีขึ้น รวมถึงมีอาการเหนื่อยเวลาขยับตัว ก่อนที่เมื่อวานนี้จะมีรายงานว่า ศักดิ์ชัยติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และยังไม่มีอาการที่ดีขึ้น
12 พฤษภาคม พ.ศ.2564: ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง และ ปริญญา ชีวินปฐมกุล หรือพอร์ท ไฟเย็น ติด COVID-19 ราชทัณฑ์แถลง ผู้ต้องขังติดเชื้อ 2,835 ราย
การเปิดเผยข้อมูลผู้ติดเชื้อในเรือนจำ ปรากฏออกมาจากกรมราชทัณฑ์เพียงน้อยนิด ในขณะที่มีการพบผู้ต้องขังติด COVID-19 มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงเช้าของวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ได้รับการตรวจพบว่าเธอติด COVID-19 จากเรือนจำ หลังจากได้รับการประกันตัว ออกมาจากทัณฑสถานหญิงกลาง ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2564
โดยรุ้งคาดการณ์ว่า อาจมีผู้ต้องขังในเรือนจำติด COVID-19 อีกมาก และขอเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์ ออกมาเปิดเผยตัวเลขอย่างตรงไปตรงมา ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา รุ้งเปิดเผยอีกว่า พ่อและแม่ของเธอติดเชื้อ COVID-19 ที่เธอได้รับมาจากทัณฑสถานหญิงกลางด้วยเช่นกัน
เช่นเดียวกันกับ ปริญญา ชีวินปฐมกุล หรือพอร์ท ไฟเย็น ที่พบว่าตัวเองติดเชื้อ COVID-19 หลังได้รับประกันตัว เมื่อช่วงเวลาบ่ายสองโมงของวันเดียวกัน ในขณะที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “ได้ทราบข่าวว่า ในวันที่ 11 พ.ค.64 ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ณ เรือนจำแห่งหนึ่ง มีการตรวจคัดกรองโควิด19 เชิงรุกไป 4,582 ราย พบผู้ติดเชื้อถึง 1,073 ราย”
สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ ของพลอย หทัยรัตน์ แก้วสีคราม หนึ่งในผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม และฝากขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ซึ่งได้รับการปล่อยตัวออกมาในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ว่า เรือนจำมีมาตรการควบคุมโรคที่ไม่เข้มงวด มีการแจกหน้ากากที่ผ้าเหมือนตาข่าย ไม่มีการแจกเจลล้างมือ ห้องขังขังคนรวมกัน 30 คนขึ้นไป ในขณะที่ช่วงนั้น กรมราชทัณฑ์รายงานตัวเลขผู้ต้องขังติดเชื้อค้างเอาไว้ล่าสุด ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ที่ 64 ราย
ในช่วงเย็นวันเดียวกัน กรมราชทัณฑ์ได้ออกแถลงว่า พบผู้ต้องขังติดเชื้อ จากทัณฑสถานหญิงกลาง 1,040 ราย และ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 1,795 ราย กรมราชทัณฑ์ยังได้ระบุต้นเหตุอีกว่า การติดเชื้อในเรือนจำ อาจเกิดขึ้นจากการรับตัวผู้ต้องขังใหม่เข้ามา แต่ย้ำว่า กรมราชทัณฑ์มีมาตรการกักตัวผู้ต้องขังอย่างน้อย 21 วัน และมีการตรวจหาเชื้อ 2 รอบ อยู่แล้ว รวมถึงมีการตรวจหาเชื้อแบบ PT-PCR ไปแล้วกว่า 17,000 ครั้ง ส่วนผู้ติดเชื้อจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลแม่ข่าย ตลอดจนได้รับยารักษา โดยกรมราชทัณฑ์มั่นใจว่า จะสามารถคุมสถานการ์เอาไว้ได้ เพราะเคยเกิดกรณีอย่างนี้มาแล้ว ที่เรือนจำนราธิวาส เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2564
13 พฤษภาคม พ.ศ.2564: ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ติด COVID-19
ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ถูกพบว่าติด COVID-19 จากเรือนจำ ทั้งนี้ หลังจากไมค์ได้รับการยืนยันว่าติด COVID-19 แล้ว นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความ ยังเปิดเผยอีกว่าเขาเองก็ติด COVID-19 ปัจจุบัน ไมค์ยังไม่ได้รับการประกันตัว เช่นเดียวกันอานนท์
ไมค์ถูกย้ายตัวไปรักษา COVID-19 ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ในห้องเดียวกันกับอานนท์และรุ้ง โดยก่อนหน้านี้ ไมค์ได้เคยเปิดเผยว่า สภาพในห้องขังของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครนั้น มีทั้งคนที่ป่วย และไม่ป่วยนอนรวมกัน โดยทางราชทัณฑ์ได้ทำการแจกยาพาราเซตามอล 1 แผงให้กับผู้ที่มีอาการเท่านั้น
14 – 16 พฤษภาคม พ.ศ.2564: ราชทัณฑ์แถลงพบผู้ต้องขังติดเชื้อ 2,829 ราย
ระหว่างวันที่ 14 -16 พฤษภาคม พ.ศ.2564 กรมราชทัณฑ์แถลงพบผู้ต้องขังติดเชื้อ โดยมีมาจากเรือนจำกลางคลองเปรม 1,016 ราย เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 88 ราย และเรือนจำพิเศษธนบุรี 1,725 ราย
อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า สภาพแวดล้อมในเรือนจำทำให้ควบคุมโรคได้ยาก ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ต้องพาตัวนักโทษไปขึ้นศาล ทำให้มีการเข้าออกมาตลอดเวลา ขณะที่นักโทษเองก็ต้องทำกิจวัตรประจำวันร่วมกัน ห้องคุมมีความคับแคบ และทรุดโทรม จึงทำให้การติดเชื้อกระจายอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อพบเชื้อ กรมราชทัณฑ์ได้แยกผู้ป่วยตามลักษณะอาการในการรักษาต่อไป ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ยืนยันว่าไม่มีการปิดบังตัวเลข
17 พฤษภาคม พ.ศ.2564: ศบค. พบผู้ต้องขังติดเชื้อเพิ่มอีก 6,853 ราย
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 โดยระบุว่า มีผู้ต้องขังติดเชื้อเพิ่มอีก 6,853 ราย ก่อนจะแถลงสรุปการตรวจหาเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 – 16 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ในคลัสเตอร์เรือนจำ 8 เรือนจำ จากพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 6,749 ราย นนทบุรี 48 ราย ฉะเชิงเทรา 22 ราย และเชียงใหม่ 3,929 ราย
ทั้งนี้ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงว่า ขณะนี้เรือนจำทั้งกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด มีผู้ต้องขังติดเชื้อแล้วทั้งสิ้น 10,384 ราย โดยยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์ไม่มีการปิดบังตัวเลขผู้ต้องขังที่ติด COVID-19 และจะจัดให้มีการติดป้าย แจ้งตัวเลขผู้ติดเชื้อหน้าเรือนจำในทุกวัน
18 พฤษภาคม พ.ศ.2564: ศบค. พบผู้ต้องขังติดเชื้อเพิ่มอีก 680 ราย
ล่าสุดเมื่อเช้าวันนี้ (18 พฤษภาคม พ.ศ.2564) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 โดยระบุว่า มีผู้ต้องขังติดเชื้อเพิ่มอีก 680 ราย ทำให้ปัจจุบันนี้ มีผู้ต้องขังติด COVID-19 สะสม ซึ่งถูกเปิดเผยตัวเลขอย่างน้อยหมื่นราย จากทั้ง 8 เรือนจำ
สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในเรือนจำ ยังคงเป็นที่น่าวิตกกังวล หลังจากมีผู้ต้องขังติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง กลับมีความหนาแน่น และขาดการเข้าถึงการป้องกันโรค ทั้งนี้ iLaw ได้เปิดให้คุณสามารถร่วมลงชื่อเรียกร้อง ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ให้มีมาตรการ 3 ข้อ ในการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในเรือนจำ ได้แก่
- จัดสรรงบประมาณและวัคซีนให้เรือนจำ
- ลดจำนวนคน ลดความหนาแน่น
- หยุดเอาคนเข้าไปเพิ่ม
อ้างอิงจาก
https://m.facebook.com/299528675550/posts/10165410781495551/?d=n
https://m.facebook.com/299528675550/posts/10165418472615551/?d=n
https://news.thaipbs.or.th/content/303651
https://www.bbc.com/thai/international-56871605
https://news.ch7.com/detail/481813
https://www.facebook.com/photo?fbid=5457074427667242&set=a.163415147033223
https://thematter.co/brief/142747/142747
https://www.matichon.co.th/local/news_2721786
https://www.matichon.co.th/local/news_2725534
https://thematter.co/brief/142810/142810
https://thematter.co/brief/142877/142877
https://www.thairath.co.th/news/politic/2093237
https://thematter.co/brief/142896/142896
https://siamrath.co.th/n/232822
https://thematter.co/brief/142953/142953
https://www.youtube.com/watch?v=dSmd30T8B8U
https://www.youtube.com/watch?v=q32hPHVWCKQ
https://www.facebook.com/prthaidoc/photos/a.1340332876020633/3924322797621615/
https://thematter.co/brief/143275/143275
https://www.matichon.co.th/local/crime/news_2727887
https://www.bbc.com/thai/thailand-57144771